ปิ๊งไอเดีย กรอบเค็มปลานิล ขึ้นแท่นของฝาก จ.พะเยา ยอดขายเดือนละ4 หมื่นบาท

หากมองวิกฤตเป็นโอกาส นำปัญหามาสร้างอาชีพ ใครทำได้ก็ย่อมส่งผลร้ายกลายเป็นดี ดังเช่น คุณปิยะฉัตร คำวัง หรือ คุณต้อย วัย 42 ปี ประธานกลุ่มแปรรูปบ้านโปร่งเกลือ (ปุยฝ้าย) ที่พบเจอกับปัญหาทั้งส่วนตน และกับสิ่งใกล้ตัว จนกระทั่งนำมาซึ่งทางออก โดยสร้างอาชีพแปรรูปสินค้าเกษตรหลากหลายรายการ

สำหรับสินค้าขึ้นชื่อและยังไม่มีใครลงมือทำ คือ “กรอบเค็มปลานิล” ซึ่งจากวันแรกที่ไม่มีใครรู้จัก และต่างเดินผ่าน วันนี้ยอดสั่งซื้อมีมาไม่ขาด กลายเป็นสินค้าของฝากจังหวัดพะเยา และเป็นสินค้าที่มีผู้สนใจรับไปจำหน่ายต่อ

จากปัญหาที่เจอจึงกลายเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัว สมาชิกผู้ร่วมทาง และรวมไปถึงเกษตรกรในพื้นที่

 

ความรับผิดชอบนำพา

ปัญหานำมาสู่อาชีพ

คุณปิยะฉัตร เปิดบทสนทนา โดยมีสินค้าขนมหลากหลายรายการวางให้เราทานไปเพลินๆ ระหว่างพูดคุย

แม้จะมีบ้านเกิดเมืองนอนอยู่จังหวัดพะเยา แต่ทว่าการเดินทางไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ก็เนิ่นนานหลายสิบปี กระทั่งประสบปัญหาชีวิต กอปรกับต้องดูแลลูกในวัยเรียน 3 คน และแม่ที่เริ่มอายุมากขึ้น ซึ่งต่อมาภายหลังป่วยด้วยโรคหัวใจ

หน้าที่แม่ และลูก จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวัย 33 ปี กับการเดินทางมาสร้างหลักปักฐานในบ้านเกิด โดยขณะนั้น คุณปิยะฉัตรปรับพื้นที่หน้าบ้านซึ่งอยู่ในซอย ให้กลายเป็นร้านทำผมเล็กๆ

ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่กับรายจ่ายที่มากขึ้น ทำให้คุณแม่ลูกสามคิดหาทางสร้างอาชีพเสริม กระทั่งสบช่องมองเห็นโอกาสจากปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ส้มหรือกล้วยไข่พระตะบองในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานหนึ่งให้ปลูก แต่ทว่ากลับไม่รับผิดชอบต่อการซื้อคืนกลับ ทำให้เกษตรกรหลายต่อหลายคนทุกข์เพราะหาตลาดส่งจำหน่ายไม่ได้

“จากได้เป็นประธานหมู่บ้าน เห็นปัญหาของลูกบ้านมากมาย อย่างกล้วยก็เป็นปัญหาหนึ่งของเกษตรกร และด้วยสนใจการทำอาหารซึ่งเคยเรียนรู้มาจากศูนย์ฝึกอาชีพในกรุงเทพฯ จึงคิดนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ เพราะถือเป็นภูมิปัญญาที่ทำกันมานานแล้ว เริ่มต้นก็เดินเข้าไปถามสูตรจากคนผู้ที่เขาเคยลงมือทำ แต่ปัญหาคือเวลาทอดจะอมน้ำมัน ขนาดแผ่นไม่ได้มาตรฐานเพราะถ้าหนาไปก็จะทำให้ไม่กรอบ หรืออย่างการชั่งตวง อันนี้สำคัญมาก ซึ่งคนที่ทำทานเองเขาไม่ได้กำหนดชั่งตวงก็อาศัยความชำนาญ โอกาสผิดเพี้ยนสูง ตรงนี้จึงต้องปรับเพราะเราเข้าสู่กระบวนการขายแล้ว

ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้อมน้ำมันนั้นก็ต้องดูความร้อนของน้ำมันให้ได้ที่ก่อนนำกล้วยลงทอด และในกระบวนการนำออกมาคลุกเนยจะอบเพื่อคงความกรอบได้ยาวนานยิ่งขึ้น”

 

