เอสเอ็มอี ปลื้ม งานเกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี สาระเข้มข้น แนะให้จัดอีก

เอสเอ็มอี ปลื้ม งานเกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี สาระเข้มข้น แนะให้จัดอีก
เอสเอ็มอี ปลื้ม งานเกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี สาระเข้มข้น แนะให้จัดอีก

เอสเอ็มอี ปลื้ม งานเกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี สาระเข้มข้น แนะให้จัดอีก

ลุล่วงไปอย่างชื่นมื่นและงดงาม สำหรับงาน เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค. ที่ผ่านมา หลายคนที่ได้มาสัมผัส ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่ง

ปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs

คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เริ่มต้นจาก ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs” จาก คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“ขอบคุณเครือมติชน ที่จัดกิจกรรมมีประโยชน์และทำให้พี่น้องประชาชนมีพลังใจและมีพลังที่จะต่อสู้ในธุรกิจ เอสเอ็มอี นับเป็นธุรกิจที่มีคุณค่าและเป็นฐานรากของประเทศไทยอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะประเทศไทย ด้วยธุรกิจจะเติบโตเป็นรายใหญ่ได้ต้องเติบโตจากเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ในหลายประเทศก็เติบโตจากเอสเอ็มอี” คุณสุชาติ เริ่มต้นอย่างนั้น

ก่อนระบุอีกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อ่อนไหวสุดคือ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลิกจ้าง ปิดตัว ไม่มีเงินทุนพอจะหล่อเลี้ยง ตนเลยเสนอโครงการเยียวยาเพื่อช่วยกันประคับประคองให้พ้นวิกฤตเพราะเราคำนึงแล้วว่าเอสเอ็มอีล้มไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีคนออกจากงานเป็นหลักล้านได้

“รัฐบาลมีความจริงใจและมีความคิดช่วยเหลือเอสเอ็มอี ล่าสุด นโยบายกระทรวงแรงงาน ผมได้ทำโครงการเสนอนายกฯ ผ่าน ครม. แล้วคือ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี ประคับประคองเอสเอ็มอีให้อยู่รอดปลอดภัยใน 3 เดือนนี้ ถ้ายังไม่ดีพอเราขยับต่อได้ โดยช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างจำนวน 200 คนลงมา”

คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-มกราคม 2565 ซึ่งนายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างเข้าร่วมโครงการ” รมว.แรงงาน เผย

ก่อนบอกจริงจัง เอสเอ็มอี ก็เหมือนต้นไม้เล็กปลูกจากเมล็ดได้ แต่กว่าจะเติบโตต้องใช้เวลา แต่เติบโตแล้วแข็งแรง แต่ถ้าตัดตอนจากกิ่ง อาจโตเร็ว แต่สู้ความแข็งแรงของต้นไม้ที่โตจากรากไม่ได้ ท่ามกลางโควิดนี้ ย่อมมีเอสเอ็มอี ล้มหายตายจากมีแน่นอน แต่ถ้าผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ท่านไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เพราะถือว่าท่านสู้กับวิกฤตของโลก ท่านจะมีความแข็งแรง เข้มแข็ง วันหนึ่งเราจะไปถึงจุดที่สำเร็จได้

คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ด้าน คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ “SME ในยุค Next Normal” ว่า คำว่า “เน็กซ์นอร์มอล” หรือ “นิวนอร์มอล” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเศรษฐกิจและสังคมไทยมีวิวัฒนาการต่อเนื่องอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และยอมรับให้ได้

เมื่อก่อนใครจะคิดว่าเราไม่ต้องเข้าธนาคาร แต่ทุกวันนี้แทบไม่ต้องเข้าธนาคาร เพราะทำธุรกรรมเกือบทุกอย่างบนออนไลน์ได้ และเร็วๆ นี้ที่จะเป็นนิวนอร์มอลคือ เราไม่ต้องพกบัตรเอทีเอ็มแล้ว เพราะสามารถกดเงินแบบไม่ใช้บัตรได้ อย่างไรก็ดี แม้โลกจะมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างรวดเร็ว แต่มีที่รวดเร็วกว่านั้นอีกคือ โควิด ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2563

คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ผู้บริหาร สสว. กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอีบ้านเราเก่งมาก มีวิธีคิดและวิธีดิ้นรน เนื่องจากเอสเอ็มอีบ้านเรามีขนาดเล็ก จึงปรับตัวได้ง่าย ขณะที่บริษัทใหญ่ทำได้ยากนิดหนึ่ง เพราะสายการผลิตหรือเส้นทางธุรกิจเป็นแบบแผนมาก จะเปลี่ยนทีต้องใช้เวลา ขณะที่เอสเอ็มอี เช่น ร้านเพนกวิน อีท ชาบู สามารถปรับตัวช่วงโควิดด้วยการขายหม้อด้วย ขายชาบูด้วย หรือเมื่อระบาดระลอกสองก็เอาทุเรียนมาขาย

ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยด้วยว่า จะฟื้นตัวระดับก่อนโควิดได้เร็วสุดในปี 2566 ดังนั้น ปี 2565 จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นรูปตัวเค คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งมากขึ้นเหมือนขาของตัวเคที่ห่างออกจากกัน เอสเอ็มอีจึงต้องพยายามประคองตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ธุรกิจขาขึ้นในกลุ่มดิจิทัล โซลูชั่น ยังไปได้ดี ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวอาจยังลำบากอยู่

จากเด็กกรีดยาง สู่นักธุรกิจพันล้าน ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนมีฝัน

คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)
คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ที่มาบรรยายในหัวข้อ “จากเด็กกรีดยาง สู่นักธุรกิจพันล้าน ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนมีฝัน” กล่าวตอนหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นของชีวิตตนเองมาจากเด็กกรีดยางบ้านนอก แต่ด้วยมุมมอง ‘ชีวิตต้องดีกว่านี้’ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

เริ่มจากการทำงานหลายอย่างช่วงที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย ทั้งการทำธุรกิจประเภทขายประกัน ธุรกิจขายตรง จนสามารถค้นพบแก่นแท้ของการทำธุรกิจขายตรงที่ว่า ‘ถ้าคุณสามารถช่วยเหลือให้คนอื่นประสบความสำเร็จจำนวนมากพอ คุณก็จะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดีมากขึ้น’

สำหรับเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ คุณนพกฤษฏิ์ เล่าว่า ต้องวางจุดเริ่มต้นให้ชัดเจน โดยตนเริ่มจากการวางจุดมุ่งหมายว่า การทำธุรกิจต้องสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมได้ หลังจากนั้นเริ่มหาแก่นคุณค่าจากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งตนเองค้นพบว่า คุณค่าที่มีอยู่สามารถช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีพลังงานในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาได้

ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง

คุณไนน์-นัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการ และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok
คุณไนน์-นัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการ และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาดีๆ จากเวทีเสวนา หัวข้อ “ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” โดย คุณไนน์-นัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการ และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok รถส่งอาหารระดับเมนูมิชลิน กล่าวตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ ป๊อกป๊อก มีรถขายอาหาร 6 คัน วิ่งเส้น สุขุมวิท-บางนา ดอนเมือง-สรงประภา งามวงศ์วาน จตุจักร และกำลังจะเปิด เส้นรังสิต เป็นเส้นทางล่าสุด โดยภายในปีนี้ตั้งใจจะเพิ่มรถให้ได้ 10 คัน ส่วนปีหน้าจะเพิ่มให้ได้เป็น 30 คัน ครอบคลุมหลายเส้นทางมากขึ้น

โดยบางเส้นทาง ยอดขายวันละเป็นหมื่น หรือ 3 แสนต่อเดือนต่อคัน สำหรับแผนธุรกิจต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักมากขึ้น และจะทำอย่างไรให้การคืนทุนย่นระยะเวลาสั้นลง อย่างไรก็ตาม หากใครสนใจอยากร่วมเป็นครอบครัวเดียวกับป๊อกป๊อก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไรเดอร์ หรือร้านอาหาร สามารถติดต่อมาได้โดยตรงที่ โทร. 086-352-6870 หรือ เพจ ป๊อกป๊อก รถอาหารแสนอร่อย

