กุ่มบก ต้นไม้ในพุทธประวัติ ดอกสวย กินได้ แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ประเภท กลาก เกลื้อน ได้อย่างดี

ชื่อสามัญ : กักกุธะ, ผักก่าม, Sacred barnar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva religiosa/Crateva adansoii/Crateva trifoliate

วงศ์ : Cappridaceae

กุ่มบก ไม้ยืนต้นที่คุ้นเคยกันมาเนิ่นนานทางแอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลำต้นสวยสง่างดงาม กิ่งก้านคดโค้งพลิ้วไหวตามธรรมชาติ เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ใบประกอบย่อยชนิด 3 ใบ ดอกเป็นกระจุกออกตามปลายกิ่ง สีขาวอมเหลือง ปนชมพู เหลือบม่วงอ่อน

เมื่อถึงฤดูปลายฝนต้นหนาว หรือหน้าเกี่ยวข้าว จะเห็นต้นกุ่มบกสลัดใบทิ้ง ออกดอกพรูพราวทั้งต้น ชนิดที่ใครเห็นต้องตะลึงกันเป็นแถว ปกติพบมากทางภาคอีสาน เหนือตอนล่าง ระมาได้จนถึงชายทะเลภาคตะวันออกก็ยังมีขึ้นตามภูเขาหินปูน บางแสน-อ่างศิลา ก็มีประปราย ผู้เขียนก็เคยได้อาศัยเก็บมากินอยู่บ้างบ่อยๆ

ต้นกุ่มนั้น มีความเชื่อกันมาว่าเป็นไม้มงคลและเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก ใครปลูกไว้ประจำบ้านจะช่วยให้ลูกหลานครอบครัวอยู่กันเป็นปึกแผ่น เหนียวแน่นมั่นคง แต่งานนี้ขอกระซิบกันไว้ก่อนนะว่า อย่าปลูกใกล้ตัวบ้านเรือนอาคารมากไปก็แล้วกัน เพราะกิ่งเขาเปราะ ฉีกขาดหักง่ายเวลาโดนลมแรงๆ

คำว่า “กุ่ม” มาจากภาษาไทยใหญ่ ที่แปลได้ความว่า “คุ้ม” ในภาษากลาง อนึ่ง ชนชาติไทยใหญ่นั้นเป็นชนชาติที่มีความรู้จักมักคุ้นกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้มานาน กุ่มบก ถือเป็นไม้มงคลที่สำคัญยิ่งของเขาจะขาดเสียมิได้เลย โดยนัยยะนี้ กุ่ม ของคนไทยใหญ่จึงหมายถึง คุ้มครอง-คุ้มโรค คุ้มภัยอันตราย คุ้มครองตลอดปี ในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานมงคล หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง) จะต้องมีดอก ยอดผักกุ่ม ตอนนั้นไม่ว่าจะแพง หายากสักปานใด เจ้าภาพ เจ้าของงานก็ต้องหามาให้จงได้

ประเพณีการกินผักกุ่มดอง ในเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของชาวไทยใหญ่ มีนัยยะหรือกุศโลบายที่จะทำให้ร่างกายอบอุ่น แข็งแรง ปราศจากไข้ พร้อมที่จะรับมือกับฤดูกาลทำนาครั้งต่อไปในฤดูฝนที่จะมาถึงนั่นเอง

สรรพคุณทางยา ที่โดดเด่นของกุ่ม ก็ได้แก่ การใช้ใบโขลก ผสมเหล้าขาว ทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ประเภท กลาก เกลื้อน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ ขับลม ฯลฯ เนื่องจาก กุ่ม จัดเป็นสมุนไพรรสร้อน ช่วยการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยหลายชนิด เช่น ตำรับยาแก้อัมพาต มือเท้าตาย แก้กษัย ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือใช้บดคลุกน้ำผึ้งปั้นลูกกลอนรับประทานเป็นยาอายุวัฒนะก็ยังได้

ในอินเดีย เนปาล ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ บรรเทาอาการนิ่วในไต ส่วนพี่ไทยที่นิยมที่สุดก็คือ ดอก และยอดผักกุ่มดองน้ำเกลือ พูดแล้วจี๊ดเลย อยากกินน่ะครับ แต่ทว่าในดอกและยอดกุ่มสดๆ มีสารไฮโดรเจน ไซยาไนด์

สิทธิการิยะท่านว่า ให้นำมาดองน้ำเกลือ นึ่ง หมกไฟ หรือหมกทรายไว้ก่อน เพื่อลดความเป็นพิษลง จะได้อร่อยและปลอดภัย คนโบราณนี่เก่งนะครับขอบอก รู้ไปหมด สุดยอดจริงๆ เชียว

ส่วนในทางพุทธประวัติ ก็น่าติดตาม มีบอกไว้ว่า กาลครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จไปชักผ้าบังสุกุลผ้าห่อศพนางบุณณทาสี ในป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน) ทรงนำมาซักเพื่อจะทำเป็นจีวร เสร็จแล้วทรงมองหาที่จะตากให้แห้ง ณ เวลานั้นเอง รุกขเทวาประจำต้นกุ่มบก ก็ได้น้อมกิ่งแห่งต้น กักกุธะ นั้นลงมาเพื่อให้พระพุทธองค์ได้ทรงใช้เป็นที่พาด ตากผึ่งจีวร ด้วยเหตุและผลดังประการฉะนี้แล บางทีเราจึงเห็นนามสกุลเขาเขียนไว้ว่า religiosa ที่แปลความนัยได้ว่า “ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนา” แน่นอนครับผม