จากปลูกในกล่องโฟมสู่โรงเรือน! พี่สาวสอนน้องปลูกผักตั้งแต่ ม.2 ส่งขายกรุงเทพฯ มีเงินจ่ายค่าเทอม

จากปลูกในกล่องโฟมสู่โรงเรือน! พี่สาวสอนน้องปลูกผักตั้งแต่ ม.2 ส่งขายกรุงเทพฯ มีเงินจ่ายค่าเทอม
จากปลูกในกล่องโฟมสู่โรงเรือน! พี่สาวสอนน้องปลูกผักตั้งแต่ ม.2 ส่งขายกรุงเทพฯ มีเงินจ่ายค่าเทอม

จากปลูกในกล่องโฟมสู่โรงเรือน! พี่สาวสอนน้องปลูกผักตั้งแต่ ม.2 ส่งขายกรุงเทพฯ มีเงินจ่ายค่าเทอม

เรียนไปด้วย ทำเกษตรไปด้วย คือเรื่องราวของ เกด-พิรกานต์ สองสี และ บิว-เพ็ญพิชชา อินเขียน วัย 18 ปี ทั้งสองช่วยพี่สาว ทราย-จุฑารัตน์ ลิ้มวงษ์ อายุ 34 ปี ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ชั้น ม.2 จนได้วิชาชีพเกษตรติดตัว และมีรายได้มาจ่ายค่าเทอมช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว

ทราย-จุฑารัตน์ ลิ้มวงษ์ อายุ 34 ปี
ทราย-จุฑารัตน์ ลิ้มวงษ์ อายุ 34 ปี

ทราย เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตนเองอยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกในกล่องโฟม จำนวน 9 กล่อง ผักเติบโตสวยงาม แม้นำผลผลิตมาทำกินแล้วยังเหลือ จากนั้นจึงเห็นโอกาสว่าพื้นที่อยู่อาศัยสามารถปลูกผักได้สวยงาม จึงปลูกเพิ่มเป็น 36 กล่อง และเริ่มหาลูกค้าในจังหวัด ทั้งร้านอาหาร และลูกค้าปลีก พร้อมปรับมาปลูกแบบน้ำวนในโรงเรือน

“ปลูกผักเพราะสนใจเทรนด์สุขภาพ รู้สึกว่าการทำอะไรพวกนี้มันยั่งยืน ใจอยากปลูกเป็นอินทรีย์ด้วยซ้ำ แต่ด้วยสภาพอากาศ สภาวะต่างๆ เลยปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ เราศึกษาวิธีการปลูกผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการไปดูแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ได้พูดคุยและขอเทคนิคจากผู้ปลูกแต่ละคน”

เกดกับบิว
เกดกับบิว

แต่ด้วยตนเองไม่ได้อยู่ที่จังหวัดอุทัยธานีเป็นประจำ เพราะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงชวนน้องสาว 2 คนมาช่วยดูแลแปลงผักตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.2 โดยให้เป็นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายในการศึกษา เช่น ค่าเทอม

“เราไปคุยกับน้องว่าอยากให้ทำ เพราะจะได้เป็นความรู้ เป็นอาชีพติดตัว เขาเลยเริ่มมาเรียนรู้วิธีการปลูกกับเรา เราสอนจนเข้าใจ เขาเรียนรู้ได้เร็วเพราะมีความตั้งใจกันมาก จนสามารถดูแลทุกอย่างเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการส่งผลผลิตให้ลูกค้าที่เราช่วยกันหา 

เราทำมา 4-5 ปี เรารู้ว่าการค้าขายกลุ่มลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เลยมีการขายที่กระจายไปหลากหลาย ไม่ผูกติดกับอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อย่างเช่น โควิด ร้านอาหารก็มีผลกระทบ ปัจจุบันเลยมีทั้งลูกค้าร้านอาหาร แม่ค้าตลาดนัดทั่วไป และขายปลีกเองด้วย ทั้งให้แม่ช่วยขาย เอามาขายที่กรุงเทพฯ ส่งตามหมู่บ้าน ตามโรงพยาบาล ขายที่โรงเรียนให้คุณครู และเพื่อนๆ ของน้อง”

ปลูกผัก
ปลูกผัก

โดยปลูกผักกรีนโอ๊กเป็นส่วนใหญ่ เสริมด้วย เรดโอ๊ก คอส ฟินเล่ กรีนปัตตาเวีย และบัตเตอร์เฮด สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1,200 ต้นต่อสัปดาห์ จำหน่ายให้ลูกค้าทั้งขายปลีก 500 กรัม 60 บาท 1 กิโลกรัม 110 บาท และขายส่ง กิโลละ 100 บาท

