จากแม่ค้าขายเนื้อ สู่อาณาจักรส่งออกปูม้า กว่า 300 ตัน!!

 

จาก แม่ค้าขายปลาสด ทะยานสู่เจ้าของอาณาจักรปู ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านละแวกนั้นมีอาชีพ ล่าสุดยังบุกตลาดกรุงเทพฯ ด้วยการเปิดร้านอาหารซีฟู้ด ชนิดนำอาหารทะเลฮาลาลมาเสิร์ฟคนเมืองกรุง ธุรกิจนี้บริหารงานโดย คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด หญิงแกร่งที่ใช้คุณธรรมดีงามตามหลักอิสลามดำเนินธุรกิจ

 

ไต่เต้าจากแม่ค้าขายเนื้อ

สู่เจ้าของอาณาจักรปู

คุณสุวณีย์ เป็นชาวพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เธอเล่าว่า ชีวิตวัยเด็กค่อนข้างลำบาก ต้องหารายได้ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือด้วยการขายเนื้อวัว แต่ก็มีปัญหาลูกค้าบางรายเบี้ยวไม่จ่ายเงิน จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการหาไก่ และอาหารทะเลมาขายเพิ่ม กิจการค่อยๆ เติบโตเรื่อยมา ปัจจุบันเปิด 2 บริษัท คือ 1. บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารทะเลแปรรูป เช่น ปูจ๋า หอยจ๊อปู น้ำพริกปู และเนื้อปูบรรจุกระป๋องและถุงสุญญากาศ มีกำลังการผลิต 300 ตัน ต่อปี ส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์จำหน่ายในประเทศ ได้รับมาตรฐาน GMP  HACCP และ ISO 9001:2000 2. บริษัท วิยะอินเตอร์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายเนื้อปูสด ส่งตามร้านอาหารในประเทศเท่านั้น

“เราเปิดกิจการปี 2538 เริ่มต้นจากการขายเนื้อปูสด กระทั่งปี 2545 ปีนั้นเนื้อปูมีปริมาณมาก เกิดภาวะล้นตลาด  ขณะเดียวกัน ยอดขายในประเทศก็ลดลง จึงเกิดความคิดนำปูมาแปรรูปและหาวิธีเก็บรักษาเนื้อปู รวมถึงหาตลาดใหม่ นั่นคือ ส่งออกไปต่างประเทศ”

ต่อมาในปี 2546 ทางคุณสุวณีย์ได้จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท สร้างโรงงานแกะปูเล็กๆ แต่ได้มาตรฐานสากล  แนะนำชาวบ้านให้แกะปูอย่างถูกวิธี มีการควบคุมอุณหภูมิ สวมถุงมือ สวมหมวก เธอใช้วิธีเก็บรักษาเนื้อปูม้าด้วยการฆ่าเชื้อผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ ซึ่งขั้นตอนการผลิต เริ่มจากฉีกกระดองออกนำมาต้มที่อุณหภูมิ 85 องศาเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที จากนั้นนำใส่ลงน้ำเย็นที่อุณหภูมิ-18 องศา เป็นการน็อกดาวเพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนนำมาบรรจุถุงขาย

ด้านแหล่งที่มาของเนื้อปูม้า บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด รับซื้อจากเรือชาวประมง ประมาณ 50 ลำ เป็นปูในแถบอ่าวไทย เพราะเปลือกบาง รสชาติหวาน มัน อร่อยกว่าเนื้อปูจากทะเลอันดามัน และเมื่อทางโรงงานได้ปูม้าสดมาจากชาวประมงจะนำมานึ่ง แกะแยกชิ้นส่วน เช่น เนื้อก้อน (ขนาดจัมโบ้) จะเป็นเนื้อที่อร่อยที่สุด บริเวณก้ามขาท่อนบนจะนำไปอัดกระป๋องเพื่อส่งออก ส่วนเนื้อบริเวณเนื้อก้ามติดขา (ท่อนล่าง) จะนำไปแพ็กเพื่อจำหน่ายในไทยตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

