ผักชี พืชสมุนไพร ประโยชน์มาก ใช่มีดีแค่โรยหน้า

ผักชี ผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ปรุงและประกอบอาหาร เพื่อทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ากินมากยิ่งขึ้น และด้วยสีเขียวสดของผักชีอีกทั้งรูปร่างของใบที่สวยงาม รวมถึงมีความเป็นเอกลักษณ์ เราจึงคุ้นชินกับการจัดแต่งจานอาหารให้สวยงามด้วยผักชี นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า“ผักชีโรยหน้า” นั่นเอง (ทำอะไรให้ดูดีแค่ภายนอก หรือการทำความดีอย่างผิวเผิน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง) ทำให้ผักชีถูกนำมาใช้กับความหมายในเชิงลบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผักชีนั้นมีคุณความดีอีกมากมาย

แล้วเรารู้จักผักชีไทยแค่ไหน

ผักชี เป็นพืชสมุนไพร มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักชีไทย มีชื่อพื้นบ้านเรียกหลายชนิดแตกต่างกันไปตามพื้นที่ปลูก เช่น ภาคเหนือเรียก หอมป้อม ผักป้อม ภาคอีสานเรียก หอมป้อม ผักหอมน้อย ผักหอม ผักชีหอม ส่วนภาคกลาง และภาคใต้เรียก ผักชี

ผักชี เป็นผักที่ปลูกง่าย และไม่ค่อยพบโรคหรือแมลงศัตรูพืชมากนัก เนื่องจากมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยไล่แมลงได้ในตัว

ผักชี เป็นผักประวัติศาสตร์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน พบในหลุมฝังศพของชาวอียิปต์ กรีกและโรมัน ที่เขาใช้เพื่อแต่งกลิ่นเหล้า ไวน์ และใช้เป็นยาด้วย ซึ่งชาวโรมันนี่เองที่เป็นคนนำผักชีเข้าไปเผยแพร่ยังยุโรป ที่เกาะอังกฤษ ในยุโรปสมัยกลาง และชาวฝรั่งก็ได้นำเอาลูกผักชีมาใช้ด้วย เพื่อแต่งกลิ่นไวน์ แยม ซุป และอาหารต่างๆ ส่วนประเทศทางเอเชียตะวันออกก็ใช้ผักชีใส่อาหารมานานเช่นกัน โดยเฉพาะชาวจีน ผักชีแต่ละที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย

ต้นหอมคู่หูผักชี มักต้องอยู่คู่กันมาเสมอ

กลิ่นหอมของผักชีเป็นกลิ่นเฉพาะ คือ หอมก็หอม เหม็นก็เหม็น ถ้าใส่เยอะๆ อย่างเช่น เครื่องแกงเขียวหวาน หากใส่ผักชีให้เขียว รสจะปร่าๆ สู้ใช้ใบพริกไม่ได้ สำหรับแกงของแขกบางตำรับเขาจะใช้ผักชีเยอะมาก แต่เมื่อผสมเข้ากับเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ลูกผักชี กลิ่นก็ไปด้วยกันได้ดี

คนไทยรู้จักนำผักชีทุกส่วนมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร และเอามากินสดๆ ก็ได้ เพราะในผักชีนั้นมีวิตามินซีสูงถึง 70-90 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ดังนั้น หากเรากินผักชีสดๆ ขอรับรองว่าได้ประโยชน์และดีแน่นอน

และหากเรามีผักชีเยอะๆ ขอแนะนำให้เอามาชุบแป้งทอด แล้วกินกับน้ำพริกกะปิ รับรองว่าท่านจะลืมชะอมไปเลย

โทษของผักชี

มีคำเตือนเกี่ยวกับการกินผักชีมากเกินไปเหมือนกันว่า หากกินมากจนเกินไปอาจจะทำให้กลิ่นตัวแรง เพราะกลิ่นผักชีจะฝังตัวแน่น และมีอาการตาลาย ความจำไม่ค่อยดี ลืมง่าย ใครขี้ลืมง่ายอยู่แล้วเขาบอกว่าอย่ากินผักชีว่างั้น ทั้งนี้ เพราะในผักชีมีสารประกอบพวกน้ำมันหอมระเหยต่างๆ อยู่มาก และสารประกอบต่างๆ บางตัวมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท (จากหลักฐานข้อมูลพบว่า มีผู้ค้นพบในห้องทดลอง)

แต่สำหรับเราๆ หากกินกันจริงๆ คงไม่ถึงขนาดฟาดเอาเป็นกะละมัง ซึ่งก็น่าจะได้แต่ข้อดีและมีประโยชน์แน่นอน

ประโยชน์ของผักชี

ผักชี ใช่มีดีแค่โรยหน้า แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากจะใช้โรยหน้าอาหารแล้วยังมีประโยชน์อีกมากมาย

คุณค่าของผักชีในเชิงสมุนไพร นอกจากผักชีจะอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเค และโปรตีนแล้ว ยังมีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ สามารถลดคอเลสเตอรอลที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (LDL) และส่งเสริมการผลิตคอเลสเตอรอลที่ดีต่อร่างกาย (HDL) ในเส้นเลือด ส่งเสริมระบบการย่อยอาหาร และช่วยต่อต้านมะเร็งได้อีกด้วย เพราะในใบผักชีมีเบต้าแคโรทีนซึ่งมีส่วนช่วยในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ ผักชีช่วยขับโลหะหนักโดยเฉพาะปรอทออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ ได้อีกด้วย

