เปิดชีวิตหลังครก เจ๊ต๊อกแต๊ก เริ่มชีวิตแม่ค้าตั้งแต่ 8 ขวบ สอบติดข้าราชการ สู่เจ้าของร้านส้มตำไวรัลข้ามคืน

อากาศเย็นเพราะยังคงเช้าอยู่ ขณะที่ด้านหลังครัวระอุร้อนระรัวหม้อไหเพื่อเตรียมของไว้รอขาย บรรยากาศการทำงานก็เคล้าไปด้วยเสียงเพลงหมอลำจังหวะม่วนๆ ลั่นดังออกมาจากลำโพงบลูทูธ 

ทั้งคนที่กำลังย่างไก่บ้าง แล่แซลมอนบ้าง เอาปีกไก่ชุบแป้งไว้รอทอดบ้าง หรือแม้กระทั่งนั่งสับมะละกอ ส่งยิ้มเฮฮาตามประสาคนบ้านเดียวกัน

ก่อนที่ใครคนหนึ่งนั้นจะปรากฏตัวขึ้นกับทรงผมแปลกตาทาปากสีบานเย็น แวะทักทายลูกน้องในร้าน ยิ้มแย้มต้อนรับลูกค้าตามแบบฉบับของเธอ

เจ๊ต๊อกแต๊ก-พรปวีณ์ กิจทรัพย์บารมี เจ้าของร้านตำแรดแซ่บนัว ที่ใครต่างก็รู้จักเธอเมื่อหลายปีก่อนกับวลีติดปากด้านการขาย “แรดๆ ค่ะ แรดๆ ค่ะ” พร้อมท่าโรยเม็ดกระถิน ซึ่งเป็นไวรัลไปชั่วข้ามคืน มีผู้ชมในเฟซบุ๊กมากกว่า 3 ล้านวิว

สิ่งที่น่าสนใจของเธอนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของวิธีการขาย แต่กลับเป็นหลักคิดและชีวิตแรกเริ่มก่อนเข้าสู่คำว่าแม่ค้าเต็มตัวในอีก 2 ปีนับจากนี้

แม่ค้าวัย 8 ขวบ

เรื่องบางเรื่องเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าชีวิตปัจจุบันของเรา ในอดีตเมื่อนานมาแล้วอาจบอกเป็นนัยๆ ไว้แล้วว่าชีวิตจะเป็นแบบไหน

เช่นเดียวกับเจ๊ต๊อกแต๊ก เธอเล่าว่า ชีวิตของเธอนั้นผูกไว้กับคำว่าแม่ค้ามาตั้งแต่เด็ก ตอนที่ยายพาเธอหัดขายของ

“แต๊กเริ่มเข้าสู่วงการแม่ค้าตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ตอนนั้นยายพาไปขายของ ตี 2 ขึ้นรถสามล้อไปตลาด 6 โมงเช้าลงตลาดมาถึงบ้าน 7 โมงเช้าอาบน้ำไปโรงเรียนต่อ ได้ค่าจ้างวันละ 60 บาท เราก็เลยมีความคิดว่าเรารักอาชีพแม่ค้ามาตั้งแต่ตอนนั้น

พอเรียนจบก็ไปเรียนต่อพาณิชย์ เพื่อจะมาเป็นแม่ค้าโดยตรง แต่ทางบ้านเขาอยากให้เข้ารับราชการก็เลยทำสิ่งนั้นเพื่อครอบครัวไป”

“ซึ่งตั้งแต่จบ ปวช. มารับราชการมาตลอด ที่แรกคือ เรือนจำ แล้วย้ายไปทำงานราชการอยู่ กทม. ย้ายไปทำอยู่กรมที่ดิน ย้ายไปกรมสรรพากร ย้ายไปกรมส่งเสริมสำนักงานการเกษตร ย้ายไปกรมการปกครอง และปัจจุบันก็เป็นพนักงานราชการอยู่กรมศุลกากร

แนวคิดแต๊กในการรับราชการต่างจากคนอื่น เพราะบางคนบอกว่าเราต่างหากที่สอบได้มันก็เลิศแล้ว แต่สำหรับแต๊ก เราต่างหากที่สามารถเลือกองค์กรได้หากเรามีองค์ความรู้ ถ้าเรามีองค์ความรู้เราสามารถที่จะอยู่จุดตรงไหนก็ได้ขององค์กร 

เลยเป็นแนวคิดที่ว่าไปอยู่แล้วมันไม่โอเคก็ลาออก แต่ไม่ได้อยากให้น้องๆ คิดแบบนี้นะ เพราะงานข้าราชการถ้าย้ายออกเงินเดือนเราไม่ไปต่อเนื่อง แม้ว่าอายุราชการมันจะนับต่อ 

