‘เจ้เล้ง’ แฉ ธุรกิจออนไลน์ แข่งรุนแรง พวกหิ้วของนอกขายผ่าน IG-FB ไม่เสียภาษี เพียบ

เป็นปกติของทุกปีที่ร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง จะจัดโปรโมชั่นพิเศษ ลดแลกแจกแถมในช่วงต้นเดือนกันยายน ปีนี้ก็เช่นกัน คุณอารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง เจ้าของบริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้ โปรดักส์ จำกัด ก็ถือโอกาสในช่วงวันเกิด (1 กันยายน) จัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาด ใช้โปรโมชั่นซื้อ 3 แถม 1 ทุกหมวดหมู่สินค้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-8 กันยายน รวม 8 วัน ขณะที่ปีที่แล้วจัดถึง 16 วัน

เจ้เล้ง ให้เหตุผลว่า ทำแค่ 8 วัน ลดวันลง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี ซึ่งเป็นความจริงที่คนไทยต้องยอมรับกัน เหมือนในช่วงบ้านเมืองยุคไอเอ็มเอฟ ร้านเจ้เล้งเองก็โดนผลกระทบ แต่ถือว่ายังขายดีกว่าที่อื่นๆ ยอดขายไม่ได้ลดลง อยู่ในสภาพทรงๆ เห็นได้ชัดว่าความถี่ในการมาซื้อสินค้าลดลง ทั้งนี้ รายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากคนเข้าร้าน ส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ มาจากการซื้อออนไลน์ ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาซื้อภายในร้าน จะซื้อปริมาณมากเมื่อเทียบกับการซื้อผ่านออนไลน์ ส่วนใหญ่ซื้อพวกเครื่องสำอาง

ยาโกรกผมขายดี

“จากภาวะเศรษฐกิจแย่ ทางร้านปรับกลยุทธ์ด้วยการนำสินค้าราคาไม่แพงมากมาขาย เริ่มต้นที่ 350 บาท รวมทั้งนำเข้าสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ตลอด เน้นสินค้าเอสเอ็มอีจากต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพราะการนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่าย ทำให้ขายได้คล่องและเร็วขึ้น โดยสินค้าที่ทำยอดขายได้ดีมาตลอดคือ ยาโกรกผม สเปรย์ฉีดผมให้ดูหนาขึ้น ขายดีมาก มีผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและในวงการเมืองมาซื้อกันเยอะ นอกจากนี้ ก็มียาปลูกผมจากญี่ปุ่น”

เจ้าของบริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้ โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า นอกจากสินค้านำเข้าจากหลากหลายประเทศแล้ว ในส่วนของแบรนด์เครื่องสำอางที่ผลิตเองอย่างแบรนด์ไนลา ปัจจุบันมีกว่า 10 ชนิด ซึ่งยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงสินค้าที่ฝากวางในร้านเกือบทุกแบรนด์ตลาดให้การตอบรับที่ดีเช่นกัน ขณะที่ในบ้านเราตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันกันรุนแรงมาก

“รายได้ของร้านเจ้เล้งทั้งปีอยู่ที่ระดับพันล้านบาท หดตัวเล็กน้อยจากเมื่อปีที่ผ่านมา รายได้ทรงตัว ตั้งเป้า 3 ปี รายได้อสังหาฯ จากการสร้างอพาร์ตเมนต์ย่านลาดกระบัง สัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ ร้านเจ้เล้ง 50 เปอร์เซ็นต์”

เจ้เล้ง ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจเหมือนช่วงที่อยู่ในยุคไอเอ็มเอฟ ทำให้ห้างร้าน ร้านค้ามีการปรับตัว ลดพนักงาน แต่สิ่งที่กลับโตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำคือตลาดออนไลน์ สินค้าออนไลน์ได้รับความนิยม เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นการจับจ่ายในโลกออนไลน์ที่มีทุกสิ่งอย่างให้เลือกซื้อได้ง่าย ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมเชื่อในคนที่มีชื่อเสียงมาพูด โดยที่การพูดนั้นอาจเป็นการพูดเพื่อเชียร์สินค้า พฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่มักซื้อตามไอจีที่มีบล็อกเกอร์แนะนำ แต่สินค้าดีจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้ามาจากคนที่มีชื่อเสียงจะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับได้ง่ายขึ้น จึงทำให้ขณะนี้การขายสินค้าออนไลน์ขายดี และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราพูดเองขายเอง เราเป็นเจ้าของร้าน ของไม่ดีเราก็ไม่เอามาขาย แต่บล็อกเกอร์ที่เชียร์นั้นของดีจริงหรือเปล่าไม่รู้ พูดให้เจ้าของสินค้าเพราะมีค่าจ้างเป็นสินค้าหรือตัวเงิน แต่ร้านเราขายแต่ของมีคุณภาพ ตลาดออนไลน์ของเราโตมาก เริ่มออกไอจี โดยเอาตัวเจ้เล้งเป็นผู้พูดให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสินค้าแต่ละชนิดเอง ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าไม่มีช่วงลดแลกแจกแถม ร้านเจ้เล้งจะมีโปรโมชั่น มีลดราคาอยู่ตลอด”

 

 

ชี้ขายผ่านออนไลน์เลี่ยงภาษี

เจ้เล้ง บอกด้วยว่า เดี๋ยวนี้คนซื้อออนไลน์เป็นคนอายุ 40 กว่า จนถึงเด็กที่เริ่มทำงาน เท่าที่รู้คนจีนซื้อของออนไลน์หมด ร้านค้าปิดไปเยอะ คนไทยก็เริ่มเป็นแบบนั้น แต่คนรุ่นเก่าอยากมาเลือกซื้อเอง ต่อไปบ้านเราจะแย่ เพราะสินค้าปัจจัยพื้นฐานขายออนไลน์กันหมด ห้างจะลำบาก คนอาจไม่เดิน

