เผยแพร่ |
---|
เริ่มต้นหวังเพียงอาชีพเสริม “ธุรกิจเทียนหอม” แต่กลับสร้างรายได้ รองรับอาชีพหลังเกษียณได้อย่างมั่นคง
ธุรกิจที่เริ่มต้นหวังเพียงเป็นอาชีพเสริม แต่กลับสร้างรายได้ รองรับอาชีพหลังเกษียณ ต้นเหตุที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้กับอาชีพ “เทียนหอม”
เรื่องราวชีวิตของอดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เธอผู้นี้คือ คุณผึ้ง-ภัครินทร์ ชมปรีชา อายุ 52 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้าน “บ้านทำเทียนหอม” เธอได้เล่าจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ตั้งแต่วันแรกที่ได้ศึกษาหาข้อมูล จนปัจจุบันธุรกิจนี้เติบโตและต่อยอดโอกาสต่างๆ มากมาย
ศึกษาด้วยตัวเอง ในยุคที่ยังไม่มี อินเทอร์เน็ต
ย้อนไปเมื่อประมาณปี 2541 ธุรกิจเวดดิ้งกำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนั้น เธอจึงเกิดไอเดียที่จะทำของชำร่วยเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการทำงาน เพราะตอนที่ทำงานประจำพอมีเวลาว่าง จึงคิดหาโอกาสในการเพิ่มรายได้เข้ามา
เมื่อมีความคิดที่จะทำของชำร่วยแล้ว ประจวบกับมีรุ่นน้องที่จัดเวดดิ้งแนะนำ เลยได้มีโอกาสวางของชำร่วยตามงานต่างๆ บ้าง แต่ในช่วงแรกยังคงเป็นพวกสมุด หนังสือ ของชำร่วยทั่วๆ ไป
จากนั้นเธอจึงคิดต่อยอดว่าจะทำอะไรที่ยังไม่ค่อยมี และเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้น จึงเกิดเป็นเทียนหอมขึ้นมา เริ่มต้นในตอนนั้น เรียกได้ว่าต้องศึกษาเองทุกขั้นตอน โดยซื้อหนังสือคู่มือการทำเทียนหอมมานั่งอ่าน
ต้องเล่าว่า 10 กว่าปีที่แล้ว การที่จะหาข้อมูลนั้นค่อนข้างยากกว่าปัจจุบัน เพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้กระจายใช้โดยทั่วไป หนังสือจึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ที่จะช่วยให้ได้รับความรู้ และจากนั้นก็ลงมือทำอย่างจริงจัง
แต่ช่วงแรก ทำใส่แก้วทั่วๆ ไป แต่มองว่าต้องเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ดูดี โดยเลือกใช้เป็นกล่องเพื่อใส่แก้วเทียนหอม เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ จากนั้นก็มองว่า ถ้าทำเป็นรูปร่างบ้างจะดีหรือไม่
องค์ความรู้จากการเป็นอาจารย์ช่วยได้เยอะมาก เพราะตอนที่เป็นอาจารย์จะต้องหาข้อมูลเพื่อใช้สอนนักศึกษา การมาประกอบอาชีพค้าขาย ก็ต้องหาข้อมูลเช่นกันเพื่อทำความเข้าใจและรู้ถึงหลักการและขั้นตอน เพื่อพัฒนาธุรกิจได้
“พี่มองว่า ทุกอาชีพมันไม่มีอะไรง่ายนะ เพียงแต่ว่าเราต้องอดทนในช่วงแรกๆ เจออุปสรรคอยู่แล้ว มองว่ามันต้องทำได้สิ คนอื่นๆ เขายังทำได้เลย เราต้องเรียนรู้ ศึกษา และฝึกฝน” คุณผึ้ง กล่าว
เมื่อคิดจะทำ แหล่งตลาดแรกที่เข้ามาในความคิดคือ จตุจักร เธอลงพื้นที่เดินทุกซอกทุกซอย หาวัสดุอุปกรณ์ให้จนครบ พ่อค้าแม่ค้าจากจตุจักรก็ได้แนะนำให้ไปหาแหล่งผลิตจากที่อื่นๆ ด้วย เช่น สำเพ็ง
เวลาเปลี่ยน คู่แข่งเยอะขึ้น
ช่วงหลังๆ ธุรกิจเวดดิ้งเกิดขึ้นเยอะมาก จึงทำให้คู่แข่งเยอะขึ้น มีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เธอจึงเริ่มปรับตัว โดยหาช่องทางอื่นๆ ว่าธุรกิจเทียนหอมนี้จะไปในช่องทางไหนได้บ้าง ประจวบกับช่วงเวลานั้น อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น จึงเริ่มทำเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วค่อยๆ พัฒนา จนมีลูกค้าที่บอกต่อๆ กัน
