อาชีพขับแท็กซี่ ให้ขยันอย่างเดียว รับรองไปรอด ไม่กี่ปี มีรถเป็นของตัวเอง

อาชีพขับแท็กซี่ ให้ขยันอย่างเดียว รับรองไปรอด ไม่กี่ปี มีรถเป็นของตัวเอง

 จากบ้านที่สำโรง ผมนั่งรถแท็กซี่ไปทำธุระที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

วันนั้นก่อนขึ้นทางด่วนรถก็ติด ลงจากทางด่วนรถก็ติด แม้อยู่บนทางด่วนรถก็ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้คล่อง

ผมแก้เครียดกับการต้องนั่งไปบนรถนานด้วยการชวนคนขับรถแท็กซี่คุย อย่างน้อยๆ อาจจะได้เรื่องของเขามาเขียน แล้วก็ได้จริงๆ

คนขับแท็กซี่แม้อยู่ในหน้ากากอนามัยป้องกันติดเชื้อโควิด แต่ก็ดูรู้ว่า เขายังเป็นคนหนุ่ม

แต่พอได้ยินเสียงเขาพูดแล้ว รู้สึกแปร่งหู จะว่าแป็นคนอีสานก็ไม่ใช่  หรือเป็นคนสุพรรณฯ ยิ่งไม่ใช่

พอได้เห็นป้ายชื่อของเขาที่ติดอยู่ในรถว่า จำนงค์ ละมินโท ทำให้ยิ่งแปลกใจตรงนามสกุลว่าเขาไม่น่าจะเป็นคนไทย

“น้องเป็นคนที่ไหน” ผมอดถามไปตรงๆ ไม่ได้

“คนสุรินทร์ครับ”

พอรู้ว่าเขาเป็นคนสุรินทร์ ทำให้ผมเข้าใจได้ทันทีว่าเขาคงจะมีเชื้อสายเขมรแน่ๆ แล้วก็จริงดังคาด เมื่อเขาบอกผมว่า

เจ้าของเรื่องราว

“พ่อผมเป็นคนเขมรครับ”

“พ่อเป็นเขมร แต่แม่เป็นไทย”

“ไม่ใช่ครับ แม่ผมเป็นลาว”

“อ้าว ไม่มีเชื้อสายไทยเลยหรือ”

“ครับ แต่ผมเกิดเมืองไทย ผมจึงเป็นคนไทย”

ถึงตรงนี้รถติดแยกไฟแดง เขาจึงหันหลังมาพูดกับผมได้ถนัด

“ได้เรียนหนังสือไทยบ้างไหม”

“เรียนครับ เรียนที่สุรินทร์จนจบ ป.5  แล้วรับจ้างทำงานเรื่อยมา”

“ทำที่ไหน”

“ที่สุรินทร์ครับ”

“ทำอะไร”

“เป็นเด็กปั๊มขายน้ำมัน”

“ไม่เรียนต่อ”

“พ่อไม่มีเงินให้เรียน”

“มีพี่น้องกี่คน”

“3 คนครับ”

“ขับแท็กซี่มานานแล้วยัง”

“ขับมา 6 ปีแล้วครับ”

“ไปมายังไงถึงได้มาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ”

“ผมทำงานเป็นเด็กปั๊มอยู่หลายปี หลังเกณฑ์ทหาร ผมได้รู้จักกับเจ้าของรถไถ ผมจึงไปขับรถไถอยู่เป็นปี”

“รถไถนาหรือไถถนน”

“ไถนา กับขุดบ่อเลี้ยงปลา”

“ได้ค่าจ้างดีไหม”

“ได้เฉพาะวันมีงาน”

“หมายความว่ายังไง”

“วันไหนมีงานให้ทำก็ได้เงิน แต่ผมก็อยากออกจากงาน”

“คงได้เงินน้อย”

“ไม่น้อยครับ พออยู่ได้ แต่ที่ผมอยากเปลี่ยนงาน เพราะขับรถไถนาต้องทำงานอยู่คนเดียวที่เดิมทั้งวัน แทบไม่ได้พบกับคนอื่นเลย นอกจากเจ้าของงานและนายจ้าง”

“ออกแล้วไปทำอะไรต่อ”

“ไปขับรถสองแถวรับจ้าง แล้วก็เบื่ออีก ต่อมาได้ไปเป็นเด็กรถทัวร์ แล้วก็ขับรถทัวร์”

“ขับได้เหรอ”

