ครูสอนดนตรี ต่อยอดสูตรลับของแม่ เป็นกุยช่ายเสียบไม้ ขายดีวันละ 2 พันไม้ 

ครูสอนดนตรี ต่อยอดสูตรลับของแม่ เป็นกุยช่ายเสียบไม้ ขายดีวันละ 2 พันไม้ 
ครูสอนดนตรี ต่อยอดสูตรลับของแม่ เป็นกุยช่ายเสียบไม้ ขายดีวันละ 2 พันไม้ 

ครูสอนดนตรี ต่อยอดสูตรลับของแม่ เป็นกุยช่ายเสียบไม้ ขายดีวันละ 2 พันไม้ 

กุยช่าย เมนูทานเล่นยอดนิยมที่ใครก็ชอบกิน วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ พามาทำความรู้จัก กุยช่ายเจ้าเด็ดจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่อดีตครูสอนดนตรี นำสูตรเด็ดของแม่เกือบ 30 ปี มาปัดฝุ่นใหม่ทำขายในสไตล์ของตัวเอง และยังผุดไอเดีย “กุยช่ายเสียบไม้” จนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า วันละ 2,000 ไม้

จุดเริ่มต้น กุ๋ยช่ายอำพัน เชียงใหม่ 

คุณโจ-พชรพัชร์ ธนสินวรนันท์ อายุ 46 ปี เจ้าของร้านกุ๋ยช่ายลูกเล็ก อำพัน เชียงใหม่
คุณโจ-พชรพัชร์ ธนสินวรนันท์ อายุ 46 ปี เจ้าของร้านกุ๋ยช่ายลูกเล็ก อำพัน เชียงใหม่

คุณโจ-พชรพัชร์ ธนสินวรนันท์ อายุ 46 ปี เจ้าของร้านกุ๋ยช่ายลูกเล็ก อำพัน เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวขายกุยช่ายในซอยละลายทรัพย์มานานเกือบ 30 ปี และได้หยุดทำในรุ่นตัวเอง เพราะลูกๆ ต่างแยกย้ายไปทำงานประจำ ซึ่งตัวเองมีอาชีพหลักเป็นครูสอนดนตรี

กระทั่งปี 2555 ได้พาภรรยา (พัชริลญ์ ธนสินวรนันท์ หรือ พี่ปุ้ย) ย้ายจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ ด้วยเงินติดตัว 2 หมื่นบาท มาถึงก็เริ่มทำธุรกิจ ลงขันกับเพื่อนขายเครื่องสำอาง แต่ก็ล้มไม่เป็นท่าเพราะขาดประสบการณ์

“ธุรกิจแรกล้มผมยังสู้ต่อ ที่เชียงใหม่ไม่มีกุยช่ายลูกเล็กแป้งนุ่มอย่างที่เคยกินมาขาย แฟนเลยชวนให้นำกุยช่ายสูตรหม่าม้ามาทำขาย ผมค้านทันที เพราะขั้นตอนยุ่งยากและเหนื่อยมาก แม่ผมก็ค้านเหมือนกัน แต่แฟนอยากทำจริงๆ งั้นขอสูตรแล้วกัน ซึ่งคนสมัยก่อนเวลาทำขนมจะไม่จดสูตร อาศัยฝีมือล้วนๆ ถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเรามาก”

ช่วงแรกทำทิ้งอยู่หลายครั้ง จนได้เข้าอบรมหลักสูตรสอนทำอาหารในวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ซึ่งได้พี่สาวใจดีช่วยพาไป ทำให้ค้นพบว่า การทำอาหารต้องมีสูตรตายตัว จึงนำมาปรับใช้กับกุยช่ายสูตรหม่าม้า

“พอรสชาติลงตัว ก็ได้พี่สาวใจดีคนเดิมนี่แหละ ช่วยเอาไปขายหน้าร้านอาหารของพี่เขาจนคนเริ่มรู้จัก เลยมาตั้งชื่อแบรนด์กัน เพราะรุ่นแม่ทำมาไม่ได้ตั้งชื่อ งั้นเอาชื่อแม่แล้วกัน เป็นกุ๋ยช่ายอำพัน แฟนนำไปโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กวันแรกได้เพื่อนๆ จากกรุงเทพฯ ช่วยอุดหนุน แล้วบอกปากต่อปากกันมา จึงรู้สึกว่าไปต่อได้”

เมื่อมีฐานลูกค้า คุณโจและแฟน ได้ตัดสินใจเปิดหน้าร้านเล็กๆ ตรงข้ามที่พัก เพราะตนเองยังทำงานประจำตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย จึงเริ่มขยายกิจการที่เป็นทั้งหน้าร้านและฐานการผลิต ด้วยการเช่าตึกแถว ถนนเจริญประเทศ ช้างคลาน และชวนหม่าม้ากับพี่สาว ย้ายมาอยู่ด้วย เพื่อขายกุยช่ายเหมือน 30 ปีก่อน

