ชวนไปใช้ชีวิตในป่าชายแดนกับมูลนิธิพัฒนรักษ์ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เรียนรู้นำไปประกอบอาชีพ

เรื่องโดย : ไมตรี ลิมปิชาติ

จากตัวเมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เราเดินทางตรงไปยังชายแดนไทย-พม่า ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงหมู่บ้านที่มีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า เวียคะดี้

เราใช้เวลาไม่นานก็ถึงหมู่บ้านเพราะเป็นถนนลาดยางอย่างดี รถก็ไม่ติดด้วย

สองข้างทางส่วนใหญ่ยังเป็นป่ามีบ้านให้เห็นน้อยมาก

จากหมู่บ้านเวียคะดี้ แยกเข้าถนนเล็กๆ ซึ่งมีสภาพไม่ค่อยดีนัก ก็ถึงจุดหมายที่เราเดินทางไปวันนี้คือ มูลนิธิพัฒนรักษ์

ที่ว่าถึงจุดหมายก็เพราะเราจะมาพักค้างคืนกันที่นี่

เนื่องจากถึงที่พักเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกหายไปหลังเทือกเขาฝั่งพม่าเรียบร้อยหลายนาทีแล้ว จึงทำให้มืด ไม่สามารถมองบริเวณทั่วไปได้ เห็นแต่ศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นทั้งที่ประชุม ที่กินอาหาร และทำกิจกรรม

img_43122

ศาลาจุคนได้ประมาณ 30 คน แต่เราไปกันแค่ 4 คน จึงไม่มีปัญหา สามารถกินอาหารและพูดคุยกันได้สบาย ท่ามกลางแสงไฟที่ผลิตมาจากพลังงานแสงอาทิตย์

หลังจากกินอาหารกันเรียบร้อยแล้ว เราก็แยกกันเข้าห้องพัก

ตื่นเช้าขึ้นมา นอกจากได้ยินเสียงไก่ขัน ยังได้เห็นว่าบริเวณทั่วไปเกือบทั้งหมดทำเกษตร มีทั้งปลูกพืชผักสวนครัว บ่อเลี้ยงปลาดุก เล้าไก่ และคอกเลี้ยงเป็ด

พืชผักสวนครัวมีเกือบทุกชนิด หมายถึงว่า ถ้าทำครัวแทบไม่ต้องไปซื้ออะไรมาจากตลาด เพราะมีให้ตัดและเก็บมากินได้เลย

กล้วยหลายกอ มะละกอหลายต้นก็มีให้เห็น

บ้านพักสร้างด้วยไม้ไผ่ติดอยู่กับลำธารน้ำใส มองลงไปเห็นท้องธาร

นับเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับมูลนิธิพัฒนรักษ์ ที่มีเป้าหมายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรให้กับเยาวชนชายแดน

เมื่อเรียนรู้แล้วก็จะได้นำไปประกอบอาชีพได้img_43333

ปิยะวรรณ โพธิมาตย์ สาวโสดวัย 34 ปี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการของที่นี่บอกให้เรารู้ว่า มูลนิธิแห่งนี้ได้มาตั้งอยู่หลายปีแล้ว แต่สำหรับเธอเพิ่งมาอยู่ได้ 5 ปี

มาทำงานที่นี่ครั้งแรกมีหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูล อยู่ไม่นาน ผู้จัดการคนเดิมลาออก เธอจึงได้ขึ้นมาแทน

ปัจจุบันมีลูกน้องอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น

คนหนึ่งทำหน้าที่ธุรการ อีกคนเป็นแม่บ้าน แล้วยังมีคนดูแลสวนอีกคน

หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ การรับนักท่องเที่ยวที่มาพัก และรับกลุ่มคนที่มาฝึกอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับงานเกษตร

คุณปิยะวรรณไม่ได้ทำหน้าที่ที่ว่าอย่างเดียว ยังต้องจัดคนออกไปฝึกอบรมชาวบ้านและชาวเขาตามชายแดนด้วย โดยเน้นเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการทำเกษตรเพื่อประกอบอาชีพ เสริมด้วยการรักษาดูแลสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การให้การศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทย อย่างน้อยๆ ก็ต้องให้คนที่อยู่ชายแดนอ่านออกเขียนได้ทุกคน

การทำงานด้านเกษตรของมูลนิธิพัฒนรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงเป็ด รวมทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว เป้าหมายที่แท้จริงไม่ต้องการกำไร แต่ต้องการหาความรู้เพื่อนำไปสอนชาวบ้าน

