จัดเต็มไฮไลต์สำคัญ งานสัมมนา ‘พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs’ ที่ต้องรู้ก่อนปี 2023

จัดเต็มไฮไลต์สำคัญ งานสัมมนา ‘พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs’ ที่ต้องรู้ก่อนปี 2023
จัดเต็มไฮไลต์สำคัญ งานสัมมนา ‘พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs’ ที่ต้องรู้ก่อนปี 2023

จัดเต็มไฮไลต์สำคัญ งานสัมมนา ‘พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs’ ที่ต้องรู้ก่อนปี 2023

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ส.ค. 2565 เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ สื่อที่นำเสนอเรื่องราวกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ภายใต้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ เครือมติชน เดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อย จัดงานสัมมนา ‘พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs’ ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์

สำหรับงานดังกล่าวมีประชาชนและนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้งฟังเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอีภาครัฐและเอกชน ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ พร้อมเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่นำสินค้ามาแสดงและจัดจำหน่ายกว่า 20 ราย

โดยเมื่อเวลา 13.00 น. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวเปิดงาน สัมมนา “พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs” ในปาฐกถาหัวข้อ “พลิกโอกาส SMEs ไทย รู้แหล่งทุน รู้วิธีการ รู้ช่องทางจำหน่าย” ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา มีเสียงบ่นมาตลอดว่า หน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติให้ผู้ประกอบการอย่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มักจะใช้เวลาที่จะอนุญาต หรือมักจะถูกตำหนิว่ากระบวนการขั้นตอน ล่าช้า แต่ยุคนี้ภายใต้การกำกับดูแลของตน ได้พยายามขับเคลื่อนให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนผู้ประกอบการ ไม่ใช่ตั้งตัวเป็น “กำแพง” อีกต่อไป

รมช.สธ. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ตนพยายามขับเคลื่อนนโยบาย 2 เรื่อง คือ อย. จะต้องเป็นผู้สนับสนุน ให้ความรู้ทุกขั้นตอน แต่ถ้าติดขัดในเรื่องของสภาพผลประโยชน์ หรือมีอะไรแอบแฝง ให้มาที่ตนได้โดยตรง แต่ผู้ประกอบการเอง ก็ต้องรู้ข้อมูลการอนุมัติ-อนุญาต ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และต้องมีความเข้าใจที่เพียงพอว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องมือแพทย์ หรืออาหารเสริม ของท่านนั้น ต้องมีอะไรบ้าง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องประกอบกัน แล้วจะสามารถตัดวงจรคนข้างนอก ที่จะเข้ามาหาประโยชน์ได้ เพราะเท่ากับว่าหน่วยงานของรัฐ ทำงานกับผู้ประกอบการโดยตรง เป้าหมายก็คือให้โอกาสเอสเอ็มอี พลิกเกมไว มีโอกาสร้างอนาคตในธุรกิจเอสเอ็มอี

“ความจริงผมเป็นห่วงเอสเอ็มอี ในแง่การเข้าถึงแหล่งทุน ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามให้เอสเอ็มอีได้ เข้าถึงแหล่งทุน รัฐบาล มีหลายนโยบายท่ามกลางสถานการณ์โควิด ที่จะให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุน แต่ก็ติดประเด็นบางเรื่อง โดยเฉพาะการคัดกรองผู้เข้าถึงแหล่งทุน อย่างช่วงแรก มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท พอถึงเวลาจริงๆ เอสเอ็มอี เข้าถึงงบเงินกู้ได้น้อยมาก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ เรื่องเหล่านี้คงต้องมาปรับสมดุลกันดูว่า ธนาคารจะทำยังไงให้หนี้ไม่เสีย ทำยังไงเอสเอ็มอี ถึงจะมีคุณภาพในตัวเองและเข้าถึงแหล่งทุนได้ ยุคนี้ หน่วยงานรัฐ ต้องคุยกับผู้ประกอบการ และหาความร่วมมือกัน และเกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” ดร.สาธิต กล่าว

คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวในช่วง GURU Talk : “ชี้ช่องเติมทุน ติดปีก SMEs” เกี่ยวกับ การปรับตัวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ของเหล่าผู้ประกอบการ SMEs ว่า

SMEs ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยสำคัญในการจ้างงานเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางธุรกิจอาจปิดตัวลงไป จึงอาจส่งผลทำให้การจ้างงานลดลง จึงอยากจะแนะนำให้ปรับตัวด้วยการยึดหลัก S-M-A-R-T

“คือการนำ S-Social Media เข้ามาช่วยในธุรกิจ M-Mindset ต้องปรับให้เป็นพลังบวกสร้างกำลังใจให้ตัวเอง A-Automation โดยการปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อลดความผิดพลาด R-Responsibility เป็นการรับมือกับการขยายขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ และนำ Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ทำให้รู้ทิศทางในการปรับตัวได้ง่ายขึ้น และ T-Transformation คือการปรับโมเดลธุรกิจ ตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางการตลาดต้องทำให้ไว เพื่อฝ่าวิกฤตให้ไวกว่าคนอื่นๆ รวมถึงเรื่องแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้ามาปรึกษา บสย. ได้ และเราจะช่วยจับคู่กับแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับท่านได้”

ด้าน ดร.ไอซ์ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ การตลาดดิจิทัล Digital Transformation และ Disruptive Technology กล่าวบรรยายหัวข้อ Digital Marketing วิธีอยู่รอดในตลาด Red Ocean ตอนหนึ่งในงานสัมมนา พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs จัดโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริบทสังคมวันนี้ มีการปรับเปลี่ยนตัวไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนตาม

และสุดท้าย ย่อมจะส่งผลทำให้กระแสเงินปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการสืบทอดกันมาตั้งแต่ รุ่น อากง อาม่า มาถึงรุ่นพ่อแม่ รุ่นปัจจุบัน ใช้เวลายาวนาน ในการสานต่อกิจการ ด้วยวิธีแบบเดิมๆ ได้ แต่ปัจจุบัน ระยะเวลาในการประคองกิจการนั้น ลดสั้นลงมาก สิ่งที่ทำวันนี้ พอถึงพรุ่งนี้มันอาจมีวิธีการใหม่ที่ เข้ามาทดแทนแล้ว

“ทุกวันนี้ หลายคนพูดถึงเครื่องมือโซเชียลมีเดีย เป็นหลัก หยิบมือถือ ถ่ายภาพ โพสต์ลง ภาพสามารถกำหนดความเชื่อของคนได้ เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมาดูคือ ทัชพอยต์ (จุดโดนใจ) ของลูกค้าว่า จริงๆ แล้ว ทัชพอยต์ ของลูกค้าอยู่ที่ส่วนไหน และยังไงบ้าง” ดร.ไอซ์ กล่าว

และว่า ปัจจุบันถ้าผู้ประกอบการจะเริ่มทำออนไลน์ อาจต้องดูว่า มีเครื่องมือไหนที่จะเลือกใช้ได้บ้าง หลายคนพูดถึงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ไอจี แต่ว่าจริงๆ แล้วยังมีเครื่องมืออยู่อีกเยอะมาก ไม่ใช่แค่ เปิดเพจเฟซบุ๊ก ขายของกันก็จบแล้ว แต่สิ่งสำคัญในวันนี้คือ ผู้ประกอบการต้องวางวัตถุประสงค์ ไว้ก่อนว่า จะใช้แพลตฟอร์มนั้นๆ เพราะอะไร ไม่ใช่ว่าเห็นว่าคนอื่นใช้ แล้วก็ไปเลียนแบบใช้ตามมา

