ขายอาหารออนไลน์ ข้อดีเยอะ ข้อเสียมาก แต่จะทำยังไงให้ได้กำไร ต้องรู้

ขายอาหารออนไลน์ ข้อดีเยอะ ข้อเสียมาก แต่จะทำยังไงให้ได้กำไร ต้องรู้
ขายอาหารออนไลน์ ข้อดีเยอะ ข้อเสียมาก แต่จะทำยังไงให้ได้กำไร ต้องรู้

ขายอาหารออนไลน์ ข้อดีเยอะ ข้อเสียมาก แต่จะทำยังไงให้ได้กำไร ต้องรู้

อาชีพยอดฮิตยุคนี้ไม่มีอะไรเกินขายอาหารออนไลน์ คิดอะไรไม่ออก หันซ้ายหันขวา ขายอาหารออนไลน์หรือส่งดีลิเวอรี่ นี่ละดีที่สุด เพราะ 1. คนต้องกิน ยิ่งหยุดอยู่บ้านต้องกินใหญ่ 2. ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องลงทุนมาก อยู่ในตรอกซอกซอยก็ทำอาหารขายได้ 3. ต่อเนื่องจากข้อสอง หยุดอยู่กับบ้านก็ทำงานได้ ทำแค่คนเดียว 2 คน 3 คนได้หมด ไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ วันไหนอยากขาย วันไหนอยากหยุดได้ตามใจ ไม่มีใครมาบังคับ

4. อาหารออนไลน์ ค่อนข้างมีทางเลือกในการขายมากกว่าขายของอย่างอื่น สามารถเลือกทำตามความชอบ ความถนัดได้ เช่น ขายน้ำพริกใส่กระปุก ขายน้ำส้มคั้น 10 สายพันธุ์ (จริงๆ แค่ 3 สายพันธุ์) ชาชัก กาแฟ ขายก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ผัดกะเพรา ขนมเค้ก ครัวซองต์ ปาท่องโก๋ ฯลฯ ทุกอย่างขอให้มีคนสั่งกินเถอะขายได้หมด 5. ช่องทางในการขายค่อนข้างง่าย เปิดขายทางสื่อโซเชียลต่างๆ ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ขายผ่านฟู้ดแอพดีลิเวอรี่ต่างๆ ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการจัดส่ง

อันนั้นคือข้อดี แต่ข้อเสียของอาหารออนไลน์ก็มีเยอะ

1. คนขายชักมากกว่าคนกิน เพื่อนๆ เราก็พากันขายอาหาร จนเราต้องสั่งเขามั่ง เขาสั่งเรามั่ง ผลัดกัน 2. เมื่อมีคนขายเยอะ อาหารที่ขายชักซ้ำกันขึ้นเรื่อยๆ จนหาทางแหวกขึ้นมาโดดเด่นได้ยาก ขายชาชักเหมือนกัน ขาหมูเหมือนกัน กะเพราปู ข้าวผัดปู คนกินคนสั่งก็ได้ทีเลือกสั่งแต่ละวันแต่ละเจ้าไม่ซ้ำกัน แล้วแต่การโปรโมชั่น ไม่ถูกใจร้านไหนก็ไม่กลับไปสั่งอีก ครั้นจะขายอาหารแปลกๆ ก็กลัวคนไม่กิน

3. การจะให้ร้านเราโดดเด่น ก็ต้องทำการโฆษณา โปรโมชั่น เสียตังค์ให้แอพ โซเชียลต่างๆ 4. เข้าแอพขายอาหารดีลิเวอรี่ ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น หรือทางแอพเขาเรียกว่า GP (Gross Profit) ซึ่งแปลว่ากำไรสุทธิ ไม่รู้เหมือนกันว่ากำไรสุทธิของใคร มันควรจะเป็นของเรา แต่ต้องเอาไปให้แอพ เหลือกำไรสุทธิจริงๆ แค่ 15-20% ของราคาขาย แต่ก็น่าเห็นใจบรรดาแอพส่งของต่างๆ 30% ที่เก็บจากเราไป คือรายได้ของเขา ต้องเอาไปเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าไรเดอร์ ค่าบริหาร ค่าระบบที่คงยุ่งเหยิงยิ่งกว่าใยแมงมุมมีหยากไย่เกาะ

