เผยแพร่ |
---|
“No Name Noodle BKK” ร้านราเมนไร้ชื่อ จากเชฟญี่ปุ่น ที่ตั้งใจเสิร์ฟวันละ 48 ชามเท่านั้น

“เราไม่ได้อยากให้ลูกค้าจดจำอะไรทั้งนั้น ทั้ง ชื่อ เบอร์โทร หรือส่วนประกอบต่างๆ เพราะอยากให้จดจำเฉพาะความอร่อยตรงหน้าเท่านั้น”
ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังชามราเมนร้อนๆ ที่ร้าน No Name Noodle BKK นั้น ได้ซ่อนเรื่องราวความผูกพันและความตั้งใจไว้อย่างมากมาย ก่อตั้งโดย เชฟชินจิ อิโนะอุเอะ ซึ่งเชฟชินจิ เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจในการทำราเมนมาจากคุณแม่ ย้อนกลับไปประมาณ 40 ปีที่แล้วได้เรียนรู้และซึมซับการทำราเมนมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต
เชฟชินจิ เล่าให้ฟังว่า เส้นราเมนทุกเส้นที่เสิร์ฟในร้าน ผ่านกรรมวิธีการทำที่พิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการต้มซุป รสชาติของราเมนที่ No Name Noodle BKK นั้นเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร และการันตีความอร่อยด้วยรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- วัยรุ่นสร้างตัว ทิ้งเงินเดือนหลักแสน เปิดร้านสมูทตี้ จากดีลิเวอรี ขายได้ 1 แก้ว สู่ 100 กว่าแก้วต่อวัน
- บินกลับจากอังกฤษ มาสานต่อธุรกิจครอบครัว พลิกโฉม “กวงข้าวต้ม” สู่ร้านเบอร์ 1 ในเพชรบูรณ์
- เบอร์เกอร์พลิกชีวิต! ลาออกจากงาน มาขายเบอร์เกอร์ 25 บาท พีกสุด 400 ชิ้นต่อวัน
จุดเริ่มต้น
เชฟชินจิ เล่าว่า “คุณแม่เปิดร้านยาไต (屋台) เป็นร้านรถเข็นขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่น สำหรับสไตล์ยาไต จะเป็นการเสิร์ฟชามต่อชามให้กับลูกค้า”
เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เชฟชินจิมาประเทศไทย และเขาพบว่าไม่มีร้านอาหารไหนที่มีเชฟเป็นคนญี่ปุ่นเลย “รู้สึกเหงาครับ รู้สึกว่าไม่มีคนบ้านเดียวกันเลย”
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เชฟชินจิอยากเสิร์ฟราเมนที่เป็นเมนูร้อน ที่เขาเคยได้เรียนรู้กับคุณแม่ เชฟชินจิเลยคิดว่าถ้ามาเสิร์ฟราเมนสูตรคุณแม่ในไทยก็คงจะดีมากๆ จึงเกิดเป็นร้าน “No Name Noodle BKK”
ทำไมต้อง No Name?