“วันนี้ Short Video เติบโตสูงมาก พวกเราเห็น TikTok พอไปไถในหน้า เฟซบุ๊ก จะเห็น Reel ถ้าไปอยู่ใน IG จะเห็นสตอรี่ จากที่เมื่อก่อน ทุกคนมาโพสต์รูป คนเห็นรูปแล้วเชื่อ แต่ตอนนี้มันย้ายไปสู่ วิดีโอสั้น หมดแล้ว คำถามคือ ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมเทรนด์พวกนี้แล้วหรือยัง เพราะวิดีโอสั้นพวกนี้ ยอดการเห็นเติบโตสูงมาก ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการยังมามัวโพสต์รูปอยู่ อาจตกเทรนด์ไปแล้ว” ดร.ไอซ์ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ การตลาดดิจิทัล กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอียุคนี้ ต้องรู้ว่าลูกค้าคือใคร อยู่ที่ไหน มองต้นทุนให้ออก หาช่องทางที่เหมาะสมให้เจอ อย่าไปคิดว่าคนอื่นทำแบบนี้แล้วเวิร์กก็ทำตาม ในวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะต้องคิดหาช่องทางของตัวเอง และถ้าทำในรูปแบบแชต แล้วต้องตอบแชตให้ไวและดี สุดท้ายต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ไวและพัฒนาให้ทัน

“ผมมีคาถาแก้ ยามเหนื่อย ท้อ ที่อยากฝากไว้ให้ผู้ประกอบการทุกท่าน คือ คิดจะพัก คิดถึงภาระ ไว้ แล้วท่านจะมีแรงทันทีครับ” ดร.ไอซ์ บอกส่งท้ายไว้อย่างนั้น

คุณบังอร วันน้อย เจ้าของ น้ำพริกป้าแว่น กล่าวในช่วง “SMEs Showcase Talk : ผู้ประกอบการ การบริหารธุรกิจในสถานการณ์วิกฤต”

แต่เดิมเธอเป็นพี่คนโต ที่เกิดในครอบครัวชาวนายากจน และมีน้องหลายคนให้ต้องช่วยพ่อแม่ดูแล ป้าแว่นช่วยครอบครัวทำนาหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงปลูกผักไปขายหาเงินมาจุนเจือ

“จริงๆ ป้าอยากเป็นครูนะ แต่บ้านจน จบแค่ ป.4 มาช่วยพ่อแม่ทำนา ผักเอย ข้าวเอย ป้าปลูกขายมาหมดแล้ว เรียกว่าเป็นเกษตรกรเต็มตัวเลยก็ว่าได้ พอทำนาเสร็จก็เก็บผักไปขาย แล้วก็มาเห็นว่า ผักบุ้ง เก็บไปขาย 1 กิโลกรัม ได้ 6 สลึงเองสมัยนั้น แต่ถ้าไปซื้อกิน ราคามันตั้ง 5 บาท มันก็แพงนะ แต่เราทำอะไรไม่ได้ ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนั้น แต่งงานมีลูกก็ปากกัดตีนถีบยิ่งกว่าเก่า ชีวิตมันมีจุดพลิกมากมาย จุดเปลี่ยนอีกจุดคือป้ามีลูก 3 คน แล้วจะเข้าโรงเรียนกันทั้ง 3 คนพร้อมกัน แต่ป้าไม่มีเงินพอขนาดนั้น ก็กัดฟันขายผักขายข้าวไป”

“แต่เงินมันน้อย และลูกต้องใช้เงินทุกวันเพราะเขาไปเรียน ทีนี้จะทำยังไงล่ะ ปลูกผักมาขายแบบนี้ไปเรื่อยๆ กว่าผักจะออกก็รอนาน กว่าจะได้เงิน ไม่ใช่แค่อาทิตย์สองอาทิตย์แล้วเก็บมาขายได้ ตอนแรกไปสมัครงานโรงงานทองเหลือง แต่สิ้นเดือนเงินเดือนถึงจะออก แต่ป้าอยากได้เงินทุกวัน จะได้ให้ลูกไปโรงเรียน ทีนี้ เพื่อนรุ่นน้องในโรงงาน เขาแนะนำให้ป้าไปค้าขายดีกว่า เพราะป้าก็ทำน้ำพริกไปกินทุกวัน พวกเขาก็มีโอกาสได้ชิมบ้าง เขาบอกว่ามันอร่อย ทำขายเลย”

