ราเมน 25 บาท เปิดไม่กี่เดือน ลูกค้าแน่นร้าน ขายดีวันละ 1,000 ชาม

ราเมน 25 บาท เปิดไม่กี่เดือน ลูกค้าแน่นร้าน ขายดีวันละ 1,000 ชาม
ราเมน 25 บาท เปิดไม่กี่เดือน ลูกค้าแน่นร้าน ขายดีวันละ 1,000 ชาม

ราเมน 25 บาท เปิดไม่กี่เดือน ลูกค้าแน่นร้าน ขายดีวันละ 1,000 ชาม

สำหรับใครที่ชอบทานอาหารญี่ปุ่น อย่าง ราเมน เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีมาแนะนำ ร้านนี้ตั้งอยู่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ชื่อว่า “Ramen a ราเมนนะ” มีความพิเศษ คือ ขายชามละ 25 บาท อัดแน่นคุณภาพ และน้ำซุปกลมกล่อม ที่เจ้าของร้านสาววัย 33 ปี คุณจิ๊บ-ปูริดา ฑิธฐะโกศล ปรับสูตรให้เข้ากับคนไทย จนสามารถสร้างยอดขายได้วันละ 1,000 ชาม ยอดขาย 7 หลักต่อเดือน

คุณจิ๊บ-ปูริดา ฑิธฐะโกศล
คุณจิ๊บ-ปูริดา ฑิธฐะโกศล

จากเลขา สู่เจ้าของ ร้านอาหารญี่ปุ่น 2 แห่ง 

คุณจิ๊บ ย้อนประวัติให้ฟัง เธอเคยทำงานประจำเป็นเลขา จนเมื่อประสบอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนต้องสิ้นสุดลง เมื่อว่างจากงาน จึงได้หาธุรกิจทำ คือเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ ร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น ปีแรกยังช่วยกันทำ ส่วน 4 ปีหลัง บริหารงานเองคนเดียว

หน้าร้านราเมนนะ
หน้าร้านราเมนนะ

ส่วนร้านราเมนนะ ก็ต่อยอดมาจากความชอบอาหารญี่ปุ่นเช่นกัน โดยเฉพาะราเมน อยากทานชามเล็ก หลายๆ น้ำซุปในครั้งเดียว แต่ก็ไม่เคยหาได้ จึงตัดสินใจเปิดร้านนี้ขึ้นมา เธอร่วมกันพัฒนาสูตรน้ำซุปกับเชฟคนไทย เพื่อให้เข้ากับคนไทยมากที่สุด

“ราเมนนะ มีน้ำซุป 5 อย่าง คือ ซุปปลา ซุปโชยุ ซุปทงคตสึ ซุปแกงกะหรี่ และอะบุระโซบะ เน้นรสชาติคนไทย คือ เข้มข้น หวาน เค็ม” คุณจิ๊บ อธิบาย

ซุปโชยุ
ซุปโชยุ

ตั้งราคาขาย ชามละ 25 บาท ต้องบอกว่า ไม่เคยเห็นใครขายราเมนเท่านี้มาก่อน เพราะคุณจิ๊บ มองว่า อยากให้ลูกค้าได้ทานอาหารมื้อประหยัด สามารถทานได้ทุกวัน หากขายถูกกว่านี้ ไม่คุ้มค่าวัตถุดิบ เพราะคัดสรรอย่างดี หรือถ้าแพงกว่านี้ คงเกินไปกับราคาอาหาร ที่คนต้องทานเพื่อความอิ่มท้อง

“ต้นทุนวัตถุดิบสูงยังไงก็ตาม ห้ามลดคุณภาพ ทานแล้วต้องอร่อยถูกปาก จิ๊บจะหาแหล่งวัตถุดิบจากหลายๆ ที่ นำมาเปรียบเทียบกัน แล้วเลือกราคาดีที่สุด เมื่อได้วัตถุดิบมา ต้องกำหนดปริมาณการใส่ต่อ 1 ชาม ว่าใส่เท่าไหร่ถึงได้กำไร ซึ่งใน 1 ชาม เราไม่ได้เอากำไรมากมาย”

