โครงการหลวง ส่ง สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 88 เข้าห้างเกรดพรีเมี่ยม ขายแข่งกับของเกาหลี-ญี่ปุ่น

เวลานี้หลายจังหวัดในบ้านเราไม่ใช่เฉพาะภาคเหนือเท่านั้นที่มีการปลูกสตรอว์เบอร์รี่กัน ภาคอีสาน ภาคกลางก็ปลูก อย่างที่ปากช่อง เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี และกาญจนบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อการท่องเที่ยวเสียมากกว่า โดยนำไหลที่ใช้ปลูกมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เรียกว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ทำเงินจริงๆ แต่เชื่อว่าบางคนคงไม่เคยรู้มาก่อนว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ในเมืองไทย กระทั่งมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

เน้นเพิ่มแอนโทไซยานิน

วันก่อนทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เชิญไปเยี่ยมชมโครงการงานวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” ที่มี ผศ.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สกว. และมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีแปลงทดลองอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

4

ผศ.พีระศักดิ์ เล่าว่า งานวิจัยนี้มี คุณมงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอกของคณะเป็นผู้ช่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ศึกษาการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงขึ้น จากคู่ผสม 6 สายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์พระราชทาน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 80, 50, 70 และ 72 รวมทั้งสายพันธุ์ 329 จากอิสราเอล และอากิฮิเมะจากญี่ปุ่น

“จากการวิจัยพบในเบื้องต้นว่า เมื่อนำพันธุ์พระราชทาน 80 ผสมกับพันธุ์อากิฮิเมะ น่าจะทำให้ได้สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ที่มีปริมาณแอนโทไซยานินสูง เนื่องจากพันธุ์อากิฮิเมะมีสารชนิดนี้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อยู่แล้ว คาดว่าอีก 2 ปีน่าจะรู้ผลอย่างแน่ชัด เพราะตอนนี้เป็นช่วงทดลองคู่ผสมของพันธุ์ต่างๆ อยู่ ต่อไปคนไทยจะได้ทานสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ใหม่ที่มีแอนโทไซยานินสูง ซึ่งสารนี้ช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก สกัดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในต่างประเทศอย่างอิตาลีก็มีการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เพื่อให้ได้แอนโทไซยานินสูงเช่นกัน”

ปกติเวลาไปซื้อสตรอว์เบอร์รี่ทานกัน เชื่อว่าคงมีน้อยคนที่จะสอบถามคนขายว่าเป็นพันธุ์อะไร แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 แทบทั้งนั้น เพราะเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกัน ที่สำคัญ เป็นพันธุ์ที่เหมาะกับการทานผลสด

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-79

พันธุ์พระราชทาน80

ดังที่ ผศ.พีระศักดิ์ อธิบายว่า ลักษณะดีของสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 คือ เมื่อเริ่มสุกมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน เนื้อผลแน่น ผลสุกมีสีแดงสดถึงแดงจัด รูปร่างของผลสวยงาม จึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบเพาะปลูกในเชิงการค้าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ดังกล่าวยังมีลักษณะด้อยบางประการ เช่น มีปริมาณแอนโทไซยานินน้อย ผิวบาง ช้ำเสียง่าย ไม่ทนต่อการขนส่ง ทำให้เกิดปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวคือ ผลสูญเสียทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ จึงควรมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น นั่นคือมีปริมาณแอนโทไซยานินสูง และมีอายุการเก็บรักษายาวนาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

พันธุ์พระราชทานสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

อย่างไรก็ตาม ขณะที่สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปีที่แล้ว ในชื่อพันธุ์พระราชทาน 88 ในโอกาสที่พระองค์ท่านมีพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา นับเป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานชนิดสุดท้ายในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

เรื่องนี้ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ให้ข้อมูลว่า พันธุ์พระราชทาน 88 นี้ ปัจจุบันทางโครงการหลวงยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แต่ปลูกเฉพาะในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ของโครงการหลวง จำนวน 5 ไร่ เป็นการทดลองก่อน รอการทำการตลาดสักพักขอให้นิ่งในเรื่องการบรรจุ แล้วค่อยกระจายพันธุ์ออกไป เนื่องจากเป็นพันธุ์ใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซึ่งทางโครงการตั้งเป้าจะส่งขายในห้างระดับพรีเมี่ยม ราคาต่อกิโลกรัมจะแพงกว่าพันธุ์อื่น ตกกิโลกรัมละ 400-500 บาท เพราะคุณภาพสามารถสู้ได้กับสตรอว์เบอร์รี่จากต่างประเทศอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-78

