ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ลูกสาวแม่ค้า ต่อยอด น้ำปลาร้า ของแม่ ด้วยวัตถุดิบพื้นถิ่นอีสาน อร่อยระเบิด ดังไกลถึงต่างแดน
ปลาร้า ถือเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่มีมาตั้งแต่โบราณ และสืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 4 พันปี บางตำราก็ว่า เป็นวัฒนธรรมทางอาหารของประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเราได้รับอิทธิพลมา โดยภาษาอีสานจะเรียกว่า ปลาแดก ซึ่งถือเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยภาคอีสาน
การทำ ปลาร้า หรือ ปลาแดก จะนำปลาสดที่เก็บได้จากแหล่งน้ำมาหมักตามสูตร ซึ่งปลาร้าที่มีคุณภาพ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาเน่า โดยเมนูอาหารอีสานที่เป็นสูตรต้นตำรับ มักมีปลาร้าเป็นส่วนผสมหลัก อาทิ ส้มตำ แกงคั่ว อ่อม ลาบ รวมถึงเมนูอื่นๆ อีกมากมายที่มีการประยุกต์นำน้ำปลาร้าเข้าไปเป็นส่วนผสม
เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณเปิ้ล-พรวิไล พันธ์แดง หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ละมุลอินเตอร์ฟู้ดส์ เจ้าของ น้ำปลาร้า แม่ละมุล ที่ต่อยอดปลาแดกของแม่ มาเป็นผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายจนดังไกลไปต่างประเทศ!
คุณเปิ้ล เล่าว่า เดิมทีคุณแม่เป็นแม่ค้าขายของอยู่ในตลาดมานานกว่า 30 ปี โดยสิ่งที่คุณแม่ขาย คือ น้ำปลาร้าที่ตักขายแบบใส่ถุงไว้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าส้มตำในพื้นที่แถบจังหวัดมหาสารคาม ต่อมาเมื่อเธอเรียนจบ คุณพ่อของเธอได้จากไปอย่างกะทันหัน คุณเปิ้ลจึงกลับมาช่วยคุณแม่ขายปลาร้าในตลาดที่บ้านเกิด
“พอมาช่วยแม่ขายเราก็เห็นว่า ปลาร้าของแม่เราขายดีมาก ถังขนาด 18 ลิตร ก็ขายได้วันละประมาณ 80 ถัง บางวันก็แทบจะมัดขายกันไม่ทันคนมาซื้อ ซึ่งถ้าเป็นปลาร้าเฉพาะน้ำที่ต้ม ขายถังละ 300 บาท แต่ถ้าเป็นตัวๆ ก็ขายปี๊บละ 500 บาท ก็ขายได้วันละ 50 ปี๊บ แต่อายุอาหารมันค่อนข้างสั้น ทำยังไงมันถึงจะเก็บได้นานๆ เพื่อให้เราขายได้นานขึ้น ก็เลยไปศึกษาหาความรู้ เข้าโครงการอบรมศูนย์บ่มเพาะของ ม.มหาสารคาม ก็ได้หม้อต้มพาสเจอไรซ์มาใช้ยืดอายุน้ำปลาร้า จากเดิม อายุสินค้ามันประมาณ 6 เดือน ก็ยืดได้เป็น 2 ปี ทำให้ใช้สารกันบูดน้อยลง ทำให้การผลิตมันเร็วขึ้น และลูกค้าก็รู้สึกว่า สินค้าเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย รวมๆ แล้วตอนนี้ก็ดำเนินกิจการมาได้ 4 ปีแล้วค่ะ” คุณเปิ้ล เล่า
นอกจากจะมีอายุสินค้าที่นานกว่าแบรนด์ทั่วไปแล้ว สิ่งที่ทำให้แบรนด์น้ำปลาร้าแม่ละมุล ไม่เหมือนใครคือ การนำวัตถุดิบพื้นถิ่นอีสาน อย่าง ใบหม่อน และ ใบไชยา เข้ามาเป็นส่วนผสมในน้ำปลาร้าด้วย โดยใบหม่อน เป็นตัวที่ทำให้รสชาติน้ำปลาร้ามีความกลมกล่อม ทานแล้วไม่รู้สึกกระหายน้ำเหมือนทานปลาร้าที่ใส่ผงชูรส ส่วนใบไชยา คุณเปิ้ล บอกว่า เลือกใช้เป็นใบตัวผู้ ซึ่งทำให้ได้น้ำปลาร้าที่มีรสชาติเข้มข้นกลมกล่อม
