เพราะไม่อยากทิ้งซองเมล็ดกาแฟ สู่ธุรกิจ Same Thang กระเป๋าสุดคราฟต์ ลงทุนไม่เกิน 2 พัน สร้างรายได้ หลักแสนต่อเดือน

เพราะไม่อยากทิ้งซองเมล็ดกาแฟ สู่ธุรกิจ Same Thang กระเป๋าสุดคราฟต์ ลงทุนไม่เกิน 2 พัน สร้างรายได้ หลักแสนต่อเดือน

 

“ลองคิดดูว่าขยะรอบตัวเราสามารถทำอะไรได้บ้าง มันอาจจะเป็นธุรกิจของเราก็ได้ในวันหนึ่ง”

หากพูดถึงขยะ หลายๆ คนก็คงนึกถึงสิ่งที่ไม่มีมูลค่า ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้ แต่หารู้ไม่ว่า ขยะก็สามารถก่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่มอบคุณค่ากลับคืนสู่สังคม อย่างธุรกิจกระเป๋าจากซองกาแฟสุดเก๋ของ คุณโป๊บ-กิตฐนพงษ์ โรจนบวร เจ้าของแบรนด์ Same Thang ที่เริ่มต้นด้วยสิ่งที่รักและเห็นคุณค่า ความสวยงาม คงทนของซองกาแฟ จนเกิดเป็นไอเดียธุรกิจกระเป๋าสร้างรายได้ในปัจจุบัน

“กระเป๋าพวกนี้ทำมาจากเทคโนโลยีที่ดีมาก มันแข็งแรงทนทาน ภาพลักษณ์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้นทุนการผลิตสูง คุณค่าของมันจบลงที่ใช้แล้วต้องทิ้ง แต่เรายังคงคุณค่าความดีของเขาอยู่และดีไซน์ที่ดีไว้”

จุดเริ่มต้น สู่จุดเด่น 

ธุรกิจกระเป๋า Same Thang เกิดขึ้นเมื่อช่วงโควิด-19 ที่คุณโป๊บไม่สามารถออกไปทานกาแฟสดได้ บวกกับร้านขายเสื้อผ้าที่จตุจักรต้องปิดลง เนื่องจากมาตรการของรัฐทำให้ต้องกลายเป็นคนว่างงาน จึงศึกษาการทำกาแฟและซื้ออุปกรณ์ เกิดเป็นความหลงใหลและความสวยงามของซองกาแฟ จนอยากสะสมซองกาแฟในที่สุด

“ตอนโควิดเราทุกคนต้องอยู่บ้านกันหมด กินข้าวก็ต้องสั่งดีลิเวอรี ออกไปไหนก็ไม่ได้ เราเลยเริ่มศึกษาการทำกาแฟ มีอุปกรณ์และวัตถุดิบ เราก็สั่งเมล็ดกาแฟมาจากหลายๆ ที่”

“วัสดุที่เขาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เมล็ดกาแฟมันก็ดี เราเลยเก็บไว้เพราะมันเป็นงานดีไซน์ที่ออกแบบมาสวยงาม พอมันเยอะขึ้นเราก็ไม่อยากทิ้ง ก็เลยหาอะไรทำสนุกๆ มันก็เลยออกมาเป็นกระเป๋า เราร่วมกับพี่อีกคนหนึ่งที่เป็นช่างตัดเย็บ ส่งไปให้เขาช่วยว่ามันทำเป็นกระเป๋าได้ไหม”

“พอตัดเย็บขึ้นมาเป็นกระเป๋ามันกลายเป็นโปรดักต์ที่ว้าว เรามีกลุ่มกาแฟ มีกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อม เราก็เข้าไปโพสต์คุยกัน มันก็เลยกลายเป็นธุรกิจที่คนสนใจ”

“สำหรับจุดเด่นของกระเป๋า Same Thang คือแนวคิดการนำวัสดุเก่ามาทำใหม่ ซึ่งตัวตนของวัสดุและดีไซน์ยังคงอยู่ไม่ถูกทำลาย ต่างจากโปรดักต์รีไซเคิล ทั่วไปที่แทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม”

“ธุรกิจเราเป็น อัปไซคลิ่ง คือการนำวัสดุเก่ามาทำใหม่ ในตลาดของอัปไซคลิ่งตอนนี้คือกว้างมากเราแตกต่างจากคนอื่นด้วยวัสดุ ด้วยแนวคิด ด้วยดีไซน์”

“อย่าง อัปไซคลิ่ง ทั่วไปจะมีกระบวนการที่มันจะต้องทำลายของเก่าก่อนสร้างของใหม่ อย่างเช่นขวดพลาสติกที่เขาก็ต้องเอาไปหลอมใหม่ เหล็กกระดาษพวกนี้เขาก็มีกระบวนการหมุนเวียน”

