แฟรนไชส์อาหารไทย ทำไม…ไปไม่ถึงไหนซักที!

ข้อมูลจากสมาคมแฟรนไชส์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย กำลัง “เนื้อหอม”มีนักธุรกิจเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว เมียนมา จีน อินโดนีเซีย ฯลฯ สนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไทยกันมาก และส่วนใหญ่ต้องการกิจการด้านอาหารไทยกันทั้งนั้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายแฟรนไชส์อาหารไทยไม่ค่อยมีให้เลือก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองของอาหารไทยที่จะพัฒนาขยายกิจการด้วยระบบแฟรนไชส์

สำหรับร้านอาหารที่นักธุรกิจอยากได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทยที่ยกระดับ มีมาตรฐาน มีแบรนด์   แต่ทำไมร้านอาหารไทยจึงไม่ค่อยมีใครทำแฟรนไชส์กัน

ทางสมาคมแฟรนไชส์ไทย จึงรวบรวมสาเหตุที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถสร้างร้านอาหารไทยให้ขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ได้นั้น  มักประกอบด้วยเรื่องราวดังนี้

คนไทย ไปมองอาหารอื่นมากกว่า

คนที่มาทำแฟรนไชส์ มักจะปั้นอาหารชาติอื่นมาเป็นแฟรนไชส์  เช่น ร้านชาบู  ร้านปิ้งย่าง  ร้านกาแฟ  ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลี  ร้านพิซซ่า   ร้านชาไข่มุก  จึงอาจมองข้ามอาหารไทยไป  ทั้งๆที่ อาหารไทยมีตลาดกว้างทั้งในประเทศเองและต่างประเทศ  คุณเห็นมั้ยว่า  ร้านฟาสต์ฟู้ดทุกแห่ง ยังต้องแทรกเมนู  อาหารไทยเข้าไปเลย  เช่น ยำไก่แซ่บ  ข้าวกะเพรา  ข้าวพะแนง  เพราะอะไร  เพราะเป็นรายการที่คนทานซ้ำแล้วซ้ำอีก  และเรียกลูกค้าเข้าร้านได้ง่ายกว่า เยอะกว่า     แล้วทำไมล่ะ  เราจึงไม่พัฒนาร้านอาหารไทยให้เป็นแฟรนไชส์ดี มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นกันล่ะ ตลาดตรงนี้ยังมีช่องว่างอีกมาก

มีเมนูมากเกินไป

อุปสรรค์ สำคัญที่ทำให้อาหารไทยทำแฟรนไชส์ได้ยาก  เพราะมีเมนูมากเกินไป  ยากต่อการควบคุมมาตรฐาน  ซึ่งจริงๆแล้ว เมนูที่เป็นร้อยเป็นพันเหล่านั้น คนที่นิยมกินมีเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น   หลายคนมองว่า  ต้องหลากหลายคนถึงจะเข้า  แต่ถ้าเราฝันที่จะขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ให้สำเร็จ  จำเป็นต้องมีการตัดรายการเมนูที่มีคนสั่งน้อยออก  หรือเมนูที่ไม่มีใครสั่งเลยออก  เพื่อมาโฟกัส ตัวที่ฮอตฮิตของร้านจริงๆของร้านเท่านั้น  แล้วพัฒนาขึ้นมาให้โดดเด่น

 ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบแฟรนไชส์

เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า ระบบแฟรนไชส์เขาทำยังไงกัน  จึงไม่กล้าทำแฟรนไชส์  เรื่องนี้ ที่สมาคมแฟรนไชส์  จะมีการอบรมสร้างระบบแฟรนไชส์ทุกปี ปีละสองครั้ง ที่ให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานของระบบแฟรนไชส์  การวิเคราะห์ตนเองว่าธุรกิจของคุณพร้อมทำแฟรนไชส์ หรือไม่ การสร้างร้านต้นแบบ  ขั้นตอนในการทำแฟรนไชส์  เรื่องกฎหมายและสัญญาแฟรนไชส์  การทำระบบมาตรฐาน  การจัดทำคู่มือ  การอบรมตามคู่มือ ระบบตรวจสอบมาตรฐานร้าน ไปจนกระทั่ง วิธีการขายแฟรนไชส์

