เผยแพร่ |
---|
อาชีพใหม่หลังเกษียณ! เปิดร้านมัทฉะในวัย 70 “มุมเล็กๆ ที่อบอุ่น” พื้นที่สร้างสุขในบั้นปลายชีวิต
“ความตั้งใจจริงๆ ของลุง ไม่ได้กะทำเป็นการค้า แค่อยากทำให้บั้นปลายชีวิตมีความสุข มีมุมเล็กๆ ให้พรรคพวกมานั่งสังสรรค์ เราอายุขนาดนี้ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ถือว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว…ยืนเดิน ยืนเดิน ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น แล้วไม่ค่อยได้เล่นมือถือ ที่ต้องมานั่งก้มให้ปวดคอ ลุงเปิดร้าน 9 โมงเช้า ปิด 3 โมงเย็น ร้านหยุดทุกวันจันทร์ ถ้าวันไหนมีธุระก็แจ้งหยุดในไอจี ส่วนช่วงเย็นวันจันทร์ อังคาร พุธ จะไปสอนแอโรบิก”
คำบอกเล่าของ คุณเสาว์ชัย เหลืองชูฤทธิ์ หรือ ลุงใหญ่ วัย 70 ปี เจ้าของร้าน sao.home.matcha ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ใน จ.ราชบุรี

ลุงใหญ่ เล่าให้ฟังว่า อาชีพเดิมคือการค้าขายรองเท้ามานานเกือบ 20 ปี แต่ได้เลิกกิจการไปหลังโควิด ทำให้มีเวลาว่าง ประกอบกับมีพื้นที่หน้าบ้าน จึงได้ปรับเป็นมุมให้พรรคพวก กลุ่มแอโรบิกกับโยคะ ที่ตนเองและภรรยา (ป้าไก่-วชิราวลัย เหลืองชูฤทธิ์ วัย 68 ปี) เป็นครูสอนมานาน 30 ปี มานั่งสังสรรค์กัน โดยมีชา กาแฟ และขนมมาเลี้ยง แบบไม่ได้ทำเป็นการค้ามานาน 2 ปี

“ความตั้งใจจริงๆ ไม่ได้กะทำเป็นการค้า แค่อยากทำให้บั้นปลายชีวิตมีความสุข มีมุมเล็กๆ ให้พรรคพวกมานั่งสังสรรค์กัน เพราะลุงกับป้าอยู่กันแค่ 2 คน แล้วไม่ชอบเที่ยว ลูกก็บอกว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ชอบเที่ยวก็เอาบ้านนี่แหละมาสร้างความสุข ไม่ต้องเหนื่อยนั่งรถ และความสุขที่ได้มันก็คุ้มค่า
ตอนหลังพรรคพวก ลูกศิษย์เห็นใจ ครูก็เปิดขายไปเลยสิ ในเมื่อพร้อมทุกอย่างแล้ว นี่คือจุดเริ่มของการเปิดร้าน ‘sao.home.matcha’
ลุงใหญ่เริ่มเปิดขายอย่างจริงจังมาประมาณ 4 เดือน จากนั้นมีหมอและพยาบาลแวะเวียนมาอุดหนุน พร้อมบอกปากต่อปาก ร่วมกับการลงโซเชียลของลูกค้าคนอื่นๆ ยิ่งทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
บรรยากาศของร้าน ลุงใหญ่ บอกว่า ด้วยตัวบ้านมีอายุ 100 กว่าปี จึงตกแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่ม ทาสีในส่วนที่ไม่เรียบร้อย และรื้อฝ้า โดยได้ลูกสาวและพรรคพวกมาช่วยกันทำ เรียกว่าใช้งบลงทุนน้อยมาก

ศึกษาด้วยตัวเอง
ในการชงเครื่องดื่ม โดยเฉพาะมัทฉะ แรกเริ่มลุงใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจ แม้จะชงให้พรรคพวกดื่มมาหลายครั้งแล้วก็ตาม กระทั่งได้ไปเวิร์กช็อป และบินไปถึงถิ่นมัทฉะที่ประเทศญี่ปุ่น
“ลุงศึกษาวิธีชงตามอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจ จนลูกสาวชวนไปเวิร์กช็อปที่กรุงเทพฯ เพื่อเสริมความมั่นใจว่าสิ่งที่เราศึกษามาถูกต้องตามสากลไหม และพากันไปญี่ปุ่น 3 คนพ่อแม่ลูก ตระเวนชิมมัทฉะในแต่ละเมือง ชิมแล้วมันเป็นมัทฉะที่อ่อน เพราะคนญี่ปุ่นเขากินกันทั้งวันมั้ง ของเราเข้มกว่า อร่อยกว่า ความมั่นใจมันมา
กลับมาปั๊บ ตั้งเป้าไว้เลย เราน่าจะทำได้ บอกกับลูกว่า ตกลงพ่อเปิดขายแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ทำเป็นคาเฟ่นะ เราถือว่าเราเป็นบ้านเล็กๆ” ลุงใหญ่ เล่าให้ฟัง
ส่วนการเลือกยี่ห้อมัทฉะ ลุงใหญ่ก็ศึกษาจากอินเทอร์เน็ตอีกเช่นกัน แต่ก็ต้องซื้อมาลองชิมหลายยี่ห้อ เพื่อให้รู้รสชาติ ปัจจุบันร้าน sao.home.matcha เลือกใช้มัทฉะนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยได้ลูกสาวช่วยเป็นแบ็กอัปอยู่ข้างหลัง

