เยื่อไผ่(ต้มซุป) มาจากไผ่ หรือจากอะไรกันแน่ ?

หลายคนสงสัยว่า ว่า เยื่อไผ่ที่นำมาทำซุปเยื่อไผ่ร้อนๆ นั้น เป็นเยื่อไผ่จริงๆหรือไม่ หรือจริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่
 เยื่อไผ่ ที่ใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะต้มจืดนั้น ความจริงคือ เห็ดชนิดหนึ่ง เรียกว่า เห็ดเยื่อไผ่ เมื่อก่อนนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบัน คนไทยสามารถเพาะหรือปลูกได้เองแล้ว โดย ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญ เอฟ เอ โอ ประจำประเทศภูฏาน
ทั้งนี้ หมอเกษตรทองกวาว  มีโอกาสไปเยี่ยมชมฟาร์มเห็ดของ ดร. อานนท์ มาหลายครั้ง ฟาร์มตั้งอยู่ใกล้กับตลาดไท สำหรับวิธีเพาะหรือปลูกมีดังนี้
 เลี้ยงเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างนึ่ง ในห้องเย็น อุณหภูมิระดับเดียวกับตู้เย็นประจำบ้าน เมื่อเส้นใยเดินเต็มแล้ว จึงเพาะลงดินที่มีส่วนผสมของอินทรียวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกก็ตาม ยิ่งมากยิ่งดี พรางแสงด้วยซาแรนสีดำ ตัดแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ปิดด้านข้างป้องกันลมพัดกรรโชกแรง
ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ เส้นใยมีการพัฒนารูปร่างเป็นลูกบอลกลม ขนาดใกล้เคียงกับลูกเทนนิส ผิวนอกสีขาวอมเทา ภายในเป็นเมือกข้น เหนียว สีขาวขุ่น เห็ดคงรูปร่างดังกล่าวไว้อีก 1 สัปดาห์ แล้วปริแตกโดยธรรมชาติ ต่อมาแทงต้นเทียมทะลุออกจากลูกบอล สูงประมาณ 10 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในกลวง ผนังมีเส้นใยสีขาวบริสุทธิ์
ต่อมาเปลือกลูกบอลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แข็ง และขรุขระ แยกออกจากลำต้นเทียมของเห็ดได้ง่าย ส่วนฐานดอกเห็ดรูปร่างเหมือนแหสีขาว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 10 เซนติเมตร เช่นเดียวกัน ภายใน 24 ชั่วโมง เห็ดจะเปลี่ยนรูปร่างเหมือนเยื่อไผ่ทุกประการ
จึงสรุปได้ว่า เยื่อที่ใช้เป็นส่วนประกอบของต้มจืด ที่มีจำหน่ายตามร้านอาหารนั้น คือเห็ดชนิดหนึ่ง
   เห็ดเยื่อไผ่ ระยะเริ่มแทงลำต้นออกจากลูกกลม
ระยะที่เป็นเห็ดเยื่อไผ่ที่สมบูรณ์ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง จากผลเริ่มปริแตก
เห็ดเยื่อไผ่ ระยะรูปร่างกลม ขนาดใกล้เคียงกับลูกเทนนิส เริ่มมีรอยปริแตก