ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สร้าง 5 โอกาสชีวิต “มนุษย์เงินเดือน” ลดภาระรายปีนับหมื่น

ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สร้าง 5 โอกาสชีวิต “มนุษย์เงินเดือน” ลดภาระรายปีนับหมื่น
ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สร้าง 5 โอกาสชีวิต “มนุษย์เงินเดือน” ลดภาระรายปีนับหมื่น

ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สร้าง 5 โอกาสชีวิต “มนุษย์เงินเดือน”

นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่เริ่มประเดิมแล้ว น่าจะเป็นโครงการที่ส่งผลต่อ “โอกาสชีวิต” มนุษย์เงินเดือน” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างสูง ในระดับที่เทียบเคียงได้กับบัตรทอง 30 บาท ที่มองได้ 5 โอกาส

โอกาสที่ 1 ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มกำลังซื้อ 

ข้อมูลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในเดือนกันยายน 2566 จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) เฉลี่ยวันละ 423,406 คน และ 61,912 คน ตามลำดับ คือ เฉียดๆ 5 แสนรายต่อวัน

แน่นอนว่าผู้โดยสารกลุ่มหลักคือ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ทำงานประจำ ซึ่งถ้าคิดเฉพาะภาระค่าเดินทางในวันทำงาน (หักวันหยุดประจำสัปดาห์+วันหยุดราชการ) ค่าโดยสารระหว่าง 16-42 บาทต่อเที่ยว ภาระค่าใช้จ่ายตลอด 1 ปี จะอยู่ที่ 7,712-20,244 บาท

เมื่อลดเหลือ 20 บาท/เที่ยว ภาระรายปีสูงสุดจะลดลงจาก 20,244 บาท เหลือ 9,640 บาท ลดลง 10,604 บาท มากกว่าการแจกเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตเสียอีก

การคำนวณนี้คิดเฉพาะการเดินทางทอดเดียว สายเดียวเท่านั้น แต่ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ การเดินทางหลายทอด (เช่น สายสีน้ำเงิน ต่อ สายสีเขียว) รวบเป็น 20 บาท เบ็ดเสร็จ การประหยัดจะเกิดขึ้นมากกว่านี้

โอกาสที่ 2 การขยายตัวของชุมชน-ย่านธุรกิจใหม่

เมื่ออัตราค่าโดยสารระยะทางไกล “ไม่แพง” ย่อมหมายความว่า คนที่ซื้อที่พักอาศัย จะไม่ถูกจำกัดทางเลือกให้ต้องซื้อหรือเช่า ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระยะที่ใกล้ที่สุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือ ต้องยอมจ่ายค่าที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ หรือการเช่า

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือ การสร้างคอนโดมิเนียมแออัดในทำเลทอง ซึ่งเป็นทำเลเดียวกับ อาคารสำนักงาน เช่น ย่านอโศกมนตรี

โฉมหน้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ จะขยายตัวออกไปได้ไกลขึ้น จากการประหยัดค่าเดินทาง และยังลดภาระค่าที่อยู่อาศัย เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่สูงทั้งซื้อและทั้งเช่า

ไม่เพียงแต่ อาคารพักอาศัย จะสามารถขยายตัวออกไปนอกใจกลางกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังรวมถึง อาคารสำนักงานไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ก็มีทางเลือกขยายตัวออกไปในพื้นที่ชานเมือง เพราะไม่ต้องพะวงภาระค่าใช้จ่าย การเดินทางของพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของย่านธุรกิจ-ที่อยู่อาศัย ชานเมืองในระดับคุณภาพ

โอกาสที่ 3 เกิดทำเลการค้าขายใหม่

โอกาสทางการตลาดสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ

หนึ่ง การเกิดขึ้นของกำลังซื้อใหม่ในพื้นที่ อันเป็นผลจากการเกิดขึ้นของย่านธุรกิจ-ที่อยู่อาศัย ชานเมืองในระดับคุณภาพ ที่ภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ลดลง เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน เป็นการสร้างทำเลการค้าใหม่ขึ้นมา ไม่ต้องกระเสือกกระสนเข้ามาเช่าแผงขายราคาแพงๆ หรือริมฟุตปาธ ในใจกลางเมือง

