ขายของน้อย ได้กำไรมาก ใครก็อยากขาย แต่ใช่ว่าใครๆ ก็ขายได้

ขายของน้อย ได้กำไรมาก ใครก็อยากขาย แต่ใช่ว่าใครๆ ก็ขายได้

ถามว่า “สินค้าทุกชนิดมีการคิดต้นทุนราคาขายเหมือนกันไหม”

ตอบว่า “มีทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนครับ”

อยู่ที่ว่าคุณมีต้นทุนอะไรบ้าง มีเบี้ยบ้ายรายทางมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นสินค้าขายผ่านเซลส์ต้องมีค่าคอมมิชชัน คลินิกเสริมความงามต้องมีค่า DF (Doctor Fee) หรือค่ามือหมอ พนักงานนวดหน้าอาจจะมีค่ามือ ร้านอาหารมีค่าบริการ ขายอาหารผ่านแอปดีลิเวอรีมีส่วนแบ่งทางการตลาด ค่าโฆษณา ร้านเปิดที่บ้านมีต้นทุนอาจจะน้อยกว่าร้านที่เช่าที่ขายในห้าง ดังนั้น ราคาขายของสินค้าแต่ละอย่างจึงอาจใช้สูตรคำนวณที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ ขึ้นกับต้นทุนและกำไรที่ต้องการ

ปกติสินค้าทั่วไปตามหลักวิชาบัญชีเขาก็แยกออกเป็นต้นทุนทางวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการผลิต ทำอะไรก็ไม่หนีจากนี้

ลงลึกลงไปอีก ต้นทุนแต่ละอย่างยังมีต้นทุนทางตรงและทางอ้อม เช่น ซื้อหมูปิ้งสดมาไม้ละ 5 บาท เป็นต้นทุนวัตถุดิบทางตรง ค่าน้ำมันพืช ค่านมสดทาหมูตอนปิ้ง ค่าถ่านปิ้งเป็นวัตถุดิบทางอ้อม

ค่าแรงงานก็มีทางตรงทางอ้อมเหมือนกัน คนยืนปิ้งหมูปิ้งเป็นค่าแรงทางตรง ส่วนแฟนคนปิ้งหมูปิ้งที่ช่วยเข็นรถหมูปิ้งมาให้เป็นค่าแรงทางอ้อม (ซึ่งไม่ต้องจ่ายตังค์ ฟรี!)

ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตก็คือต้นทุนส่วนที่เหลือทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น ค่าเช่าหน้าร้านตั้งรถหมูปิ้ง ค่าน้ำล้างภาชนะ ถุงใส่หมูปิ้ง ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่ตัววัตถุดิบเจ๋งๆ เป็นอ้อมๆ เป็นค่าแรงอ้อมๆ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาอยู่ในส่วนนี้หมดก็ง่ายดี

ลองมาดูค่าใช้จ่ายในการขายหมูปิ้งกัน

รายการ วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิต ต้นทุนรวมการผลิต
หมูปิ้งสด 500 ไม้ 2,500.00 2,500.00
ค่าแรงคนปิ้งหมู 4 ชม. (เจ้าของปิ้งเอง) 200.00 200.00
ค่าบริหารงาน (ไม่คิด ปิ้งเอง เอาเอง)
น้ำมันพืชทาหมูปิ้ง 1/8 ขวดลิตร 6.00 6.00
นมสดทาหมูปิ้ง 1/4 กระป๋อง 7.00 7.00
ถ่านไม้ 1/4 ถุง (250 กรัม) 8.00 8.00
ค่าเช่าที่หน้าร้านต่อ 1 วัน (600 บาท/เดือน) 20.00 20.00
ถุงร้อน 5×8 นิ้ว 500 ใบ 120.00 120.00
ถุงหิ้วบาง 6×11 นิ้ว 500 ใบ 50.00 50.00
รวม 2,911.00
ต้นทุนต่อไม้ (ต้นทุนรวม/500 ไม้) 5.82

 