“แต่ของเราไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็คือซองที่เราเอามาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เท่านั้นเอง มันจะตัดเรื่องกระบวนการเผาทำลายหรือย่อยสลายอะไรพวกนี้ออกไป” 

“ทำให้ตัวตนและงานดีไซน์ของวัสดุมันยังคงความสวย รวมถึงคงคุณค่าของวัสดุที่ดีมากๆ ไว้ นั่นคือข้อแตกต่างจากอัปไซคลิ่งอื่นๆ ซึ่งตรงนี้สามารถส่งเสริมการให้ความรู้ของกาแฟ สร้างตัวตนให้เกษตรกร ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชุมชน ที่ขยายคุณค่าไปได้กว้างมากๆ”

เวทีแจ้งเกิดกระเป๋า Same Thang 

คุณโป๊บ เล่าว่า เกิดจากการออกบูธที่งาน Thailand Coffee Fest เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมงาน ก่อให้เกิดเป็นฐานลูกค้าสร้างรายได้ในช่วงแรกเริ่มธุรกิจ

ในส่วนของเงินลงทุนตัดเย็บกระเป๋าเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท และในปัจจุบันก็สร้างยอดขายได้ถึง 100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ กระเป๋าแต่ละใบก็อยู่ในราคาที่จับต้องได้อีกด้วย

“เราเริ่มต้นไม่กี่พันบาทเองนะ เพราะเราเอาซองกาแฟที่สะสมไว้มาทำ ต้นทุนเราแทบไม่มีเลย”

“วันแรกขายกระเป๋าได้ 20 ใบ เฉลี่ยใบละ 150 บาท ก็ได้แค่ 3,000-4,000 บาท ประมาณนี้ แต่หลักๆ ผมขายออนไลน์ งานอีเวนต์ก็เป็นทางรอง เพราะเราไม่รู้ว่าเดือนนี้ต้องไปที่ไหน ได้ไปงานกี่ที่ ซึ่งมันไม่แน่นอน แต่ช่องทางออนไลน์มันแน่นอนสามารถโพสต์ขายได้ตลอดเวลา”

“ยอดขาย 1 เดือน ตก 200-300 ใบ เฉลี่ยแล้วก็เดือนละ 100,000 บาท ซึ่งกระเป๋าเราไม่แพงนะ ใบหนึ่ง 250-350 บาท เราเน้นจำนวนอยากให้คนเข้าถึง”

“ในตอนนี้เรามีช่างอยู่ 4 กลุ่ม อัดงานกันเต็มที่เลย เพราะเรามีอีเวนต์หนึ่งเราก็ได้เยอะแหละ เหลือจากอีเวนต์เราก็มาออนไลน์ เรามีรายได้ตลอดอะครับ”

“ปัจจุบันตัวแทนจำหน่ายติดต่อมาเยอะมากครับ มีต่างประเทศก็เข้ามา 7-8 ประเทศ ที่มีแววว่าจะได้ไปแน่ๆ ตอนนี้คือมาเลเซีย ไต้หวัน”

 “สำหรับการต่อยอดตอนนี้เราเพิ่งเริ่มทำวิจัยตัวซอง ที่นอกจากจะเป็นกระเป๋าแล้ว เราสามารถทำเป็นอย่างอื่นอีกได้ ตอนนี้เริ่มมีองค์กรหลายๆ องค์กรเริ่มสนใจเรา”

Same Thank สร้างคุณค่าสู่สังคม

กระเป๋า Same Thank นอกจากจะเป็นกระเป๋าที่รักสิ่งแวดล้อม ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของกาแฟผ่านกระเป๋าได้อีกด้วย ถือเป็นการสร้างคุณค่าโปรโมตวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สวยงามในชุมชนของไทย นำไปสู่การเดินทางออกท่องเที่ยวสร้างรายได้กลับคืนสู่สังคมในที่สุด

“ด้วยความแปลกใหม่ ดีไซน์น่ารักและราคาไม่แพง คนที่เขาไม่กินกาแฟ ถ้าเดินมาเจอกระเป๋าอันนี้ก็สามารถที่จะเป็นลูกค้าของเราได้ และยังสามารถเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟผ่านกระเป๋าของเราได้ด้วย” 

“สมมติว่าเราหยิบกระเป๋าใบหนึ่งชื่อว่า มณีพฤกษ์ อาจจะงงว่าอะไรคือ มณีพฤกษ์ แล้วไปหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วรู้ว่า มณีพฤกษ์ อยู่ในจังหวัดน่าน เฮ้ย น่าไปเที่ยวว่ะ วิวสวย อาหารการกินก็ดี มีตัดเย็บทอผ้า อะไรอย่างนี้”

