หนุ่มวัย 27 ปี จบศิลปะมาขายขนมปังหมักยีสต์ธรรมชาติ

มื้อเช้าต้องขนมปัง
ลองทำกิน สู่ทำขาย
“หลังเรียนจบ ผมเข้าทำงานประจำได้ไม่นาน แต่ก็มีความฝันอยากเปิดธุรกิจ เริ่มจากผมชอบทานขนมปังเป็นมื้อเช้า แต่ขนมปังที่ชอบก็หายาก ในที่สุดอยากทำเอง ตอนนั้นเริ่มต้นกับแฟน (คุณน้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์) เพราะเขาคลุกคลีกับวัฒนธรรมฝรั่ง ตอนไปเรียนต่อที่อัมสเตอร์ดัม ผู้คนทานขนมปังกัน และก็หาซื้อไม่ยาก แต่ด้วยเราอยากให้เป็นโฮมเมด เป็นขนมปังจากธรรมชาติ คือใช้ยีสต์หมักเอง การลองผิดลองถูกจึงยาวนานนับปี เสียหายไปเยอะเลย”
หากซื้อยีสต์หมักด้วยระบบอุตสาหกรรม นำมาผสมกับส่วนผสมต่างๆ ใช้เวลาไม่นานก็ได้ขนมปังออกจากเตา แต่ทว่า คุณค่ากับความภูมิใจ คือสิ่งที่ขาดหาย คนหัวใจศิลป์ทั้งสอง จึงมุ่งมั่นกับการหมักยีสต์ เฝ้าดูกระบวนการเติบโต นำมาผสมผสาน ปั้นเคล้าคลึง นำเข้าเตาอบ ซึ่งแรกๆ ออกมา แข็งบ้าง ไม่ได้รสอร่อยบ้าง แต่ก็ทำกินเรื่อยมา จนกระทั่งเวลาผ่านไปราว 1 ปี ประสบการณ์มากพอจะลงมือทำขาย
แต่จะขายที่ไหน นั่นคือคำถาม?
“ตอนทำกินใช้เตาอบเล็กๆ อบได้ครั้งละ 1 ก้อน แต่เมื่อคิดทำขาย ต้องมีทุนแล้ว ต้องซื้ออุปกรณ์ แล้วไหนจะหน้าร้านอีก ซึ่งตอนนั้นผมมีเงินแค่ 3 หมื่นบาท ซื้อเตาอบใหม่อบได้ครั้งละ 3-4 ก้อนมาใช้ แล้วก็ลงทุนอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่ม ส่วนหน้าร้านก็ถือเป็นความโชคดีมาก เพราะมีคนสนิทเขาเปิดธุรกิจร้านอาหาร แต่ว่าจะเปิดช่วงบ่าย จึงให้เช่าร้านช่วงเช้าในราคาถูกมาก ร้าน Flour Flour จึงได้พื้นที่ขาย”
การออกแบบเมนูอาหารเช้า ผ่านการคิดมาไม่กี่เมนู โดยสูตรขนมปังหลัก 3 แบบ ได้แก่ Black  Sticky Rice, Bamboo Charcoal และ Matcha Cranberry จากนั้นค่อยๆ ขยับขยายเมนูเพิ่ม โดยความโดดเด่นที่เรียกลูกค้าได้ดีคือ โทสต์ สำหรับทาขนมปังและทำไส้ ล้วนลงมือปรุงรสชาติเองทุกชนิด โดยโทสต์ที่ได้รับความนิยม Peanut butter กับ Almond butter กับราคาขายกำหนดไว้เมนูเริ่มต้นประมาณ 50 กว่าบาทขึ้นไป
ขายวันละหลักพัน
สร้างสรรค์วันสุข
ขนมปังจะให้อร่อยต้องทานควบคู่กับเครื่องดื่ม ซึ่งก็ถือเป็นความลงตัว เพราะเพื่อนผู้มีความสามารถด้านกาแฟดริป เข้ามาช่วยสนับสนุนร่วมค้าเครื่องดื่ม ซึ่งนอกจากกาแฟดริปแล้วยังมีเมนูชาและน้ำผลไม้ไว้รองรับ
ด้วยเพราะหน้าร้านอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ฉะนั้น ในช่วงไฮซีซั่น (ประมาณตุลาคม-กุมภาพันธ์) จึงได้ลูกค้าหลักนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่เมื่อผ่านพ้นฤดูกาลท่องเที่ยวไปแล้ว กลุ่มลูกค้ากลับกลายเป็นคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ใส่ใจสุขภาพ
กับยอดขายช่วงไฮซีซั่นตกวันละประมาณ 3,000 บาท หักลบต้นทุนแล้วเหลือกำไรกว่า 50  เปอร์เซ็นต์ ส่วนช่วงโลว์ซีซั่น ยอดขายตกลงมาราว 1,500 บาท
