ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ข้าวเม่า” เป็นขนมหวานประเภทหนึ่งของคนไทย ที่ทำกินตามช่วงฤดูกาล อันเกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของเกษตรกรชาวนาตั้งแต่รุ่นโบราณที่นำข้าวเหนียวที่มีรวงแก่ใกล้จะสุกเก็บเกี่ยวได้ ที่เรียกว่า ข้าวระยะพลับพลึง มาแช่น้ำ คั่ว ตำ แล้วนำมาคลุกมะพร้าว น้ำตาล โรยเกลือ ใช้ทานเป็นขนมหวาน
ความจริงแล้วข้าวที่นำมาทำข้าวเม่ามีทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวเหนียวดำ แล้วที่นิยมมากที่สุดคือข้าวเม่า ข้าวเหนียว ซึ่งยังแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ ข้าวฮาง หรือข้าวเม่าอ่อนทำจากเมล็ดข้าวสีเขียวจัด, ข้าวเม่าแบบเขียวอ่อน ทำจากข้าวห่ามที่เปลือกเป็นสีเขียวเข้ม และข้าวเม่าขาวนวล ทำจากข้าวเกือบแก่ เปลือกเขียวอมน้ำตาล
การแปรรูปจากข้าวเพื่อเป็นขนมข้าวเม่านั้น คนโบราณดัดแปลงได้หลายวิธี อาจจะทำเป็นข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าบด ข้าวเม่าหมี่ ข้าวเม่าทอด ฯลฯ ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับความต่างกันในวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม หรือส่วนผสมการปรุงของแต่ละภูมิภาคท้องถิ่นไป
ที่จังหวัดสุรินทร์ คนที่นั่นส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิไว้กินและขายเป็นหลัก ส่วนข้าวเหนียวก็นิยมปลูกเอาไว้กินและทำขนม อย่างข้าวเม่าด้วย ซึ่งเดิมมักทำกินในครัวเรือน ต่อมามีการพัฒนามาเป็นอาชีพหลักและรอง สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพบว่าข้าวเม่าทำมาจากเมล็ดข้าวที่อุดมไปด้วยเส้นใย วิตามินหลายชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้เกิดอาชีพผลิตข้าวเม่าขายกันอย่างแพร่หลาย
แต่มีชาวสุรินทร์ครอบครัวหนึ่งเกิดมีความคิดว่ามีคนบางกลุ่มชอบทานข้าวเม่าแต่ไม่นิยมบริโภคข้าวเหนียว ดังนั้น จึงควรจะนำข้าวหอมมะลิมาทำเป็นข้าวเม่าแทนข้าวเหนียว แล้วพบว่าได้รับความนิยมมาก จึงได้พัฒนาต่อยอดออกเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าอีกหลายชนิด นำออกขายตามงานต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้รับรางวัล OTOP ในชื่อ ข้าวเม่า ข้าวหอม “คุณสุรินทร์”
คุณอุดมทรัพย์ ทองอ้ม เล่าว่า เดิมครอบครัวทำข้าวเม่าจากข้าวเหนียวขายกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เมื่อมาถึงยุคนี้เธอมองว่าก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีเดิมๆ ที่ทำกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้มีความทันยุคสมัยของการบริโภค แต่ยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติความเป็นข้าวเม่าเดิมไว้ อีกทั้งยังต้องการสร้างทางเลือกให้แก่ลูกค้าด้วย
“เดิมข้าวเม่าทำจากข้าวเหนียว แล้วปัจจุบันยังมีหลายแห่งทำกันอยู่ แต่พอมาคิดว่าในจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นจำนวนมาก เลยต้องการเปลี่ยนจากข้าวเหนียวมาเป็นข้าวหอม อีกทั้งจุดเด่นของข้าวหอมมะลิที่มีความนุ่ม หวาน หอม อยู่ในตัว เพียงแต่เติมส่วนผสมของน้ำตาลกับมะพร้าวลงไป แล้วนำไปนึ่งก็จะพบว่าข้าวเม่าที่ทำจากข้าวหอมมะลิมีความหอมน่าทาน แล้วยังมีความหวานหอมของมะพร้าว”
