ไขข้อข้องใจ SMEs อยากขายของในปั๊ม ปตท. ต้องทำยังไง?

ยุคนี้หลายคนอยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง สนใจในเรื่องของการประกอบอาชีพอิสระ ได้เป็นนายของตนเองและสามารถสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโต ก้าวหน้า แต่การจะเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นมามากมาย เช่น ทำเลที่จะขาย พื้นที่ตลาดหรือทิศทางการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร การมีคำถามมากมาย ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการเริ่มต้น หรือตั้งต้นจะประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง

นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ได้มีโอกาสพูดคุย สัมภาษณ์ คุณสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงเรื่องราวว่าหากมีผู้ประกอบการ SMEs อยากเข้าไปเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือขายของในปั๊ม ปตท. จะต้องทำอย่างไรบ้าง

Ÿ ทำไม สถานีบริการน้ำมัน ปตท. จึงเหมาะกับ SMEs?

คุณสุชาติ : “ปตท.มีเครือข่ายสถานีบริการทั่วประเทศกว่า 1,700 สาขา สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ดังนั้น สถานบริการน้ำมัน ปตท. เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถใช้เป็นที่เปิดร้านเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับผู้บริโภคได้เข้าถึงง่าย”

Ÿ SMEs ต้องมีกิจการใหญ่ขนาดไหน ถึงจะทำธุรกิจกับ ปตท. ได้?

คุณสุชาติ : “ปตท.ได้มีการแบ่งกลุ่ม SMEs ออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 SMEs ที่มีศักยภาพ พร้อมรุกธุรกิจสู่ต่างประเทศ เป็นกลุ่ม SMEs ที่มีความรู้ความสามารถสูง สามารถกำหนดตำแหน่งหรือการบริการที่ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมาย และที่สำคัญมีเงินทุนที่สามารถจะขยายสาขาไปตามภาคต่าง ๆ ในประเทศ และขยายไปต่างประเทศ โดย ปตท. และ SMEs จะแลกเปลี่ยนความรู้และดำเนินการธุรกิจร่วมกันในบางกรณี ถือเป็นกลุ่มที่เราจะร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ หรือ เป็น Brand Team Thai

กลุ่มที่ 2 SMEs รายย่อยทั่วไป ที่สามารถขยายธุรกิจไปได้ทั่วประเทศ โดยกลุ่มนี้สามารถดำเนินการได้เอง มีการจ้างคนงาน ประกอบการเป็นธุรกิจ มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน แต่มีเงินทุนไม่มากพอ หรือเป็นช่วงเริ่มต้น สำหรับ SMEs กลุ่มนี้ ทาง ปตท. และกลุ่ม SMEs จะร่วมพูดคุย ดูผลประกอบการ คิดค่าเช่าในอัตราที่เหมาะสม และแนะนำสถานีบริการที่เป็นเป้าหมาย เพื่อให้ SMEs ขยายสาขา เพื่อสร้างได้เพิ่มเติมมากขึ้น และแข็งแกร่งมากขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น (OTOP) หรือผู้ประกอบการมือใหม่ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะผลิตและขายเอง ไม่มีคนงาน เจ้าของมาเปิดร้านขายของเอง ปตท. จะเข้าไปสนับสนุนพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการนำของมาขาย โดยเน้นสถานีที่อยู่พื้นที่เดียวกัน โดยจัดเป็นสถานที่เฉพาะขายของ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นงาน และเข้ามาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าได้ง่าย”

Ÿ SMEs จะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง?

คุณสุชาติ : “ทาง ปตท.ได้เปิดโอกาสให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ในหลายลักษณะ ซึ่ง ปตท. เองก็ได้มีการสร้างจุดเด่นที่ดึงดูดความสนใจของ SMEs อาทิ การคิดราคาค่าเช่าพื้นที่ที่ไม่สูงมากนัก เรื่องของทำเลที่ตั้ง การให้สิ่งอำนวยความสะดวก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่จะช่วยให้เริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองได้ โดยจะพิจารณาจากศักยภาพของ SMEs เอง และใช้หลักการไปด้วยกัน ช่วยเหลือ สนับสนุน พัฒนา และเติบโตไปด้วยกัน

โดยการเข้าถึงพื้นที่เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น การเข้ามาติดต่อเองของผู้ประกอบการ ซึ่งทาง ปตท.ก็เปิดโอกาสให้เข้ามาติดต่อเองได้ หรือเกิดจากการชักชวนของเจ้าของสถานีบริการน้ำมันซึ่งเป็นแฟรนไชส์ของ ปตท. ก็สามารถทำได้ เป็นการเปิดให้โอกาส”

