หลัง 2475 “อาหารจานเดียว” กินเพื่อความเท่าเทียม สลายค่านิยม และการแบ่งชนชั้น

หลัง 2475 “อาหารจานเดียว” กินเพื่อความเท่าเทียม สลายค่านิยม และการแบ่งชนชั้น

“การกินอาหารในยุคก่อนปฏิวัติมีความเป็นชนชั้นกำกับ แต่หลัง 2475 มันเปลี่ยนไป”

หากพูดถึงเรื่องอาหารการกิน ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมอาหาร อันเป็นผลพวงมาจากความเปลี่ยนแปลงในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ที่ทำให้อาหารที่เป็นการแบ่งแยกชนชั้น ค่อยๆ กลายเป็นครัวสมัยใหม่ เปิดกว้างมากขึ้น เน้นย้ำความเท่าเทียมและหลักโภชนาการ

อาหารการกินก่อน พ.ศ. 2475 เป็นอาหารทางชนชั้น ซึ่งชนชั้นสูงจะกินอีกแบบหนึ่ง ชนชั้นล่างจะกินอีกแบบหนึ่ง ชนชั้นแรงงานหรือชาติพันธุ์ ก็จะมีอาหารเป็นของตนเอง อาหาร จะเป็นตัวแสดงออกถึงชนชั้นหรือสถานะของคนกินอีกด้วย ดังนั้น เป้าหมายของคณะราษฎร คือต้องการทำให้ชนชั้นของอาหาร หายไปจากสังคม

ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง เจ้าของผลงาน “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น” ได้กล่าวบนเวที “เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล” ที่งานสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ในหัวข้อ “เมนูสร้างชาติ ราษฎรยุค 2475” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2566 ไว้ว่า

“สมัยก่อนจะมีสำรับกับข้าว ชนิดที่เรียกว่า ต้ม ผัด แกง ทอด ตำน้ำพริก มีข้าวเป็นอาหารหลักอยู่ตรงกลาง เราจะกินแบบนี้ได้ต้องมีทรัพยากร มีเงิน มีอาหาร และมีเวลา เพราะเป็นสำรับที่มีความซับซ้อน ยาก ใช้เวลานาน เป็นอาหารของชนชั้นสูง ต้องมีเวลาว่าง ไม่ต้องผลิต ชนชั้นล่างชาวนาจะกินแบบนี้ไม่ได้” 

การกินอาหารในยุคก่อน 2475 ยังคงมีความซับซ้อนและแสดงออกถึงชนชั้น แต่หลังจาก พ.ศ. 2475 ไปแล้ว วัฒนธรรมการกินอาหารจึงเปลี่ยนไป 

นวัตกรรมอาหาร ที่บูรณาการตามหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ซึ่งเป็นนโยบายเรื่องความเสมอภาค เปลี่ยนแปลงการจัดสำรับให้ลดความซับซ้อนลง และนำไปสู่การเกิด “อาหารจานเดียว” นอกจากนี้ ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดตั้งโรงงานนม โรงงานน้ำตาล ให้มีความเป็นอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

“ความคิดใหม่ที่เกี่ยวกับการกินเพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย หรือ ‘โภชนาการใหม่’ มาแทนที่การกินเพื่อบรรลุธรรม ซึ่งเป็นชุดความเชื่อทางพุทธศาสนา เพราะสมัยก่อนการกินคือเครื่องบ่มเลี้ยงร่างกาย (แต่) ไม่จีรังยั่งยืน จิตวิญญาณต่างหากที่จีรังยั่งยืน จึงกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน แต่หลัง 2475 กลายเป็น กินเพื่อชาติ”

นอกจากเรื่องราวของอาหารแล้ว เรื่องราวของร้านอาหารในสมัยนั้นก็สำคัญเช่นกัน ร้านอาหารกับการเป็นพื้นที่สาธารณะ “public sphere” ก่อน พ.ศ. 2475 ที่ขายอาหารตามคลองแล้ว บนถนนก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการค้าขายที่เป็นสาธารณะ แต่ในเวลาต่อมา ไฟฟ้าเริ่มมีเข้ามาให้ใช้ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานเริงรมย์ กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ให้คนหลากชนชั้นมาสังสรรค์ แลกเปลี่ยน ซึ่งสิ่งนี้เป็นกิจกรรมแบบตะวันตกที่เน้นถึงความเท่าเทียมระหว่างบุคคลและเพศ

หลักจากนั้น ร้านอาหารต่างชาติ เช่น อาหารจีน อาหารฝรั่ง อาหารแขก และอาหาร “Hybrid” จีนสไตล์ฝรั่ง ก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ถ่ายทอดความรู้ด้านอาหารการกินและการครัวสู่สังคมไทย อย่าง ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร) และภัตตาคารออนล็อคหยุ่น

การเปลี่ยนแปลงของอาหารในสังคมไทยที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เพราะทำให้อาหารกลายเป็นความเท่าเทียม มีความง่าย กระชับ ต้องการให้หญิงและชายสามารถทำกับข้าว ปรุงอาหารได้ มีความหลากหลาย มีมาตรฐาน นำมาสู่อาหารจานเดียว ถูกนำเสนออย่างชัดเจนในช่วงสงครามโลก เกิดโภชนาการใหม่ โดยเฉพาะ อาหารหลัก 5 หมู่ และการเกิดอาหารตามสั่ง ไม่ใช่อาหารตามคอร์ส 

เพราะฉะนั้น หลังจาก พ.ศ. 2475 อาหาร กลายเป็นการกินเพื่อความเท่าเทียม ไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ หรือชนชั้นอีกต่อไปแล้ว

ขอบคุณข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม

——————————————–

“ศิลปวัฒนธรรม” จัดเต็มบรรยากาศรื่นเริงยุค “วันชาติ” พร้อม 5 ไฮไลต์เด็ด 21-22 มิ.ย. นี้!

เวทีทอล์ก โดยกูรูประวัติศาสตร์ และนักวาดการ์ตูนอันดับต้นของประเทศ

ดูหนัง-ฟังเพลง โดยผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง มือปั้นหนังร้อยล้าน และวงดนตรีคนรุ่นใหม่

Book Fair เทศกาลหนังสือประวัติศาสตร์ โดย สำนักพิมพ์มติชน และพันธมิตรสำนักพิมพ์

นิทรรศการ ณ บ้านอองโตนี รำลึก ปรีดี พนมยงค์ โดย ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

อิ่มอร่อยกับสารพัดจานเด็ดจากร้านดัง โดย เส้นทางเศรษฐี

สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ “พลวัตวันชาติ”

วันที่ 21-22 มิถุนายน 2567

เวลา 10.30-18.30 น.

มติชนอคาเดมี

ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม ฟรี! ที่ https://bit.ly/3XcttuW