นักวิชาการไขข้อข้องใจ ‘กุ้งก้ามแดง’ เป็นสัตว์เลี้ยงปั่นราคา หรือไม่?

 

ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ อาจารย์ภาควิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เผยถึง ข้อข้องใจของหลายคนที่ว่า กุ้งก้ามแดงเป็นสัตว์เลี้ยงตามกระแส หรือ เป็นสัตว์เลี้ยงปั่นราคา หรือไม่นั้น ???

ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ได้เปิดเผย “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”มาดังนี้

กุ้งก้ามแดง ไม่ใช่เป็นกุ้งพื้นเมืองของไทย แต่ได้นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อราว 10กว่าปีเศษที่ผ่านมา โดยจุดประสงค์เพื่อการค้า

อันดับแรก ต้องพูดให้ตรงกันก่อนว่า เรากำลังจะพูดถึงกุ้งก้ามแดง ที่มีสีแดงตรงปลายก้าม  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cherax quadricarinatus     และที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ  (เพราะกุ้งตัวนี้ และบรรดาเครือญาติที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน ก็มีสีสัน คุณสมบัติ จุดประสงค์การเลี้ยงต่างกัน)

 

ส่วนที่เรียกกันว่า กุ้งเครย์ฟิชนั้น คือการเรียกกุ้งในกลุ่มนี้ ทั้งหมด บางชนิดมีสีสันสวยงาม สีฟ้า สีขาว เป็นต้น (บางสายพันธุ์นำเข้าจากออสเตรเลีย บางสายพันธุ์นำเข้าจากอเมริกาเหนือ) รวมถึงกุ้งก้ามแดง ก็เป็นเครย์ฟิช ชนิดหนึ่ง

(ง่ายๆคือ ภาษาสากลของชาวต่างชาติ เรียกกุ้งทั้งหมดเหล่านี้ ว่าเครย์ฟิช ซึ่งกุ้งก้ามแดงก็เป็นเครย์ฟิชชนิดหนึ่งที่ มีสีแดงตรงปลายก้าม  เลี้ยงได้ทั้งเพื่อการบริโภคหรือเพื่อความสวยงาม คนไทยเรียกกันว่า กุ้งก้ามแดง)

 ข้อดีของกุ้งก้ามแดง  มีความทนทาน เลี้ยงง่าย เลี้ยงในกะละมัง ในถังโฟม หลังบ้าน ในบ้านก็อยู่ได้แล้ว

แต่ข้อเสีย คือ
1.โตช้า ต้องใช้เวลาในเลี้ยง 8-9 เดือน เมื่อเทียบกับกุ้งก้ามกรามที่ใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือนทยอยจับได้// หรือกุ้งขาวที่ จับได้เมื่อมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป

2.อัตราการแลกเนื้อ หรือ FCR (feed convertion ratio) ของกุ้งก้ามแดง สูง หมายความว่า ต้องใช้อาหารเยอะเพื่อให้ได้ให้น้ำหนักกุ้ง เช่น กุ้งก้ามแดงมี FCR 4 นั่นคือ จะได้กุ้ง 1 ตันต้องใช้อาหาร 4 ตัน แต่ขณะที่กุ้งขาว มี FCR แค่ 1.5
3.สำคัญที่สุดคือ การตลาด อาจารย์บอกว่ากุ้งก้ามแดง เข้ามาในประเทศไทย 10 กว่าปี แต่ตลาดไม่ชัดเจน ไม่มีวางขายทั่วไป อย่างกุ้งขาว หรือกุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามแดง ยังจัดว่าเป็นกุ้งที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่ม คนที่รู้จักกุ้งก้ามแดง คือ ภัตตาคาร หรือโรงแรม อีกทั้งผลผลิตที่ออกมา ไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนไปในตลาด อันมีข้อจำกัดมาจากการเติบโตช้า


สิ่งที่เกิดขึ้น ในตลาดกุ้งก้ามแดงที่เห็นอยู่ในเวลานี้คือ การปั่นราคาขายลูกกุ้ง ลูกกุ้งไซซ์ลงเดินที่ขายกันปัจจุบันอยู่ทีตัวละ 15 บาท  บางครั้งขึ้นไปสูงถึง 30 บาท ซึ่งหากเกษตรกร คิดจะซื้อมาเพาะเลี้ยง ก็จะใช้ต้นทุนที่สูงมาก เช่น ในพื้นที่ 1 ไร่ อาจจะต้องใช้ 2-3 พันตัว หากคิดราคาลูกกุ้งที่ต่ำที่สุดคือ 10 บาท ก็จะใช้เงินค่าพันธุ์กุ้ง ที่ 2-3 หมื่นบาทแล้ว


นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า มีการพยายามชักชวน เกษตรกรเพื่อให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว โดยบอกว่า จะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งใครเห็นตัวเลขนี้ก็ตาโต แต่อยากให้คิดถึงเรื่องการตลาดรับซื้อให้มากๆ ว่าเพาะไปแล้ว ลงทุนไปแล้วจะมีคนซื้อหรือไม่
กลุ่มผู้เพาะพันธุ์กุ้งก้ามแดง ไม่เพียงแต่พยายามโปรโมทให้คนมาเลี้ยง ก็ยังพยายามให้กรมประมง ลดความเข้มงวดของข้อกำหนดทางกฎหมายลง
เนื่องจาก กุ้งตัวนี้ เป็นกุ้งสายพันธุ์จากต่างประเทศ ถ้าจะเลี้ยงเพื่อการค้าจะต้องขออนุญาต ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง ซึ่งจัดเป็นกุ้งควบคุม ด้วยเกรงว่าจะนำเชื้อโรคมาสู่กุ้งพื้นเมืองของบ้านเรา ในขณะที่บางฟาร์มก็ให้ความร่วมมือดีปฏิบัติตามข้อกำหนด ไปขึ้นทะเบียนฟาร์มอย่างดี

มาถึงคำแนะนำสำหรับผู้สนใจ
อาจารย์ประพันธ์ศักดิ์ แนะนำคนที่สนใจ ผ่าน ‘เส้นทางเศรษฐีออนไลน์’ ว่า ถามตัวเองก่อน ว่าต้องการเลี้ยงเพื่ออะไร ถ้าจะเลี้ยงเล่นๆ เลี้ยงเพื่อสวยงามนิดหน่อย ไม่เป็นไร

แต่ถ้าต้องการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ลงทุนสูง ต้องดูตลาดให้ชัดเจน ลองไปสำรวจตลาด ไปสะพานปลา หรือตลาดไหนก็ได้ ไปดูว่าความต้องการกุ้งตัวนี้เป็นอย่างไร เพราะอาจจะมีการโฆษณาว่า มีการส่งออกได้เท่านั้นเท่านี้  ตลาดรับซื้อไม่อั้น ซึ่งจริงๆ คนที่บอกอย่างนั้นอาจจะต้องการแค่ขายลูกพันธุ์  ดังนั้นสรุปได้ว่า การตลาดจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของกุ้งก้ามแดงนั่นเอง

 

ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษา อาจารย์ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ เพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน โทร.  02-5792924

 

ขอบคุณภาพ อภิวัฒน์ คำสิงห์ / ภัทรวัตร อ่วมเมือง