“น้ำปลาร้าเราเป็นน้ำปลาร้าต้มสุกที่ใช้ใบหม่อนและใบไชยาใส่เข้าไปเป็นส่วนผสม ทำให้มีความนัวอร่อยจากธรรมชาติ อีกทั้งเราใช้กรรมวิธีการหมักปลากันเป็นปีๆ ผสมข้าวคั่วและรำอ่อน ทำให้รสชาติมีความกลมกล่อมและละมุนลิ้นมากขึ้น เริ่มแรกเราทำแค่สูตรฝาแดง ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้ในการทำส้มตำค่ะ ต่อมาก็ทำเป็นสูตรฝาเหลือง (สูตรแกง)”
“แล้วพัฒนาต่อเป็นสูตรฝาทอง ซึ่งเป็นสูตรอีสานแท้ๆ ที่เราส่งขายไปอเมริกา ออสเตรเลีย ดูไบ สปป.ลาว ให้คนไทยที่อยู่ที่นั่นได้ซื้อทาน แล้วต่อมาเราก็พัฒนามาเป็นสูตรฝาม่วง ที่ใช้มะกอก มาเป็นส่วนผสม ซึ่งสูตรนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากการเข้าร่วมโครงการกับ NIA ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวฝาดแต่พอกลืนลงไปแล้วจะหวานๆ แบบมะกอก” คุณเปิ้ล ว่าอย่างนั้น
คุณเปิ้ล เล่าอีกว่า เมื่อน้ำปลาร้าแม่ละมุลกลายเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดมหาสารคามแล้ว ก็อยากจะขยายแบรนด์ออกไปต่างจังหวัดบ้าง แต่การที่ร้านเล็กๆ จะกลายเป็นที่รู้จักของคนพื้นที่อื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณเปิ้ลจึงใช้กลยุทธ์ ป่าล้อมเมือง การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และการสื่อสารผ่านสื่อวิทยุท้องถิ่น ให้คนได้รู้จัก และมีร้านค้าเริ่มเข้าไปถามหาแบรนด์ของเธอในร้านขายของใหญ่ๆ มากขึ้น อีกทั้งมีคนติดต่อเข้ามาให้ทำ OEM น้ำปลาร้าให้ด้วยอีกต่างหาก
“ประมาณปี 60 มีคนติดต่อขอให้เราทำ OEM ให้ ซึ่งเราพูดได้เลยว่าเราโตเพราะการทำ OEM ให้กับลูกค้ากว่า 60% ปัจจุบัน เรามีสูตรน้ำปลาร้าให้ลูกค้าเลือกกว่า 5 สูตร และมีลูกค้ากว่า 60 แบรนด์ ซึ่งเป็นลูกค้านี่แหละค่ะ แม่ค้าพ่อค้าร้านส้มตำทั่วประเทศ โดยเราดูแลตั้งแต่การผลิต สอนเรื่องการขายออนไลน์ มีทีมคอยช่วยเหลือ” คุณเปิ้ล ว่า
นอกจากน้ำปลาร้าแล้ว แม่ละมุล ก็มีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ต่อยอดมาจากปลาร้าจำหน่ายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปลาร้าหวาน และ ปลาแดกบอง ที่เป็นปลาร้าสับทรงเครื่องผัดกับน้ำมันมะกอก อร่อยเหาะอย่าบอกใคร
“ในอนาคต เราก็อยากพัฒนาสูตรอื่นๆ ออกมาเพิ่มอีก อย่างสูตรน้ำปลาร้าเพื่อสุขภาพ เราก็มีทำออกมาแล้ว 3 สูตร เป็น โลว์โซเดียม คีโต และสูตรเจ ซึ่งมีการใช้พืชผักพื้นถิ่นอย่าง ใบสะทอน มาเป็นส่วนผสม ซึ่งเราคิดว่ามันจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นทั้งในไทยและการส่งออก” คุณเปิ้ล ทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก น้ำปลาร้าแม่ละมุล หรือ โทร. (081) 052-9863
เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2564