5. อาหารหลายอย่างสูญเสียง่าย เก็บยาก ส่งยาก อายุสั้น หาภาชนะที่เหมาะสมใส่ก็ยาก เช่น พวกแกงมีน้ำ น้ำจิ้มต้องใส่ขวดเล็กขวดน้อย ก๋วยเตี๋ยวน้ำต้องแยกถุง อาหารนั้นยังบูดเสียง่าย ทำให้เราต้องสูญเสียไปมากมาย ยิ่งมีรายการอาหารหลายอย่างก็ต้องสะสมของมาก เก็บนานไปเสียอีก เป็นต้นทุนทั้งนั้น อีกอย่างอาหารออนไลน์ ทำให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมากกว่าเมื่อก่อน ล้วนแล้วแต่ย่อยสลายยาก เป็นอันตรายต่อธรรมชาติและตัวเราเอง

6. คนขายอาหารออนไลน์ ไม่ค่อยคิดเรื่องต้นทุน ราคาขาย สต๊อกของ แรงงาน กำไร พอขายได้ก็ดีใจใหญ่ แต่ขายยังไงไม่กำไรสักที

ข้อ 6 นี้แหละครับที่จะมาสาธยายกันในตอนนี้

ทำยังไงให้ขายอาหารออนไลน์ให้ได้กำไร หรือพูดซะใหม่ว่าขายยังไงถึงจะไม่ขาดทุนมีกำไรพออยู่ได้

คำตอบคือต้องคิดต้นทุน ค่าใช้จ่าย รายได้อย่างถี่ถ้วนครับ แยกเป็นค่าใช้จ่าย 2 แบบคือ

1. ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าแรงตัวเราเอง ค่าเช่าที่ (ถ้ามี) ค่าดอกเบี้ย (ถ้าไปกู้เขามาเปิด แต่อย่ากู้เลย)

2. ค่าใช้จ่ายผันแปร เพิ่มขึ้นตามการขาย ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ไฟ แก๊ส ทำมากใช้มาก ค่าโฆษณา ค่า GP

ส่วนรายได้นั้นมีทางเดียวคือจากการขายอาหารเท่านั้น

การที่จะขายอาหารออนไลน์ไม่ให้ขาดทุนและได้กำไรนั้น ต้องตั้งเป็นกรอบไว้ว่า ค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย อย่าให้เกินเปอร์เซ็นต์ที่เราตั้งกรอบไว้ เราก็จะได้กำไรตามเป้าที่เราต้องการ

มาดูรูปกราฟวงกลมอันนี้เลย เป็นกรอบค่าใช้จ่ายและกำไรที่ว่าไว้สำหรับการขายอาหารออนไลน์

 

จากรูป ตี๊ต่างว่ารายได้เราเป็น 100 บาท หรือ 100% แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ค่าวัตถุดิบ รวมแพ็กเกจ ค่าถุง น้ำจิ้ม ค่าแก๊ส ค่าน้ำ ค่าไฟ คิดเป็น 30% ของรายได้

2. ค่า GP แอพ หรือค่าคอมมิชชั่น ตัดใจให้เขาไปประมาณ 30% (บางเจ้าไม่ถึง)

3. ค่าแรงพนักงาน 10% ของรายได้

4. ค่าบริหาร ค่าตัวเรา ค่าเช่า ดอกเบี้ย อีก 10% หรือรวมข้อ 3 ข้อ 4 เป็นค่าแรงงานและค่าบริหารกันอย่าให้เกิน 20%

5. ค่าโฆษณา 5% ของรายได้ การขายผ่านแอพต้องยอมเสียเงินค่าโฆษณาบ้างถึงจะขึ้นหน้าแรก หรือหน้าโปรโมชั่น ซึ่งต้องเลือกกลุ่มเป้าหมาย จำนวนเงินค่าโฆษณาแต่ละวัน ถ้าเรามียอดขายสูงก็สามารถโฆษณาได้มาก

6. กำไรสุทธิจริงๆของเราเหลือ 15% ของรายได้ ถ้าไม่มีการโฆษณาส่วนนี้เพิ่มเป็น 20%

การขายอาหารผ่านแอพส่วนที่ต่างไปจากการขายอาหารมีหน้าร้าน คือค่า GP นี่แหละที่ทำให้กำไรเราลดลง และต้องไปลดต้นทุนส่วนค่าแรง ค่าบริหาร ซึ่งถ้าเราทำร้านแบบมีตัวตน ค่าบริหารรวมค่าแรงจะมาแทนที่ GP ใช้ได้ถึง 30% ทำให้เราหายใจ มีแรงขยับขยายได้มากกว่า ค่าวัตถุดิบ น้ำ แก๊ส ไฟ 30% เท่าเดิมแต่ไม่ต้องเสียค่าแพ็กเกจหยุมหยิม กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 30% และยังเหลืออีก 10% เอาไว้เผื่อของสูญเสีย