“คนขับรถทัวร์สอนให้ผมขับ แต่อยู่ได้ไม่นาน ผมก็เข้ากรุงเทพฯ มาขับแท็กซี่ มีเพื่อนชวนมา”

“เพื่อนก็ขับแท็กซี่”

“ใช่ครับ เพื่อนพาไปสอบใบขับขี่ให้เสร็จ แล้วยังช่วยรับรองกับเถ้าแก่ตอนไปรับรถมาขับ”

สุดท้ายเขาบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า รถที่ขับอยู่นี้เป็นรถของเขาเอง ไม่น่าเชื่อว่ามีวันนี้ได้ เขาเข้ากรุงเทพฯ ตัวเปล่าจริงๆ

ตอนเริ่มขับรถแท็กซี่ใหม่ๆ นั้น ลำบากสุดๆ ก็คือเส้นทาง เพราะกรุงเทพฯ กว้างเหลือเกิน ไปไหนมาไหนไม่ถูกต้องให้ลูกค้าบอกเส้นทางให้ แต่ก็มีปัญหาตอนกลับเข้าอู่เพราะขับรถอยู่คนเดียวจะหลงทาง วันนั้นแทนที่จะได้กำไรมาก กลับได้น้อย

แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถรู้เส้นทางได้ แล้วยังสามารถดูเส้นทางจากมือถือได้อีก

เขาอาศัยอยู่กับเพื่อนที่ช่วยเหลือเขามาตั้งแต่ต้น โดยเช่าห้องพักเล็กๆ ราคาถูกอยู่

ระยะแรกๆ เขาเสียค่าเช่ารถเหมาทั้งวัน 700 บาท รถอยู่ในสภาพพอใช้ได้ แต่ถ้าเป็นรถใหม่ก็จะเสียค่าเช่าแพงกว่านี้

เช่ารถแบบ 2 กะ ทำให้รถอยู่กับเขาได้ทั้งวัน แทบไม่ได้เจอเถ้าแก่ที่เป็นเจ้าของรถ คือจะใช้วิธีโอนเงินทางมือถือ

ยกเว้นเวลารถเสียก็จะนำรถมาเข้าอู่เพื่อซ่อม ขณะซ่อมเถ้าแก่ก็มีรถคันใหม่ให้ขับแทนชั่วคราว

หักค่าใช้จ่ายแล้ว เขามีรายได้ทุกวัน มากสุดเคยได้ถึง 2,000 กว่าบาท เพราะมีผู้โดยสารเหมาไปต่างจังหวัด

ได้น้อยสุด หักค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าอาหาร 3 มื้อแล้วก็จะมีเหลือหลายร้อยบาททุกวัน

และด้วยประสบการณ์ทำให้เขารู้ว่า เวลาใดตรงไหนจะมีผู้โดยสาร เช่น ควรขับรถไปถนนสุขุมวิทเวลาใด ควรไปแถวเยาวราชเวลาใด หรือเวลาใดควรไปที่สถานีขนส่ง

แต่ที่เขาไปรับผู้โดยสารเป็นประจำคือที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่กลางกรุง

เขาเป็นคนหนุ่มที่รู้จักใช้จ่าย บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่ดื่ม ขับแท็กซี่อยู่ไม่กี่ปีจึงมีเงินดาวน์รถ แล้วผ่อนรถ จนสามารถมีรถเป็นของตัวเอง ดังเล่าแล้วข้างต้น

เขาตั้งความหวังไว้ว่า จะต้องเป็นเถ้าแก่รถแท็กซี่ มีรถเพิ่มให้ได้หลายคันเพื่อเปิดให้เช่า

คนที่มาจากอีสานแล้วสามารถเป็นเถ้าแก่รถแท็กซี่ให้เช่ามีมาแล้วหลายคน ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เขาอยากเป็นบ้าง

เสียดายที่ 2 ปีนี้มีโควิดระบาด จึงทำให้เขามีรายได้ไม่ได้เท่าที่เคยได้

แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว มีนักท่องเที่ยวให้เขาได้รับมากขึ้น

เขาตบท้ายก่อนที่ผมจะลงจากรถ ฟังแล้วน่าคิด ว่า

“คนมีอาชีพขับแท็กซี่ ขอให้ขยันอย่างเดียว ไปรอด บางคนพยายามผ่อนรถเอง แต่พอผ่อนรถเสร็จได้เป็นเจ้าของรถ ก็จะเริ่มขี้เกียจ ผลที่สุดก็ต้องขายรถ แล้วไปเช่ารถมาขับเหมือนเดิม”

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565