“ป้าก็มานั่งคิดนะว่าจะขายดีไหม หรือขายอะไรดี ด้วยความที่เป็นลูกคนโตต้องหุงหาข้าวให้ที่บ้านประจำ เลยมีวิชาทำอาหารติดตัว ป้าไม่ได้คิดจะขายน้ำพริกหรอก แต่มันไม่มีตัวเลือก เลยมาตำน้ำพริกขายในตลาด ตำเองด้วยมือทุกครก พริก กะปิ ก็ย่างเองทำเอง ตำทีเสียงดังลั่น กลิ่นก็หอมเรียกคนเลยแหละ ก็ทำเป็นน้ำพริกกะปิ พริกแกง กับพวกมะพร้าวขูด ขายวันแรกนะ ได้เงิน 300 กว่าบาท มันเยอะมากในสมัยนั้น” ป้าแว่น เล่า

หลังจากที่ขายในตลาดนาน กระทั่งปี 2540 ป้าแว่นจึงตัดสินใจทำน้ำพริกขายเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง และตัดสินใจขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยการหยิบยืมเงินทุนจากคนสนิทรอบตัวที่พอช่วยเหลือได้ มาเซ้งร้านห้องแถวเล็กๆ เปิดร้านขายน้ำพริก

“พอขายไปเรื่อยๆ รายได้มันก็เปลี่ยน เป็นวันละ 2,000 กว่า แต่ป้าทำคนเดียว มันก็เหนื่อย ไหนจะต้องเลี้ยงลูกอีก ก็เลยให้แฟนไปขาย ส่วนป้าก็มานั่งตำน้ำพริกไปเลี้ยงลูกไป จนวันหนึ่ง ทางตำบลเขามาเห็น เขาก็ผลักดันให้ป้าไปเข้า OTOP แต่ป้าไม่เอา เพราะไม่มีเงินเยอะพอจะไปลงตรงนั้น เขาก็ตื๊ออยู่นาน หลายรอบเข้า ป้าก็เลยบอกให้เขาว่า ถ้าจะให้เข้า คุณก็ไปจัดการให้ฉันสิ ก็เลยได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพก่อน จากนั้น 2 ปี ก็มีการคัดสรรของดีประจำตำบล น้ำพริกป้าก็ได้เป็นสินค้า 5 ดาว คนแรกเลยในชลบุรี ทีนี้แหละ ก็ดังเป็นพลุแตก ก็ได้สินค้า 5 ดาวมาติดกัน 3 สมัยเลยนี่แหละ” ป้าแว่น เล่าให้ฟังอย่างเมามัน

หลังจากที่ดังเป็นพลุแตก ก็เป็นช่องทางให้ น้ำพริกป้าแว่น ได้เติบโตอีกขั้น ถึงขนาดเคยเข้าไปวางขายในสยามพารากอนมาแล้ว โดยมีน้ำพริกแจ้งเกิดอย่าง กุ้งเสียบตำสด ต่อมาจึงได้เข้ามาวางขายในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ยิ่งทำให้น้ำพริกป้าแว่นกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

“วันหนึ่ง ป้าก็มีโอกาสเข้าไปขายในร้านเซเว่นฯ มีทีมงานของเซเว่นฯ คอยให้ความรู้เรื่องมาตรฐานต่างๆ เขาก็ให้ป้าทำให้สินค้ามันมีมาตรฐานมากขึ้น ก็เลยเริ่มจากพัฒนาโรงงาน รวมไปถึงเรื่องคุณภาพสินค้า มาดูแลให้คำแนะนำทุกๆ 3 เดือน ป้าใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะไม่มีเงินทุน เซเว่นฯ ก็ให้ความช่วยเหลือตลอด ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี กับ 3 เดือน ในปี 2555 จึงได้เข้าไปขาย เริ่มจากการนำน้ำพริกแห้งเข้ามาวางขาย เช่น น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรกกุ้ง น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกทะเล และน้ำพริกเห็ดหอมเจ”

“และตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้เริ่มนำน้ำพริกสดเข้ามาขายในตู้แช่เย็นเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวของประเทศไทย โดยเริ่มจากน้ำพริกเจขายในช่วงเทศกาลกินเจ ตามมาด้วยน้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกปลาร้า และล่าสุด น้ำพริกปลาดุกฟู ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้มากมายให้กับธุรกิจน้ำพริก แล้วก็พัฒนาต่อยอดให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ป้าลองผิดลองถูกมาเยอะ เอาวัตถุดิบต่างๆ มาสร้างสรรค์น้ำพริกให้มีความแตกต่างและคงความเป็นเอกลักษณ์” ป้าแว่น ว่าอย่างนั้น

น้ำพริกป้าแว่นมีหลากหลายกว่าหลักร้อยเมนู ซึ่งตัวที่สร้างชื่อและขายดิบขายดีเป็นดาวค้างฟ้า ก็หนีไม่พ้น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ป้าแว่นได้กว่า 9 ล้านบาทต่อเดือน!

“ป้าพูดเลยนะว่า ป้าสู้ชีวิตมาก เตี่ยกับแม่ ให้แต่ชีวิตมา แต่ป้ามาสร้างตัวเองจนมีทุกอย่างในวันนี้ ทั้งที่ดิน โรงงาน มาจากน้ำพักน้ำแรงของป้า กัดฟันสู้เองทั้งหมด”

คุณกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง Otteri wash and dry กล่าวในช่วง “SMEs Showcase Talk : ผู้ประกอบการ การบริหารธุรกิจในสถานการณ์วิกฤต” ว่า ปัจจุบันร้านสะดวกซัก Otteri wash and dry เปิดให้บริการ 750 สาขาทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายสาขา 350-400 สาขาในปีนี้

คุณกวิน เผยต่อว่า อุปสรรคของการทำธุรกิจร้านสะดวกซักที่เจอตั้งแต่ก้าวแรก คือความคิดและการทำงานบนอีโก้ตัวเอง เพราะคิดว่าธุรกิจนี้ง่ายและคิดว่าเข้าใจผู้บริโภคเป็นอย่างดี ไม่ได้วิเคราะห์ตลาด จึงทำให้สาขาแรกเจ๊งทันที หมดเงินไปหลักล้านบาท 

กระทั่งมีโอกาสได้เข้าเรียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สอนวิธีการทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ทำให้คุณกวินเข้าใจธุรกิจมากขึ้น จึงได้เริ่มสร้างร้านสะดวกซัก Otteri wash and dry ขึ้นมา

เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละช่วงเวลาจะมีกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน อย่างโลเกชั่นมหาวิทยาลัย กลุ่มลูกค้าคือนิสิตนักศึกษา จะออกมาซักผ้าทั้งวัน ถ้าร้านทั่วไปจะหนาแน่นในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ประมาณ 19.00-22.00 น. ส่วนถ้าวันเสาร์-วันอาทิตย์ จะมีคนมาใช้บริการตลอดวัน 

ก่อนกล่าวต่อ ถึงจุดเด่นที่อ๊อตเทริชู คือ 1. Functional Benefit สามารถเซตเครื่องให้ซักผ้าได้สะอาดและเหมาะกับเนื้อผ้า 2. Emotional Benefit สร้างแบรนด์ให้มีคาแร็กเตอร์ญี่ปุ่น โดยใช้นากญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์และดีไซน์ให้มีความเป็น Instagramable มุมไหนก็ถ่ายรูปสวย

