ขนมดอกโสน กวาญย์กาวล้อย หากินยากทำเองก็ได้

ขนมดอกโสน หากินยากทำเองก็ได้
ขนมดอกโสน หากินยากทำเองก็ได้

ขนมดอกโสน กวาญย์กาวล้อย หากินยากทำเองก็ได้

ดอกโสน ภาษามอญเรียกว่า “กาวล้อย” นอกจากเอาไปลวกจิ้มน้ำพริกหรือทอดไข่กินกับน้ำพริกกะปิได้อร่อยแล้ว ชาวไทยสมัยก่อนยังนำมาทำขนมด้วย เรียกว่า “ขนมดอกโสน” หรือภาษามอญเรียกว่า “กวาญย์กาวล้อย” ซึ่งทำได้ 2 แบบคือ แบบที่นึ่งใส่ถ้วยตะไลอย่างขนมกล้วย และอีกแบบคือ แบบที่นำแป้งไปโรยคลุกกับดอกโสนแล้วนำไปนึ่งให้สุก ชาวมอญก็มีขนมดอกโสนเช่นกัน โดยทำแบบเดียวกับของไทยไม่มีผิด แต่จะเป็นแบบหลัง

ขนมดอกโสน น่าจะกินกันเฉพาะภาคกลาง เพราะเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำที่ดอกโสนชอบนักหนา ตอนเด็กๆ ฉันไม่เคยต้องซื้อดอกโสนกินเลยแม้ว่าจะอาศัยอยู่ใจกลางพระนคร แถวบ้านมีตึกร้างพอฝนตกมีน้ำขังต้นโสนที่ไม่รู้ว่านกตัวไหนมาปลูกไว้ก็ออกดอกเต็มต้นให้เด็กๆ ไปเก็บมาทอดไข่ เดี๋ยวนี้มีปลูกขายกันเป็นจริงเป็นจัง ฉันอดไม่ได้ที่จะต้องซื้อมาทุกครั้งที่เห็น จนถูกผู้เฒ่าผู้แก่หัวเราะใส่ว่าสมัยนี้ต้องซื้อดอกโสนกินแล้ว

เมื่อถึงฤดูฝน ดอกโสนก็ออกดอกมากมายเป็นเวลาที่เหมาะแก่การทำขนมดอกโสน ที่ทุกวันนี้หากินได้ยาก ยิ่ง ฝนใกล้จะหมดแล้วมารีบทำกันส่งท้ายฤดูฝน ก่อนที่ลมหนาวจะพัดมาเยือน

เก็บดอกโสนมาเด็ดเอาก้านออกล้างให้สะอาด โรยแป้งข้าวเจ้าลงไปบนดอกโสนที่มีน้ำเกาะหมาดๆ ให้แป้งเกาะที่ดอกราวหิมะตกใส่ นำลังถึงใส่น้ำตั้งไฟให้เดือด ปูผ้าขาวบางไว้แล้วใส่ดอกโสนลงไปนึ่งให้สุก ระหว่างนั้นก็นำมะพร้าวทึนทึกมาขูดด้วยมือแมวเตรียมไว้ เมื่อดอกโสนสุกก็นำใส่ถาดพรมน้ำเกลือจางๆ ลงไปคลุกเคล้าเบาๆ ให้เข้ากัน มะพร้าวที่ขูดไว้ก็โรยเกลือเล็กน้อยแล้วนำไปนึ่งให้พอสุกจะได้ไม่บูดง่าย หรือหากมั่นใจว่าจะกินหมดในไม่ช้าจะไม่นึ่งก็ได้

เวลากินก็นำดอกโสนมาโรยด้วยมะพร้าวขูด และน้ำตาลทราย หรือจะเป็นน้ำตาลปี๊บอย่างโบราณก็ได้  เท่านี้คุณก็จะได้ขนมโบราณอร่อยๆ ไว้กินเล่นและอวดฝีมือ

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2560