เมนูขายดี
ลุงใหญ่ บอกว่า ทุกเมนูจะมีคนสั่งใกล้เคียงกัน แต่มีอยู่หนึ่งอย่างที่คนมาตามหา และส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ คือ ‘มอลต์มัทฉะ’ เป็นเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยลูกค้าที่ได้ลองกินมีฟีดแบ็กกลับมาว่า คล้ายโฮการ์เด้น
อีกเมนูคือ ‘เคลียร์มัทฉะ’ ที่ลุงใหญ่มักนำเสนอให้ลูกค้ากิน
“รู้สึกว่าตั้งแต่เข้าวงการนี้ คนไทยติดหวานเยอะมาก เพราะลุงเป็นสายสุขภาพ วัยรุ่นทุกคนที่มาสั่ง ลุงพยายามเสนอเมนูเคลียร์มัทฉะ ลุงไม่ใส่ไซรัปให้ใครเลย แต่ถ้าใครลองแล้ว กินไม่ได้ ลุงเติมให้ ก็ใช้วิธีนี้รณรงค์ให้คนไม่ติดหวาน เพราะเป็นห่วงเยาวชนไทย ส่วนใหญ่ลุงทำให้แล้วชอบทุกคน น้อยคนที่จะเดินเข้ามาแล้วบอกว่า ลุง ขอไซรัป”

แสดงให้เห็นว่าลูกค้าของลุงใหญ่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ต่างจากช่วงแรกที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่
“ลุงยังสงสัยตัวเองนะ ที่ทำมันเป็นบั้นปลายของชีวิตแล้ว ไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจ ทำไมมันกลับกลายเป็นแบบนี้ แล้วลุงไม่หวังเรื่องเงิน เพราะป้าก็มีบำนาญกิน ลูกสาวก็ส่งเงินให้ใช้ทุกเดือนๆ แต่มันเกิดกระแสขึ้นมา เลยยังปรับตัวไม่ได้”
เมื่อถามถึงจำนวนแก้วที่ขายได้ในแต่ละวัน ลุงใหญ่ บอกว่า
“ลุงไม่เคยนับเลยว่าแต่ละวันขายได้กี่แก้ว ไม่เคยเก็บสถิติ ลุงไม่มีค่าเช่าร้าน ไม่ติดแอร์ และมันไม่ร้อนเพราะมีตึกล้อม มีค่าใช้จ่ายแค่เด็กข้างบ้านที่มาช่วยเก็บถ้วยชาม
ตอนที่เปิดครั้งแรก ทุกคนบอกว่าไปไม่รอดหรอก เพราะมันลับ และตลาดนี้ร้างมากว่า 30 กว่าปีแล้ว แต่ยังสวยและสะอาด แค่เดือนเดียวคนก็เปลี่ยนคำพูดแล้ว ลุงก็ยังงงๆ อยู่ ทุกวันนี้ขายได้ขนาดนี้ก็ยังไม่คิดว่าทำการค้าเลย เราจะไหวเมื่อไหร่ หยุดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะลุงกับป้า ถ้าคนใดคนหนึ่งป่วย ก็ต้องหยุด”

วัยเกษียณ ไม่ใช่อุปสรรค
ในการเปิดร้านแต่ละวัน คุณลุงกับคุณป้าจะช่วยกันทำออร์เดอร์ จากเมื่อก่อนต้องไปนวดบ่อยๆ ปัจจุบันการทำงานช่วยให้ลืมความปวดและมีสุขภาพดีขึ้น
“ยืนเดิน ยืนเดิน ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น แล้วไม่ค่อยได้เล่นมือถือ ที่ต้องมานั่งก้มให้ปวดคอ ตอนนี้แทบไม่มีเวลาจับมือถือเลย ลุงเปิดร้าน 9 โมงเช้า ปิด 3 โมงเย็น ปิดทุกวันจันทร์ ถ้าวันไหนมีธุระก็แจ้งหยุดในไอจี ส่วนช่วงเย็นวันจันทร์ อังคาร พุธ จะไปสอนแอโรบิก”

ก่อนทิ้งท้ายว่า “การทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าการดำเนินชีวิตอะไรทุกอย่าง ถ้ามีสุขภาพดีทุกอย่างทำได้หมด ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เราก็ตามฝันได้ แต่ถ้าเราอยากจะทำนู่นทำนี่แล้วสุขภาพไม่ดีนะ หมด
อันดับสอง ต้องใจรัก ทำอะไรก็แล้วแต่เอาสิ่งที่เรารักก่อน ความใฝ่ฝันของลุง สมัยก่อนคิดว่าถ้าแก่ตัวไปสัก 50-60 ปี ลุงเลิกกิจการร้านรองเท้า ก็อยากจะมีร้านเล็กๆ แบบนี้ให้พรรคพวกมานั่งคุยกัน แล้วทิ้งไว้นานมาก เพราะไม่มีตัวกระตุ้น จนตอนหลังลูกสาวมากระตุ้น ให้พ่อทำให้สิ่งที่พ่อรัก จะไม่ประสบความสำเร็จยังไง มันก็เป็นสิ่งที่รัก
และเป็นสิ่งที่ท้าทายด้วย เราอายุขนาดนี้ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ถือว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องเงินทอง แต่เป็นความฝันของเราที่อยากมีแบบนี้ และมันเกิดขึ้นแล้ว”
ขอบคุณภาพจาก suti