มาดาม พาเท่ห์ จากสภากาแฟ สู่ร้านดังคิวยาว ช่วงพีกขายเดือนเป็นล้าน

มาดาม พาเท่ห์ จากสภากาแฟ สู่ร้านดังคิวยาว ช่วงพีกขายเดือนเป็นล้าน

มาดาม พาเท่ห์ คือ ชื่อร้านอาหาร สไตล์ All Day Breakfast เปิดมานานกว่า 17 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขา ที่ว่ากันว่า ยามนี้ถ้าใครไปเที่ยวจังหวัดอุดรธานี แล้วไม่ไปเช็กอิน ดูสักครั้ง คงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

คุณเหมย-ชุติปภา สุรภาพวงศ์ เจ้าของกิจการวัย 50 เศษ กรุณาสละเวลา มาให้ข้อมูลกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง เริ่มต้นว่า ธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้าน คือ ร้านวัสดุก่อสร้าง ตัวเธอเป็นพี่สาวคนโต มีน้องชาย 1 คน เธอเรียนจบปริญญาตรี-โท ด้านการตลาด เคยทำงานต่างประเทศ 2 ปี ทำงานประจำในเมืองไทย 4 ปี ก่อนมารับช่วงต่อธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว

ช่วงนี้เองที่ “เจ๊หมุ่ย” คุณแม่ของเธอ เริ่มมีเวลามากขึ้น เนื่องจากเกษียณจากธุรกิจแล้ว คุณเหมยจึงอยากหาอะไรให้ท่านทำแก้เหงา จึงตัดสินใจเปิด “สภากาแฟ” ให้ ใช้เป็นสถานที่หย่อนใจยามเช้า พูดคุยกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ที่กลับมาจากออกกำลังกาย ประกอบกับคุณแม่ของเธอนั้น มีพรสวรรค์ ในการทำอาหาร ชนิดหาตัวจับยากทีเดียว

คุณเหมย-ชุติปภา สุรภาพวงศ์ เจ้าของกิจการ มาดาม พาเท่ห์

“3 สหาย คือ เมนูแรก ที่คุณแม่ ทำออกมาขายในสภากาแฟ ซึ่งมีของอยู่ 3 แบบในจานเดียว คือ โรตียัดไส้ปูอัด-กุนเชียง ขนมปังฝรั่งเศสไส้ปัตเต้หรือตับบด และ ครัวซองต์ทูน่า ถัดจากนั้น เป็นข้าวต้มเห็ดชาจีน ซึ่งน้ำซุปใช้เวลาเคี่ยวเป็นวันๆ ไม่ว่าจะเป็น เห็ดหูหนู เห็ดหอม และเห็ดชาจีน คุณแม่ต้องสั่งตรงจากเยาวราช ซึ่งมาจากเมืองจีนโดยตรง เมนูนี้ดังมาก จนคนต้องมารอต่อคิวแทบทุกวัน” คุณเหมย เล่าน้ำเสียงภูมิใจ

ดำเนินธุรกิจ สภากาแฟ ที่ทำไว้ให้คุณแม่ มีกิจกรรมทำแก้เหงา ไปได้ราว 10 ปี กิจการเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียล ถึงขั้น “ดัง” ก็ว่าได้ โต๊ะ 12 ตัว เริ่มไม่พอรองรับความต้องการของลูกค้า แทบทุกวัน มักมีรถตู้มาต่อคิว หลายกลุ่มต้องรอนานมาก ไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง พวกเขาก็รอ ทำให้คุณเหมย เริ่มหาคำตอบว่าทำไมความต้องการจึงมากขึ้นขนาดนั้น กระทั่งทราบว่าเป็นผลจากโซเชียลมีเดีย

“เราไม่เคย โฆษณา-ประชาสัมพันธ์ ตัวเองเลย ที่เขาไปโพสต์ ไปแชร์กัน เป็นออร์แกนิกล้วน ซึ่งหลังๆ ร้านคนแน่นทุกวัน ขนาดขาประจำของคุณแม่ เพื่อนคุณแม่ ยังไม่มีที่นั่งเลย ซึ่งผิดจุดประสงค์ตอนเปิดร้านไปแล้ว  เลยคิดขยับขยาย โดยหันมาดูต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นโกดังเก็บของพวกวัสดุก่อสร้าง อยู่ใจกลางเมืองอุดรฯ”

3 สหาย เมนูเริ่มต้นกิจการ

“เลยตัดสินใจเอาจุดอ่อนของมาดาม พาเท่ห์ สาขา 1 มาทำเป็นมาดาม พาเท่ห์ สาขา 2 คือ มีที่จอดรถ มีห้องแอร์ มีจุดเช็กอิน และสร้างเรื่องราวของแบรนด์ ขึ้นมาเพิ่มเติม โดยการดึงสูตรอาหารของคุณแม่ มาถ่ายทอดความเป็นมา ซึ่งตัวเองเรียนด้านการตลาดมาอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่” คุณเหมย เผยให้ฟังอย่างนั้น