คุณอุดมทรัพย์ ชี้ว่า การเปลี่ยนข้าวเม่าจากข้าวเหนียวมาเป็นข้าวหอมมะลิ ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากมากมาย รวมถึงการเก็บรักษาความหอมมะลิยังมีความยุ่งยากมากกว่าข้าวเหนียวด้วย เพราะข้าวหอมมีความชื้นสูง จำเป็นต้องนำไปอบให้แห้งเพื่อไล่ความชื้นออกให้หมดเสียก่อน จะอบในช่วงที่ตำข้าวเสร็จ แล้วจึงนำไปแช่ในห้องเย็นที่เช่าไว้ เพื่อป้องการการเกิดเชื้อรา
“ข้าวหอมมะลิที่นำมาใช้มีจำนวนถึงปีละกว่า 10 ตัน ซึ่งเป็นข้าวที่มาจากครอบครัวปลูกเอง กับการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ เป็นข้าวนาปี และนาปรัง ดังนั้น จึงไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนข้าว”
เจ้าของผลิตภัณฑ์ เผยว่า วัตถุดิบหลักอย่างมะพร้าวที่ใช้หาได้จากในท้องถิ่นเพราะปลูกกันไว้มาก แล้วถ้ามีจำนวนไม่พออาจต้องสั่งซื้อมาจากเขมร จะเลือกใช้มะพร้าวทึนทึกหรือมะพร้าวจวนแก่ ที่มีเนื้อนุ่ม เหมาะใช้ขูดโรยใส่ขนม เมื่อนำมาทำเป็นข้าวเม่าจะมีความหอมมาก
จากข้าวเม่าข้าวหอม ที่เป็นจุดเริ่มต้น แล้วสร้างความสนใจจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในหลายแห่งที่นำไปขายตามงานต่างๆ ดังนั้น จึงมีแนวคิดการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มด้วยการผลิตสินค้าเป็นข้าวเม่าสมุนไพร ข้าวเม่ากระยาสารท ข้าวเม่าช็อกโกแลต ข้าวเม่านมสด ข้าวเม่าปาปริก้า และข้าวเม่าสาหร่าย หรือแม้แต่เป็นด้านเบเกอรี่จะทำเป็นเค้กข้าวเม่า คุกกี้ข้าวเม่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีจำนวนถึง 13 ชนิดที่จำหน่าย อีกทั้งทุกชนิดมีเครื่องหมาย อย. รับรองแล้ว
“สำหรับสินค้าที่เด่นคือข้าวเม่าสมุนไพร และเป็นสินค้าที่ได้รับรางวัล OTOP เนื่องจากได้รับความสนใจในกลุ่มผู้รักสุขภาพ เพราะเป็นสินค้าที่เน้นการปรุงรสให้มีความเหมาะสม ด้วยการนำสมุนไพรในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาปรุงให้มีรสชาติที่เข้มข้น ควบคู่กับการผลิตด้วยความปลอดภัย”
คุณอุดมทรัพย์ บอกว่า สินค้าตัวล่าสุดที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพคือ สังขยาข้าวเม่า คาดว่าอีกไม่นานคงวางจำหน่ายได้ ส่วนสินค้าอีกชนิดที่กำลังวางแผนว่าจะผลิตคือ ข้าวเม่ากระป๋อง เป็นการเน้นความสะดวกของการบริโภคในลักษณะกึ่งสำเร็จรูป สามารถเปิดทานได้ทันที ทั้งนี้แนวคิดนี้ยังอยู่ระหว่างการขอคำแนะนำจากทางกระทรวงวิทยาศาสตร์
ผลิตภัณฑ์ ข้าวเม่าข้าวหอม “คุณสุรินทร์” กำหนดรูปแบบการขายและการจัดทำหีบห่อนั้นจะไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่ง โดยปกติแล้วจะส่งให้ลูกค้าตามแหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ หรือจะดูตามลักษณะงานที่ออกไปขาย ทั้งนี้หากเป็นงานอีเว้นต์ที่มีมาตรฐานจะบรรจุใส่กล่อง เพียงขนาดเดียวคือ 120 กรัม สำหรับผู้ที่สนใจต้องการซื้อไปจำหน่ายจะมีส่วนลดให้ แต่หากเป็นการนำออกขายตามงานทั่วไปก็จะใส่ถุงขายห่อละ 35 บาท ถ้าจำนวน 3 ห่อ 100 บาท
สนใจสอบถามรายละเอียดเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือรับออกงานต่างๆ โดยการันตีความอร่อย อีกทั้งจะไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวัง พร้อมกับยืนยันว่าเป็นเจ้าแรกในจังหวัดสุรินทร์ที่ใช้ข้าวหอมมะลิผลิตเป็นข้าวเม่า
สำหรับท่านที่ต้องการลิ้มลองรสชาติความอร่อย สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าข้าวหอม “คุณสุรินทร์” ได้ตามงานแสดงสินค้าทุกแห่ง โทรศัพท์ (084) 910-2625, (095) 651-7309