“ถ้าดูรายได้แล้วอาจไม่สูงมาก แต่ว่าเราสองคนก็มีอาชีพอื่นทำด้วย ตัวผมมีงานดีเจเป็นอาชีพเสริม ส่วนแฟนเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนของหน้าร้าน เรามองว่าคือธุรกิจหลักของเรา แม้ตอนนี้รายรับไม่มาก แต่ว่าค่าใช้จ่ายก็ไม่สูง มีค่าวัตถุดิบ ค่าเช่านิดหน่อย ซึ่งตอนแรกคิดจะจ้างพนักงานมาช่วย พอมาดูยอดขายก็ว่าไว้ก่อนดีกว่า ลงมือทำเองไปก่อน”
คุณมาย ยังเล่าถึงกรรมวิธีทำขนมปังสูตรยีสต์หมักธรรมชาติ ว่ามีความละเอียดอ่อนในกรรมวิธี ที่ต้องสังเกตและเรียนรู้ตั้งแต่อุณหภูมิ ฉะนั้น อากาศหนาว ร้อน ฝน จึงให้ผลแตกต่างกัน ต้องเรียนรู้เพื่อให้ขนมปังทุกก้อนออกมารสชาติเป็นมาตรฐาน ส่วนระยะเวลาผลิตขนมกว่าจะแล้วเสร็จต่อครั้งประมาณ 1 วัน
“ค่อนข้างทำยากมาก ต้องเรียนรู้ เราถึงใช้เวลาในการทดลองนาน รูปแบบรายละเอียดเยอะ อันเนื่องมาจากยีสต์หมัก ดูสี ดมกลิ่น ดูอากาศ เพราะไม่มีห้องควบคุมอุณหภูมิ แต่นี่คือจุดขายจากฝีมือของเรา อีกทั้งในส่วนของโทสต์ นำมาทาขนมปัง จะทำสดใหม่ ไม่ใส่สารปรุงแต่ง ตรงนี้ลูกค้าชอบมาก โดยเฉพาะผู้รักสุขภาพ”
ต่อยอดดอกไม้ไทย
แต่งเติมให้ได้เอกลักษณ์
กับการเดินทางมาสู่ธุรกิจเล็กๆ แต่เมื่อเห็นความสำเร็จ ก็เหมือนเห็นทางไปต่อ “ทุกวันนี้จะทำขนมปังและโทสต์มาจากบ้าน เวลาเสิร์ฟก็หั่นให้ลูกค้าเห็น ด้วยเพราะพื้นที่ร้านไม่มีครัวร้อน ไม่สามารถปรุงได้ ในอนาคต จึงฝันต้องการหน้าร้านที่สามารถเป็นครัวได้ด้วย ให้ลูกค้าเห็นกรรมวิธีผลิต เพราะทุกวันนี้ลูกค้าหลายท่านยังไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากขนมปังทั่วไปอย่างไร จึงต้องใช้เวลาอธิบายสร้างความรับรู้ต่อลูกค้า แต่ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งครับ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ”
ในส่วนของขนมปังที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารต่างชาติ แต่คุณมายต้องการใส่ความเป็นไทย โดยขณะนี้กำลังทดลองผลิตขนมปังจากแป้งข้าวของไทย รวมไปถึงเติมความเป็นไทยด้วยดอกไม้ อย่าง อัญชัน โสน
ด้วยเพราะขนมปังภายใต้การผลิตของ Flour Flour มีเอกลักษณ์เฉพาะ บวกรสชาติถูกปาก จึงมีผู้สนใจสั่งซื้อขนมปังปอนด์ทั้งนำไปทานเอง และต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งคุณมายขอรับออร์เดอร์ก่อนล่วงหน้าประมาณ 1-2 วัน ด้วยเพราะกรรมวิธีการผลิตต้องใช้เวลา และปัจจุบันการผลิตสินค้าต่อครั้ง อบได้ราว 6-7 ปอนด์ ส่วนราคาขายเริ่มต้น 95-130 บาท
“ตอนนี้ก็มีลูกค้าเดินทางมาสั่งซื้อที่หน้าร้านบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะสั่งผ่านเพจบนเฟซบุ๊ก ซึ่งช่องทางนี้ก็ถือว่าสร้างการรับรู้ดี ซึ่งก็พยายามให้หน้าเพจมีความเคลื่อนไหวตลอด ตอบข้อซักถามให้เร็ว ผมว่าเรื่องบริการทั้งหน้าร้านและในส่วนของเพจ ถือเป็นจุดเด่นของ Flour Flour ทำให้ทุกวันนี้มีทั้งลูกค้าขาประจำ และลูกค้าใหม่เดินทางเข้ามาครับ”
สนใจติดต่อ “Flour Flour” เดินทางไปได้ที่ Minimeal eatery studio นิมมานเหมินทร์ 13 จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ (084) 170-7846 หรือ www.facebook.com/flourflourbread