นักเล่าเรื่อง งานศิลป์ดื่มได้ บอย ยัมมี่เฮาส์ ฟันเฟืองเคลื่อนคราฟต์เบียร์ไทย

นักเล่าเรื่อง งานศิลป์ดื่มได้ บอย ยัมมี่เฮาส์ ฟันเฟืองเคลื่อนคราฟต์เบียร์ไทย

คุณเอนก มงคลวุฒิเดช มีชื่อเรียกขานกันในแวดวงคนรัก “คราฟต์เบียร์ไทย” ว่า “บอย ยัมมี่เฮาส์” เขาได้ให้นิยามตัวเองไว้ว่า เป็นอดีตโปรแกรมเมอร์ เคยปฏิเสธของมึนเมามาตลอด แต่ชะตาชีวิตพลิกผัน ต้องมาช่วยดูแลกิจการร้านขายส่งเบียร์ของที่บ้าน จนสุดท้ายกลายเป็นผู้เสพ ผู้ผลิต ผู้แนะนำ และผู้จำหน่าย ครบวงจร ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Yummy House ในตำแหน่ง Business Development และนักเล่านิทานประจำบริษัท

“พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นพี่ชายคนโตของบ้าน มีน้องสาว-น้องชาย อย่างละคน ตอนนี้ผมอายุ 42 และยังโสดครับ” คุณบอย เริ่มต้นบทสนทนา กับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้ม เป็นกันเอง

คุณบอย ยัมมี่เฮาส์

ก่อนย้อนประวัติให้รู้จักกันมากขึ้น จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยทำงานประจำตามสายที่เรียนมาอยู่พักหนึ่ง แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะและไม่คุ้นกับวัฒนธรรมการทำงานบริษัท เลยลาออกมาทำธุรกิจแรกในชีวิต นั่นคือ นำขนมไปฝากขายตามร้านกาแฟ แต่ทำได้อยู่ 2 ปี ก็เจ๊ง ด้วยเหตุผลที่ว่า รายได้ที่คาดไว้ ไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่คิด

“ไม่ได้หัวการค้าอะไรหรอก เริ่มต้นก็คิดคำนวณสไตล์วิศวะแบบง่ายๆ คือ ไปฝากขนมได้กำไรถุงละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าวันหนึ่งติดต่อได้ 20 ร้าน ทำแบบนี้อย่างขยันขันแข็ง เป็นเวลา 5-6 เดือน ทำอย่างนี้ทุกวันต้องรวยแน่ๆ แต่ลืมคิดไปว่าเราไม่สามารถเจอลูกค้าได้หรือหาร้านกาแฟได้มากเท่าที่คิด และการที่เข้าใจง่ายๆ ว่าแค่ฝากขนม แล้วไปเก็บตังค์ เหมือนการฝากเงินกับธนาคารนั้น มันไม่ใช่ เพราะแค่ขนมชนิดเดียวกันยังมีคู่แข่ง ผู้บริโภคเขามีตัวเลือกหลากหลาย” คุณบอย ย้อนอดีตยิ้มๆ

และว่า

“ผมอดทนทำอยู่ 2 ปี ผลตอบแทนมันไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ พอได้กำไรมาก็ต้องเอาไปซื้อของต่อ สรุปก็คือเจ๊ง เลิกทำ ตกงานอยู่พักใหญ่”

ดูงาน ทำการบ้าน

มีเหตุต้องทำการ “วิจัยฝุ่น” อยู่พักใหญ่ เมื่ออายุประมาณ 20 ปลายๆ ช่วงเวลานั้น คุณบอย ประคองชีวิต ด้วยการรับจ้างขับรถให้คุณแม่ไปซื้อลอตเตอรี่ที่กองสลากฯ มาเปิดแผงขาย ก่อนขอเข้าช่วยงานในบริษัทของน้องสาว ที่ชื่อว่า ยัมมี่ เฮาส์