“จุดเด่นของสายพันธุ์พระราชทาน 88 คือเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดในไทย คือเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 กับพันธุ์พระราชทาน 60 ซึ่งมีผลดีตรงที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี รสชาติดี เนื้อละเอียดแน่น ทนต่อการขนส่งได้ดี กลิ่นหอมโดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น ผิวสวย เหมาะกับการทานผลสด บางคนถึงกับบอกว่าทานแล้วละลายในปาก ขนาดลูกใหญ่แต่ไม่ใหญ่เท่าพันธุ์พระราชทาน 80 โดยในปลายปี 2559 ถึงต้นเดือนมกราคม 2560 จะวางขายที่โครงการหลวง มีทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่กว่า 20 สาขา”

ดร.ณรงค์ชัย แนะนำว่า จากการวิจัยระบุว่า หากหญิงมีครรภ์ได้ทานสตรอว์เบอร์รี่วันละ 8 ลูกจะเป็นผลดีต่อครรภ์เพราะมีกรดโฟลิก อีกหน่อยหากงานวิจัยนี้เสร็จจะทำให้การทานสตรอว์เบอร์รี่เป็นไปเพื่อสุขภาพมากขึ้นแทนที่จะทานอร่อยอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงินเบื้องต้นจำนวน 500,000 บาท ให้ทางมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อปรับปรุงพันธุ์ จนล่าสุดได้พันธุ์พระราชทาน 88 แต่น่าเสียดายที่พระองค์ท่านยังไม่ได้ทรงชิม พูดได้ว่าพันธุ์พระราชทาน 88 เป็นสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์สุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ท่าน

%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%a7%e0%b9%8c2

หน้าตาพันธุ์พระราชทาน88

ดังที่เกริ่นไปตอนแรก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ อย่างที่ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ให้รายละเอียดว่า สตรอว์เบอร์รี่เหมือนเป็นพืชมงคลที่พระองค์ท่านสนพระราชหฤทัยเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่เริ่มตั้งโครงการหลวง อย่างแรกคือ พีช หรือลูกท้อ เป็นต้นตอพันธุ์พื้นเมือง แล้วนำยอดพันธุ์ดีมาเสียบ ทดแทนการปลูกฝิ่น เพราะรายได้สูงกว่าฝิ่น แต่เนื่องจากท้อใช้ระยะเวลานานเป็น 4-5 ปีกว่าจะได้ผลผลิต จึงทรงแนะนำให้หันมาส่งเสริมชาวบ้านปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ที่ดอยอินทนนท์ เมื่อปี 2517-2518 เริ่มแรกมีชาวบ้านเข้าร่วม 3 ราย ซึ่งได้ผลตอบแทนดีและเร็ว ต่อมาก็มีถั่วแดงหลวง

“ถ้าไปดูภาพเก่าๆ จะเห็นพระองค์ท่านเสด็จฯ ในแปลงสตรอว์เบอร์รี่ในยุคแรกที่ทรงชุดทหาร จากนั้นเสด็จฯ มาตลอดเวลา อย่างที่บอกตั้งแต่ปี 2540 ที่พระองค์ท่านพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้กับโครงการหลวงจำนวน 500,000 บาท เป็นต้นทุนในการวิจัยพัฒนารูปแบบการปลูกสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ต่างๆ พระองค์ท่านสนพระราชหฤทัย และทรงรู้ลึกซึ้งเรื่องเกษตรมาก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้พวกเรามีสตรอว์เบอร์รี่บนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในหรือนอกโครงการหลวง ที่สำคัญ เป็นพระราโชบายของในหลวงในการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น”

ดร.ณรงค์ชัย บอกว่า ตอนนี้เกษตรกรหันมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่กันมากเพราะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่บูมมาก ไปที่ไหนคนก็อยากบริโภคสตรอว์เบอร์รี่ ดังนั้น ตามรีสอร์ต ตามโรงแรมต่างๆ และบนดอยก็อยากปลูกขาย พร้อมปลูกโชว์ด้วย ทำให้สตรอว์เบอร์รี่กระจายเร็วมากในช่วงสองสามปีมานี้ ประกอบกับพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นลูกผสมที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และเจริญเติบโตได้ดีในเมืองไทย จึงทำให้ปลูกได้แพร่หลายมากขึ้น

