ลัดเลาะเอ็กซ์คลูซีฟ! ชมโรงงานผลิต มันฝรั่งแบรนด์ดัง

ไม่บ่อยนักที่ “เลย์” มันฝรั่งแบรนด์เจ้าตลาด ซึ่งมีฐานการผลิต เป็นโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูน จะเปิดประตูต้อนรับอาคันตุกะภายนอก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทีมผู้บริหารบริษัท เป๊ปซี่-โคลา(ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด นำโดย คุณจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท เป๊บซี่-โคลาฯ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนหลายแขนงเข้าเยี่ยมชมทุกขั้นตอน

หากก่อนจะเข้าไปเยี่ยมชมให้เห็นด้วยตา ทุกคนต้องทำตามกติกากันก่อนเพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร  เริ่มจาก ต้องแต่งกายสุภาพ ไม่สวมกางเกงขาสั้น เสื้อแขนกุด หรือกระโปรง และต้องสวมเสื้อกาวน์ เสื้อกั๊กสะท้อนแสงหมวกคลุมผม ถุงมือ หน้ากากอนามัย  ตามที่ทางโรงงานจัดเตรียมไว้ให้ด้วย ต้องสวมรองเท้าหุ้มส้น ปิดหน้า-ปิดหลัง เท่านั้น ไม่อนุญาตให้สวมเครื่องประดับทุกชนิด รงมทั้งนาฬิกาข้อมือ หรือ สายสิญจน์ ด้วย  และไม่อนุญาตให้นำกล้องวิดีโอ กล้องถ่ายรูป เข้าไปบันทึกภาพโดยเด็ดขาด

ระหว่างการเยี่ยมชม คุณช่อทิพย์ แดงใจ ผู้จัดการโรงงาน บรรยายสรุปให้ฟัง หัวใจสำคัญของการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ คือ เลือกมันฝรั่งที่มีคุณภาพเป็นสายพันธุ์ที่ดี สิ่งสำคัญ คือ ต้องเป็นพันธุ์ที่มีแป้งเยอะๆ เพราะเมื่อไหร่ที่มีน้ำตาลเข้าสู่สายการผลิต แผ่นมันฝรั่งอาจมีสีน้ำตาลระเรื่อๆคล้ายผ่านการทอดไหม้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่  สีน้ำตาลเรื่อๆที่เห็นนั้น เกืดจากการที่มันฝรั่งยังเปลี่ยนน้ำตาลมาเป็นแป้งไม่หมดนั่นเอง

“ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีมันฝรั่งสดที่ปลูกในไทยส่งเข้ามาสู่สายการพานผลิต แต่บางช่วงไม่มีมันฝรั่งสด อาจต้องใช้มันฝรั่งที่สต๊อกไว้ ซึ่งรักษาคุณภาพไว้ในห้องเย็นจำนวนหลายพันตัน ซึ่งบางส่วนเป็นการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ”คุณช่อทิพย์ อธิบาย

และว่า เมื่อได้มันฝรั่งมาแล้ว จะถูกความสะอาดก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นทางห้องเย็นจะทำการตรวจวัดปริมาณแป้งของมันฝรั่งล็อตนั้นๆ ก่อนเข้าสู่โรงงาน ลำเลียงสู่สายการผลิต และล้างมันฝรั่งอีกรอบ ขั้นตอนนี้ จะมีการคัดแยกสิ่งแปลกปลอมได้ด้วย หลังจากนั้นมันฝรั่งจะผ่านไปตามท่อ น้ำที่ใช้จะถูกรีไซเคิลกลับไป เนื่องจากมีการควบคุมในการใช้อย่างเข้มงวดตามนโยบายบริษัทแม่ ต้องลดการใช้น้ำให้ได้ทุกปี

หลังขั้นตอนการล้าง เข้าสู่ขั้นตอนการปอกเปลือก โดยเครื่องจักรแบบปิด เป็นการปอกเปลือกบางๆที่ผิว จากนั้นผ่านการคัดขนาด มันฝรั่งที่มีขนาดใหญ่ จะผ่านเครื่องตัด ซึ่งอาจมีรอยช้ำบ้าง มีตำหนิบ้าง ถึงตรงนี้ ถึงจะใช้พนักงานคอยคัดตัดแต่งอีกรอบหนึ่ง

จากนั้น จึงสู่จุดเปลี่ยนว่าจะผลิตเลย์ ชนิดแผ่นแบบไหน เพราะมีเครื่องตัดทั้งแบบ แผ่นหยัก แผ่นเรียบ บิสกิต ซึ่งจะตั้งต้นที่ขั้นตอนการหั่นความหนาแต่ละอันต่างกัน และส่งไปยังขั้นตอนถัดไป ซึ่งจะต่างกันด้วย อุณหภูมิเวลาและเวลาที่ใช้ในการทอด

“เครื่องตัดมันฝรั่งจะเปลี่ยนใบมีดทุก 90 นาที เพราะใบมีดต้องคมที่สุด หากไม่คมแล้ว หั่นแล้วจะทำให้มีการอมน้ำมัน จากนั้นผ่านขั้นอตนการล้างอีกรอบ เพื่อเอาแป้งที่ผิวออก ขั้นตอนนี้ต้องมีการควบคุมความชื้นอีกรอบ ก่อนเข้าสู่เตาทอด เพราะน้ำมีผลต่อคุณภาพของน้ำมัน หากลงไปในเตาทอดแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่น ทำให้คุณภาพน้ำมันลดต่ำลง”ผู้จัดการโรงงานผลิต ว่าอย่างนั้น