และไม่ว่าองค์กรอะไรก็ตามมันก็เหมือนกัน ระบบคือระบบ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนตัวเราและแนวคิดเราได้

อย่าพยายามลาออกนะอันนี้ต้องบอกไว้ก่อน (หัวเราะ) มันสอบเข้ายาก

แต่เราก็เป็นคนที่แบบเออ (หัวเราะ) อ่านหนังสือแล้วความจำดี ไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่ก็ไปฝนๆ ข้อสอบเอา (หัวเราะ)”

หลายสิ่งอย่างเพื่อสร้างเสริม

แม้จะผ่านอาชีพข้าราชการในลักษณะงานมาหลายอย่าง หลายองค์กร แต่การทดลองเพื่อลองทำหลายๆ อย่างให้ค้นเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองก็ยังไม่หยุดนิ่ง

“จริงๆ แล้วแต๊กเองเป็นคนที่ทำอะไรหลายๆ อย่างมาตั้งแต่เด็ก

แต๊กคิดว่าถ้าเราทำงานหลายอย่างมันคือเวลาพัก สมมติว่าเราขายส้มตำอยู่แล้วเรากลับไปทำงานหลัก พอจะเปลี่ยนไปทำอะไรสักอย่างมันคือเวลาพัก แต่ถ้าจะให้เราทำทั้งวันตั้งแต่ตี 4 ถึง 5 ทุ่ม อันนี้คือไม่เอา ขี้เกียจ (หัวเราะ)

แต่ถ้าเราเปลี่ยนงาน เปลี่ยนบริบทใน 1 วันทำหลายๆ อย่างมันคือเวลาพักผ่อน แนวคิดนี้คิดมาตั้งแต่เด็กแล้ว”

“ความที่เป็นกะเทยเนาะต้องพูดตรงๆ กะเทยก็จะไม่อยู่เฉยๆ กะเทยก็คือไม่เคยได้พักบอกได้เลยตรรกะนี้ (หัวเราะ)

เวลาที่แต๊กทำแต๊กก็ทำอันนั้นมาใส่อันนี้ ทำอันนี้ไปใส่อันนั้น ทำไม่ได้ก็เลิกแล้วก็เริ่มทำใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่แล้ว”

ไม่เพียงแค่การทำหลายสิ่งอย่างเพื่อค้นหาตัวตน แต่การหารายได้เสริมจากงานประจำก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตของเธอ

“ตอนที่เข้ามาเป็นข้าราชการในกรุงเทพฯ แรกๆ เงินมันไม่พอใช้ เลยอยากสร้างอาชีพให้กับตัวเอง ด้วยความที่ทำอะไรมาหลายอย่างไปเรียนเย็บผ้า ไปทำก๋วยเตี๋ยว แล้วก็ไปดูหมอ (หัวเราะ)

จุดเปลี่ยนตอนนั้นคือไปดูหมอดู แล้วหมอดูบอกว่าให้ขายเส้นสีขาว แค่ 2 อย่างที่ยังไม่ได้ทำคือ เส้นมะละกอและเส้นขนมจีน แล้วหมอดูก็บอกให้ไปขายใกล้น้ำ หลังจากนั้นก็เลยมาขายอยู่ตลาดน้ำ ซึ่งตอนนั้นตลาดน้ำมันบูมมากๆ ช่วง 10 ปีที่แล้ว

ตอนนั้นเจ้าของตลาดเขาไม่ให้ขายส้มตำเลยได้ขายน้ำพวกชา กาแฟ ในดงป่าช้า (หัวเราะ) ดงป่าช้าหมายความว่าคนจะเดินไปไม่ถึง แต่ตัวเราก็ไม่ได้ซีเรียสเพราะเราขายลอตเตอรี่ออนไลน์ ขายยาสีฟันออนไลน์ ขายของออนไลน์ ขายนั่นขายนี่ 

พอขายน้ำไปได้ 5-6 เดือน ทางตลาดเขาก็มาเก็บค่าพัดลมเพิ่ม 150 บาท ตอนนั้น 150 บาท แต๊กคิดว่ามันไม่ยุติธรรม

เลิกขายค่ะ เซา(เลิก)ขายค่ะ ไปทำอย่างใหม่ (ขึ้นเสียงคล้ายโมโห)

หลังจากนั้นเจ้าของตลาดก็โทรไปง้อ แต๊กเลยบอกว่าถ้าจะให้หนูขายน้ำเหมือนเดิมหนูขอขายส้มตำเพิ่ม เขาก็บอกว่าขายส้มตำเพิ่มก็ได้แต่เราต้องเสียค่าที่เพิ่ม 

เวลาขายของแต๊กคือวันเสาร์อาทิตย์พักจากงานราชการ ตั้งแต่ตี 5-9 โมงเช้าขายชา กาแฟโบราณ ได้กำไรวันละพันก็มาขายส้มตำเพิ่ม 