แล้ว จะทำอย่างไร ถ้าจะทำร้านอาหารไทยให้เป็นแฟรนไชส์ ได้สำเร็จ   เรื่องนี้ สมาคมแฟรนชส์ไทย มีข้อแนะนำ

แต่งตัวใหม่

อาหารไทยหลายๆร้าน  โดยเฉพาะร้านดัง มีคุณภาพและรสชาติดี อร่อย เป็นที่ยอมรับของลูกค้าอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่มักจะขาดหายไป คือ เรื่องของการแต่งตัว การปรับแต่งร้านให้ดูดีขึ้นนั้นเปรียบเหมือนการแต่งกายของผู้หญิง ที่มีความสวยในตัวพื้นฐานดีอยู่แล้ว ได้นำมาแต่งตัวสักหน่อย เพื่อให้โอกาสใหม่กับตัวเอง ดังนั้นก่อนที่จะมีการขายแฟรนไชส์ ควรปรับปรุงด้านเอกลักษณ์ของตนเอง ดึงมาสร้างเป็นคอนเซ็ปท์ที่ชัดเจน  คุณลองหา นักออกแบบตกแต่งร้านอาหาร  หาเชพที่จัดหน้าตาอาหารสวย  ถ่ายภาพน่ากิน  ทำโลโก้เด่นๆตรงคอนเซ็ปท์ร้าน  นำโลโก้ที่เป็นตัวแทนของร้านคุณ จะวางในจุดต่างๆ เช่น  การแต่งกายพนักงาน  จาน  ชาม ถ้วย ถุง  ป้ายหน้าร้าน  เมนู  ต่างๆ เป็นต้น   เพื่อให้ ทุกอย่างเป็นทิศทางเดียวกัน จดจำได้ง่าย  การแต่งตัว  สร้างภาพลักษณ์    ไม่ใช่แค่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านเท่านั้น  แต่จะช่วยเพิ่มยอดขายธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณได้อีกด้วย

คัดเฉพาะเมนูเด็ด  เมนูขายดี

ร้านอาหารไทย  โดยเฉพาะประเภทสวนอาหาร  จะมีเมนูอาหารเล่มใหญ่มาก มีอาหารเป็นร้อยเป็นพันรายการ แบบนี้ จะทำให้ขยายกิจการได้ยาก  เพราะจะควบคุมมาตรฐานไม่ได้  ดังนั้น คุณควรคัดเมนู ฮอตฮิต เด่นสุดของร้านออกมาก่อน ว่ามีอะไรบ้าง  เรียงตามลำดับเมนูที่ลูกค้าสั่งมากที่สุด ไล่ลงเรียงลงไป  เหลือหลักสิบรายการก้อได้  ถ้ายังมากอยู่ ก็ตัดเมนูที่ลูกค้า สั่งทดแทนกันได้  เหลือที่เด็ดๆจริงเท่านั้น  จากนั้นก็เอาเมนูเหล่านั้น มาทำสูตรมาตรฐานตายตัวทุกเมนู  เพื่อทำให้ทุกๆร้านทำออกมาได้เหมือนกัน

เปลี่ยนแนวใหม่ ไม่อาศัยแม่ครัว

หลายคนงง ว่า  ร้านอาหารไม่มีแม่ครัวได้ด้วยหรือ   คุณคิดว่า ร้านแมคโดนัลด์ ร้านเคเอฟซี  มีแม่ครัวชั้นหนึ่งหรือไม่  ไม่มีเพราะ พนักงานจะทำงานตามขั้นตอนที่วางไว้อย่างชัดเจน   และส่วนใหญ่พนักงานในร้านจะทำงานแทนกันได้ทุกหน้าที่  ไม่ใช่พ่อครัวป่วย   แม่ครัวลาครัวมีธุระ  ต้องปิดร้าน  หรือ ลูกค้าได้อาหารไม่อร่อย หรือบางร้าน  กุ๊กลาออก ถึงขนาดทำให้กิจการเจ๊งไปเลยก็มี