นั่งคุยมาถึงตรงนี้ นึกสงสัยที่มาของชื่อกิจการ คุณเหมย ย้อนให้ฟัง

“มาดาม ก็มาจากคุณแม่ คือ มาดามหมุ่ย ซึ่งเป็นคนคิดค้นสูตรอาหารทุกอย่าง ส่วน พาเท่ห์ เพี้ยนมาจากคำว่า ปัตเต้ หรือ ไส้ตับบด ซึ่งเป็นไฮไลต์ของร้าน ที่ใครมาก็ต้องทานทุกคน แต่จะใช้ชื่อมาดาม ปัตเต้ มันก็ไม่เท่สิคะ”

หน้าร้านสาขา 2

เห็นว่ามาดาม พาเท่ห์ 2515 ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 มีกว่าร้อยที่นั่ง ทำไมถึงกล้าลงทุนขนาดนั้น คุณเหมย นั่งนึกครู่หนึ่ง ก่อนบอกว่า เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว เริ่มเห็นความถดถอยของธุรกิจก่อสร้างที่ทำอยู่ เลยลงทุนโดยใช้เงินตัวเองบางส่วน กู้แบงก์มาบางส่วน ค่อยๆ ขยับขยายกิจการ ทำโซนเสิร์ฟเมนูเช้า กับโซนบริการลูกค้ากลางคืน ผ่านไป 1 ปีเริ่มมีสื่อมาขอถ่ายทำรายการ เริ่มมีกรุ๊ปทัวร์มาติดต่อขอลงลูกค้า 50 ที่นั่งต่อครั้ง

“ตอนนั้นมีความคิดว่าจะกู้เงินก้อนจากธนาคารอีกครั้ง แต่กว่าธนาคารจะให้มา เราก็ควักเงินตัวเองไปจนหมดกระเป๋าแล้ว พอกู้แบงก์ได้มาปุ๊บ ขยายโซนบริการช่วงกลางคืน ทำเสร็จประมาณ 3 เดือน โควิด มาเยือน กรุ๊ปทัวร์หายหมดเกลี้ยง” คุณเหมย ย้อนเรื่องครั้งนั้น น้ำเสียงหม่น

ข้าวต้มเห็ดชาจีน คนมารอต่อคิวเพราะเมนูนี้

แล้วช่วงโควิด ประคองกิจการ อย่างไร คุณเหมย หัวเราะร่วน ก่อนตอบจริงจัง

“ประคองจิต ก่อนค่ะ ไหนจะลูกน้องอีก เพราะตอนนั้นเปิดทั้งกลางวัน-กลางคืน การประคอง คือ หยุดบริการส่วนกลางคืน เพราะยังไม่เป็นรายได้หลัก และเรายังไม่มีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารเย็นเท่าไหร่ ก็ต้องหยุดขายแอลกอฮอล์ตอนเย็นไปด้วยเลย เหลือคนงานแค่ชุดเดียวแค่ตอนกลางวัน แล้วชุดกลางวันต้องสลับกันมาทำงานด้วย”

“หลังจากนั้น เริ่มขายดีลิเวอรี่ มีแกร็ป มีฟู้ดแพนด้า เข้ามามีส่วนช่วย แต่จากที่มีรายได้วันละ 20,000 บาท ก็เหลือวันละ 2,000 บาท เป็นแบบนี้อยู่ 3 รอบ 4 เดือนครั้ง เลยต้องใช้ธรรมะเข้ามาช่วยอย่างมาก เพราะตอนนั้นยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารเท่าไหร่ ไหนต้องทำความเข้าใจกับลูกน้องอีก คนไหนเข้าใจก็อยู่ คนไหนไม่เข้าใจก็ไป บางคนก็ออกไปทำเอง”

บรรยากาศเท่ๆ

 

อดทนทำมา จนวิกฤตคลี่คลาย เศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น บรรยากาศหน้าร้านมาดาม พาเท่ห์ ทั้ง 2 สาขา เริ่มกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

“ตอนนี้ วันเสาร์-อาทิตย์ ยังต้องจองโต๊ะอยู่ค่ะ อาจเป็นเพราะอุดรฯ ยามนี้ เป็นแหล่งพบกันของบรรดาสายมู หลายช่วงวัย ทำให้มีคณะนักท่องเที่ยวมาหลากกลุ่ม โดยสาขาแรก คุณแม่เป็นคนดูแล ส่วนสาขาสอง เป็นหน้าที่ของลูก” คุณเหมย บอกอย่างนั้น

กระซิบถามถึงยอดขาย ช่วงพีกๆ คุณเหมย บอกยิ้มๆ ทิ้งท้าย

“ประมาณล้านกว่าต่อเดือนต่อสาขา ถึงวันนี้จึงคิดว่าพร้อมจะขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์แล้ว ส่วนรายละเอียดรูปแบบการลงทุนนั้น ขอให้ติดตามได้เร็วๆ นี้ค่ะ”