“เราไม่ได้อยากให้ลูกค้าได้จดจำอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เบอร์โทร หรือส่วนประกอบต่างๆ เพราะอยากให้ลูกค้าจดจำเฉพาะความอร่อยตรงหน้าเท่านั้น” เชฟชินจิ กล่าว
จุดเด่นของทางร้านจะเป็นตัวดาชิ (ซุป) ที่เป็นสาหร่ายทะเล และมีการคัดเลือกวัตถุดิบสำหรับการทำอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหมู ไก่ หรือปลาแห้งต่างๆ นำมาต้มเคี่ยวจนได้น้ำซุปที่เข้มข้น หอมกลิ่นธรรมชาติ
และแป้งข้าวสาลีนำเข้าจากฮอกไกโด โดยเชฟชินจิจะตื่นขึ้นมาทำเส้นสดเองในทุกๆ วัน เพื่อที่จะได้เส้นที่สดใหม่ เสิร์ฟให้กับลูกค้า เหมือนเป็นการเปิดประสบการณ์ในการทานราเมนใหม่ๆ สดๆ เหมือนได้ไปทานที่ญี่ปุ่นเลย

ขั้นตอนการทำแป้งจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วน A เป็นการใส่เนื้อข้าวในการทำเส้น และทำให้เส้นกลายเป็นสีขาว
ส่วน B เป็นส่วนผสมที่ทำให้ตัวเส้นกลายเป็นสีน้ำตาล นั่นคือส่วนเปลือกที่หุ้มกับตัวข้าวด้านใน
ส่วน C เป็นส่วนผสมที่ทำให้ตัวข้าวใหม่งอกเงยออกมา คือจมูกข้าวนั่นเอง
เสิร์ฟวันละ 48 ชาม
เชฟชินจิ เล่าว่า “อย่างที่พอจะทราบกันแล้ว ร้านเราจะเสิร์ฟตั้งแต่ 35 ชาม จน ณ ตอนนี้เราเพิ่มเป็นจนถึง 48 ชามแล้ว เพราะเราต้องรักษาคุณภาพ เพื่อที่จะได้เสิร์ฟให้กับลูกค้าทุกท่าน เหมือนกันทุกๆ คน เป็นการให้ของขวัญจากใจผมครับ”
ความแตกต่างของวัฒนธรรมการกิน ไทย VS ญี่ปุ่น
“สำหรับสไตล์ญี่ปุ่นที่ทุกคนรู้ ก็คือจะเป็นการทานเร็ว เพื่อจะได้กินเส้นพร้อมซู้ดน้ำซุปขึ้นไปพร้อมกันด้วย นั่นคือการซู้ดเส้นนั่นเอง แต่สำหรับคนไทย ค่อนข้างเรียบร้อย ในการทานแต่ละครั้ง จะเป็นแบบคำต่อคำ” เชฟชินจิ กล่าว
ส่วนการกินของคนญี่ปุ่นนั้น จะกินเพื่ออิ่มท้อง แต่เวลาคนไทยทาน มักจะทำให้คนที่มอบให้รู้สึกดีใจ เพราะนอกจากจะทำให้อิ่มท้องแล้วยังทำให้ใจฟูอีกด้วย
แล้วสไตล์การกินของเชฟชินจิเป็นยังไง?
“ถ้าเป็นตัวผมเอง เวลาไปที่ร้านไหนจะทานหมดเลย แบบหมดเกลี้ยงเลยครับ”
รู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024
รสชาติของราเมนที่ No Name Noodle BKK นั้น เป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากมาย จนได้รับรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024 ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความอร่อยและคุณภาพของราเมนร้านนี้
เชฟชินจิ เล่าว่า ตอนแรกที่มารู้สึกกังวลมากในการมาไทย เพราะคุณแม่ก็อยู่คนเดียวที่ ฟุกูโอกะ และรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจว่าการมาครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ทำให้มีความรู้สึกอยากกลับบ้านอยู่หลายครั้ง
“ตอนที่ได้รับรางวัล ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำลงไปดีมากๆ แล้ว ภูมิใจที่หลายๆ คนคอยซัพพอร์ต จึงรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากๆ เลยครับ” เชฟชินจิ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สำหรับใครที่อยากทำราเมนอร่อยๆ ได้เองที่บ้าน สามารถสั่งซื้อ Limited Box ได้แล้ว โดยจะมีให้เลือก 2 เมนู นั่นคือ Shio และ Shoyu พร้อมกับขั้นตอนการทำแบบละเอียด
ช่องทางการติดต่อ
Facebook : No Name Noodle BKK
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- วัยรุ่นสร้างตัว ทิ้งเงินเดือนหลักแสน เปิดร้านสมูทตี้ จากดีลิเวอรี ขายได้ 1 แก้ว สู่ 100 กว่าแก้วต่อวัน
- บินกลับจากอังกฤษ มาสานต่อธุรกิจครอบครัว พลิกโฉม “กวงข้าวต้ม” สู่ร้านเบอร์ 1 ในเพชรบูรณ์
- เบอร์เกอร์พลิกชีวิต! ลาออกจากงาน มาขายเบอร์เกอร์ 25 บาท พีกสุด 400 ชิ้นต่อวัน
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2024