และ 3. Social Benefit เมื่อก่อนมีฝันอยากเป็นที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันมีเป้าหมายใหม่ คือการทำธุรกิจไปด้วยและช่วยสังคมไปด้วย โดยเปิดบริษัทชูมณีเป็น Social Enterprise ซักผ้าฟรีให้คนไร้บ้าน ซึ่งทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และพาร์ตเนอร์อย่างแฟลช เอ็กซ์เพรส SHIPPOP ไฮยีนส์ แม็คยีนส์ GQ เป็นต้น 

ผู้ก่อตั้ง Otteri wash and dry กล่าวอีกว่า ในอนาคตร้านสะดวกซักต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ทำให้คนเข้าถึงบริการซักผ้าสะอาดได้ในราคาประหยัด และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุกชุมชน ซึ่งกลุ่มเปราะบางที่ต้องออกมาอยู่ข้างนอก ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ จึงถูกเรียกว่าเป็นไม้แขวนเสื้อมนุษย์ เสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้น ไม่มีพื้นที่ตากผ้า จึงรู้สึกว่าไม่ควรมีใครโดนดูถูกเพราะแค่ตัวเหม็น Otteri wash and dry จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบยื่นโอกาส

ก่อนกล่าวต่อถึงความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้น 40% เป็นมูลค่ากว่า 1,105 ล้านบาท ว่า “อ๊อตเทริ กับ OR เหมือนเนื้อคู่กัน เพราะมีแนวคิดช่วยเหลือสังคมสร้างโอกาสเหมือนกัน ดังเช่นโครงการซักผ้าฟรีที่อ๊อตเทริทำมาต่อเนื่อง และด้วยวิสัยทัศน์ที่มองตรงกัน ไม่ได้เป็นคนตัวใหญ่แล้วเดินเหยียบใคร แต่เราหยิบยื่นโอกาสให้กับคนที่ต้องการ ทำให้เราเป็นพาร์ตเนอร์กันได้” ผู้ก่อตั้ง Otteri wash and dry กล่าว 

คุณตองวทันยา อมตานนท์ ในฐานะ CPO ผู้บริหารธุรกิจ “เต่าบิน” เครื่องกดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง กล่าวในช่วง “SMEs Showcase Talk : ผู้ประกอบการ การบริหารธุรกิจในสถานการณ์วิกฤต” ว่า กว่า “เต่าบิน” จะเติบโตถึงวันนี้ ต้องผ่านการ “ล้มลุกคลุกคลาน” มาก่อน พูดตรงๆ คือ ขาดทุนมาร่วมหลายปีอยู่เหมือนกัน

“เต่าบิน เริ่มจากตู้กดน้ำกระป๋องก่อน แต่มีกำไรค่อนข้างต่ำ เลยเริ่มมองหาเป็นตู้กดน้ำชง น้ำกาแฟอัตโนมัติ โดยนำตู้จากต่างประเทศเข้ามา เพื่อมาทดลองใช้ เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า ล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่า น้ำกระป๋อง ต้องใช้เวลายาวมากกว่าจะคืนทุน และตัวตู้ มีปัญหาค่อนข้างเยอะ แต่เหมือนด้วยความที่ กำไรว่าดี ดีมานด์ก็ดี เลยเริ่มคิดกันว่า ทำตู้น้ำชงอัตโนมัติ ของเราเองดีมั้ย” คุณตอง ย้อนจุดเริ่ม

ก่อนเล่าต่อ ช่วงแรกที่กระจายการติดตั้งตู้เต่าบิน หรือประมาณ 2 ปีก่อน กระแส เวนดิ้ง แมชชีน แนวคาเฟ่หยอดเหรียญ ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก หลายคนอาจมองเป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังกล้าๆ กลัวๆ ในการกดตู้อยู่บ้าง แต่พอลูกค้าได้ลองกดแล้ว ประกอบกับมีกระแสโซเชียลมีเดียช่วย เลยกลายเป็นว่า ทุกคนเริ่มเปิดรับในการที่จะเข้ามาลองใช้ “เต่าบิน” ดูบ้าง