ก่อนเล่าต่อว่า “หลังจากน้องๆ ขึ้นมหาวิทยาลัย อาจจะต้องกลับมาดูแลแปลงผัก และมีแผนปลูกแบบอินทรีย์ และมองไปถึงไข่ผำ เพราะรู้สึกว่าเทรนด์พวกนี้เป็นธุรกิจที่จริงใจ เราไม่ได้หลอกหรือขายฝันลูกค้า แต่เราขายของคุณภาพ และการที่ลูกค้าบริโภคมันก็ดีต่อสุขภาพด้วย”

และทิ้งท้ายถึงน้องๆ ว่า “เราสอนน้องเสมอ ทุกวันนี้มีอาชีพเดียวไม่พอแล้ว หน้าที่หลักคือเรียน ส่วนงานก็รับผิดชอบได้ดีมากๆ เราภูมิใจมาก รู้สึกว่าช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา ตั้งแต่ ม.2 จนถึงตอนนี้ เขามีประสบการณ์ก้าวกระโดดมาก และเด็กสมัยนี้ค่อนข้างฉลาด เก่งเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในเรื่องการวางแผนอนาคต การออมเงิน การทำธุรกิจ เรามีประสบการณ์มากกว่าเขา ต่างคนก็ต่างสอนกัน”

ปลูกผัก
ปลูกผัก

ด้านเกดและบิว เล่าว่า “ถ้าปลูกผักกับพี่ทรายก็จะมีรายได้เสริม ทำแล้วมีประโยชน์ แต่ถ้าอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่มีตังค์ อยากมีเงินไปซื้อขนม ของกิน ของเล่น ทำเกษตรช่วยให้มีวินัย และฝึกความอดทน ตอนที่พี่สอนก็มีความยาก เพราะไม่ได้ศึกษามาตั้งแต่แรก แต่ทำไปเรื่อยๆ ก็ทำได้คล่อง”

ในแต่ละวัน เกดกับบิวมีหน้าที่ตั้งแต่เพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยว เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ในตู้เย็น คลุมดำหรือการเอาไว้ในที่มืดสนิท เพื่อเร่งอัตราการเจริญเติบโตของเมล็ดประมาณ 2 คืน จากนั้นปักลงฟองน้ำ ไว้ที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ 

แล้วนำไปอนุบาลที่สวนประมาณ 1 สัปดาห์ นำไปลงโรงเรือนแต่ละหลุม จากนั้นใส่ปุ๋ย AB ประมาณวันที่ 35 เริ่มปรับลดค่าปุ๋ยลง ด้วยการผสมน้ำเปล่า และเลี้ยงผักด้วยน้ำเปล่า ก่อนวันเก็บเกี่ยวประมาณ 7 วัน

“เราใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนเข้าไปผสมปุ๋ยและเก็บผักให้ลูกค้า ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเช้าไปดูน้ำ ช่วงเย็นไปผสมปุ๋ยและเก็บผลผลิตเหมือนเดิม ยังมีเวลาไปเที่ยวเล่นบ้าง ก็บอกพี่สาวไว้ เพื่อนกับครูก็รู้ว่าเราปลูกผักขาย เพราะเป็นลูกค้าเราด้วย และจะบอกเพื่อนไว้ ถ้าวันนี้เข้าสายหรือกลับบ้านเร็วหน่อย แปลว่ามีส่งผักนะ บิวเป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนเราหิ้วผัก ไปส่งแถวตัวเมืองอุทัย และอำเภอหนองฉาง”

ผักไฮโดรโปนิกส์
ผักไฮโดรโปนิกส์

ก่อนเล่าต่อว่า การปลูกผักไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน เพราะใช้เวลาว่าง ส่วนการบ้านก็บริหารจัดการเวลาได้ สามารถทำตอนกลางคืนได้

ปัจจุบันเกดและบิวอยู่ชั้น ม.6 เกดบอกว่า เธอไม่ได้ต่อยอดด้านเกษตร เพราะมีเส้นทางที่อยากเดินเป็นแอร์โฮสเตส ส่วนบิวอยากต่อยอดเป็นเชฟ ทำอาหารสุขภาพ เพราะกำลังอินเทรนด์ โดยการนำผักจากสวนไปปรุงอาหาร 

เกดเป็นตัวแทนทิ้งท้ายว่า “พี่ไม่ได้บังคับ แต่สอนให้เห็นมุมมองว่ามันได้อะไรกลับมา ได้ประโยชน์อะไรบ้าง เงินที่เราขอพ่อแม่ เช่น ค่าขนม หรืออยากได้อะไร ก็เอาเงินเดือนตรงนี้ไปซื้อได้ ภูมิใจที่เราได้ทำสิ่งนี้แล้วมีรายได้กลับมาจริงๆ มีเหนื่อยบ้าง บางทีคิดว่ากลับจากโรงเรียนต้องไปทำผักอีก แต่ก็คิดถึงมุมเหตุผลว่าทำไมถึงต้องทำ เพิ่มหน้าที่นิดหน่อย แต่ได้ผลตอบรับที่เหมาะสม”