แรงต่อเนื่องวันที่สอง! งาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” แห่ชมไม้ด่างสุดแพง 20 กว่าล้านบาท ไม่ขาดสาย! 

แรงต่อเนื่องวันที่สอง! งาน “เกษตรมหัศจรรย์และวันเส้นทางเศรษฐี” แห่ชมไม้ด่างสุดแพง 20 กว่าล้านบาท ไม่ขาดสาย! 
แรงต่อเนื่องวันที่สอง! งาน “เกษตรมหัศจรรย์และวันเส้นทางเศรษฐี” แห่ชมไม้ด่างสุดแพง 20 กว่าล้านบาท ไม่ขาดสาย! 

แรงต่อเนื่องวันที่สอง! งาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” โดยเครือมติชน คนแห่ชมไม้ด่างสุดแพง 20 กว่าล้านบาท ไม่ขาดสาย! 

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ในเครือมติชน ผนึกกำลังจัดงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีทั้งกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ ถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กสื่อในเครือมติชน จัดเต็มความรู้ ประสบการณ์ และข้อแนะนำจากผู้บริหารภาครัฐและเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ฝ่าวิกฤตจนประสบความสำเร็จ เวิร์กช็อปสร้างอาชีพจากกูรูตัวจริงที่มาแนะเคล็ดลับสร้างอาชีพสุดปัง หนุนรายได้พุ่งยุคโควิด ขาดไม่ได้คือไฮไลต์เด็ดตลอด 3 วัน ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. ที่มติชนอคาเดมี อย่าง “มหัศจรรย์พรรณไม้” ที่เครือมติชนเฟ้นหาไม้ด่างหายากนับสิบต้น รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท มาให้ผู้สนใจได้ชมอย่างจุใจ พร้อมเปิด “GREEN MARKET” ตลาดต้นไม้ รวบรวมร้านต้นไม้ดังๆ ที่คัดสรรไม้สวยๆ เอาใจนักช็อปสายกรีนที่มองหาต้นไม้ไว้ประดับบ้าน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาจำนวนผู้เข้าชมงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ การตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ทั่วพื้นที่จัดงาน การทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะบ่อยๆ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 30 ตุลาคม เป็นวันที่สอง ในเวลา 10.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอรเทพ อินทรสกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นางดรุณี นิธิทวีกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางเจริญพิศ เอกอุรุ ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรืออากาศเอกหญิง ศุภพร อยู่วัฒนา ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ เดินทางมาร่วมงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” พร้อมชมโซน “มหัศจรรย์พรรณไม้” และ “GREEN MARKET” ด้วยความสนใจ โดยมีผู้บริหาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ ร่วมด้วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ เทคโนโลยีชาวบ้าน เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฯลฯ ให้การต้อนรับ

“รมว.แรงงาน” ย้ำ ส่งเสริม-รักษาการจ้างงานเอสเอ็มอี

รมต.สุชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs” ในสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “รู้แล้วรวย ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” โดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า ขอบคุณเครือมติชนที่จัดกิจกรรมมีประโยชน์ และทำให้พี่น้องประชาชนในธุรกิจเอสเอ็มอีมีพลังใจและมีพลังที่จะต่อสู้ ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีคุณค่าและเป็นฐานรากของประเทศไทยอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ทั่วโลกด้วย ธุรกิจจะเติบโตเป็นรายใหญ่ได้ก็ต้องเติบโตจากเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพในหลายประเทศก็เติบโตจากเอสเอ็มอี ซึ่งนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างมาก จำนวนผู้ใช้แรงงานในธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลในการประคับประคองและช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะได้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้และเสถียรที่สุด

รมว.แรงงาน กล่าวว่า จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีราว 11 ล้านคน จำนวนนี้เป็นต่างด้าวราว 1 ล้านคน นอกนั้นเป็นคนไทย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเอสเอ็มอี 5.6 ล้านคน ในมาตรา 33 มี 490,000 กว่ากิจการ เป็นเอสเอ็มอี 390,000 กว่ากิจการ ดังนั้น ในการจ้างงานเท่ากับว่า 80% เป็นเอสเอ็มอี ส่วนฝั่งลูกจ้างครึ่งหนึ่งคือเอสเอ็มอี ซึ่งช่วงที่คนออกจากงานเดือนละ 100,000-200,000 คน ส่วนมากเป็นเอสเอ็มอีที่ออก เพราะความแข็งแรงทางการเงินยังไม่เพียงพอที่จะรับกับพายุในปี 2563 ได้ แต่หลังจากที่นายกฯ ได้แก้ปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด สถานการณ์ก็คลี่คลาย มีโครงการเราชนะ มีคนละครึ่ง มีการจ้างงานเอสเอ็มอีสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อ่อนไหวสุดคือ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลิกจ้าง ปิดตัว ไม่มีเงินทุนพอจะหล่อเลี้ยง ตนจึงเสนอโครงการเยียวยาเพื่อช่วยกันประคับประคองให้พ้นวิกฤต เพราะคำนึงแล้วว่าเอสเอ็มอีล้มไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีคนออกจากงานเป็นหลักล้าน