ปรับเปลี่ยนจากการเป็นแค่ของชำร่วยมาเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตัวเอง หากลูกค้าสนใจอยากจะทำธุรกิจ ทางร้านก็จะเป็นผู้ผลิตให้ ออร์เดอร์จะมีเข้ามาเรื่อยๆ ทางร้านมองว่า ไม่ได้รับทำจำนวนมาก เริ่มต้นจาก 50-100 ชิ้นขึ้นไป เพราะลูกค้าบางคนที่เพิ่งเริ่มทำ จะได้ไม่ต้องลงทุนเยอะ เธออยากให้เริ่มต้นจากเล็กๆ ให้ลูกค้าได้ลองตลาดก่อน แต่ออร์เดอร์เยอะๆ ที่เข้ามาถึง 1,000 ชิ้นก็มี
มาพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำกันบ้าง
ตอนที่ยังทำงานประจำควบคู่ไปกับอาชีพเสริม จากที่มีเวลาว่าง กลายเป็นเวลาค่อนข้างจำกัด จึงคิดว่า ถ้าออกจากงานประจำมาทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับธุรกิจเทียนหอม น่าจะมีเวลาให้ครอบครัวบ้าง และช่วงนั้นมีลูกน้อย จึงตัดสินใจลาออกมา
“เป็นการตัดสินใจที่ถูกนะ ที่มาเริ่มตรงนี้ แล้วมันก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ หลายคนมองว่า เทียนหอม มันจะเป็นแค่เทียนไหว้พระหรือเปล่า จริงๆ พี่มองว่าเทียนหอมมันอยู่ได้ทุกวงการเลย และอยู่ได้ทุกเทศกาล เพียงแต่ว่าปรับรูปแบบเท่านั้นเอง อย่างช่วงคริสต์มาส เทียนหอมรูปคริสต์มาส ขายดีมากๆ เราต้องปรับตัว จะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้” เธอเล่า
ไอเดียในการทำเทียน บางครั้งก็มาจากความต้องการของลูกค้า อย่าง เทียนสายมู ที่มีลูกค้าติดต่อมาอยากให้ทำ แต่ถือว่าเป็นความท้าทายเพราะยังไม่เคยทำแบบนี้ จึงเริ่มต้นออกแบบ หาช่างปั้น และทำแม่พิมพ์ จึงเป็นที่พอใจของลูกค้า จากนั้นเขาก็บอกต่อๆ กันไป ลูกค้าก็เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ เธอก็ผลิตให้ตามความต้องการของลูกค้า เรียกได้ว่า ต่อยอดไปเป็นธุรกิจเทียนหอมผลิตตามสั่ง
นอกจากจะต่อยอดไอเดียมาจากลูกค้าแล้ว ยังต่อยอดไปในทิศทางอื่นๆ เช่น ทำกิจกรรมเวิร์กช็อปร่วมกับองค์กรต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าและทำให้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น
“เราต้องปรับตัว เราต้องเข้าหาลูกค้า จะไม่นั่งรอ อย่างตอนนี้เรามีความรู้ มีประสบการณ์ที่จะส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้ จึงจัดกิจกรรมร่วมกับบริษัทและองค์กรต่างๆ ถือเป็นการต่อยอดรายได้ให้เพิ่มขึ้น” เธอเล่า
ในยุคนี้ สำคัญอย่างยิ่ง คือ “ปรับตัว”
ทางคุณผึ้งมองว่า อาชีพเสริมสำคัญ อย่างคนที่มีงานประจำ รายได้อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย ทุกๆ อย่างมันเพิ่มขึ้นหมด แต่เงินเดือนเท่าเดิม จึงอยากให้มองหาอาชีพเสริม แล้วมองดูว่าอะไรจะสามารถทำรายได้ให้เราได้ ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร แล้วหาข้อมูลว่าเหมาะกับเราหรือไม่ อาจจะเริ่มต้นจากเล็กๆ ลองดูว่าชอบไหม สร้างรายได้ให้เราได้หรือไม่ ถ้าใช่ให้ลุยต่อ
เส้นทางของคุณผึ้งกับการยืนอยู่บนอาชีพขายเทียนหอมมากว่า 20 ปี จากอาชีพเสริมที่จะทำรองรับวัยเกษียณ กลายเป็นอาชีพหลักและสร้างรากฐานให้กับชีวิต และอาจจะส่งต่อไปยังลูกได้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : บ้านทำเทียนหอม
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2024