“ตอนนั้น ผมโดนเจ้าหนี้ทวงเงิน แล้วพอดีตอนนั้นน้องสาว เปิด ยัมมี่ เฮาส์ เป็นเซลส์เบเกอรี่ ส่งตามโรงแรม ตามร้านอาหาร แถวพัทยา เลยไปขอทำงานด้วย แบบคิดเป็นรายวันก็ได้ วันไหนไม่มีงาน ก็ไม่ต้องจ้าง” คุณบอย บอกยิ้มๆ

ก่อนเล่าต่อ ทำ ยัมมี่ เฮาส์ หาวัตถุดิบดีๆ ราคาสูง อย่าง ปลาแซลมอน ชีส ขนมปัง ส่งขายร้านอาหารได้พักใหญ่ รู้สึกผลตอบแทนไม่คุ้มเหนื่อย กระทั่งเกิดเหตุพลิกผัน ต้องมาเป็นผู้จัดจำหน่ายเบียร์ต่างประเทศ

“เพื่อนของน้องเขย มาบอกจะนำเข้าเบียร์มาขายในเมืองไทย แต่ไม่มีคนช่วยและไม่มีตลาด น้องเขยจึงมาถามจะไปช่วยขายไหม แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จักเบียร์ แอนตี้เบียร์ แต่ตอบกลับไปว่า เอามาก็ได้” คุณบอย ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่ม

นึกสงสัย ทำไมถึงกับต้อง “ต่อต้านเบียร์” คุณบอย บอกจริงจังว่า พุทธศาสนา สอนเรื่องของศีล 5 แล้วเห็นตัวอย่างหลายรายดื่มแล้วโวยวาย กักขฬะ จึงรู้สึกไม่ชอบ แต่เมื่อจะมารับบทบาทคนขายเบียร์ ก็ต้องรู้จัก สามารถอธิบายจุดเด่น จุดดี ของสินค้าที่จะขายให้ได้ จึงหัดชิม หัดดื่ม กระทั่งตระหนัก เบียร์นั้น ไม่ได้เป็นปัญหา พฤติกรรมของคนดื่มต่างหากที่เป็นปัญหา

พบปะลูกค้า

ยัมมี่ เฮาส์ เป็นผู้จัดจำหน่าย เบียร์นำเข้าอยู่หลายปี เกิดมีปัญหาเรื่องการปรับภาษีใหม่ จึงเลิกขายเบียร์นำเข้าดังกล่าวไป แต่ทางบริษัท ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราไปแล้ว และต้องเสียค่าใบอนุญาตปีหนึ่งเป็นหมื่นบาท จึงรู้สึกเสียดาย สุดท้ายก็ได้เป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับคราฟต์เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการเปิดโลก “งานศิลปะดื่มได้” ให้กับเขาเป็นครั้งแรก

จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์คนไทยกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน และเรียกตัวเองว่า ขบวนการเสรีเบียร์ ไปต้มเบียร์ที่เมืองนอก ก่อนจะนำกลับเข้ามาขายในเมืองไทย และพวกเขาต้องการคนช่วยกระจายสินค้า

“อยากช่วยคนไทยขาย เพราะพวกเขาทำเบียร์ดีมาก แต่อาจไม่ชำนาญในเรื่องขนส่ง การขาย และถ้าเรารับคราฟต์เบียร์คนไทยกลุ่มนี้มาขาย ก็เท่ากับว่าสามารถขายไปทั่วประเทศ ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น จะไม่ถูกบล็อกอยู่แค่ภาคตะวันออกเหมือนก่อนหน้านี้ เลยตกลงร่วมธุรกิจกับขบวนการเสรีเบียร์ โดยที่ตอนนั้นยังไม่ทราบเลยว่าจะขายได้ไหม” คุณบอย อธิบายอย่างนั้น