ร้านเจ้เล้งก็มีออนไลน์ ทำมาสักพักแล้ว แต่ในปีนี้ทำจริงจังขึ้น ยอดขายโตมากจากเดิมวันละไม่กี่ชิ้น ตอนนี้ขึ้นเป็นวันละหลายร้อยชิ้น ที่ต้องหันมาจับตลาดออนไลน์ด้วยเพราะต้องทำธุรกิจตามความต้องการของตลาดของผู้บริโภค แต่ก็เหนื่อยเพราะต้องเพิ่มแรงงานแพ็กของ ส่งของ ค่าส่งคิดตามราคาไปรษณีย์ ของร้านเจ้เล้งนำเข้าเองไม่คิดค่าส่ง แต่ของซัพพลายเออร์คิดตามราคาน้ำหนักของไปรษณีย์

เจ้เล้ง ระบุด้วยว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจออนไลน์มีความรุนแรงมากขึ้น โดยคู่แข่งเป็นร้านค้านำเข้าสินค้าหนีภาษีจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม คนพวกนี้เดินทางไปต่างประเทศแล้วหิ้วกลับมาขายเอง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย โดยไม่ต้องเสียภาษีอะไร รวมไปถึงคนไทยเริ่มสร้างแบรนด์สกินแคร์ เครื่องสำอางจำหน่ายเอง และด้วยความที่การเดินทางด้วยเครื่องบินสะดวกและราคาถูก คนไทยกลุ่มหนึ่งก็เดินทางไปเที่ยวและซื้อกลับมาเอง

 

 

เผยจีนจีบให้ร่วมทำธุรกิจ

นอกจากนี้ เจ้เล้ง ยังบอกอีกว่า มีนักธุรกิจจีน 5-6 ราย มาติดต่อที่ร้านเยอะเพื่อนำสินค้าไปขายออนไลน์ เนื่องจากคนจีนชอบของที่ผลิตในไทย แต่ทางร้านยังไม่ได้ขายหรือร่วมทำธุรกิจกับคนจีน คงต้องดูพฤติกรรมไปก่อนว่าถ้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกับจีนแล้วจะเกิดปัญหาในอนาคตอย่างไรหรือเปล่า คงต้องค่อยๆ ศึกษากันไปก่อนที่จะตัดสินใจ

เวลานี้ลูกค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ก็มาสั่งซื้อของผ่านทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นพวกเครื่องสำอางนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพฤติกรรมของแต่ละประเทศแตกต่างกัน อย่างลาวกับกัมพูชาชอบซื้อของราคาถูก แต่เมียนมาซื้อของแพง ส่วนเวียดนามซื้อในราคากลางๆ

เจ้าของบริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้ โปรดักส์ จำกัด วัย 70 ปี ให้เหตุผลถึงการชะลอการสร้างร้านเจ้เล้ง 2 ย่านลาดกระบัง มูลค่าพันล้านบาทว่า การลงทุนอะไรต้องดูสภาพเศรษฐกิจในบ้านเรา ไม่อยากเจ็บตัวจึงไม่สร้าง ที่ผ่านมาเน้นสร้างอพาร์ตเมนต์ย่านลาดกระบัง เป็นการทยอยสร้างไปเรื่อยๆ อาคารหนึ่งสูง 4 ชั้น ในเนื้อที่ 100 ไร่ ประมาณ 1,500 ห้อง คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดปลายปี 2560 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท จะคืนทุนในปี 2565 ซึ่งใช้เงินที่มีอยู่สร้าง ไม่ได้กู้ธนาคารแต่อย่างใด ซึ่งตอนนี้มองว่าเหมาะกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากวัสดุก่อสร้างราคาลดลงอย่างมาก อย่างเช่น เหล็ก แต่ก่อนกิโลกรัมละ 20 บาท เหลือแค่ 12 บาท

“วิธีสร้างธุรกิจอพาร์ตเมนต์ เป็นลักษณะเอาเงินพี่มาเลี้ยงน้อง เอาเงินกำไรร้านไปถม เราไม่กู้แบงก์ ทำตามกำลังที่มี ขยับไปทีละก้าว เอาเงินส่วนตัวทั้งหมด และพอเก็บค่าเช่าได้ก็เอาค่าเช่าไปทำต่อ ตอนนี้มี 46 แท่ง แต่ยังขึ้นไม่หมด ทำธุรกิจมันสนุก เพราะทำแล้วสำเร็จ ตัวเองเป็นคนชอบเสพความสำเร็จ เมื่อทำงานสำเร็จให้เห็นและไม่เป็นหนี้ ไม่ได้เดือดร้อนต้องเครียดต้องหาเงินมาใส่ ทำไปเรื่อยๆ ไม่รีบเหมือนคนอื่นๆ ไม่หวังรวยมาก แต่หวังว่าคนแก่อายุ 70 แล้ว ธุรกิจที่ทำมีเงินเพิ่มขึ้น มีบริวาร ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และทุกอย่างที่ทำสำเร็จหมด เราสนุกที่จะทำ แต่ถ้ามีเงินและนั่งมองเงินทุกวัน อยู่ไม่ได้แน่”

 สำหรับผลของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เจ้เล้งมองว่า สิ่งที่เห็นคือคนจีนใช้วิธีมาตั้งธุรกิจบริษัททำทัวร์แบบครบวงจรโดยใช้นอมินี เท่ากับว่าการกระจายรายได้ไม่ถึงคนไทย ตรงนี้ประเทศไทยเสียเปรียบ แต่ถ้าจะได้บ้างส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเอง ฉะนั้น คนจีนมาเยอะแต่รายได้ไม่กระจาย