%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%ad1

เกษตรกรเน้นปลูกทานผลสด

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีพันธุ์พระราชทาน 80 ก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ มาแล้ว เช่น พันธุ์พระราชทาน 60 เป็นพันธุ์แรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช กับกรมวิชาการเกษตร แต่น่าเสียดายพันธุ์พระราชทาน 60 ส่งเสริมได้แค่ 2 ปี ก็มีพันธุ์พระราชทาน 80 ขึ้นมา ซึ่งอร่อยกว่า ดีกว่า เลยเป็นที่นิยมและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งพันธุ์พระราชทาน 80 ปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยเป็นลูกผสมที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นแล้วนำเมล็ดเข้ามาเพาะที่สถานีวิจัยดอยปุยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2554 และมาคัดเลือกพันธุ์กัน ใช้เวลา 5-6 ปี จนได้พันธุ์นี้ขึ้นมา จากนั้นค่อยๆ ทดลองส่งเสริม เริ่มแรกทดลองที่อ่างขางก่อน แล้วค่อยให้ชาวบ้านปลูก นักท่องเที่ยวมาทานแล้วชอบใจเพราะรสชาติหวาน

ประกอบกับสตรอว์เบอร์รี่ที่ปลูกด้วยไหลโตไวมาก เป็นพันธุ์ที่ถือว่าปรับตัวเข้ากับเมืองไทยได้ รสชาติดี ส่วนผลผลิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสูงและความหนาวเย็น อย่างที่เชียงใหม่อาจจะเก็บยาวได้ถึงเดือนเมษายน แต่ที่เขาค้ออาจจะแค่ต้นเดือนมีนาคมก็หมดแล้ว

“การปลูกต้องอาศัย 2 เงื่อนไขคือ ความหนาวเย็นกับช่วงวันสั้น เน้นให้เกิดตาดอกต่อเนื่อง ถ้ามีแค่แผล็บเดียวจะเกิดแค่ 1-2 ช่อ ต่อไปก็ไม่เกิด ปกติสตรอว์เบอร์รี่ใน 4 เดือน มี 7 ช่อดอก ที่จะออกมา 7 รุ่นแทงออกมา ช่อดอกหนึ่งประมาณ 10 ผล หรือ 15 ผล ซึ่งถ้าที่ไหนความหนาวเย็นไม่ต่อเนื่องช่อ 3, 4, 5, 6 จะไม่ออกมา ช่วงนี้ก็สั้นลง ไม่เหมือนที่อากาศหนาวๆ อย่างที่ดอยอ่างขาง ขุนวาง ซึ่งถ้าไปปลูกที่ภูทับเบิก 1,400 เมตร ที่นั่นจะเก็บยาวกว่าที่เขาค้อ เพราะในช่วง 100 เมตร อุณหภูมิลดลง 1 องศาเซลเซียส”

ดร.ณรงค์ชัย ระบุว่า สมัยก่อนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สตรอว์เบอร์รี่ปลูกเพื่อส่งแปรรูป 80 เปอร์เซ็นต์ ทานผลสด 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีผลผลิตส่งให้โรงงานเลย ส่งได้น้อยมากแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เพราะปลูกเพื่อแปรรูปน้อยมาก ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อทานสดกัน ในขณะที่ความต้องการมีสูง ไม่ว่าจะเป็นแยม ขนมนมเนยต่างๆ อย่างกูลิโกะและยามาซากิที่ซื้อกับโครงการหลวงก็ยังหาผลผลิตให้ไม่ได้ ต้องรอเดือนมีนาคม-เมษายน ที่รอให้ตกเกรดก่อน แต่ก็เป็นสตรอว์เบอร์รี่ทานสด เนื้อนุ่มและรสชาติหวาน ไม่ใช่แบบที่นำไปแปรรูป ซึ่งต้องใช้ผลที่แข็งและเปรี้ยว ดังนั้น ในการแปรรูปต้องไปเติมสารให้เปรี้ยวขึ้นอีก

ทั้งหมดนี้ คงทำให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นกันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยและทรงรอบรู้เรื่องเกษตรจริงๆ และส่งผลทำให้พวกเราได้ทานสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ที่มีรสชาติหวานอร่อย