ดังนั้น  ถ้าอยากได้รับความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์ ต้องคิดใหม่  เปลี่ยนใหม่  ไม่ให้ร้านของคุณ ขึ้นกับตัวบุคคล แต่จะขึ้นกับระบบงานที่มีรูปแบบตายตัว  ซึ่งไม่ว่าใครจะมา ใครจะไป ก็ทำงานได้ออกมามีคุณภาพเหมือนกัน  นั่นเราเรียกว่า  สร้างระบบมาตรฐาน

ทำระบบมาตรฐาน

ร้านอาหารที่เจ๊งกันไป คุณคิดว่า มาจากอะไร    มาจากความไม่สม่ำเสมอ   คุณว่าจริงไหม   คุณคงเคย  ไปกินอาหารร้านที่ประทับใจ ครั้งแรกดี๊ดี   แต่ไปอีกครั้ง  มันไม่ใช่แล้ว   กุ้งตัวเล็กลง   น้ำจิ้มที่ชอบไม่มี  รสชาติไม่เหมือนเดิม   คุณว่าจริงมั้ย   นั่นทำให้คุณไม่กลับไปอีก  แล้วต้องไปบอกต่อเพื่อนๆ  หรือญาติอีกด้วย

ดังนั้น  ความสม่ำเสมอ  ในคุณภาพ  คือ ปัจจัยสำคัญอันดับ 1 ที่ร้านอาหารส่วนใหญ่  ไม่รู้วิธีการ   การสร้างระบบมาตรฐานคุณภาพ  คือ   สร้างระบบงานทุกอย่างให้มีมาตรฐานตายตัว เพื่อให้ทุกๆแห่งปฏิบัติแบบเดียวกัน  ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าของคุณ เพื่อให้เขากลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า  แล้วพาลูกค้าใหม่ๆมาให้ด้วย

และแทนที่ส้มตำ ต้องโขลกกันเองทุกร้านซึ่งนั่นเสี่ยงต่อรสชาติผิดเพี้ยน  แต่ถ้าคุณจะทำแฟรนไชส์  ที่ครัวกลางของคุณ  โดยกุ๊กมือหนึ่ง  ที่ไม่ได้ประจำที่ร้าน  อาจต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ กลาย เป็นผู้คิดค้น ผสมน้ำส้มตำสูตรต่างๆไว้เรียบร้อย  โดยมีการ ชั่ง ตวงวัด ที่ตายตัว  บันทึกวิธีการเก็บรักษา  ติดฉลากอายุใช้งาน  สาธิตขั้นตอนการนำไปใช้  มีรูปจัดหน้าตา  มีรูปถ่ายขั้นตอนต่างๆประกอบ  หรือมีคลิปวิธีการสอนให้ร้านสาขาทำตาม  และเจ้าของร้าน  หรือผู้จัดการร้าน ก็มีหน้าที่  ตรวจสอบความถูกต้องในทุกๆวัน  อย่างนี้เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่าง  ของการสร้างระบบมาตรฐาน ของคุณภาพอาหาร  แต่ถ้าคุณจะทำร้านอาหารแฟรนไชส์  ระบบการจัดการอื่นๆ  ก็ต้องสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาเช่นเดียวกัน  ไม่ว่าเรื่องมาตรฐานในการจัดโต๊ะ  มาตรฐานการทำความสะอาด   มาตรฐานการแต่งกายของพนักงาน  มาตรฐานการให้บริการ  เป็นต้น  ไม่ยากใช่มั้ย ถ้าคุณเริ่มได้ในจุดแรก  และจุดต่อๆไป ก็สร้างได้ไม่ยาก

แต่การกำหนดมาตรฐานนี้  คุณจะต้องบันทึกงานทุกชนิดให้ชัดเจน  ด้วยการจัดทำคู่มือ การดำเนินงานไว้อย่างครบถ้วน  เพื่อนำไปสอน  ให้ทุกคนทำตามคัมภีร์เดียวกัน  เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ลูกค้าคาหวังเหมือนๆกัน