“รัฐบาลมีความจริงใจและมีความคิดช่วยเหลือเอสเอ็มอี ล่าสุดนโยบายกระทรวงแรงงาน ผมได้ทำโครงการเสนอนายกฯ ผ่าน ครม. แล้ว คือ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี ประคับประคองเอสเอ็มอีให้อยู่รอดปลอดภัยใน 3 เดือนนี้ ถ้ายังไม่ดีพอเราขยับต่อได้ โดยช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างจำนวน 200 คนลงมา โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-มกราคม 2565 ซึ่งนายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างเข้าร่วมโครงการ พี่น้องเอสเอ็มอีเจอผมอาจบอกว่าน่าจะช่วยลูกจ้างอีก แต่ผมบอกว่าการช่วยนายจ้างก็มีผลส่งถึงลูกจ้างด้วย นี่คือนโยบายล่าสุดที่เราทำอยู่ เราคาดหวังว่าจะทำให้เอสเอ็มอีมีความแข็งแรง” รมว.แรงงาน เผย

รมต.สุชาติ กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอีก็เหมือนต้นไม้เล็ก เราปลูกจากเมล็ดได้ กว่าจะเติบโตต้องใช้เวลา แต่เติบโตแล้วแข็งแรง แต่ถ้าตัดตอนจากกิ่ง อาจโตเร็ว แต่สู้ความแข็งแรงของต้นไม้ที่โตจากรากไม่ได้ วันนี้เอสเอ็มอีล้มหายตายจากมีแน่นอน แต่ถ้าผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ก็ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เพราะถือว่าสู้กับวิกฤตของโลก จะมีความแข็งแรงและเข้มแข็ง

“ผมได้ให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกมิติ เช่น เงินทุน เราไม่มีแหล่งทุน แต่เราสามารถพาเขาไปหาสถาบันการเงิน สอนเขาทำบัญชี สอนการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอนนี้ผมให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปเข้าตามวิสาหกิจชุมชน สำรวจว่าจังหวัดนั้นๆ มีวัตถุดิบอะไรเยอะสุด เช่น สุพรรณบุรีมีข้าว ก็เอาข้าวมาแปรรูป ให้เขาเป็นวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแรง สามารถเติบโตเป็นคอร์เปอเรทรายใหญ่ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องสร้าง ฝากเรียนข้าราชการไปแล้วว่าต้องใส่ใจ เราอยู่กระทรวงแรงงาน แต่เราไปคุยกับคนอื่นได้ ผมเรียนนายกฯ และท่านมีดำริตลอดว่า เอสเอ็มอีคือการจ้างงานที่สามารถเติบโต ถ้าเขาไม่แข็งแรง เขาอาจลดลงเหลือ 3 ล้านคนก็ได้ อยู่ที่เราใส่ใจ” รมว.แรงงาน กล่าว

นายกิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน
นายกิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน

กุยช่ายสะพานหัน ผุด “เบอร์เกอร์กุยช่าย” คืนเดียวกลายเป็นไวรัลดัง

จากนั้นเป็นสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” โดย นายกิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน และ นายนัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของธุรกิจและผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok (ป๊อกป๊อก) รถขายอาหารเคลื่อนที่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า กุยช่ายสะพานหันเปิดมานาน 50 ปีแล้ว โดยตนเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจได้ประมาณ 2 ปีกว่า ซึ่งระหว่างทำเห็นว่าร้านไม่มีลูกค้าหน้าใหม่ มีแต่ลูกค้าประจำที่รับประทานกันมา 30 ปี จึงอยากปรับเปลี่ยนแบรนด์ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่การรับช่วงต่อก็มีอุปสรรค เพราะร้านอาหารที่เปิดมานานเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายรุ่น อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเก่า