ได้โจทย์ ปลานิล

ได้สินค้าขายเพิ่ม

หลังปรับสูตรจนได้มาตรฐาน จึงเริ่มเดินตลาดด้วยการนำสินค้าไปฝากขายในร้านค้าละแวกชุมชน และด้วยเพราะยินดีรับฟังคำติชมแบบเปิดใจ จึงทำให้ข้อผิดพลาดได้รับการแก้ไข สินค้าจึงกลายเป็นของอร่อยในชุมชนแห่งนี้

กระทั่งต่อมา คุณปิยะฉัตรได้รับโอกาสจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา ผู้มอบความรู้อบรมทั้งด้านรสชาติ ไอเดียการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ และพร้อมกันนั้นยังได้รับคำแนะนำให้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มแปรรูปบ้านโป่งเกลือ (ปุยฝ้าย) กลายเป็นสินค้าโอท็อปเมื่อปี 2558

จากตลาดในหมู่บ้าน เริ่มขยายกว้างขึ้นสู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ กำลังการผลิตจากคนในหมู่บ้าน ก็เริ่มได้รับความร่วมมือดึงผู้สนใจเริ่มต้นประมาณ 5 คน เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ประมาณ 8 คน

มองในข้อดีคือได้กำลังผลิตเข้ามาช่วย แต่ทว่าในส่วนของค่าแรงคือภาระค่าใช้จ่ายที่คุณปิยะฉัตร ในฐานะประธานกลุ่ม ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้น การหาตลาดใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขึ้นมารองรับ

“ปีที่ผ่านมาได้รู้จักกับ คุณขจรพรรณ แก้วเขียว เจ้าหน้าที่กรมประมง ซึ่งเข้ามาพูดคุยและตั้งคำถามว่า จะสามารถนำปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีในพื้นที่มาทำอะไรได้บ้าง โดยทางกรมประมงยินดีส่งเสริมสนับสนุนเพื่อต่อยอด ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นการบ้านให้เรามาขบคิดและเริ่มเข้าสู่กระบวนการทดลอง”

กรอบเค็มคู่ปลานิล

ได้ของฝากจากพะเยา

ขนมดอกจอกกะทิ คือผลิตภัณฑ์ที่คุณปิยะฉัตรผลิตจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว จึงนำมาปรับสูตรใส่ส่วนผสมเนื้อปลานิลลงไป แต่ทว่าไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ด้วยเพราะกลิ่นของปลาจะกลบกลิ่นขนม โดยจะเกิดขึ้นในกระบวนการทอด

กับสินค้าแรกไม่สำเร็จ ก็ใช่ว่าจะหยุดคิด คุณปิยะฉัตรมองขนมอื่นสามารถนำมาเข้าคู่กับปลานิลได้ กระทั่งปิ๊งไอเดียกรอบเค็ม ขนมทานเล่นที่คนไทยรู้จักดี ซึ่งกับการผสมผสานเนื้อปลานิลลงไปนี้ ต่อมากลายเป็นสินค้านิยมนำไปเป็นของฝาก และนำไปจำหน่ายต่อ โดยความโดดเด่นของกรอบเค็มปลานิลนี้ เริ่มตั้งแต่รูปร่างหน้าตาที่เป็นแผ่นบางๆ ขนาดไม่ใหญ่ แต่ให้ความกรอบด้วยกรรมวิธีอบเพื่อไล่น้ำปรุงรสโดยเฉพาะในส่วนผสมของน้ำตาลให้ซึมเข้าสู่ตัวแผ่น

ส่วนกรรมวิธีก่อนนำปลานิลลงผสมนั้น ต้องผ่านกระบวนการต้ม คั่ว และอบ ซึ่งจะทำให้ไม่มีกลิ่นคาวรบกวน แต่จะหอมและทำให้ขนมได้รสยิ่งขึ้น

“ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 1 เดือน ซึ่งกระบวนการผลิตจะเน้นว่าต้องอร่อยและได้คุณภาพ ไม่ใส่สารกันบูด ส่วนสีเหลืองของแผ่นขนมที่ได้มาจากน้ำฟักทอง โดยผลิตออกมา 2 รส ได้แก่ พริกไทยดำ ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมและรสน้ำพริกเผา เอาใจคนรักความเป็นไทย โดยนำน้ำพริกเผามาคลุกเคล้า ไม่ใช่แต่งกลิ่น”

เมื่อทุกอย่างลงตัว ถึงคราวออกตลาด ทว่าสินค้าที่ไม่เคยมีผู้ใดผลิตมาก่อน ย่อมส่งผลให้คนไม่รู้จัก การออกงานแสดงสินค้าวันแรกที่เมืองทองธานี จึงมีแค่คนเดินผ่านไปผ่านมา