กับคำถามสุดท้าย วิกฤตโควิด สอนอะไรบ้าง คุณไนน์ บอกจริงจัง

“เคยทำแอพเกี่ยวกับการเดินทางมาก่อน พอมาเจอวิกฤตโควิด มีการล็อกดาวน์ มันส่งผลกระทบเต็มๆ แต่ก็ไปต่อไม่รอแล้วนะ ถามตัวเองว่าทำอะไรได้ เห็นปัญหาอะไรบ้าง แล้วลงมือทำเลย ไม่ยึดติดว่าจะทำแต่งานเดิมๆ อาชีพเดิมๆ และตอนนี้ผมก็มาทำ ป๊อกป๊อก ครับ”

คุณท็อป–กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน
คุณท็อป–กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน

คุณท็อป–กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีเดียวกันว่า กุยช่ายสะพานหันเปิดมานาน 50 ปี โดยตนเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจได้ประมาณ 2 ปีกว่า ในช่วงโควิดระลอกสอง ยอดขายหน้าร้านตกลงไปมาก จึงคิดหาไอเดีย และโปรดักต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ล่าสุดปล่อยเมนูเบอร์เกอร์กุยช่ายออกมา เพราะค้นพบว่าช่วงเวิร์กฟรอมโฮมคนชอบสั่งฟาสต์ฟู้ดทานเวลาอยู่บ้าน เลยนำกุยช่ายมาทำเบอร์เกอร์ ตอนนี้ขายมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ผลตอบรับดีเกินคาด

“ผมเคลมได้เลย เบอร์เกอร์กุยช่าย คือเจ้าแรกของโลก แน่นอนว่าเป็นสิ่งใหม่คนไม่เคยเห็นกระแสจึงมีทั้งชอบและไม่ชอบ บางคนทานแล้วบอกเลี่ยนเกินไปไม่ดั้งเดิม แต่สิ่งที่ผมได้คือ ฟรีมีเดีย เพราะสินค้าเราน่าถ่ายรูป ทำให้มีเพจรีวิว มีรายการมาติดต่อขอสัมภาษณ์จำนวนมาก กระแสดีมาก ภายในค่ำคืนเดียวสามารถขายได้ 300 กล่อง และยอดขายยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ” คุณท็อป เผย

และทิ้งท้ายว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนสูงอายุเมื่อก่อนกดแอพสั่งอาหารทานไม่เป็นต้องฝากลูกหลานสั่ง ปัจจุบันนี้สั่งเป็นแล้ว และทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องขายหน้าร้านอย่างเดียว

สร้างอาชีพสุดปัง! เริ่มต้นอาชีพใหม่ กับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์

อาจารย์ยศพิชา คชาชีวะ จากสถาบันโรงเรียนแม่บ้านทันสมัย
อาจารย์ยศพิชา คชาชีวะ จากสถาบันโรงเรียนแม่บ้านทันสมัย

นอกจากเนื้อหาบนเวทีแล้ว ในห้องอบรมตลอดทั้ง 3 วัน ก็มีเนื้อหาเข้มข้นไม่แพ้กัน เริ่มต้นจาก คอร์สอบรม หัวข้อ “How To ขายอาหารออนไลน์ ทำอย่างไรให้ได้กำไร” โดย อาจารย์ยศพิชา คชาชีวะ จากสถาบันโรงเรียนแม่บ้านทันสมัย ที่เป็นทั้งกูรู วิทยากร คอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง ที่มาเปิดทริก ขายอาหารออนไลน์ ยังไงให้ได้กำไร ขายเมนูไหนถึงรวย

“การขายอาหารออนไลน์ ต้องให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอาหาร เช่น วัตถุดิบ ให้เน้นความแปลกใหม่ รวมถึงการเลือกแพ็กเกจจิ้ง ควรเลือกให้ดีตอบโจทย์ลูกค้า และเหมาะกับอาหาร” อาจารย์ยศพิชา เริ่มต้น