นายกิตติศักดิ์ เผยว่า ก่อนหน้านี้เคยเปิดแบรนด์กุยช่ายฮ่องเต้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่เจอโควิดจนต้องปิดตัว เสียหายหลักล้านบาท แต่ก็ทำให้มีความมั่นใจในฝีมือและมีประสบการณ์มากขึ้น จึงกลับมาสานต่อกิจการที่บ้าน พอโควิดระลอกสอง ยอดขายหน้าร้านตกลงไปมาก จึงคิดไอเดียและโปรดักต์ใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย ล่าสุดปล่อยเมนูเบอร์เกอร์กุยช่ายออกมา เพราะค้นพบว่าช่วงเวิร์กฟรอมโฮม คนชอบสั่งฟาสต์ฟู้ด ตอนนี้ขายมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ผลตอบรับดีเกินคาด

“ผมเคลมได้เลย เบอร์เกอร์กุยช่ายคือเจ้าแรกของโลก แน่นอนว่าเป็นสิ่งใหม่คนไม่เคยเห็น กระแสจึงมีทั้งชอบและไม่ชอบ บางคนกินแล้วบอกเลี่ยนเกินไปไม่ดั้งเดิม แต่สิ่งที่ผมได้คือฟรีมีเดีย เพราะสินค้าเราน่าถ่ายรูป ทำให้มีเพจรีวิว มีรายการติดต่อขอสัมภาษณ์จำนวนมาก จากวันแรกตั้งเป้าไว้ขายแค่สาขาตลาดพลูได้สัก 20 กล่อง แต่ปรากฏว่ากระแสดีมาก ภายในค่ำคืนเดียวสามารถขายได้ 300 กล่อง และยอดขายยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ” ผู้บริหารกุยช่ายสะพานหัน กล่าว

ทายาทกุยช่ายสะพานหัน เผยต่อว่า ในอนาคตมีการพัฒนาโปรดักต์แน่นอน ปัจจุบันกำลังทำการวิจัยและพัฒนาให้สินค้าสามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดส่งได้แล้ว แต่อยากทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเปิดสาขาต่างจังหวัดภายในปี 2565 และจะเริ่มขยายแฟรนไชส์ตามหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ตอนนี้มีแฟรนไชส์แล้ว 4 สาขา แต่หากรวมสาขาทั้งหมดแล้วมี 15 สาขา กระจายทั่วกรุงเทพฯ

“สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนสูงอายุเมื่อก่อนกดแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารไม่เป็น ต้องฝากลูกหลานสั่ง ปัจจุบันนี้สั่งเป็นแล้ว และทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องขายหน้าร้านอย่างเดียว มีทั้งคลาวด์คิทเช่น ดีลิเวอรี่ หรือสตาร์ตอัพแบบป๊อกป๊อกก็น่าสน อยากฝากร้านที่ยังไม่มีตัวตนในออนไลน์ ต้องมีเพจ ทำคอนเทนต์บ่อยๆ ให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ ถ้ายังไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง อาจจะไปโพสต์ตามกลุ่มเฟซบุ๊ก ไลน์ก็ได้” นายกิตติศักดิ์ แนะนำ

นายนัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการและผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน PokPok (ป๊อกป๊อก)
นายนัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการและผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok (ป๊อกป๊อก)

“ป๊อกป๊อก” ปรับโมเดลรถพุ่มพวง สู่ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” 

ด้านนายนัฐพงศ์ จารวิจิต เจ้าของกิจการและผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PokPok (ป๊อกป๊อก) รถขายอาหารระดับมิชลินสตาร์ ธุรกิจมาแรงในฐานะสตาร์ตอัพของคนรุ่นใหม่ กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีเสวนา หัวข้อ “ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” ว่า ที่มาแนวคิดป๊อกป๊อกเกิดจากช่วงเวิร์กฟรอมโฮมต้องสั่งอาหารดีลิเวอรี่บ่อย จึงเห็นว่ามีราคาสูง และมีข่าวออกบ่อยๆ ว่าร้านอาหารบ่นเรื่องโดนเก็บค่าจีพีแพง จึงไปศึกษาโมเดลฟู้ดดีลิเวอรี่ โดยตั้งสมมติฐานร้านอาหารถูกเก็บค่าจีพีสูง แพลตฟอร์มต้องกำไรดี ปรากฏว่าไม่ใช่ แพลตฟอร์มยังขาดทุนอยู่ ร้านอาหารยังบ่นอยู่ ส่วนลูกค้าไม่รู้สึกว่าได้อาหารราคาสมเหตุสมผล แล้วโมเดลแบบนี้จะยั่งยืนและไปต่อได้จริงหรือ