“ป้าที่ออกงานอยู่ร้านตรงข้ามเห็นแล้วสงสาร เพราะเราขายไม่ได้เลย จึงแนะนำว่า ลองให้ลูกค้าชิมสิ พอได้ฟังแล้วทำตาม ปรากฏขายแทบไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสินค้าขายดีที่มีผู้สนใจซื้อไปทานเอง ไปเป็นของฝาก และรับไปจำหน่าย”

สินค้าตรงเป้าหมาย

ขายได้ทั้งปลีกและส่ง

ปัจจุบัน สินค้าภายใต้การผลิตของกลุ่ม จะมีหลักๆ ได้แก่ กล้วยกรอบรสหวานและรสปาปริก้า ข้าวเกรียบฟักทองที่คัดเลือกฟักทองพันธุ์ดีให้ความหวานมัน ดอกจอกกะทิ และกรอบเค็มปลานิลทั้ง 2 รส

คุณภาพ คือสิ่งที่คุณปิยะฉัตรตั้งไว้เป็นมาตรฐาน ฉะนั้น ทุกครั้งที่ลงมือผลิตจึงต้องดูแลเองทุกขั้นตอน “จะบอกกับสมาชิกตลอดว่า เวลาทำต้องใส่ใจทุกรายละเอียด จะได้ขายได้ยาวๆ อาชีพนี้ก็จะอยู่กับเราไปนานๆ”

กับคุณภาพ และวัตถุดิบที่ให้ความสำคัญ แต่ทว่ากับราคาขายนั้นตั้งไว้เพื่อทุกกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสลิ้มรส และยังสามารถนำไปสร้างผลกำไรต่อได้ด้วย

“ลูกค้าจะมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ ในพื้นที่ กับต่างจังหวัด โดยจะมีทั้งที่ซื้อไปทานไปฝาก และนำไปจำหน่ายต่อ ซึ่งตรงนี้เราจะดูตลาด อย่างในพื้นที่ส่งร้านขายของเล็กๆ กำลังผู้ซื้อไม่มากนัก จะผลิตเป็นถุงเล็กออกมา ส่งถุงละ 8 บาท ซึ่งตอนนี้ก็ได้วางจำหน่ายในมหาวิทยาลัยพะเยา ศูนย์อาหารวิทยาลัยเทคนิคพะเยา ร้านของฝาก และก็ร้านค้าทั่วไป

ส่วนลูกค้ากลุ่มกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็จะมีรับไปเป็นของฝากค่อนข้างเยอะ ซึ่งรูปแบบที่เขาต้องการจะบรรจุในกระปุก ราคากระปุกละ 20 บาท ส่วนขนมอื่นๆ อย่างข้าวเกรียบฟักทองราคาถุงละ 25 บาท แต่ถ้าซื้อ 50 ถุงขึ้นไปก็ส่งในราคา 17 บาท คือเราพยายามให้ผู้ที่รับไปจำหน่ายได้กำไรสมน้ำสมเนื้อ”

กับรสชาติบวกคุณภาพ แม้จะทำให้คุณปิยะฉัตรมั่นใจ แต่ทว่าแค่ความอร่อยอย่างเดียวไม่อาจทำให้โตได้ ถ้าไม่วิ่งหาลูกค้า ดังนั้น คุณปิยะฉัตรจึงเดินทางไปพบลูกค้าใหม่ ลูกค้าเก่า อย่างต่อเนื่อง และรวมไปถึงการออกงานแสดงสินค้าทั้งในพื้นที่จังหวัดพะเยา และต่างจังหวัด และผลจากการไม่หยุดนิ่งนี้เองทำให้ยอดขายค่อยๆ ขยับ จนถึงตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่เดือนละประมาณ 40,000 บาท

“แรกๆ โดนลูกค้าปฏิเสธเยอะมาก ไปตามร้านค้าเพื่อนำสินค้าไปฝากขาย เขาบอก ข้าวเกรียบฟักทอง กล้วย แบบนี้ที่ไหนก็มี ไม่เห็นต้องรับของเราเลย เสียใจนะ แต่ต้องอดทน เราเดินมาจุดนี้แล้ว เรามีหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนเป็นแสน ไหนจะความรับผิดชอบกับลูกในวัยเรียน แม่ที่ต้องดูแล และสมาชิกที่เขามาอยู่กับเรา ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่ายเลย และเราก็ยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะสู้ต่อไป”

สนใจติดต่อ กลุ่มแปรรูปบ้านโป่งเกลือ (ปุยฝ้าย) เลขที่ 40/1 ม.9 บ้านโป่งเกลือ ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (097) 210-3024