สอง การจัดงานกิจกรรมอีเวนต์ ในพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงได้สะดวก ภายใต้ต้นทุนการเดินทางที่ไม่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเดินทางมาจากจุดใดที่อยู่ห่างไกล ทางเลือกในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเพิ่มมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง ทั้งผู้จัดงาน ผู้มาออกงาน และผู้มาร่วมชมงาน

โอกาสที่ 4 คุณภาพชีวิต และสุขภาวะที่ดีขึ้น

ใจกลางเมือง ลดความแออัด เพราะไม่ต้องแย่งกันเข้ามาอยู่อาศัย หรือมาทำงาน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ในขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อนในเมืองด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง เช่น สวนสาธารณะขนาดใหญ่ อาร์ตแกลเลอรี่ สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน ย่านเมืองเก่า ลดความเครียด เติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ ไม่หมกตัวอยู่ในบ้าน หน้าจอดิจิทัล เพราะไม่มีค่าเดินทาง

โอกาสที่ 5 “ภาษี” ที่เป็นธรรม

การใช้เงินงบประมาณจ่ายชดเชยค่าตั๋วโดยสาร มักถูกหยิบยกมากล่าวอ้างในการวิจารณ์ หรือคัดค้านไม่เห็นด้วย ภายใต้วาทกรรม “ภาษีประชาชน” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเรือน ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง ผู้โดยสารกลุ่มหลักคือ มนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษี ซึ่งภาษีเหล่านี้ ถูกนำไปใช้ด้านต่างๆ เพื่อคนทั้งประเทศ ที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องแบกภาระภาษีเหมือนพวกเขา การนำเงินงบประมาณจ่ายชดเชยค่าตั๋วโดยสาร ก็คือ กระบวนการนำภาษีที่พวกมนุษย์เงินเดือนจ่ายไป (เพราะหลบภาษีไม่ได้) กลับมาช่วยแบ่งเบาภาระชีวิตของพวกเขานั่นเอง เป็นสิทธิพึงได้ พึงเรียกร้อง

สอง ในที่สุดรัฐบาลมีโอกาสเก็บภาษีที่เพิ่มมากขึ้นจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น จากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

อีกหนทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ภาษีคือ ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) ที่เรียกร้องกันมานานตั้งแต่ยุค ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นแนวคิดการจัดเก็บภาษี ที่ว่าการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน สนามบิน เป็นต้น ทำให้ที่ดินถูกตัดผ่านหรือที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น รัฐพึงเก็บภาษีที่ดินที่มีลักษณะแบบนี้ ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อไม่ให้นายทุนเอาเปรียบสังคม

ความห่วงใยเงินภาษีประชาชน ควร “ห่วงใยอย่างเป็นธรรรม” ไม่เลือกห่วงใย ทุกวันนี้ มีการใช้งบประมาณไปในหน่วยงาน และโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก ก็ไม่เห็นมีผู้ใดแสดงความห่วงใยจริงจัง

ดังกล่าวไว้ตอนต้น เมื่อลดเหลือ 20 บาท/เที่ยว ภาระรายปีสูงสุดจะลดลงจาก 20,244 บาท เหลือ 9,640 บาท ลดลง 10,604 บาท เท่านี้ก็มากกว่าเงินจากดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทแล้ว แล้วยังประหยัดได้อีกต่อเนื่อง ไม่จบเหมือนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทบ 2 ปีคือ 21,208 บาท

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) คาดว่า หากใช้รัฐต้องอุดหนุนเงินจ่ายชดเชยค่าตั๋วโดยสารรวม 5.4 พันล้านบาทต่อปี เทียบกับดิจิทัลวอลเล็ต 5.4 แสนล้านบาท

แต่ก็ขอย้ำว่า นี่เป็นนโยบายที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ กระนั้นก็มีความหมายมาก