กุ๋ยช่ายอำพัน อร่อยเด็ดทุกไส้ 

คุณโจ เล่าต่อว่า กุ๋ยช่ายอำพัน เชียงใหม่ มีจำหน่ายด้วยกันหลายแบบ ได้แก่ แบบห่อแป้ง ปั้นเปลือย ไส้หน่อไม้ ไส้เผือก ไส้มันม่วง ไส้มันเทศ ส่วนพระเอกของร้านคือ กุยช่ายปั้นเปลือย สูตรของร้านคือทานแบบนุ่มก็ได้ไม่ใช่แค่ทอด และไส้แน่นมาก

“วัตถุดิบต่างๆ คัดแต่ของดี ราคาสูงไม่เกี่ยง เช่น ผักกุยช่ายรับมาจากสวนของเกษตรกร จ.ลำพูน ส่วนเผือก มันม่วง มันเทศ สั่งจากร้านยี่ปั๊วใหญ่ คัดมาเพื่อร้านเราโดยเฉพาะ เน้นไซซ์ใหญ่ หน่อไม้ ใช้หน่อไม้ดองปี๊บทั่วไป รสชาติดีกว่าการใช้หน่อไม้สด”

จุดเด่นคือ แป้งบาง เหนียวนุ่ม ไส้เยอะ ทานแล้วเต็มคำ และที่สำคัญคือ น้ำจิ้ม สูตรเด็ด เหนียว เข้มข้น ลูกค้าขอเพิ่มทุกราย ทั้งๆ ที่ให้เยอะแล้ว

สำหรับการผลิต เจ้าของร้านกุยช่าย บอกว่า ผลิตในโรงงานเล็กๆ โดยคนในครอบครัวข่วยกัน 5 คน คือ แม่ พี่สาว พนักงานอีก 3 คน ปั้นมือทุกลูก ฉะนั้น ปริมาณการทำต่อวันจึงไม่สูงเทียบเท่าการผลิตแบบอุตสาหกรรม

“ปั้นมือแต่เท่ากันทุกลูก ลูกค้าชอบถาม ว่าปั้นยังไงให้เท่ากันหมด สูงสุดเคยปั้นได้วันละ 8-9 พันลูก หรือเฉลี่ย 6-7 พันลูกต่อวัน ทำสดใหม่วันต่อวัน นำไปวางขายหน้าร้าน และขายส่งด้วย แต่ต้องสั่งล่วงหน้า 2-3 วัน ส่วนรายได้หลัก มาจากการออกบู๊ธ ตามงานอีเว้นต์ในห้างดัง” คุณโจ เล่า

กุยช่ายเสียบไม้ ไอเดียโดนใจลูกค้า 

ไอเดียที่ว่านี้ คุณโจ บอกว่า มาจากภรรยา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการนำกุยช่ายสูตรหม่าม้ามาทำใหม่ เนื่องจากขายกุยช่ายทอดด้วย ทำให้เจอปัญหากุยช่ายติดกัน มีความยากลำบากในการขายให้ลูกค้า เพื่อความสะดวกของคนขายจึงลองนำมาเสียบไม้

“เสียบไม้ปุ๊บ ผลตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าเห็นแล้วชอบมาก ชมกันไม่ขาดปากว่าน่ารักมาก ตั้งแต่นั้นมาเราเลยต้องเสียบไม้ขายตลอด เสียบไม้แล้ววางเรียงกันแต่ละไส้ สลับสีเขียวม่วง ยิ่งทำให้น่ากิน ขายดีมากๆ ทอดกันแทบไม่ทัน ถ้าออกบู๊ธ ออร์เดอร์วันละ 2,000 ไม้น่าจะได้”

ราคาขาย มีทั้งหมด 3 ชุด เล็ก 2 ไม้ 35 บาท กลาง 3 ไม้ 50 บาท ใหญ่ 5 ไม้ 80 บาท เป็นราคาเดียวกับกุยช่ายนึ่ง

“ต้นทุนสูงแต่ขายราคาเท่ากัน เพราะแฟนบอกว่าอยากให้ลูกค้าเข้าถึงได้ทั้งทอดและนึ่ง ต้นทุนเรารับผิดชอบเอง ไม้เสียบใช้ไม้ธง ต้นทุนเกือบ 1 บาท กล่องกระดาษรีไซเคิลสำหรับใส่กุยช่ายทอดใบละ 3 บาท ส่วนแบบนึ่งใส่กล่องพลาสติกใบละ 1 บาท” คุณโจ อธิบาย

ก่อนทิ้งท้ายถึงเป้าหมายว่า อยากส่งออกกุยช่ายไปต่างประเทศให้ได้ ถ้าไม่ทันในรุ่นตนเองก็อยากส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกได้ทำต่อไป

สำหรับสาขาที่เปิดให้บริการตอนนี้ สาขาแรก ถนนเจริญประเทศ ช้างคลาน เชียงใหม่ สาขาสอง ซอยคำหวาน สวนดอก ลำปาง โทร. 093-189-3888 (คุณโจ) ไลน์ joejozz เฟซบุ๊ก กุ๋ยช่ายลูกเล็ก อำพัน เชียงใหม่

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565