ก่อนบอก แล้วขายอะไรถึงรวย ตนขอแนะนำ 2 ประเภทหลัก คือ ของแห้งและของสด ของแห้ง เช่น น้ำพริก ปลาแห้ง เครื่องปรุง ขนมไทย ขนมฝรั่ง เป็นต้น ของพวกนี้แพ็กใส่กระปุกขายง่าย ส่วนของสด เช่น อาหารกล่อง มีหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง หรืออาหารสุขภาพ กำลังเป็นเทรนด์ หรือจะขายวัตถุดิบสด เช่น อาหารทะเล สามารถขายได้เรื่อยๆ ถ้าอยู่ในแหล่งอาหารทะเล จะขายได้ดี

“การขายอาหารออนไลน์ สามารถยึดเป็นอาชีพจริงจังได้ เพียงแต่ผู้ขายต้องเจอกับข้อแม้หลายๆ อย่าง ที่ต้องรับมือให้ทัน เช่น การทำอาหารให้ทันออร์เดอร์ และการสต๊อกของต้องดูให้ดี รวมทั้งต้องรักษาคุณภาพอาหาร วัตถุดิบต่างๆ การบริการ ให้ลูกค้าประทับใจ” อาจารย์ยศพิชา ทิ้งท้าย

คุณบูม-เทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ มูมมาม
คุณบูม-เทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ มูมมาม

ถัดมาเป็นคอร์สอบรม หัวข้อ “How To ทำเพจให้ปังติดตลาด คนติดตามเป็นล้าน” โดย คุณบูม-เทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ มูมมาม ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังแบบไม่หวงวิชา ว่า การทำเพจสไตล์มูมมาม ทำให้ง่ายที่สุด คือทำให้คนรู้ว่า ต้องการนำเสนออะไร อย่างต้องการรีวิวอาหาร ก็ต้องนำเสนอว่า อาหารร้านนี้น่ากินยังไง นำเสนอรูปภาพหรือวิดีโอที่ดูแล้วน่ากิน ดูแล้วหิว เท่านั้นเลย

“พอทำไปเรื่อยๆ สปอนเซอร์ก็จะเข้ามาหาเรา ซึ่งทางมูมมาม เราได้รายได้มาจาก 2 ทาง คือ 1. ร้านอาหารเอง ที่ต้องการให้ทางเพจไปถ่ายที่ร้าน หรือไปทำโปรดักชั่นให้ 2. จากโฆษณาทางเฟซบุ๊ก ที่คนดูคลิปจบ เฟซบุ๊กก็จะคำนวณรายได้มาให้” คุณบูม ว่าอย่างนั้น

และว่า เปิดเพจแรกๆ อย่าไปสนใจว่าคนจะเห็นมากเห็นน้อย ไม่ต้องไปเครียดว่าเมื่อโพสต์แล้วคนจะไม่ไลก์ไม่เห็น ให้โพสต์อัพความเคลื่อนไหวของเพจเราไปให้สม่ำเสมอ มันจะต้องมีวันหนึ่ง ที่โพสต์ของเราตรงเป้าหมาย คนสนใจงานและคอนเทนต์แบบนี้ที่เราทำ

คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของเพจมนตรีส่วนป่า
คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของเพจมนตรีสวนป่า

มาถึงคอร์สอบรมในวันสุดท้าย หัวข้อ “How To ขายต้นไม้ออนไลน์ ทำอย่างไรให้ได้เงินล้าน” โดย คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของเพจมนตรีสวนป่า อดีตหนุ่มออฟฟิศที่ทิ้งเงินเดือนประจำ หันมาทำอาชีพค้าขายสินค้าเกษตรออนไลน์ รายได้ไม่ธรรมดา ให้ความรู้ว่า ใจความสำคัญของการทำสินค้าให้ขายดีบนโลกออนไลน์ มีอยู่ 3 ปัจจัยเท่านั้นคือ หนึ่ง สินค้าต้องมีคุณภาพ สอง ช่องทางการขายต้องมีคุณภาพ และ สาม ขายให้เห็นภาพ ซึ่งปัจจัย 3 ตัวนี้ใช้ได้กับทุกสินค้า ไม่จำเป็นต้องเป็นต้นไม้ หรือสินค้าเกษตรเท่านั้น