“ช่วงแรกๆ ที่เต่าบิน ตู้ออกมา ก็จะมีลูกค้าบ่นอยู่บ้าง ตู้ทำงานช้า เครื่องดื่มกว่าจะได้แต่ละแก้ว ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่อยากชี้แจงว่า ตู้เต่าบิน พยายามทำการพัฒนามาตลอด อย่างคนที่เคยกดตู้เต่าบิน เมื่อประมาณปีครึ่งที่แล้ว หรือ 1 ปีที่แล้ว จะสังเกตได้ว่า ทุกวันนี้ เครื่องดื่มจากตู้ ใช้เวลาเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่า” คุณตอง บอกอย่างนั้น

ถามถึงผลตอบรับ ณ วันนี้ CPO ธุรกิจ “เต่าบิน” เผยว่า ผลตอบรับดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเบื้องต้น คิดว่าประมาณ 50 แก้ว/วัน แต่พอเริ่มขายจริง ยอดขายกลับทะลุไปมากกว่านั้น ตอนนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 70 แก้ว/วัน

สำหรับเป้าหมายที่ “เต่าบิน” วางไว้ อยู่ที่ประมาณ 20,000 ตู้ทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ กระจายไปแล้วประมาณ 2,500 ตู้ ฉะนั้น ตัวเลขดังกล่าว ยังห่างไกลเป้าหมายที่พยายามจะไปให้ถึงอยู่อีกมาก คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-5 ปี ถึงจะบรรลุเป้าที่ตั้งใจไว้

เกี่ยวกับการร่วมทุนของผู้ประกอบการรายย่อย กับ “เต่าบิน” คุณตอง บอกว่า โมเดลธุรกิจของ “เต่าบิน” ในประเทศไทย เป็นระบบตัวแทน คือ ตัวตู้ บริษัทแม่ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยตัวแทน ที่นำตู้ไปบริหารจัดการ ไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ซื้อวัตถุดิบจากบริษัทแม่ แล้วไปบริหารจัดการเอง คือ ทำความสะอาด และเติมวัตถุดิบ จาากนั้นนำกำไรกลับมาแบ่งให้กับทางบริษัทแม่ ในจำนวนที่ค่อนข้างมากพอสมควร หากเทียบกับระบบแฟรนไชส์ทั่วไป

“ถ้าเป็นตัวแทนของเต่าบิน สิ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอยู่บ้าง สามารถ ซ่อมเองได้ ในกรณีที่ตู้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้ทาง บริษัทแม่ จะมีอะไหล่ ให้ตัวแทนไว้ใช้ในการจัดการอยู่แล้ว แต่ตัวแทน ต้องมีความรู้เพียงพอที่จะสามารถเปลี่ยนอะไหล่เองได้ ส่งคนฝึกฝนมาได้ มีรถ มีพื้นที่ในการเก็บสินค้า หรือมีบทพิสูจน์ว่ามีศักยภาพทำในสิ่งที่บริษัทแม่ ต้องการ” คุณตอง แจกแจงให้ฟัง

เมื่อถามถึง การรับมือกับคู่แข่งทางธุรกิจ คุณตอง บอก “เต่าบิน” จะไม่หยุดพัฒนา ฉะนั้น ถ้ามีคู่แข่ง ออกมา ก็อาจต้องมีเทคโนโลยีที่เทียบเคียง เป็นอย่างน้อย ถึงจะเรียกว่าแข่งกันได้อย่างสูสี

“ร้าน ซาร่า เมื่อก่อนพอเขาออกเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่มา แป๊บเดียว ก็มีคนก๊อบออกมาแล้ว เขาจึงเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยออกคอลเล็กชั่นให้บ่อยขึ้น กว่าคู่แข่งจะก๊อบออกมา เขาก็ออกคอลเล็กชั่นใหม่แล้ว ‘เต่าบิน’ ก็จะทำเหมือนกัน คือ เราจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ พยายามให้คู่แข่งตามไม่ทัน” คุณตอง เผยกลยุทธ์