ตัวอย่างนี้ตี๊ต่างว่าขายหมด 500 ไม้ ภายในเวลา 4 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าจากราคาต้นทุนหมูปิ้งสดที่ไปซื้อเขามาไม้ละ 5 บาท มาเจอต้นทุนอย่างอื่นขึ้นไปเกือบเป็นไม้ละ 6 บาท ถ้าขายน้อยกว่า 500 ไม้ ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นอีก เพราะบางอย่างเป็นต้นทุนคงที่ เช่น ค่าแรงปิ้ง 4 ชั่วโมง 200 บาท ค่าเช่าหน้าร้าน 1 วัน 20 บาท

จริงๆ อันนี้ยังลงรายการไม่หมด สินค้าอื่นถ้าขยันจดรับ-จ่าย จะเห็นต้นทุนที่แท้จริง จริงๆ ไม่คิดหลอกตัวเอง

แล้วทีนี้จะคิดราคาขายยังไง

ง่ายๆ เลย คนอื่นเขาขายหมูปิ้งกันไม้ละเท่าไหร่ เราก็ต้องขายเท่านั้น หรืออาจจะถูกกว่าเขาหน่อยเพื่อแย่งชิงลูกค้า ทั่วไปหมูปิ้งไซซ์อวบๆ ขายกันไม้ละ 10-12 บาท บางทำเลอาจจะโก่งราคาได้เป็น 15 บาท ถ้าอยากได้กำไรเยอะๆ ต้องทำหมูปิ้งเอง แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียในการทำหมูปิ้ง และต้องมีต้นทุนเพิ่มในส่วนสต๊อกของ ค่าไฟตู้เย็น ค่าคนเสียบหมู

การคิดราคาขายสินค้าอย่างหมูปิ้งนี้เป็นการตั้งราคาขายสินค้าที่ไม่ได้บวกเพิ่มการบริการมากมายอะไร ราคาขายคร่าวๆ คือ เอา 2 คูณต้นทุน แต่สินค้าหลายอย่างต้องเพิ่มต้นทุนค่าบริการ ค่าภาพลักษณ์ ค่าโฆษณา ค่าจิปาถะ ซึ่งเพิ่มจากต้นทุนที่แท้จริงขึ้นมาอีกเยอะ เลยต้องขายแพง

เช่น เราซื้อชานมไข่มุกจากร้านรถเข็นราคา 25 บาท แต่ถ้าเราไปซื้อชานมไข่มุกที่คล้ายคลึงกันในคาเฟ่ติดแอร์ บรรยากาศหรู ใส่แก้วสวย ราคาจะปรับขึ้นไปถึงเกือบ 100 บาท หรืออาจจะมากกว่า 100 บาท เราไม่สามารถตั้งราคาขายโดยเอา 2 คูณต้นทุนได้แล้ว แต่อาจจะต้องเป็นตัวคูณ 3 หรือ 4 ยิ่งถ้าเป็นของมียี่ห้อ มีชื่อเสียง ราคาขายอาจจะสูงจากต้นทุนเป็น 10-100 เท่า แต่ก็ยังมีคนซื้อ เพราะค่านิยมของคนในสังคมนั่นเอง

สินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่งใช้สโลแกนว่า “(ชื่อสินค้า) is an attitude” แปลได้ว่า สินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อนี้มีดีราคาแพงก็เพราะค่านิยมของคนซื้อนั่นแหละ สินค้าที่บวกการบริการ บวกภาพลักษณ์ ค่าโสหุ้ยต่างๆ อย่างนี้ จึงต้องมีวิธีการตั้งราคาขายหลายรูปแบบ เอาตัวคูณซื่อๆ ไม่ได้แล้ว

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องเป็นตัวคูณเท่าโน่น เท่านี้ ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นสร้างความรู้สึกภูมิใจและคุ้มค่าให้คนซื้อได้แค่ไหน

การขายของน้อยแต่ได้กำไรมาก ใครๆ ก็อยากขาย แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ขายได้ จึงยังต้องมีสินค้าที่ขายมากๆ กำไรน้อย ควบคู่ไปด้วย

คุณๆ ล่ะ อยากขายของแบบไหนครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566