“สินค้าคุณภาพมันขึ้นอยู่กับเจ้าของสินค้า ส่วน ช่องทางการขาย คือ ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สามารถเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในช่องทางนั้นได้ เพื่อให้เกิดคุณภาพของการขาย เช่น ผมขายต้นไม้ป่าเศรษฐกิจ กลุ่มเป้าหมาย คือ คนสูงวัย คนที่มีที่ดิน หรือคนที่ต้องการลดภาษีที่ดิน ต้องไปดูช่องทางว่า คนเหล่านี้อายุเท่าไหร่ อยู่ในช่องทางไหน พอตอบได้ค่อยวิเคราะห์ลึกลงไปอีก ตัวเราควรไปอยู่ช่องทางไหน” คุณอรรถกร บอกอย่างนั้น

และว่า ส่วนการขายให้เห็นภาพ คือนำ ผลที่ได้รับ (Result) มาให้ลูกค้าเห็น เพื่อเรียกความสนใจ เช่น ขายต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม ถ้าโพสต์รูปต้นมะพร้าวไป มีหน่อขึ้นมาให้ลูกค้าซื้อไปปลูก คนอาจสนใจแต่ไม่มาก แต่ถ้าโพสต์ต้นมะพร้าวที่ออกลูกเต็มต้นเลย ออกลูกติดพื้นเลย ลูกใหญ่มาก ต้นหนึ่งเป็นร้อยลูก นี่คือ Result

คุณอรรถกร บอก เคล็ดลับอีกอย่างที่ทำให้สินค้าเกษตรออนไลน์ในแบบของเขาขายดีคือ ปิดการขายให้เร็วที่สุด อย่าให้ลูกค้าคิดเยอะ ต้องพยายามคิดแทนลูกค้าจะถามอะไรต่อ จากนั้นเขียน แคปชั่น หรือคำอธิบายให้กระชับ เข้าใจเลย ไม่ต้องถามอะไรเพิ่มแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ให้ไปดูตัวอย่างการโพสต์จากเพจที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้ในแบบของตัวเอง

เนื้อหาเข้มข้น เอสเอ็มอีเรียกร้องให้จัดอีก

โอกาสนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ สอบถามความเห็นผู้เข้าร่วมคอร์สอบรมครั้งนี้ จาก คุณพลกฤต โนสูงเนิน ว่า ตนยังเป็นนักศึกษา แต่มีความฝันอยากเปิดร้านอาหารแนวเกาหลี ที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อแล้วเดินทานได้ และจากการอบรมจากอาจารย์ยศพิชา กว่า 2 ชั่วโมง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ ว่ามีหลากหลายรูปแบบ

ส่วน คุณวรณัย ยุทธนาอมร ผู้เข้าร่วมอบรมคอร์สทำเพจให้ปัง บอกว่า ได้รับความรู้จากการอบรมในเวลา 2 ชั่วโมงเต็ม เช่น เทคนิคการทำเพจให้ดึงดูดคน, คอนเทนต์ ควรมีความยาวเท่าไหร่ถึงไม่ถูกปิดกั้น หรือการทำวิดีโอช่วยดึงดูดคนมากกว่ารูปภาพ ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่เคยรู้มาก่อน โดยคิดว่ากำลังจะเปิดเพจเป็นของตัวเองในเร็วๆ นี้ เมื่อมาอบรมทำให้มีแนวทางการทำเพจมากขึ้น แต่ยังแอบกลัวว่าจะไม่มีคนติดตาม ซึ่งวิทยากรก็ให้คำแนะนำเรื่องนี้ได้ดีเช่นกัน

ด้าน คุณอ้าย ผู้เข้าร่วมอบรมคอร์สเกษตรออนไลน์ บอกความรู้สึกว่า การได้มาอบรม เหมือนการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ นับว่ามีประโยชน์มาก ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทางเครือมติชน มีการจัดงานลักษณะนี้อีก สำหรับคอร์สที่สนใจคือ คอนเทนต์เกี่ยวกับการลงโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