“ข้อเท็จจริงที่ได้ทำให้อยากทำธุรกิจแนวนี้ แต่ต้องหาโมเดลธุรกิจแตกต่างออกไป เลยไปศึกษาโมเดลรถพุ่มพวง ที่เห็นมาตั้งแต่เกิด ทุกวันนี้ยังมีอยู่ แปลว่าโมเดลรถพุ่มพวงมีกำไร แต่อาจมีจุดด้อยคือรูปลักษณ์รุงรังและสินค้าไม่ตอบโจทย์คนในเมือง สินค้าหลายอย่างหาซื้อได้ตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตได้อยู่แล้ว เลยเกิดไอเดียว่าถ้ารถพุ่มพวงยกของอร่อยมาให้โดยไม่มีค่าส่งน่าจะดี เป็นที่มาของป๊อกป๊อก คือนำรถพุ่มพวงมาพัฒนาใหม่ วิ่งหาลูกค้า มีเส้นทางประจำ แต่เปลี่ยนจากขายของสด ของแห้ง มาเป็นขายอาหารพร้อมรับประทานที่ไปรับมาจากร้านดังๆ ย่านเยาวราช เช่น ก๋วยเตี๋ยวยู้ ก๋วยจั๊บนายอ้วน แกงกะหรี่นายโย่ง ข้าวหมูแดงเซี๊ย เพราะร้านดังๆ เหล่านี้ คนอยากกินอยู่แล้ว” นายนัฐพงศ์ เล่า

เจ้าของธุรกิจป๊อกป๊อก เผยอีกว่า ช่วงแรกเจออุปสรรคคือขายไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครรู้ว่าป๊อกป๊อกคืออะไร แต่ต่อมาคนก็รู้จักมากขึ้น ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมา 6 เดือนแล้ว มีลูกค้าประจำอยู่ราว 30 ชุมชน เป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และอาคารสำนักงาน มีรถขายอาหาร 6 คัน วิ่งเส้นสุขุมวิท-บางนา ดอนเมือง-สรงประภา งามวงศ์วาน จตุจักร และกำลังจะเปิดเส้นรังสิตเป็นเส้นทางล่าสุด โดยภายในปีนี้ตั้งใจจะเพิ่มรถให้ได้ 10 คัน ส่วนปีหน้าจะเพิ่มให้ได้เป็น 30 คัน ครอบคลุมหลายเส้นทางมากขึ้น ส่วนรายได้ ขณะนี้มียอดขายวันละหลักหมื่น หรือราว 300,000 บาทต่อเดือนต่อคัน แผนธุรกิจต่อไปคือจะทำอย่างไรให้คนรู้จักมากขึ้น และย่นเวลาการคืนทุนให้สั้นลง ซึ่งหากใครสนใจอยากร่วมเป็นครอบครัวเดียวกับป๊อกป๊อก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไรเดอร์หรือร้านอาหาร สามารถติดต่อมาได้โดยตรงที่ โทร. 086-352-6870 หรือ เพจ ป๊อกป๊อก รถอาหารแสนอร่อย

“ผมเคยทำแอพเกี่ยวกับการเดินทางมาก่อน พอมาเจอวิกฤตโควิด มีการล็อกดาวน์ มันส่งผลกระทบเต็มๆ แต่ก็ไปต่อไม่รอแล้วนะ ถามตัวเองว่าทำอะไรได้ เห็นปัญหาอะไรบ้าง แล้วลงมือทำเลย ไม่ยึดติดว่าจะทำแต่งานเดิมๆ อาชีพเดิมๆ และตอนนี้ผมก็มาทำป๊อกป๊อกครับ” เจ้าของธุรกิจป๊อกป๊อก กล่าว

นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ผู้บริหาร สสว. ชมเอสเอ็มอีไทยปรับตัวเก่ง 

ต่อมา นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสวนาหัวข้อ “SME ในยุค Next Normal” ว่า 2 ปีในช่วงโควิด ทำให้เห็นว่าโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เกิดคำว่า “เน็กซ์นอร์มอล” หรือ “นิวนอร์มอล” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเศรษฐกิจและสังคมไทยมีวิวัฒนาการต่อเนื่องอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และยอมรับให้ได้ เมื่อก่อนใครจะคิดว่าเราไม่ต้องเข้าธนาคาร แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่ต้องเข้าธนาคาร เพราะทำธุรกรรมเกือบทุกอย่างบนออนไลน์ได้ และเร็วๆ นี้ที่จะเป็นนิวนอร์มอล คือ เราไม่ต้องพกบัตรเอทีเอ็มแล้ว เพราะสามารถกดเงินแบบไม่ใช้บัตรได้