ถัดมาเป็นเรื่องของน้ำมัน ขณะนี้ เลย์ ใช้น้ำมันรำข้าว ทอดแทนน้ำมันปาล์มแล้ว เหตุผล คือ เรื่องของคุณภาพ เนื่องจากน้ำมันรำข้าว มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงในกลุ่มวิตามินอี เป็นสารกันหืนในตัวเอง ช่วยในเรื่องของการต่อต้านอนุมูลอิสระ การดูดซึมคลอเรสเตอรอลชั้นเลว เยอะกว่าวิตามินอี ถึง 6 เท่า หลังจากผ่านขั้นตอนการทอดแล้วนั้นก็จะเติมเกลือ และเครื่องปรุงรสชาติต่างๆต่อไป

สำหรับขั้นตอนการทอด ใช้เตาระบบปิด มีใบพัดลำเลียง มันฝรั่ง จะถูกพาออกมาเป็นก้อน  ขึ้นมาพร้อมๆกัน ก่อนจะมาเจอกับเครื่องวัดความชื้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ความชื้นสูงหรือต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสเปค เครื่องจจะส่งสัญญาณเข้าไปในเตาทอด ให้ทำการปรับความความเร็วของสายพาน ให้ช้าลงหรือเร็วขึ้น แต่ถ้าปรับแล้ว ความชื้นยังไม่ได้ ขั้นตอนที่สอง เครื่องจะปรับอุณภูมิขึ้นหรือลงโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ความชื้นอยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้แต่ถ้าไม่ได้ความชื้นตามาตรฐานที่กำหนดอีก เครื่องจะเปิดประตูโดยอัตโนมัติ ทิ้งมันฝรั่งลงไปด้านล่าง จนกว่าจะกลับมาอยู่ในมาตรฐานอีกรอบหนึ่ง เครื่องถึงจะปิดอัตโนมัติ

คุณช่อทิพย์ อธิบายต่อ หลังจากได้มันฝรั่งตามดีไซน์ ทั้งสี กลิ่น รส  ยังเทคโนโลยีคัดแยกอีกรอบ หลักการทำงานของเทคโนโลยีนี้ คือ จะมีสายตามองเหมือนกล้อง จับความผิดปกติ แล้วส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์  จากนั้นคอมพิวเตอร์จะบอกว่า ขนาดแค่ไหน สีอย่างไร ถึงเรียกว่าตำหนิ แล้วก็คัดทิ้งออกไป แต่ตำหนิเหล่านี้ อาจมีโอกาสหลุดเข้าไปในซองได้อยู่เหมือนกัน เพราะแผ่นมันฝรั่งนั้น มีเป็นจำนวนมาก อาจมีโอกาสซ้อนทับกันอยู่ จนเครื่องไม่สามารถมองเห็นและตรวจจับได้ แต่เพื่อป้องกันความผิดพลาดในจุดนี้ จึงเพิ่มพนักงานเเข้าไปในกระบวนการนี้หนึ่งคน เพื่อช่วยคัดกรองอีกขั้นชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สินค้าทุกล็อต จะต้องมีการสุ่มตัวอย่างอีกหนึ่งรอบ เพื่อดูว่าทุกอย่างอยู่ในสเปคหรือไม่ หลังจากนั้น จึงผ่านไปที่ห้องบรรจุถุงโดยเครื่องชั่งอัตโนมัติ

มาถึงคำถามคาใจของผู้บริโภคหลายคนทำไมขนมขบเคี้ยว มักมีถุงโตแต่พอเปิดออกกลับมีแต่ลม ส่วนขนมในถุงมักมีนิดเดียว ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของห่อ คุณช่อทิพย์ บอกว่า ถ้าสังเกตให้รอบด้าน  ผู้บริโภคจะพบว่า ไม่ใช่มีแต่ “เลย์” เท่านั้นที่มีลมเยอะ ไม่ว่าขนมขบเคี้ยว ยี่ห้อไหนก็ต้องมีลมแบบนี้

ซึ่งในส่วนของ “เลย์” นั้น เกิดจากหลักการที่ว่า เครื่องบรรจุซองอัตโนมัติ จะทำงานด้วยสปีดที่เร็วมาก ร้อยกว่าซองต่อนาที เครื่องรุ่นใหม่ อาจขึ้นไปถึง 120 ซองต่อนาที และจังหวะเวลาขนมลงถุง สแน๊กทุกตัวทำงานเหมือนกันหมด คือ เป็นการโปรยลงมา แต่ด้วยสปีดที่เร็วมาก หากไม่มี “เฮด สเปซ”หรือ ที่ว่างด้านบน ให้เลย เวลาเครื่องทำการซีลปากถุงและตัดไปห่อปั๊บ จะตัดโดนขนมเลย นั่นคือเหตุผลทำไมต้องมีลมด้านบน อีกทั้งเวลาขนส่ง ถ้าไม่มีลม คนจะจับโดนหมด และมันจะแตก ทำให้คุณภาพลดต่ำลงไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “เลย์” ใส่ลงไปในถุงนั้น ไม่ใช่อากาศปกติ แต่เป็นการใส่ “ก๊าซไนโตรเจน” หรือ “ก๊าซเฉื่อย”เข้าไปไล่ก๊าซออกซิเจน  เนื่องจากก๊าซเฉื่อย มีคุณสมบัติเป็นสารกันหืน ถ้าในถุงมีออกซิเจนแล้วจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอ็อกซิไดต์ ซึ่งทำให้ขนมหืนเร็ว

ขอบคุณ : บริษัท เป๊ปซี่-โคลา(ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เอื้อเฟื้อภาพ