วันนั้น เราได้เดินทางไปดูโน่นดูนี่ ทั้งเข้าวัด ทำบุญ และนั่งเรือชมความงามของอ่างเก็บน้ำ แล้วยังเดินทางไปไกลถึงด่านเจดีย์สามองค์ด้วย

img_43077

ก่อนนอนเราได้กินอาหารเย็นกันที่บ้านพักหรือศาลาอเนกประสงค์ เช่นเดียวกับคืนแรก

อาหารที่ทำมาให้เราได้กิน ทุกอย่างใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองและเลี้ยงเอง ที่อร่อยมากเห็นจะเป็น ปลาดุกย่าง ซึ่งได้จับปลาดุกจากบ่อแล้วนำมาย่าง

นอกจากปลาดุกย่างก็มีผัดผักรวมมิตร แกงเขียวหวานไก่ และที่ผมกินแล้วอร่อยอีกอย่างหนึ่งก็คือ แกงส้มป่อยปลาดุกย่าง

แกงส้มที่ว่านี้ทำสำเร็จบรรจุอยู่ในซองอย่างดี เหมือนซองใส่บะหมี่สำเร็จรูป แต่เล็กกว่า

ก่อนกินเพียงฉีกซองเอาเครื่องปรุงทั้งหมดออกจากซองใส่ลงไปในภาชนะที่มีน้ำร้อนจัด หาอะไรมาปิดฝาอีกประมาณ 2 นาที แล้วกินได้เลย

นับเป็นแกงส้มที่มีรสแปลกลิ้น เหมาะสำหรับกินกับข้าวสวยร้อนๆ

คุณปิยะวรรณ บอกว่า ไม่ได้ซื้อแกงส้มป่อยปลาดุกมาจากไหน แต่ได้ทำขึ้นมาเอง เพื่อขายเฉพาะในตัวเมืองสังขละบุรีและที่อื่นๆ ตามที่จะส่งไปขายได้ เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิ

วัตถุดิบคือส้มป่อยและปลาดุก ปลูกและเลี้ยงเอง จึงทำให้มีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป

ความอร่อยของแกงส้มป่อยปลาดุกทำให้ผมขอซื้อติดกระเป๋ากลับมากินหลายซอง

img_43288

ตลอดเวลาที่เรากินอาหาร คุณปิยะวรรณจะเข้ามาให้บริการ และเราได้พูดคุยกับเธอด้วย จึงได้รู้ว่า เธอไม่ใช่คนที่นี่ แต่เป็นคนมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ยอมมาขังตัวเองอยู่ชายแดน ซึ่งเหมือนอยู่กลางป่าแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เธอเล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่า

เธอเรียนจบพยาบาลศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังจากเรียนจบได้เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น 3 ปี

ขณะทำงานรู้เลยว่าไม่ชอบอาชีพนี้ ตอนเข้าเรียนพยาบาลก็ไม่ได้ชอบ แต่พ่ออยากให้เรียน เธอไม่อยากขัดใจ จึงเรียนจนจบ

เธอสารภาพว่าตอนทำงานที่โรงพยาบาลเห็นคนเจ็บคนป่วยและคนตายแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เธอจึงลาออกแล้วไปทำงานกับมูลนิธิบ้านเด็กป่า ซึ่งเป็นองค์กรสร้างเด็กให้มีอนาคตที่ดี

เธอมีหน้าที่เป็นครูสอนเด็กอยู่กับมูลนิธิบ้านเด็กป่า ระยะแรกๆ ก็มีความสุขกับการทำงาน เพราะเด็กๆ น่ารัก อีกทั้งชอบอากาศและความเงียบสงบของเมืองชายแดนแห่งนี้

ขณะเป็นครูสอนเด็กได้พาลูกศิษย์มาที่มูลนิธิพัฒนรักษ์ ก็ที่เธอทำงานอยู่ในปัจจุบัน

img_43088

ได้เห็นงานแล้วชอบ เพราะลึกๆ เธอชอบงานด้านการเกษตรอยู่ด้วย อีกทั้งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือคนอยู่ชายแดนเหมือนที่เธอเคยทำอยู่เดิม บังเอิญถูกชักชวนจาก ดร.เสรี ทองมาก ซึ่งเป็นผู้บริหารของมูลนิธิ

เธอจึงย้ายมาทำงานที่นี่ตั้งแต่นั้นมา

เธอบอกว่า คงจะทำงานอยู่ที่มูลนิธิพัฒนรักษ์ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะนอกจากเป็นงานที่เธอชอบแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้สบายใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้อ่านและไม่ได้อ่านท่านใดอยากไปพักที่มูลนิธิแห่งนี้ ซึ่งอากาศกำลังเย็นสบาย ติดต่อไปที่เธอได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข (091) 887-9201