ถามส่งท้าย ถึงหลักยึดในการทำธุรกิจ “เต่าบิน” คุณตอง บอกจริงจังว่า ไม่ได้ต้องการที่จะค้าแต่กำไร แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ให้ทุกคนสามารถดื่มเครื่องดื่มดีที่สุดที่เราจะสามารถนำเสนอได้ ที่ผ่านมา จึงมองหาวัตถุดิบที่เราชื่นชอบในคุณภาพก่อน แล้วค่อยตั้งราคาในจุดที่น่าพอใจในการจัดการ และมีกำไรพออยู่ได้ ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็ซื้อได้เหมือนกัน

“สิ่งที่ ‘เต่าบิน’ ตั้งใจ คือ อยากให้ทุกคนซื้อทานได้ทุกวัน โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนกับเงินในกระเป๋า” คุณตอง บอกจริงจัง

คุณต้นประชานารถ โพธิสาราช เจ้าของโกโก้ร้านไอ้ต้น กล่าวในช่วง “SMEs Showcase Talk : ผู้ประกอบการ การบริหารธุรกิจในสถานการณ์วิกฤต” ว่า ผมเป็นนักดนตรีตกงานในช่วงโควิดนาน 2 ปี เจอความลำบากมามาก เพราะมีค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,300 บาท ค่าผ่อนรถ 4,000 กว่าบาท ค่าโทรศัพท์ 600 กว่าบาท ไม่สามารถจ่ายได้

เพื่อทางรอดจึงเปิดร้านกาแฟ และต่อยอดเปิดโกโก้ร้านไอ้ต้นในปัจจุบัน คงคอนเซ็ปต์ลงทุนน้อยในงบ 15,000 บาท หน้าร้านต้องไม่มีรูปเมนูแต่มีรูปตัวเองสมัยมัธยมปลายเป็นโลโก้ และเล่นกับระดับความเข้มของเมนู คือ ละอ่อน เข้ม โคตรเข้ม และโคตรหวาน ในวันแรกเปิดขาย 70 แก้ว หมดในไม่กี่ชั่วโมง วันที่สอง 140 แก้ว ก็ยังไม่พอขาย จากนั้นยอดขายยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

ก่อนกล่าวต่อ ถึงไวรัลใน TikTok คิดว่ามาจากความทะเล้นและความกวน ซึ่งคนไทยชื่นชอบ เปิดร้านมา 7 เดือนไม่เคยซื้อโฆษณาหรือจ้างรีวิวเลย ทุกอย่างเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่ลูกค้าส่งต่อกันเอง หากให้แนะเป็นแนวทาง คิดว่าไอเดียสำคัญกว่าทำเล และถ้ามีไอเดียแล้วให้ต่อยอดจนเป็นที่ถูกใจ ทุกอย่างจะพุ่งไปเร็วมาก

เมื่อถามถึงกรณี มีร้านเปิดใหม่มากมายและมีรูปแบบการขายคล้ายกัน “เมื่อก่อนมีเยอะมากครับ ใช้ถังเหมือนกัน ยอมรับว่าเครียดและกดดัน จะสู้ได้มั้ย ลูกค้าจะสับสนหรือเปล่า จนวันหนึ่งไปนั่งฟังอบรมธุรกิจ เขาบอกว่าอย่าไปแข่งกับใครเลย แข่งกับตัวเองให้ดีที่สุดพอ และต้องนำเขาไปก่อนหนึ่งก้าว ไปให้ทั่วประเทศ

ผมเลยแก้เกมด้วยการเร่งปล่อยแฟรนไชส์ เพื่อให้ลูกค้าจำผมได้ก่อน และร้านอื่นๆ ที่ทำเหมือนกันจะถอยไปเอง และมีบ้างที่ฟ้อง ไม่ใช่ว่าอยากได้เงิน ผมแค่มีครอบครัวแฟรนไชส์และลูกน้องที่ต้องปกป้องเท่านั้นเอง” เจ้าของโกโก้ร้านไอ้ต้น กล่าว