ราเมน และอาหารเมนูอื่นๆ
ราเมน และอาหารเมนูอื่นๆ

ยกตัวอย่าง ปริมาณวัตถุดิบต่อ 1 ชาม ราเมนทงคตสึ ใส่น้ำซุป 80 มิลลิลิตร เส้น 40 กรัม หมูชาชู 30 กรัม ลูกชิ้นนารุโตะ 1 แผ่น ข้าวโพด และผักกวางตุ้ง อย่างละ 5 กรัม

และนอกจาก ราเมน ยังมีเมนูอื่นให้เลือกทาน คือ ครัวผัด เช่น ยากิโซบะ ฯลฯ และครัวทอด พวกข้าวคตสึดง แกงกะหรี่ ข้าวหน้าแซลมอน ข้าวหน้าหมูชาชู เป็นต้น

ซุปทงคตสึ
ซุปทงคตสึ

ลูกค้าแน่นร้าน ขายดีวันละ 1,000 ชาม

สำหรับกลุ่มลูกค้า หลักๆ คือ คนทำงาน 50% เด็ก 30% และผู้ใหญ่ 20% เป็นการคำนวณ ณ ช่วงนี้ ที่โรงเรียนยังไม่เปิดเต็มรูปแบบ หากเปิดเมื่อไหร่ เชื่อเลยว่า จะได้ลูกค้ากลุ่มเด็กนักเรียนมาอุดหนุนจำนวนมาก โดยช่วงเวลาที่ลูกค้าแวะมาทานมากที่สุด คือ 11.30-13.00 น. และ 17.00-19.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ แน่นร้านทั้งวัน

“ลูกค้าแน่นร้านแบบนี้ นับแล้ว สามารถขายได้วันละเกือบ 1,000 ชาม เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากขายได้วันละ 2,000 ชาม เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หากตีเป็นรายได้ 7 หลักต่อเดือน” คุณจิ๊บ เผย

ลูกค้าแน่นร้าน
ลูกค้าแน่นร้าน

เรื่องการขายดี ไม่ใช่ว่าราคาประหยัดอย่างเดียว คุณจิ๊บ บอกว่า ต้องทำการตลาดด้วย ช่วงเปิดร้านแรกๆ ปล่อยโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ให้ TikTok และเพจอาหารมารีวิว ซึ่งกระแสความฮิตมาจากเพจรีวิวหนึ่ง ไม่ได้จ้างมาแต่อย่างใด ปรากฏว่ามารีวิวแล้ว ร้านเกือบถล่ม

“นอกจากการตลาด ใครทำร้านอาหาร จิ๊บแนะนำว่า ต้องใส่ใจบริการ คุณภาพต้องคงที่ เพราะสมัยนี้โซเชียลไปไกลมาก อีกอย่างคือความสะอาด เป็นเรื่องสำคัญมากในยุคโควิดแบบนี้” คุณจิ๊บ บอกย้ำ

ราเมน 25 บาท และเมนูอื่นๆ
ราเมน 25 บาท และเมนูอื่นๆ

ขยายสาขาแฟรนไชส์

ด้วยความฮอต คุณจิ๊บ บอกข่าวดีว่า ปัจจุบันมีแฟรนไชส์แล้ว ในราคา 168,000 บาท ส่วนการเรียนรู้สูตร ก่อนเปิดร้านต้องเข้าคอร์ส 30 วัน ใช้เวลานาน เพราะมีหลายเมนู ก่อนส่งท้ายแพลนปีนี้ คือ เปิด 3 สาขาของตัวเอง ส่วนสาขาแฟรนไชส์ กำลังทยอยเปิด เร็วๆ นี้ ที่พุทธมณฑลสาย 3 ศรีนครินทร์ และที่อื่นๆ อยู่ในช่วงพูดคุย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Ramen a “ราเมนนะ” พิกัด Center One Shopping Plaza ชั้น 3 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดทุกวัน 10.00-20.00 น.

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2565