เคล็ดลับการใช้รากผักชี ให้ตัดเหนือรากขึ้นมา 1 นิ้ว

รากผักชี เป็นที่ทราบกันดีว่า “รากผักชี” เป็นเครื่องเทศสำคัญที่ใช้หมักเนื้อสัตว์ มีสรรพคุณในการดับกลิ่นคาวและเพิ่มกลิ่นหอมชวนกินโดยเฉพาะในอาหารปิ้ง ย่าง มักจะใช้รากผักชีโขลกกับกระเทียม พริกไทย เป็นสามเกลอในการหมักเนื้อสัตว์เสมอ ซึ่งนอกจากช่วยดับกลิ่นและเพิ่มความอร่อยให้อาหารแล้ว รากผักชียังมีประโยชน์ในการใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้เหือด หิด อีสุกอีใส

ลำต้น และใบ มักใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร เช่น หั่นเป็นฝอยในน้ำจิ้มต่างๆ หรือกินแกล้มกับอาหารว่าง เช่น สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ หรืออาหารอื่นๆ ได้อีกมากมายหลายเมนู

ลำต้นและใบของผักชี มีคุณค่าสารอาหารอย่างแคลเซียม โพแทสเซียม และเส้นใยอาหารสามารถป้องกันหวัด ช่วยขับเหงื่อ แก้ไอ ละลายเสมหะช่วยแก้อาการหวัด ช่วยขับลมแก้ท้องอืด ช่วยย่อยอาหาร และหากเป็นผื่นคันให้เอาผักชีมาตำแล้วนำไปโปะบริเวณที่คันได้

เมล็ดผักชี หรือที่เรียกกันว่า ลูกผักชี สามารถใช้ดับกลิ่นคาวในอาหาร เพิ่มกลิ่นและรสให้อาหาร นิยมใช้โดยการบดให้ละเอียดคล้ายผงกาแฟ

ลูกผักชี มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยย่อยไขมัน และอีกสรรพคุณคือ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยอาหารและยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์

ลูกผักชี ยังถูกจัดให้เป็นเครื่องเทศอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งฝรั่งนำมาใช้กันบ่อยมาก ไม่ว่าจะใส่ซุป ผักดอง ไส้กรอก ใส่คุกกี้ ขนมปัง ขนมเค้ก และสำหรับพวกที่ชอบสูบไปป์ก็มีเคยลองสูบใบยาผสมกลิ่นลูกผักชี และผู้ดื่มเหล้าก็มีกลิ่นลูกผักชีผสมอยู่เช่นกัน

ฤทธิ์ของลูกผักชี ช่วยแก้ปวดท้อง ขับลม เช่นเดียวกันกับใบ และใช้อุดแก้ปวดฟัน และเชื่อว่าเคี้ยวลูกผักชีแก้อาการแฮงก์เมาเหล้าได้ดีอีกด้วย

ต้นหอมคู่หูผักชี มักต้องอยู่คู่กันมาเสมอ

รากผักชี ต้องยกนิ้วให้คนไทยเราที่เก่งที่สุดกว่าใครๆ เพราะส่วนมากไม่เห็นมีที่อื่นเขาใช้กัน เมนูอาหารไทยจะมีเคล็ดลับการใช้รากผักชีอยู่ว่า ให้ตัดเหนือรากขึ้นมา 1 นิ้ว (วางนิ้วด้านขวางถัดจากรากขึ้นมา ไม่ใช่วางนิ้วตามยาว อย่างนั้นจะถึงยอดเลย) เพราะจะหอมกว่าใช้เฉพาะส่วนราก หากใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงมัสมั่นจะต้องนำไปคั่ว เมื่อโดนความร้อนน้ำมันหอมระเหยจะแตกตัวยิ่งหอมมากยิ่งขึ้น รากผักชีนำมาผสมในเครื่องแกงหรือผสมรากผักชี กระเทียม พริกไทย ซึ่งนี่คือสูตรลับเฉพาะของคนไทย รากผักชีจะนำไปผสมใส่อะไรก็ช่วยเพิ่มความอร่อยได้ทั้งนั้น เช่น ตำให้ละเอียดใส่หมูสับเอาไปแกงจืด ใส่ไส้ซาลาเปา หรือปั้นเป็นแผ่นใช้ทำไส้แฮมเบอร์เกอร์ก็ได้

สรุปแล้ว เขาว่ากันว่าอาหารไทยถ้าขาดกลิ่นรากผักชี กระเทียม พริกไทย อาหารจานนั้นก็จะไม่เป็นสับปะรด

รากผักชี เป็นเครื่องเทศสำคัญที่ใช้หมักเนื้อสัตว์ มีสรรพคุณในการดับกลิ่นคาวและเพิ่มกลิ่นหอม

(จริงๆ แล้วคำนี้ใช้กันมานานแล้ว สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “สรรพรส” แปลว่า หลากหลายรส มีทั้งรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ครบหมด ดังนั้นอาหารที่ “ไม่เป็นสรรพรส” ก็คืออาหารที่ไม่ค่อยมีรสชาติ ไม่มีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม หรือก็คือไม่อร่อยนั่นเอง เมื่อนานเข้าคนที่ฟังไม่เข้าใจจึงพูดเพี้ยนจาก “ไม่เป็นสรรพรส” ก็เพี้ยนมาเป็น “ไม่เป็นสับปะรด”

เมื่อทราบถึงคุณประโยชน์ของผักชีกันแล้ว ก็คงพูดได้เต็มปากว่า “ผักชีก็ไม่ได้มีดีแค่โรยหน้า” เพื่อตกแต่งให้อาหารสวยงามเท่านั้น แต่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีที่ไม่ควรเขี่ยทิ้งอีกต่อไป