ตั้งใจแน่วแน่ว่า จะครองตลาด  และจะเดินเส้นทางนี้

คนส่วนมากที่ล้มเหลวในการทำแฟรนไชส์  เพราะถอยเสียก่อน เพราะการทำแฟรนไชส์ให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถ้าใครสอบผ่านก็ยืนยาว  ผู้ที่สร้างแฟรนไชส์ได้สำเร็จ ต้องมาจากความมุ่งมั่นที่จะเดินเส้นทางนี้ด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของการครองตลาดในกลุ่มธุรกิจของคุณ เช่น  คุณต้องการเป็นผู้ขายผัดไทยอันดับ 1 ของประเทศ   หรือ ถ้านึกถึง ข้าวกะเพราะ ต้องนึกถึงร้านคุณ  เป็นต้น  การแน่วแน่ ในการครองตลาด และแน่วแน่ที่จะสำเร็จในการทำแฟรนไชส์ร้านอาหารไทยจะต้องมี  เพื่อทำให้คุณมุ่งมั่นที่จะขยายยอดขาย อันเป็นผลให้ร้านที่ซื้อแฟรนไชส์ของคุณได้ประโยชน์  และอยู่รอดอย่างยืนยาว

การทำแฟรนไชส์นั้น จะต้อง Win ทั้ง 3 ฝ่ายคือ  ลูกค้า Win ได้รับสินค้าดี มีคุณภาพสม่ำเสมอ  คนที่ซื้อแฟรนไชส์ Win คือ ได้ผลตอบแทนเพียงพอหรือรวยขึ้น  คุณจึงจะ Win ได้ คือ ได้รับความสำเร็จ และผลตอบแทนจากระบบแฟรนไชส์ที่คุณสร้างไว้

ฝันให้ไกล ไปถึงต่างแดน 

ถ้าคุณทำแฟรนไชส์ในประเทศ สำเร็จได้  การออกสู่ต่างประเทศ  ไม่ใช่เรื่องยาก  ที่สำคัญคือ การเลือกพาร์ทเนอร์ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ใช่   เพราะเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน   อาหารไทยไปไกลต่างแดนได้แน่  เพราะความต้องการมีอยู่สูง  นักธุรกิจเพื่อนบ้าน  พวกเขามามองหาร้านอาหารไทยถึงที่  มีร้านในไทยหลายแห่งที่ถูกแนะนำจากหนังสือไกด์บุค  ที่พาคนต่างชาติแห่มากิน จนเจ้าเจ้าของร้าน ก็งงๆ  กลุ่มนี้แหละ คือร้านที่มีศักยภาพ เป็น ไปได้ ในการ  ขยายกิจการด้วยแฟรนไชส์ หรือ ร้านอาหารแบบไทยๆ  ก็สามารถพัฒนาเป็นแฟรนไชส์เกือบทุกประเภท เช่น สวนอาหาร  ร้านตามสั่ง  ร้านผัดไทย  ร้านราดหน้า  ร้านข้าวมันไก่  ร้านก๋วยเตี๋ยว  ได้ทั้งสิ้น คุณเชื่อมั้ยว่า  ร้านอาหารไทย แทบไม่มีแฟรนไชส์เลย นับรายชื่อได้  มีแค่ ร้านแบล็คแคนย่อน ตำมั่ว แสนแซบ ร้านแมงโก้ทรี บลู อีเลฟเฟ่น ประมาณนี้เองที่ ที่พอจะเลือกได้  และพร้อมจะไปต่างประเทศ

โอกาสของแฟรนไชส์อาหารไทย จึงเปิดกว้างมาก  ดังนั้น เรามาพัฒนาอาหารไทย ให้เป็นแฟรนไชส์ ที่ดีกันดีกว่า

สนใจการสร้างระบบแฟรนไชส์  ดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่  www.franchisefocus.co.th   หรือFacebook/ สมาคมแฟรนไชส์ไทย หรือ สอบถามที่ 02-321- 7701-2 ,086-341-2973  หรือ ติดต่อผ่านอีเมล:  [email protected]