Ÿ  SMEs ที่สนใจ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

คุณสุชาติ : “มาตรฐานของ ปตท. คือต้องมีความตั้งใจ มุ่งมั่น มีคนดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่มอบให้กับผู้บริโภค ต้องคำนึงถึงคุณภาพ สินค้าสดใหม่ ที่สำคัญคือต้องซื่อสัตย์ มอบสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภค เพราะคุณสมบัติเหล่านี้คือการสร้างความยั่งยืนให้กับ SMEs และสถานีบริการ”

Ÿ คำแนะนำ สำหรับ SMEs มือใหม่?

คุณสุชาติ : “หากอยากร่วมทำธุรกิจกับ ปตท. นอกจากความตั้งใจมุ่งมั่นที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานแล้ว  สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องกล้าทำในสิ่งใหม่ ถ้าทำดี ก็ต้องทำดียิ่งขึ้น ถ้าไม่ดี ก็ต้องรีบแก้ไข ความสำเร็จไม่เกิดกับคนท้อแท้และหมดหวัง แต่จะเกิดกับคนที่มุ่งมั่น ผิดพลาดก็ต้องลุกขึ้นใหม่”

ทั้งนี้ทาง ปตท. ยังได้จับมือร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ภายในสถานีบริการน้ำมันต่างๆ เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมและท้องถิ่นนั้นด้วย

โดย ปตท. กับ ผู้แทนจำหน่าย หรือเจ้าของสถานีบริการ ปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบ SMEs รูปแบบหนึ่ง ได้ร่วมกันสร้างความสุขให้กับชุมชนท้องถิ่นให้กับคนไทย รวมทั้งคืนสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับธรรมชาติ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น โครงการแยก แลก ยิ้ม ที่ทาง ปตท.มุ่งหวังให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ให้เป็นสถานีบริการเพื่อชุมชน จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จับมือกับเจ้าของสถานีบริการ ปตท. นำขยะที่เกิดในสถานีบริการน้ำมัน มาสร้างรอยยิ้มให้ชุมชน ด้วยการนำขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ไปขาย และนำเงินที่ได้จากการขายขยะไปสร้างสาธารณประโยชน์ให้ชุมชนต่างๆ  ผ่านสถานีบริการน้ำมัน ปตท.กว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ โดยเริ่มทำโครงการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.กว่า 250 แห่งใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ และมีรายได้จากการขายขยะนำไปทำสาธารณประโยชน์แล้วกว่า 2.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการขายขยะ และเจ้าของสถานีบริการน้ำมันสมทบร่วมด้วย

โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา เกิดขึ้นจากการที่ ปตท.และเจ้าของสถานีบริการ ปตท. เปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวมาจำหน่ายตรงแก่ผู้บริโภคโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จนถึง 31 มกราคม 2560 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาจากกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำ ผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่เข้าร่วมโครงการรวม 831 แห่ง รวมทั้งที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

ซึ่งจากการทำโครงการนี้ ปตท.จึงมีแผนที่จะเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถนำผลิตผลทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ตามฤดูกาลเข้ามาจำหน่ายในสถานีบริการของ ปตท.ในแต่ละพื้นที่ เป็นการต่อยอดการดูแลพี่น้องเกษตรกร จากแนวทางของโครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนาต่อไปอีกด้วย

หรืออย่างโครงการร้านอาหารหนูณิชย์ ที่ทาง ปตท.ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ในศูนย์อาหารที่ตั้งในปั๊ม ปตท. จำนวน 661 แห่งทั่วประเทศ จัดโครงการจำหน่ายอาหารในราคาไม่เกิน 35 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่อร่อย คุณภาพดี สะอาด และราคาประหยัด ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ปตท. มีเป้าหมายมุ่งมั่นที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ทำให้คนไทยได้พบแต่สิ่งที่ดีๆ ผ่านการยกระดับมาตรฐาน SMEs ไทยด้วยกัน ให้สร้างสินค้าและบริการให้คนไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ซื้อและใช้บริการ สร้างรายได้ให้กับคนไทย คนไทยได้ใช้สินค้าไทยที่มีคุณภาพ สร้างสินค้าไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ และมีโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน โดยยึดมั่นในหลักการ “อยู่คู่คนไทย ทำเพื่อคนไทย ความภาคภูมิใจของคนไทย”