ขอให้ย้อนประสบการณ์แรก สมัยไปเป็นผู้จัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทย ราว 4-5 ยี่ห้อ ของขบวนการเสรีเบียร์ คุณบอย เล่าว่า มีหลายคนชอบว่าไปต้มเมืองนอก แล้วบอกว่าเบียร์ไทยได้ยังไง ก็ต้องอธิบายว่า ให้ดูที่เจ้าของสินค้าเป็นใคร มีต้นกำเนิดจากไหนมากกว่าดูสถานที่ผลิต ซึ่งช่วงเวลานั้น ต้องยอมรับคราฟต์เบียร์เมืองไทยขายยากมาก แทบไม่มีใครรู้จัก

“เดินไปถึงปุ๊บ ส่วนใหญ่เจ้าของร้านบอกว่า วางไว้เลยน้องเดี๋ยวพี่ชิม พอได้ชิมก็หายบ้าง ติดต่อมาบ้าง บางทีหิ้วไปชิมกับลูกค้าทีละ 12 ขวด ต้นทุนในการชิมแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าพันบาทแทบทุกร้าน ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันจะขายได้หรือเปล่า ปีแรกๆ เสียตัวอย่างเป็นร้อยลังเลยนะ ดูเหมือนขายได้เยอะ แต่กำไรก็ไม่ได้เยอะแยะ เพราะเราควักกระเป๋าจ่ายกันเอง เรื่องนี้ส่วนใหญ่เจ้าของเบียร์ไม่ค่อยทราบ” คุณบอย เล่าออกรส

ยอดขายลุ่มๆ ดอนๆ อยู่พักใหญ่ กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในราวปี 2560 จากเหตุการณ์ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ขณะนั้นอายุราว 28 ปี เป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาผลิตคราฟต์เบียร์ เพราะความชื่นชอบและขายให้กลุ่มเพื่อน กระทั่งเขาถูกตำรวจและสรรพสามิตจังหวัดนนทบุรีจับกุม และศาลแขวงนนทบุรีตัดสินให้รอลงอาญา

“หลังจากคุณเท่าพิภพ โดนจับ พอวันรุ่งขึ้น ออร์เดอร์เข้ามาเยอะมากๆ จนพวกผมทำงานกันไม่ทันเลย ตอนนี้เลยภาวนาอย่างมาก ให้เขาโดนจับอีกครั้ง เราจะได้ขายของดีขึ้น” คุณบอย เล่าก่อนหัวเราะร่วน

และบอกว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ คราฟต์เบียร์ไทย ดีกว่าเดิมมาก ขายง่ายขึ้น ตลาดมีความต้องการเป็นวงกว้าง ล่าสุดเขาจึงมีความคิดผุดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อย่าง พาทัวร์ร้านอาหารเด่นๆ ที่ขายคราฟต์เบียร์ไทย หรือพาเยี่ยมชมโรงต้มเบียร์ของคนไทย

“สถานการณ์คราฟต์เบียร์ไทย ผมว่าถึงจุดเปิดแล้ว อนาคตอันใกล้จะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเยอะ กระแสบริโภคคราฟต์เบียร์ไทยไม่เหมือนในสมัยก่อน ที่ผมไปขายต้องเล่าเรื่องให้ร้านอาหารเป้าหมายฟังว่าคราฟต์เบียร์คืออะไร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ยัมมี่ เฮาส์ รู้สึกภูมิใจ ที่มีส่วนผลักดันให้คราฟต์เบียร์ไทย มีที่ยืนบนฐานที่แข็งแรง” คุณบอย ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

……………

เรื่องราวของ งานศิลปะดื่มได้ ในมุมมองของ “บอย ยัมมี่เฮาส์” ชายหนุ่มผู้มุ่งมั่นอยากให้ คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ได้มีที่ยืนในตลาดอย่างสง่างาม ยังมีอีกหลายประเด็นน่าสนใจ เชิญมาฟังจากปากคำบอกเล่าของเขากันได้บนเวทีเสวนา SMEs HERO TALK  ในงาน ‘SMEs HERO FEST’ วันที่ 11 ธันวาคม 2565 เวลา 14.15-15.15 น. ที่ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
.