ผู้เขียน | ภาสกร กรุงทวี |
---|---|
เผยแพร่ |
เกษตรแฟชั่น ยกระดับชุมชน ตานีสยาม กระเป๋าหนังวีแกนกาบกล้วย โดดเด่นไม่เบียดเบียนระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
ใครจะรู้ว่าศิลปะกับธุรกิจจะไปด้วยกันได้ แตกต่างกันสุดขั้วแต่ผสานกันอย่างลงตัวสุดๆ จากผู้สืบทอดการทำอาชีพพิธีกรรม สู่เจ้าของแบรนด์ตานีสยาม เรื่องราวชีวิตกว่าจะมีทุกวันนี้ไม่ได้มาง่ายๆ
คุณกอล์ฟ-ธนกร สดใส ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ตานีสยาม ได้เผยเรื่องราวชีวิตที่ครบรส ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ผ่านมาหลากหลายอาชีพ ต่อสู่ ดิ้นรน แต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องกลับมามอบให้กับศิลปะและอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ นั่นคืองานพิธีกรรมและการทำบายศรี ทั้งยังต่อยอดและพัฒนายกระดับจนมาเป็นแบรนด์กระเป๋าสุดเก๋ เอาใจสายธรรมชาติ แถมยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน
เพราะความจนจึงทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต
“ความจนทุกอย่างมันทำให้เป็น มันต้องดิ้นรนแม้ว่าทางที่เราไปมันตัน แต่ถึงอย่างไรมันก็ต้องไปต่อ ผมมีเพียงหนึ่งสมอง สองมือ มันจะไปแบบไหน คนที่จะทำธุรกิจจะต้องมีเงินลงทุน แต่ตานีหรือผมไม่ได้มีต้นทุน แต่จะทำอย่างไรที่ไม่มีต้นทุนแต่สามารถเดินต่อได้ นี่เป็นสิ่งที่ยากและชาเลนจ์มากในช่วงนั้น
ตอนนั้นกู้รายวันก็มี เราเป็นหมาจนตรอกอะเนอะ อะไรที่อยู่ใกล้หรือพอประทังไปได้ก็หยิบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คน บุคคลที่มีศักยภาพที่อยู่ใกล้เราที่สุด เราก็ขอความช่วยเหลือ หยิบยื่นมา จนผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้” คุณกอล์ฟ เล่า
จากความรู้เป็นศูนย์เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ มีเพียงแค่ใจรักและมั่นคงกับงานศิลปะ จนมีโอกาสพบเจอผู้คนที่มีประสบการณ์มากมาย ทำให้คุณกอล์ฟมีความคิดที่จะทำให้ศิลปะและธุรกิจที่มันเป็นคู่ขนานไปด้วยกันได้
จนมาถึงวันที่ตัดสินใจทำแบรนด์ “ตานี” คุณกอล์ฟได้นิยามแบรนด์ตานีไว้ว่า มันคือ ตน ซึ่งบ่งบอกถึง ความเป็นตัวตนของเขาที่ได้นำสิ่งที่รักมาพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรม โดยการปรับต้นกล้วยจากที่ทำบายศรีมาเป็นหนังทดแทน หรือ Vegan Leather from Banana ซึ่งตั้งคอนเซ็ปต์เอาไว้ว่านี่คือหนังไม่เบียดเบียน เป็นความตั้งใจและเป็นเป้าหมายของแบรนด์ โดยการสร้างสรรค์จากธรรมชาติ ผลิตจากฝีมือชุมชน เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคือ ตานี และเป็นที่มาของแบรนด์
เปลี่ยนกล้วยตานีเป็นงานฝีมือจากชุมชน
ตานีสยามเป็นแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยความรักในสายธรรมชาติแบบสุดโต่งผนวกเข้ากับความชอบในงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง จึงนำองค์ความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นเกษตรแฟชั่น
โดยนำต้นกล้วยตานีมาผลิตตามขั้นตอน “กรีด ตาก รีด ต่อ” จนเกิดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีความโดดเด่น หากพูดถึงความโดดเด่นของแบรนด์ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวสินค้า รวมถึง “จริยธรรม” เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่น เพราะการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
สำหรับจุดเด่นของโปรดักต์คือ 1 ต้น ต่อกระเป๋า 1 ใบ ลวดลายไม่ซ้ำกัน เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ เป็นงานศิลปะที่หายาก เพราะมีลวดลายที่เป็น Limited Edition ที่มีใบเดียวในโลก และในเรื่องการใช้งาน สามารถกันน้ำ กันเชื้อรา และสามารถเช็ดล้างด้วยแอลกอฮอล์ได้
ตานีสยามมีกระบวนการทำงานที่เป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีการเตรียมการในเรื่องการจัดการทรัพยากรไว้อย่างดีคือ โครงการเรื่องกล้วยๆ ช่วยชุมชน โดยที่มีแปลงแม่ตานีที่เก็บรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนไว้ และนำสายพันธุ์ที่เตรียมไว้ส่งต่อให้กับคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รกร้าง พื้นที่ว่างเปล่า หรือคนที่มีพื้นที่และอยากจะร่วมโครงการกับทางตานี จะเฉลี่ยทั้งหมด 1 ครอบครัว ต่อ 1 ไร่ 1 ไร่ ปลูกได้ 250 ต้น ซึ่งจะรับซื้อต้นละ 50 บาท เพราะฉะนั้น รายได้เสริมต่อครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการนี้ คือ 12,500 บาทต่อครอบครัว