ต่อยอดเปิดร้านอาหาร

ครองใจลูกค้าต่างชาติ

นอกจากนั้น ยังมีเนื้อผง และเนื้อในส่วนอื่นๆ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป ปูขนาด 1 กิโลกรัม เมื่อผ่านการนึ่ง และแกะออกเหลือแต่เนื้อปูจะมีน้ำหนักเหลือเพียง 200 กรัมเท่านั้น เนื้อปูแกะแล้ว 1 กิโลกรัมใช้ปูสดประมาณ 19 ตัว ส่งผลให้เนื้อปูแปรรูปมีราคาขายค่อนข้างสูง ราคาเฉลี่ยประมาณ 800-900 บาท ต่อกิโลกรัม

ปัจจุบัน พนักงานแกะปูราว 300 คน เจ้าของบริษัทให้โอกาสแก่ชาวประมงเข้าทำงานเป็นพนักงานแกะปูรายเหมา เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น ตลาดหลักส่งออก ตลาดยุโรป 50 เปอร์เซ็นต์ (อเมริกา) ตลาดเอเชีย 50 เปอร์เซ็นต์ (ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย)

“การส่งออกเป็นไปด้วยดี และในฐานะที่ค้าขายปูเป็นหลัก จึงคิดถึงความยั่งยืน ได้สร้างธนาคารปู โดยขอความร่วมมือกับชาวประมงเพื่ออนุรักษ์และแพร่พันธุ์ปู เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่ได้ทำ”

จากความสำเร็จในการเป็นผู้ส่งออกปูรายใหญ่ของประเทศ ล่าสุดเมื่อปี 2557 คุณสุวณีย์ เปิดร้านอาหารทะเล เพื่อเป็นทางเลือกให้พี่น้องมุสลิมกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสรับประทานอาหารทะเลสดๆ แบบวันต่อวัน โดยใช้ชื่อ “ชาวเล ซีฟู้ดส์”

“เรามีรถนำอาหารทะเลขึ้นมากรุงเทพฯ ทุกวัน เป็นทางเลือกให้พี่น้องมุสลิมกรุงเทพฯ มีโอกาสรับประทานอาหารทะเลสดๆ หลากชนิด ส่งตรงมาจากสุราษฎร์ธานีโดยตรง ทั้งปูที่แกะแล้วเสร็จพร้อมรับประทาน หอยนางรมตัวใหญ่ กุ้ง ปลา โดยมีแม่ครัวจากภาคใต้มาปรุงได้รสชาติแซบโดนใจตามสูตรปักษ์ใต้แท้ นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ยังฮาลาล 100  เปอร์เซ็นต์ ด้วย”

เข้าโครงการ OPOAI

ลดต้นทุน เห็นผลชัดเจน

ร้านอาหาร ชาวเลซีฟู้ดส์ ตั้งอยู่บนถนนเกษตรนวมินทร์ ใกล้กับร้านช็อคโกแลต วิลล์ มีอาหารทะเลสด ทั้งกุ้ง หอย  ปู ปลา รวมทั้ง กุ้งล็อบสเตอร์ตัวโต ในราคาที่ย่อมเยา ต้องการชิมอาหารรสเด็ดสูตรปักษ์ใต้แท้ สอบถามได้ที่ โทรศัพท์   (093) 741-9888 และ (081) 273-7171

และเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน บริษัทได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรม โครงการ OPOAI ในปี 2557 ในแผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และแผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน มีเป้าหมายการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัท เจ้าของธุรกิจ เผยว่า สินค้า Dead Stock (สินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว) ลดลง 209,785 บาท นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการวัตถุดิบประเภทถุงบรรจุ สามารถลดการสั่งซื้อเป็นจำนวนเงินลดลง 197,458 บาท สามารถจัดการปัญหาปริมาณสูญเสียของบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องบรรจุเนื้อปูในระหว่างกระบวนการผลิต โดยการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่องและฝาก่อนที่จะมีการผลิต โดยสามารถลดความเสียหายของกระป๋องได้ 20.45 เปอร์เซ็นต์