กลับมาดูวิธีการประมาณการสัดส่วนต้นทุน กำไร

ในการขายอาหารออนไลน์ที่บ้าน สมมติว่าไม่ต้องเสียค่าเช่า ขายอาหารพวกอาหารผัดเป็นกล่องๆ จ้างแรงงานมาช่วย 1 คน วันละ 300 บาท 30 วัน เป็น 9,000 บาท เป็นรายจ่ายคงที่ที่มีแน่ๆ

เพราะฉะนั้น เราสามารถประมาณการยอดขายที่เราต้องทำให้ได้ต่อเดือนได้เลยครับ คิดจากค่าแรง 10% ของรายรับ ตั้งการคำนวณบัญญัติไตรยางศ์ (วิธีนี้เป็นของคนรุ่นเก๋ากึ๊ก เด็กรุ่นใหม่ไม่มีคนรู้จักคำนี้ ใช้เครื่องคิดเลขกด % แทน)

บัญญัติไตรยางศ์ เขาตั้งวิธีการทำอย่างนี้ครับ

ค่าแรง 10 บาท คิดจากรายได้                  =                      100                  บาท

ถ้าค่าแรง 9,000 บาท จะคิดจากรายได้      =                      (100/10)x9,000 บาท

เพราะฉะนั้น ต้องมีรายได้                          =                      90,000             บาท

 

จะได้รายได้เดือนละ 90,000 บาท ต้องขายให้ได้วันละเท่าไหร่ก็เอา 30 หาร = 3,000 บาท

วันหนึ่งต้องขายให้ได้ 3,000 บาท ตีเสียว่าอาหารกล่องหนึ่งราคา 100 บาท

เราต้องขายให้ได้วันละ 3,000/100 = 30 กล่อง

 

ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นก็กำหนดให้อยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้ อย่าให้เกินเด็ดขาด โดยเฉพาะค่าวัตถุดิบ 30% เรามักจะสูญเสียไปกับการซื้อของมาเก็บ มาตุน ทับถมจนเน่าเสีย กลายเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่เกิน 30% เมื่อไหร่ที่ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายผันแปรเกินสัดส่วนที่เราตั้งไว้ ก็ขาดทุนแน่ครับ กำไรการขายอาหารออนไลน์ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว อย่างรายได้ 90,000 บาท เราจะได้กำไร 15% = 13,500 บาท

ถ้าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ก็ต้องเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นด้วย การขายอาหารออนไลน์จะได้กำไรมากๆ มี 2 แบบคือ 1. เพิ่มยอดขาย เอาปริมาณเข้าว่า 2. ขายของแพงขึ้น เอากำไรมากขึ้น ลดสัดส่วนของวัตถุดิบลงเหลือแค่ 25% เพิ่มกำไรเป็น 20% อาหารประเภทดูดี ต้นทุนต่ำ เอากำไรเยอะ เช่น ส้มตำปูม้า ข้าวผัดปู กุ้งเผา อย่างข้าวผัดปู สมมติทำต้นทุนได้ 50 บาท ขายออนไลน์กล่องละ = (100/25)x50 = 200 บาท ก็มีคนสั่ง แต่ต้องมีข้อแม้ว่า หน้าตาอาหารต้องดูดี เห็นเนื้อปูชัดเจน ข้าวผัดเม็ดสวย รสอร่อยขั้นเทพ

การใช้กรอบการคิดต้นทุนกำไรอย่างนี้ ทำให้เราไม่พลาด ไม่เจ็บตัว ถ้าดูแล้วยอดไม่เข้าเป้า ต้องรีบปรับวิธีการ ปรับเมนู เพิ่มการโปรโมชั่น

กรอบวงกลมจะเปลี่ยนสัดส่วนไปต่อเมื่อ เราขายได้มากๆ กำไรเยอะๆ สัดส่วนของต้นทุนคงที่จะเท่าเดิมยกเว้นเพิ่มคนงาน หรือลงทุนเพิ่ม สัดส่วนที่หายไปจะไปเพิ่มในส่วนของกำไรสุทธิ ส่วนค่า GP ค่าโฆษณา ค่าวัตถุดิบยังคงเปอร์เซ็นต์เท่าเดิม

ใครอยากขายอาหารออนไลน์หรือขายอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดเรื่องต้นทุนกำไร ลองนำวิธีการที่ว่ามานี้ไปคิดดูครับ ขอให้ร่ำรวยมีเงินทองพอกพูนกันทุกท่าน เทอญ