ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นับตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา “เป๊ปซี่โค” สหรัฐอเมริกา บริษัทแม่ของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่าน ‘โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน’
สำหรับโครงการส่งเสริมฯดังกล่าวนั้น ครอบคลุมทั้งการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศในด้านเทคนิคการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรและช่วยเพิ่มผลิตผลต่อไร่ให้สูงขึ้น การสนับสนุนหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมทั้งรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี
เกี่ยวกับราคารับซื้อ ตามกรณีมันฝรั่งได้คุณภาพตามที่ตกลง ราคาประกันขั้นต่ำสุด อยู่ที่ กิโลกรัมละ 10.80 บาท สูงสุดอยู่ที่ 12 บาทเศษ โดยสัญญาในแต่ละปีนั้นราคาเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
และตลอดกว่า 22 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่ “เป๊บซี่โค” เข้าไปให้การส่งเสริมในการปลูกมันฝรั่ง ราว 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่การปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก รวมถึงในภาคอีสาน อาทิ สกลนคร นครพนม เป็นต้น
บ้านพักของคุณบุญศรี ใจเป็ง ที่อำเภอสันทราย เชียงใหม่
เมื่อเร็วๆนี้ คุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง ซึ่งทำ “ Contract Farming” (คอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่ง) กับทาง “เป๊บซี่โค” ตามโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนฯ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งอยู่ในความดูแลราว 1,500 ไร่ กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดบ้านพักสุดหรูบนที่ดินหลายไร่ ในอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางหลายสิบชีวิต ที่เข้าเยี่ยมชมแปลงสาธิตเพาะปลูกมันฝรั่งซึ่งอยู่ในความดูแลของเขา
คุณบุญศรี เริ่มต้นให้ฟัง โดยทั่วไป การเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยนั้น มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ตันต่อไร่ แต่สำหรับที่อำเภอสันทราย ได้มีการพัฒนา เรียนรู้และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีจนสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงถึง 5 ตันต่อไร่
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความใส่ใจและการให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ ดิน น้ำ อากาศ หัวพันธุ์ ปุ๋ย ตลอดจนเทคนิคและเทคโนโลยีการเพาะปลูกแล้ว อีกหนึ่ง “กุญแจสำคัญ”ที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและการเพิ่มผลผลิต คือ การปลูกพืชหมุนเวียนที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล
อย่าง มันฝรั่ง เป็นพืชเมืองหนาว จะปลูกในช่วงหน้าหนาว จากนั้นเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ หันมาปลูกข้าวโพดในช่วงหน้าร้อน เมื่อถึงหน้าฝนปลูกข้าว เวียนกันไปแบบนี้แทนที่จะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งระบบการปลูกพืชหมุนเวียนนี้ ช่วยสร้างความสมดุลและการปรับปรุงโครงสร้างของดิน ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในพืช ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการทำเกษตรกรรมด้วย
คุณบุญศรี ใจเป็ง
เจ้าของรางวัล ‘เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือปี พ.ศ. 2553’ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน แปลงปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการเพาะปลูกมันฝรั่งของประเทศ โดยในทุกปีเขาได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และภาคเอกชนอย่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน (Field Day) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านมันฝรั่ง เพื่อขยายผลแปลงสาธิตต้นแบบไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิต การแปรรูปและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมันฝรั่ง ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรแบบบูรณาการและยั่งยืน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณการนำเข้ามันฝรั่งจากต่างประเทศลงได้ทางหนึ่ง
ต่อข้อสงสัย เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง ที่เป็น “คอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่ง” จะมีฐานะความเป็นอยู่ดี เข้าขั้นดีมาก เหมือนกับคุณบุญศรี หมดทุกรายหรือเปล่า กรรมการมาตรฐานมันฝรั่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) วัย 65 ปี ผู้นี้ กล่าวตอบว่า
“คนปลูกพืชชนิดเดียวกันฐานะอาจไม่เหมือนกันก็ได้ อยู่ที่ว่าแต่ละคนมีวิธีบริหารจัดการด้วยวิธีใด มีความเป็นเกษตรกรมืออาชีพมั๊ย และการบริหารจัดการนั้น ใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาช่วยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช้หลักการพวกนี้มาช่วย คงต้องใช้แรงงานอย่างเดียว ถ้าปลูก 5 ไร่ ก็ปลูกอยู่ 5 ไร่อยู่อย่างนั้น
สมมติทำกำไรได้ไร่ละ 2 หมื่นบาท ปลูกมันฝรั่ง 5 ไร่ หนึ่งปีได้เงิน 1 แสนบาท และต้องใช้เงินนั้นกินอยู่ทั้งปี มันไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แต่ถ้าทำ 10 ไร่ ก็ได้เงินมากขึ้นเป็น 2 แสนบาท ถ้าปลูก 100 ไร่ ย่อมมีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อทำแล้ว รายได้มากกว่ารายจ่าย เราคงมีกำไรพอที่จะนำเงินไปขยายการลงทุน”
สำหรับความเป็นมา ของคุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกร ผู้กว้างขวางในวงการผู้ปลูกมันฝรั่งนี้ เริ่มต้นปลูกมันฝรั่งตั้งแต่ พ.ศ.2507 ร่วมกับ คุณปั๋น ใจเป็ง ผู้เป็นพ่อ โดยปลูกบนพื้นที่ 2-3 ไร่
เขาเคยเดินทางไปศึกษาดูงานการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งมาแล้วหลายประเทศ รับตำแหน่งประธานสหกรณ์ ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด ระหว่าง พศ.2534-2543 ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ พ.ศ.2553 ปัจจุบันเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับมันฝรั่งให้กับหลายหน่วยงาน เช่น ภาควิชาพืชไร่นามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ,โครงการหลวง และหน่วยงานที่สนใจ