การเดินทางของสายน้ำ
“โครงการที่เราขับเคลื่อนที่ชุมชมพึงที่จะได้รับมันมีเรื่องของต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำจะเป็นฝีมือชุมชนเช่นกัน ในการแปรรูปนำมาเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุในตัวหนังทดแทนที่ทำจากกล้วย ก็เป็นฝีมือจากชุมชนที่ร่วมกันสร้างร่วมกันทำเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่วนปลายน้ำเป็นเรื่องของการทำการตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นทีมงานของตานีที่ดูแลเรื่องของดีไซน์ กราฟิก คอนเทนต์ต่างๆ ที่พยายามสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจแบรนด์และเข้าใจถึงคอลเล็กชันต่างๆ ที่เราทำออกไป” คุณกอล์ฟ เล่า
ตานีไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการทำกระเป๋าหนังกาบกล้วยเท่านั้น แต่ยังคิดค้นและแปรรูปของที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะในกระบวนการผลิตจะมีเศษขยะที่เหลือๆ จึงคิดนำขยะเหล่านั้นไปต่อยอด โดยทำเป็นกระดาษเยื่อกล้วยที่ใช้ทำกล่องบรรจุภัณฑ์ และยังทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่คือ Tanee Color เป็นสีพิมพ์ เพ้นต์ สกรีน มีคุณสมบัติที่ติดทนนานเหมือนยางกล้วยที่ติดและซักไม่ออก และอีกส่วนจะนำเศษกล้วยเหล่านั้นไปให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับสัตว์ นี่ก็เป็นการนำสิ่งที่เป็น Wast มาแก้ไขและต่อยอดได้
“ในส่วนของปลายน้ำ แบรนด์ตานีมีหน้าร้านอยู่ที่ ตานีสยาม ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นการขับเคลื่อนทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของต่างประเทศ ตอนนี้มีเซ็นเตอร์อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์และกระจายสินค้าไปทั่วยุโรป เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งยุโรป เนื่องจากยุโรปกลุ่ม Vegan จะสูงมาก เพราะเขาเข้าใจในคำว่า Vegan เข้าใจในคำว่าหนังทดแทนหรือหนังไม่เบียดเบียน จึงย้ายไปเปิดหน้าร้านที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อขับเคลื่อนในฝั่งยุโรป ส่วนในไทยก็มีการออกบูธหรือนิทรรศการต่างๆ”
ในการทำธุรกิจผลตอบแทนหรือความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่หลายคนคงตั้งเป้าเอาไว้สูง แต่ตานีสยามได้มองถึงความคุ้มค่าเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่ชื่อเสียง และสิ่งที่ได้รับมันมากกว่าที่ตั้งเอาไว้ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจ เข้าถึง และเห็นคุณค่า สิ่งตอบแทนต่างๆ มันก็จะตามมาเอง ซึ่งเป็นผลดีต่อตนเองและชุมชน ตานีสยามจึงให้ความสำคัญของคำว่าแบรนด์หรือขับเคลื่อนให้ทุกคนเข้าใจ เข้าถึง และเห็นคุณค่าของคำว่าแบรนด์ตานี
จากใจส่งถึงใจ
คุณกอล์ฟได้ฝากถึงคนที่กำลังสร้างธุรกิจใหม่หรือมีอยู่แล้วว่า
“ให้คำนึงถึงสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราให้มากที่สุด ลงทุนให้น้อยที่สุด นั่นคือคีย์เวิร์ดที่เราก็ได้นำมาใช้เหมือนกัน ทำน้อยให้ได้มาก คิดมากลงทุนน้อย
ถ้าคุณมองเห็น สามารถที่จะเดินในสายธุรกิจพร้อมกับงานศิลปะควบคู่กันไปได้ นั่นคือสายของ Creative Economy นั่นคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยคุณต้องมีคุณสมบัตินวัตกร หรือผู้คิดใหม่ ผู้ทำใหม่ ผู้สร้างสรรค์ใหม่ อะไรก็ได้ที่ตนเองถนัด เชี่ยวชาญที่สุด
ตกตะกอนระเบิดตัวเองให้มากที่สุด และนำมันออกมา มันไม่มีอะไรยากและไม่มีอะไรง่ายถ้าเราลงมือทำจริงๆ อันนี้คือสิ่งที่เราจะฝาก ให้เข้มแข็งและอดทนไว้ มันจะต้องเจอทุกรูปแบบแน่ๆ ยอมใจรับมันซะว่าต้องเจอทุกรูปแบบ แต่ประสบการณ์มันจะสอนตัวเอง แต่ในขณะที่เรารับประสบการณ์มันก็เจ็บไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจจงเตรียมใจรับไว้ เจอก่อนชนะก่อน”
“ศิลปะทำได้แต่มันเลี้ยงเราไม่ได้ เราก็เลยต้องเดินคู่กันไปทั้งศิลปะและธุรกิจ”
ช่องทางการติดต่อ
Facebook : Tanee siam
โทรศัพท์ : 099-149-9746
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 18 กรกฎาคม 2566