พอขายส้มตำเพิ่มแรกๆ ก็ไม่มีใครมาซื้อนะ ก็เดินขายไป โอ้ยขาย 3-4 เดือนก็ยังขาดทุนนะขายส้มตำ แต่ก็คิดว่า ช่างมันเถอะ เอากำไรขายน้ำมาใส่ กำไรขายลอตเตอรี่มาใส่ เอากำไรจากตรงนั้นตรงนี้มาใส่ก็เลยเป็นที่มาขายส้มตำ”

โยกย้ายปรับตัว

ชั่วข้ามคืนเจ๊ต๊อกแต๊กโด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ แม้จะเป็นเพียงแม่ค้าส้มตำแต่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการเที่ยวตลาดน้ำ และพ่อค้าแม่ค้าส้มตำก็พลอยได้ผลจากสิ่งที่เธอทำไปด้วย

ก่อนที่ไม่กี่ปีต่อมาย้ายออกมาเปิดร้านข้างนอกตลาดคลองลัดมะยม แล้วเคลื่อนทัพอีกหนมาเปิดร้านของตัวเองในเขตตลิ่งชันใกล้คลอง

“ดิฉันย้ายร้านมาตรงนี้ย้ายมาตอนโควิดเลยจ้ะ ย้ายมาวันแรกได้นั่งโต๊ะ วันต่อมากลับบ้านไม่ได้นั่ง ช็อก ช็อกซีนีม่า กะเทยช็อก เกือบเป็นลมเข้าโรงพยาบาล คิดฆ่าตัวตายก็มี เพราะว่าอะไร เพราะทางรัฐบาลไม่ให้นั่งเราจะเอายอดขายมาจากไหน กะเทยก็ต้องปรับตัว ไมเกรนขึ้นอยู่นะ (หัวเราะ)”

“แต๊กปรับตัวหลายอย่าง แต่ร้านแต๊กไม่ได้เข้าไรเดอร์เลยเพราะเขาหัก GP แพง (Gross Profit) 

ตอนนี้เขาเก็บ 6% เพราะว่าเราร้านดัง ซึ่งเราก็ยังไม่โอเค (หัวเราะ) แต๊กบอกเขาว่าถ้าได้ 3-5% ถึงโอเค กะเทยก็ต่อเก่ง (หัวเราะ)

ซึ่งการเข้าระบบไรเดอร์มันป็นสิ่งที่ดีนะมันเป็นการปั่นยอดขายเรา แต่ถ้าเกิดปั่นยอดขายแล้ว ยอดขายเราไม่ได้จุดคุ้มทุนเรา เราก็ไม่ควรทำ 

บางคนบอกขายออนไลน์ ขายออนไลน์ อย่าลืมนะว่ากำไรที่เขาหักร้านเราจาก 100 หัก 35 บาท พอหักไป 35 บาท กำไรของร้านเธอจะเหลือเท่าไหร่ 

เหมือนดิฉันเองกำไรดิฉันได้ 25 บาทต่อ 100 เขาหัก 35 เราจะเหลืออะไร มันไม่มีความสมดุลกัน มันก็จะอยู่ไม่รอด

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหน้าร้านต้องได้ 70 ไรเดอร์ได้ 30 บาลานซ์กันอยู่ได้ แต่ก็ฝากไว้นะถ้าไรเดอร์เขาให้ 3-5% ก็จะเข้าค้า ทุกไรเดอร์เลยจ้า (เน้นเสียงหัวเราะ)” (ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566)

ครอบครัวตำแรด

เมื่อธุรกิจเติบโตเราไม่สามารถที่จะเดินทางบนถนนสายนี้ได้อย่างลำพัง จึงจำเป็นมากๆ ในการสร้างครอบครัว และมอบโอกาสให้กับตัวเองและคนอื่นๆ คอนสนับสนุนกันไปเรื่อยๆ

“ลูกน้องในร้านเราก็จะดูแลแบบพี่น้อง ดูแลกันแบบเครือญาติ มีอะไรเราก็จะคุยกัน แต่เขาก็ไม่ค่อยเล่าปัญหาให้เราฟังเท่าไหร่ เพราะว่าลูกน้องกลัวแต๊ก จริงๆ แล้วแต๊กเสียงดังเฉยๆ ไม่ได้มีอะไร (หัวเราะ)

เราดูแลเขาเหมือนครอบครัว เพราะอยู่นี่ก็มีทั้งต่างชาติ ลาว พม่า คนไทยด้วย หลักๆ เราก็ดูแลเรื่องการอยู่การกิน สุขภาพ และความสัมพันธ์ในร้าน ซึ่งความสัมพันธ์ในร้านเราก็ต้องไปนั่งดูไปส่องอยู่ตลอดเวลา เขาดีกันไหม เขาแบ่งพรรคแบ่งพวกกันหรือเปล่า เราก็ต้องลงไปนั่งล้างจานกับเด็กดู