“ในที่สุดคุณอาจจะเดินทางไปเที่ยว พอไปเที่ยวเสร็จก็ต้องหาที่พัก หาข้าวกิน ซื้อของฝาก พวกนี้ก็จะกลายเป็นรายได้ให้กับทางโน้นไป”

“นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้โดยตรงให้กับทีมงานที่เป็นชุมชนตัดเย็บกระเป๋า สมมติเราปักเสื้อ 1 ตัว อาจจะราคา 50-60 บาท แต่การตัดเย็บกระเป๋า 1 ใบ จะได้ราคาแพงกว่าเกือบเท่า”

“ซึ่งการที่เขามีรายได้จากการตัดเย็บกระเป๋าของเรา แน่นอนว่าเขาได้เยอะกว่าตัดเสื้อ 1 ตัว และเขาก็สามารถที่จะแบ่งให้ทีมงานเขาได้อีก 4-5 คน”

ปัญหากระเป๋าซองกาแฟ

ปัญหาของกระเป๋า Same Thank ส่วนใหญ่เกิดจากจำนวนช่างตัดเย็บและซองกาแฟไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนของการแก้ปัญหาซองกาแฟขาดแคลนจึงมีการตั้งบูธเปิดรับบริจาคขึ้น

“ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องช่าง ในช่วงแรกเราก็มีปัญหาที่ของเรามีน้อย เราก็แก้ปัญหาด้วยการรับซื้อ ก็มีคนขายซองให้เราเยอะมาก แต่ในช่วงแรกก็ยังไม่พอ” 

“เราเลยได้โอกาสที่ไปงาน Thailand Coffee Fest ตั้งบูธคนก็เอามาบริจาคเอามาแลก ตอนนั้นเราได้ซอง 4,000 กว่าใบ ทีนี้เรามีวัสดุที่เยอะมากแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาอีกคือช่างเราไม่พอ ช่างเรามีอยู่ที่ 2 คนเอง ตอนนี้ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการหาช่างเพิ่ม”

นอกจากนี้ คุณโป๊บ ยังเล่าว่า การทำในสิ่งที่รักนอกจากจะมีความสุขแล้ว ในช่วงชีวิตหนึ่งคนเราก็ควรที่จะมีความมั่นคง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วไม่ว่าจะทำงานประจำหรือทำธุรกิจก็จะมีความสุขให้กับชีวิต

ตั้งเป้าค่อยๆ ก้าวเดิน

การทำธุรกิจหลายๆ คนย่อมคาดหวังการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนลืมความมั่นคงและความชัวร์ในการก้าวเดิน แต่ไม่ใช่สำหรับคุณโป๊บ ที่ค่อยๆ ก้าวเดินในเส้นทางธุรกิจ กระทั่งถึงจุดหมายที่ตัวเองได้วางในที่สุด

“เรามีหมากเดินในแบบของเรา เดินช้าแต่ก็ชัวร์ๆ เรารู้ตัวเวลาเราจะไปทางไหนเราก็จะมองไว้แล้วว่า โอเคเดี๋ยวเราจะเดินไปทางนั้นนะ แต่เมื่อมันวิ่งไม่ได้เราก็ต้องค่อยๆ เดิน”

“ถ้าเกิดเราวิ่งเราอาจจะล้ม หรืออาจจะเจออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งตรงนั่นมันจะต้องมาแก้ปัญหากันอีก ปัญหาเราคือเราทำช้า เราก็เดินช้าๆ ไม่ต้องเร่ง เร่งไปก็อาจจะเสียหาย”

“แต่ถ้าไม่ทำอะไรก็จะไม่ได้อะไรเลย  หากทำแล้วเจ๊งก็ไม่เป็นไร อาจจะทำแล้วมันดีไม่พอก็ไม่เป็นไร ถ้าทำแล้วมันดี ไปได้เราก็แค่ไปต่อ” 

สุดท้ายนี้ คุณโป๊บ อยากฝากถึงทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านบทความ ถึงการสร้างมูลค่าจากขยะที่อยู่รอบตัว ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง สักวันขยะที่อยู่รอบตัวของคุณ อาจกลายเป็นธุรกิจที่เลี้ยงดูครอบครัว สร้างรายได้ และยังมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

สำหรับใครที่อยากได้กระเป๋าแฟชั่นจากซองกาแฟแบบเก๋ๆ ที่นอกจากจะรักสิ่งแวดล้อมยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ เพจ Facebook : Same Thang