เคยดรอปเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม สู่เจ้าของแบรนด์สุดป๊อปบน TikTok วัย 21 ปี

เคยดรอปเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม สู่เจ้าของแบรนด์สุดป๊อปบน TikTok วัย 21 ปี สร้างยอดขายสุดพีก 300,000 ชิ้นต่อเดือน!

การ ‘ดรอปเรียน’ ในวัย 18 ปี ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจง่ายๆ แต่ คุณเมษา-เมษยา กวินบริกุล ก็เลือกที่จะทำแบบนั้น เพราะเธอไม่มีเงินมากมายส่งเสียตัวเองเรียน ทั้งยังไม่ได้รับการซัพพอร์ตจากครอบครัว แม้รู้สึกสิ้นหวัง เสียดาย เสียใจ แต่ระยะทางระหว่างนั้นเธอมองว่าทุกอย่างคือ ‘ประสบการณ์’

เพราะได้ลองทำงานหลากหลายหน้าที่ อีกทั้งได้เริ่มสร้างธุรกิจเครื่องสำอาง Velenta (เวเลนตา) ปัจจุบันในวัย 21 ปี แบรนด์ของเธอเติบโตมีตัวแทนจำหน่ายราวๆ 1,000 คน มีออร์เดอร์ วิปปิ้งบลัชมูส ผลิตภัณฑ์สุดป๊อปของแบรนด์พีกสุด 300,000 ตลับต่อเดือน

เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของคุณเมษาเป็นมาอย่างไร ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้

คุณเมษาทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยตั้งแต่ชั้นมธยมจนเข้าเรียนปี 1 ด้านการโรงแรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมทำงานพาร์ตไทม์ควบคู่ เพราะต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าเทอม แม้จะกู้ กยศ. แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจดรอปเรียนปี 1 ช่วงอายุ 18 ปี

ดรอปเรียนแล้ว คุณเมษามุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก กว่าจะผ่านมาได้แต่ละวันเธอบอกว่า แทบสิ้นหวัง ยิ่งกว่าละครก็ว่าได้ “เคยไม่มีเงินเช่าห้องค่ะ ต้องไปขออาศัยอยู่บ้านเพื่อน พอเริ่มทำงานก็เริ่มมีเงินออกมาเช่าห้อง ตอนนั้นทำงานหลายหน้าที่มาก เพราะเราไม่มีวุฒิ เขาสั่งอะไรมาก็ต้องทำทุกอย่าง ทั้งเขียนบล็อก ตัดต่อวิดีโอ กราฟิกดีไซน์ ใส่ซับไตเติ้ล ฯลฯ บอกตรงๆ ว่าอยู่ได้ด้วยความหวังว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จสักวันหนึ่งค่ะ เพราะรอบตัวไม่มีใครเลยจริงๆ”

จนเมื่อได้เจอโฆษณาในเฟซบุ๊ก “คุณสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ได้ด้วยเงิน 3,000 บาท” คุณเมษาสนใจทันที เพราะใจอยากลองทำแบรนด์เครื่องสำอางอยู่แล้ว โดยสินค้าตัวแรกคือ ลิปบาล์มฮันนี่คิส ที่คิดมาดีแล้วว่าเป็นโปรดักต์ที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย อีกทั้งต้นทุนไม่สูงมาก

“โรงงานมีสูตรลิปบาล์มอยู่แล้ว เราสามารถรีเควสต์ได้ว่าอยากได้แบบไหน สีอะไร แต่เริ่มแรกถ้าสั่งน้อยชิ้น อาจเลือกสีไม่ได้มาก ตอนนั้นเราสั่งสีแดง สีส้ม สีชมพูค่ะ จำนวน 100 ตลับ ขายราคาสบายกระเป๋าตลับละ 59 บาท ภายใต้แบรนด์ Valenta ที่ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น Velenta ตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าขายไม่ได้ยังมีเพื่อน มีคนรู้จัก คงไม่ยากอะไรมากมาย แต่ปรากฏว่าขายหมดในวันเดียวค่ะ จากการใช้เองแล้วถ่ายคอนเทนต์ลงสตอรี่ไอจี ก็มีเพื่อน คนรู้จักทักมาซื้อและขอเป็นตัวแทน” คุณเมษา เล่า

ข้อได้เปรียบของคุณเมษา คือการใช้ทักษะความรู้ด้านกราฟิกดีไซน์มาออกแบบแพ็กเกจจิ้งและสื่อโฆษณา เน้นความน่ารักสดใส ไม่มินิมอล ซึ่งทักษะเหล่านี้เธอได้ถ่ายทอดให้กับตัวแทน โดยผุดคอร์สสอนแต่งรูปขึ้นมา

“เราทำกราฟิกได้เลยเปิดคอร์สสอนแต่งรูปค่ะ ให้คนอยากมาสมัครเป็นตัวแทนมากขึ้น นอกจากได้กำไรจากการขายสินค้าแล้ว ยังได้สกิลติดตัวสามารถนำไปต่อยอดขายสินค้าอื่นได้อีก” เธอเล่าเสริม