แต่ถ้ายิ่งไม่ถูกกันฉันยิ่งจะจับให้อยู่แผนกเดียวกันเพราะว่ามันจะได้รักกัน (หัวเราะ) ลูกน้องที่นี่จะสอนให้รักกัน ส่วนมากก็จะดี เพราะคนนี้เอาญาติคนนี้มาทำงาน ญาติคนนี้เอาคนนี้มาทำงาน

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของที่นี่ก็จะให้วันละ 400 บาท เดือนละ 12,000 บาท กินอยู่กับเราที่พักก็มีให้อยู่ ถือว่าสบาย เขาเก็บเงินได้เยอะกว่าคนไทยอีกนะ เขาไม่ค่อยซื้ออะไรกินนะเขาประหยัด แล้วเขาก็ส่งเงินกลับบ้าน ส่วนคนไทยจ้างวันละ 500 บาท ไม่เหลืออะไรนะสิ้นเดือนมา”

“ในมุมเจ้าของธุรกิจคนไทยไม่ค่อยอยากทำงานเพราะมันเหนื่อย แต่จริงๆ แล้วไม่มีงานไหนอยู่เฉยๆ แล้วได้เงินหรอกนะ ต้องบอกตรงๆ เหมือนเราไปทำงานต่างประเทศนั่นแหละได้เงินเยอะ แต่ก็ต้องแลกมากับบางสิ่งบางอย่าง

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนถ้าเรารู้จักอดออมประหยัด มันอยู่ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะได้เงินเดือน 1 หมื่นบาท ถ้าคุณรู้จักใช้ มันก็เหลือ คุณได้เงิน 1 แสนบาท รู้จักใช้มันก็เหลือ 

ในมุมมองกลับกัน ถ้าคุณไม่รู้จักใช้ไม่รู้จักคำว่าพอ ได้เท่าไหร่มันก็ไม่พอหรอกจริงๆ”

แม่ค้าข้าราชการ

สิ่งที่เจ๊ต๊อกแต๊กทำไม่ใช่ทำแล้วปล่อยผ่าน แต่หลายเรื่องกลับเป็นบทเรียนในทุกย่างก้าวของชีวิตเพื่อนำมาปรับใช้ ปรับปรุง และต่อยอดในการทำธุรกิจของตนเอง

“การเป็นเจ้าของธุรกิจกับเป็นพนักงานราชการมันเห็นความแตกต่าง มีทั้งข้อดีข้อเสีย ทำงานราชการมีระบบระเบียบแบบแผนทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการติดต่อองค์กรต่างๆ จะทำแบบไหน กระบวนการเป็นแบบไหน ทำให้เราได้คิดในกรอบระเบียบที่วางไว้ นี่เป็นข้อดี 

แต่ว่าในส่วนของการเป็นเจ้าของธุรกิจมันจะยากอยู่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็สามารถที่จะเอาทั้ง 2 อย่างมาบริหารร่วมกันได้

เราเป็นลูกน้องขององค์กรเราก็ต้องเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง พอเราเป็นเจ้าของธุรกิจเรามีลูกน้องภายใต้การดูแลของเรา เราก็ต้องดูแลอีกแบบหนึ่ง แต๊กคิดว่าการทำงาน 2 อย่างมันดีทั้ง 2 อย่างเลยนะ

อีกสิ่งที่ของราชการคือบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเกียรติและศักดิ์ศรี ส่วนเรื่องเงินทองไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าเราพออยู่พอกินพอใช้ พอใจ พอเพียงก็อยู่ได้ มันก็ไม่ได้เหนื่อยมาแบกกระสอบข้าวสาร (หัวเราะ) ตากแดดตากลม ทำราชการเงินเดือนมันก็ตายตัวไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรต่างๆ เงินเดือนเราก็จะตายตัวนี่คือข้อดี 

แต่ในงานของธุรกิจส่วนตัว เราต้องมีความเสี่ยงนะ เราต้องคิดอยู่ตลอดนะแบบ 4 คูณ 100 เลยนะ แต่ถ้าเป็นหมอลำ 4 คูณ 100 แม่ใหญ่เย็นเสียงอีสานเลย (หัวเราะ)

เพราะว่าเราต้องเรียนรู้ ปรับตัว ปรับใจ และสถานการณ์ต่างๆ มันก็ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น โควิด เราต้องปรับตัวยังไงเพื่อให้เรารอด เราเหมือนธุรกิจทุกธุรกิจ เหมือนอยู่กลางทะเล เหมือนจะตายแต่เราต้องรอด

เชื่อไหมคะ กะเทยมันต้องรอด กะเทยจะไม่มีวันตายง่ายๆ”

เผยแพร่แล้วเมื่อ: 5 เม.ย. 2566