หมูแพง กระทบถ้วนหน้า ร้านดัง ปรับตัวยังไง ในยุคข้าวยากหมากแพง

หมูแพง กระทบถ้วนหน้า ร้านดัง ปรับตัวยังไง ในยุคข้าวยากหมากแพง
หมูแพง กระทบถ้วนหน้า ร้านดัง ปรับตัวยังไง ในยุคข้าวยากหมากแพง

หมูแพง กระทบถ้วนหน้า ร้านดัง ปรับตัวยังไง ในยุคข้าวยากหมากแพง

จากปัญหาหมูแพง เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้ต่อสายตรง ถึง เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง เพื่อสอบถามประเด็นดังกล่าว เจ๊จง เผยว่า

เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง
เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง

ร้านหมูทอดเจ๊จง ได้รับผลกระทบเหมือนร้านทั่วๆ ไป โดยได้ปรับราคาอาหาร ใส่ถุงราดข้าว 1 อย่าง 26 บาท 2 อย่าง 36 บาท, ใส่ถ้วย 1 อย่าง 30 บาท 2 อย่าง 40 บาท, ใส่กล่องเวฟ 1 อย่าง 39 บาท 2 อย่าง 49 บาท, หมูทอด ขีดละ 30 บาท กิโลละ 300 บาท, ตับผัดกระเทียม ขีดละ 28 บาท กิโลละ 280 บาท, กับข้าว ถุงละ 30 บาท

เจ๊จง เผยต่อ ใช้เนื้อหมูจากเบทาโกร หากว่าไม่พอขายจะซื้อเพิ่มจากตลาดคลองเตย ซึ่งพบว่ามีราคาสูง และไม่ใช่แค่เนื้อหมูแต่วัตถุดิบอย่างอื่น เช่น น้ำมัน เนื้อไก่ ก็ขึ้นราคาด้วย

“เจ๊ปรับราคาอาหาร ลูกค้าทุกคนเข้าใจ เพราะเขาเห็นจากข่าวต่างๆ ว่าวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ทุกคนเลยโอเค รับได้ แต่หากหมูราคายังพุ่งแรงกว่านี้ แล้วเจ๊ปรับราคาอาหารตามอีกลูกค้าคงไม่ซื้อ ไม่ต้องถอดเมนูออกหรอก ลูกค้าเลิกกินเองแน่นอน ในเมื่อของแพงจะกินทำไม เขาต้องกินอย่างอื่นแทนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกินหมูเลย ไม่กินหมูเราก็ไม่ตาย บางคนไปกินผักกินปลาแทนแล้ว แต่เจ๊ยังถือว่าโชคดี เพราะมีข้าวแกงขาย เลยยังพอมีรายได้”

อย่างไรก็ตาม เจ๊จง เผยว่า เจอทั้งโควิดมาถึงราคาหมูแพง มีความเครียดเป็นธรรมดา ไหนจะต้องดูแลร้านทั้ง 13 สาขา ที่บางสาขายังขาดทุน ปัญหาทั้งหมด จึงช่วยๆ กันคิดหาทางแก้กับลูกอยู่ตลอด ไม่ได้พัก

คุณวาชิ-วชิราภรณ์ พงษ์วรัฎฐกุล เจ้าของร้าน ตะวัน หมูปิ้ง
คุณวาชิ-วชิราภรณ์ พงษ์วรัฎฐกุล เจ้าของร้าน ตะวัน หมูปิ้ง

ด้าน คุณวาชิ-วชิราภรณ์ พงษ์วรัฎฐกุล เจ้าของร้าน ตะวัน หมูปิ้ง ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์หมูแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทุกวันนี้ที่ขายอยู่แทบไม่เหลือกำไรแล้ว แต่ก็กัดฟันขายเพราะถ้าเลิกขายก็ต้องเลิกจ้างพนักงาน จึงเลือกรักษาลูกน้องไว้ให้ยังมีงานทำกันอยู่

“หมูแพงมาก แพงที่สุด แพงกว่ารอบ 10 ปี เพราะตอนทำขายแรกๆ เรานั่งดูย้อนหลัง 10 ปีเลยนะว่า หมูขึ้นลงถึงเท่าไหร่บ้าง เมื่อก่อน 70, 80 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นมา 170 บาท ขึ้นมาเกินเท่าตัวเลย แต่ก็กัดฟันขายอยู่ เพราะเรามีลูกน้องอีกหลายคน ไหนจะคนอื่นที่ทำอาชีพนี้ ที่เขามารับเราไปขายต่ออีก ก็มีคุยกับพนักงานทุกคนในร้านว่าจะเอายังไงกันต่อดี อาจจะมีปรับราคาขึ้น แต่ถ้าแบบนั้นการตลาดเราก็เปลี่ยน หรือจะพักเมนูนี้ แล้วหันมาขายอย่างอื่น เช่น ไก่ เป็นข้าวยำไก่อะไรพวกนี้ ตอนนี้ดูๆ กันอยู่ค่ะ”

นอกจากนั้น คุณวาชิ ยังเผยว่า หากขึ้นราคาเหมือนคนอื่นๆ การที่จะทำให้ราคากลับมาเท่าเดิม ก็ไม่รู้จะกลับมาราคาเดิมเมื่อไหร่ แม้ว่าลูกค้าจะเข้าใจ แต่ก็ส่งผลต่อการทำตลาดของแบรนด์ และทำให้คนคิดมากกว่าเดิมในการซื้อ ทำให้ขายยากขึ้น

เชฟยีสต์-นกุล กวินรัตน์ เจ้าของร้านคอหมูพระราม 5
เชฟยีสต์-นกุล กวินรัตน์ เจ้าของร้านคอหมูพระราม 5

เชฟยีสต์-นกุล กวินรัตน์ เจ้าของร้านคอหมูพระราม 5 กล่าวว่า เมื่อเนื้อหมูขึ้นราคาไม่หยุด หากขายอาหารราคาเดิมคงไม่ไหว เพราะร้านมีต้นทุนสูงขึ้น 30-35% เชฟยีสต์ เลยต้องปรับราคา คอหมูย่างราดข้าว +10 บาท แบบกับข้าว +30 บาท

“ประกาศขึ้นราคาได้ไม่กี่วัน เนื้อหมูขึ้นราคาอีกแล้ว ถ้าร้านขึ้นราคาอาหารตาม คงไม่ได้ ลูกค้าซื้อไม่ไหว เราก็แย่ ถามซัพพลายเออร์บอกราคาจะขึ้นสูงอีกนาน งั้นไม่ฝืนดีกว่าถอดเมนูคอหมูย่างออกก่อน แล้วเสริมเมนูจากไก่เข้ามา เช่น ไก่ย่าง ไก่ย่างซอสหม่าล่า ต้นทุนยังไม่สูงมาก” เชฟยีสต์ เล่า