ส่วนโปรดักต์ขณะนั้นยังไม่ค่อยมีคู่แข่ง นับเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ปล่อยชิล เธอทำการตลาดด้วยการดึงจุดเด่นของสินค้าออกมาให้ผู้บริโภคเห็นลงแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น TikTok ที่เปิดไว้ตั้งแต่แรก พร้อมอธิบายว่าสินค้า Velenta มีข้อดีอย่างไร

ซึ่งการทำ TikTok ทำให้แบรนด์เริ่มเป็นที่สนใจ มีคนอยากสมัครตัวแทนมากขึ้น กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จาก 100 ตลับ ขยับมา 300 ตลับ 500 ตลับ ซึ่งตอนนั้นคุณเมษา ยังมีทุนน้อย หรือเรียกว่าแทบไม่มี จึงใช้วิธีการรับพรีออร์เดอร์จากตัวแทนแล้วสั่งผลิตตามจำนวน เป็นอยู่อย่างนี้ 1 ปี จนเริ่มกลับมาตั้งตัวได้ พร้อมเพิ่มโปรดักต์ใหม่ วิปปิ้งบลัชมูส 4 เฉดสี ราคา 79 บาท และสินค้าเล็กๆ น้อยๆ จากเดิมที่มีแค่ ลิปบาล์มฮันนี่คิส 4 เฉดสี

“ยังใช้โรงงานเดิมผลิตค่ะ มีการปรับสูตรและเพิ่มสารสกัด จุดเด่นของโปรดักต์คือการใช้ผงสีออร์แกนิกที่ใช้ทำเครื่องสำอางโดยเฉพาะ เราเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพ เพราะมองในมุมผู้บริโภคถึงขายราคาถูก แต่ก็ยังอยากได้ของดี ลูกค้าใช้แล้วชอบค่ะ เข้ากับผิวคนไทย มีบ้างใช้แล้วเป็นขุย ก็พยายามอธิบายว่าสภาพผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

และว่า

“ปัจจุบันมีตัวแทนราวๆ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา เปิดบิลลิปบาล์ม 390 บาท จะได้กำไรกระปุกละ 20 บาท วิปปิ้งบลัชมูส 550 บาท ได้กำไรกระปุกละ 23 บาท ส่วนราคาปลีกลิปบาล์มยังขาย 59 บาทเหมือนเดิม ราคานี้เก็บไว้เป็นการบ้าน เพราะตั้งแบบนี้ไม่ได้แล้ว อาจจะออกโปรดักต์ใหม่วางราคาใหม่”

สำหรับกำลังการผลิตพีกสุด คือ วิปปิ้งบลัชมูส ประมาณ 300,000 ตลับต่อเดือน หรือบางช่วงประมาณ 50,000-100,000 ตลับ ขึ้นอยู่กับการทำการตลาดของตัวแทนและการตลาดของแบรนด์ที่มีการจ้างอินฟลูเอนเซอร์บ้าง

จะสังเกตได้ว่า Velenta ใช้วิธีการขายผ่านตัวแทนอย่างเดียว คุณเมษา ให้เหตุผลว่า ช่วยลดกระบวนการทำงาน เช่น ไม่ต้องแพ็กสินค้าเอง เวลาที่เหลือก็ไปเรียน ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ด้านภาษาอังกฤษ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ขายผ่านตัวแทน ใช่ว่าไม่มีปัญหานะคะ ตัวแทนเยอะยิ่งมีปัญหา เช่น ขายตัดราคา ฯลฯ มีทั้งแก้ได้ แก้ไม่ได้ ก่อนหน้านี้เก็บทุกเรื่องมาเครียด แต่ทุกวันนี้ปล่อยวางแล้ว คิดว่าเราเพิ่งอายุ 21 ปี พลาดบ้างก็ได้ ไม่ต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น อีกเรื่องคือ สินค้าเลียนแบบ ก็คุยกันแบบสันติก่อน”

และด้วยเป็นเจ้าของแบรนด์อายุยังน้อย ทำอย่างไรให้ตัวแทนที่ส่วนใหญ่อายุมากกว่าไว้ใจ เธอตอบว่า “เน้นความจริงใจ บอกทุกอย่าง ใจแลกใจ รวมทั้งวิธีการวางตัวในฐานะเจ้าของแบรนด์ ไม่ได้วางตัวให้เด็กเกินไป”

อย่างไรก็ตาม จากการสร้างแบรนด์ทำให้คุณเมษา มีเงินเลี้ยงตัวเอง รวมถึงจ่ายค่าเทอมเองได้ “ไม่อนาถเหมือนเมื่อก่อนแล้วค่ะ พอมองแบรนด์ตัวเองแล้วภูมิใจมากทำมาได้ 2 ปีแล้ว มีทุกอย่างได้จากซอฟต์สกิลของตัวเอง ไม่เสียเปล่า สามารถต่อยอดได้เรื่อยๆ รวมถึงคนรู้จักเรามากขึ้น

และพอมีทุนต่อไปอาจเน้นเรื่องแพ็กเกจจิ้งให้มีความยูนีก หรือต่อยอดโปรดักต์ที่ขายได้กำไรกว่านี้ เพราะมีบทเรียนจากสินค้าตัวแรกที่ขายถูกเกินไป” เจ้าของแบรนด์วัย 21 กล่าว