อย่างไรก็ดี แม้โลกจะมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างรวดเร็ว แต่มีที่รวดเร็วกว่านั้นอีกคือโควิด ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2563

“เดิมประเทศไทยมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน เช่น วิกฤตน้ำมัน วิกฤตต้มยำกุ้ง ฯลฯ ซึ่งทุกครั้งสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งที่บริษัทใหญ่ล้มหายตายจาก ลูกจ้างก็ออกไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นธุรกิจเอสเอ็มอีได้ แต่โควิดเป็นสิ่งที่แปลกกว่าทุกครั้ง เพราะเมื่อเกิดปุ๊บ มันหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศและของทั้งโลก เอสเอ็มอีจึงต้องหาทางเอาตัวรอดในภาวะปัจจุบัน” นายวรพจน์ กล่าว

ผู้บริหาร สสว. กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว เอสเอ็มอีบ้านเราเก่งมาก มีวิธีคิดและวิธีดิ้นรน เนื่องจากเอสเอ็มอีบ้านเรามีขนาดเล็ก จึงปรับตัวได้ง่าย ขณะที่บริษัทใหญ่ทำได้ยากนิดหนึ่ง เพราะสายการผลิตหรือเส้นทางธุรกิจเป็นแบบแผนมาก จะเปลี่ยนทีต้องใช้เวลา ขณะที่เอสเอ็มอี เช่น ร้านเพนกวิน อีท ชาบู สามารถปรับตัวช่วงโควิดด้วยการขายหม้อด้วย ขายชาบูด้วย หรือเมื่อระบาดระลอกสองก็เอาทุเรียนมาขาย

ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยด้วยว่า จะฟื้นตัวระดับก่อนโควิดได้เร็วสุดในปี 2566 ดังนั้น ปี 2565 จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นรูปตัวเค (K) คือความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งมากขึ้นเหมือนขาของตัวเคที่ห่างออกจากกัน เอสเอ็มอีจึงต้องพยายามประคองตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ธุรกิจขาขึ้นในกลุ่มดิจิทัล โซลูชั่น ยังไปได้ดี ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวอาจยังลำบากอยู่

“เอสเอ็มอีมีความเปราะบางจากโควิดมากกว่า แต่เอสเอ็มอีบ้านเราเก่งตรงพลิกตัวได้ง่าย ปรับนิดเดียวก็ไปต่อได้ เมื่อก่อนอาจปรับปีละครั้ง แต่พอโควิดมา บางทีอาจปรับทุกเดือน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จคือนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำธุรกิจ อย่างตอนนี้จะขายของออฟไลน์ไม่มีแล้ว เพราะทุกอย่างจัดออนไลน์ ดังนั้น ต้องหาทางทำการตลาดบนออนไลน์ให้ได้

“ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นแน่นอน และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์เอสเอ็มอีประเทศ ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องเชื่อมั่นและมองหาโอกาสสร้างธุรกิจ ดูว่าสินค้าหรือบริการที่เรามีสามารถตอบโจทย์ลูกค้าหรือไม่ ในอนาคตธุรกิจที่ไหลลื่นและปรับตัวได้เร็วที่สุดจะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ” ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สรุป

นายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)
นายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)

จากเด็กกรีดยางสู่นักธุรกิจพันล้าน

ด้านนายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) เสวนาหัวข้อ “จากเด็กกรีดยาง สู่นักธุรกิจพันล้าน ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนมีฝัน” ว่า ตนเป็นเด็กกรีดยางมาก่อน แต่ความที่อยากให้ชีวิตดีขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลายๆ ด้าน ทำงานหลายอย่างช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ทำงานทั้งขายประกัน ขายตรง จนกระทั่งมีทุกวันนี้

เคล็บลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ นายนพกฤษฏิ์ เล่าว่า ต้องวางจุดเริ่มต้นให้ชัดเจน สำหรับตนคือธุรกิจต้องสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมได้ และต้องวางกลยุทธ์ให้ชัดเจน

“องค์กรกับชีวิตคนมีลักษณะคล้ายกัน ไม่มีหรอกชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องเจออุปสรรคมากมาย แต่ด้วยเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ เป็นคนที่ฮึดสู้อยู่เสมอ จึงกลายเป็นคนที่ต้องชนะอุปสรรคและก้าวไปสู่เส้นทางต่อไปได้”

“ทุกเรื่องในชีวิตของเราไม่ได้จบในเรื่องนั้นๆ มันจะกระทบต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยเรื่อง ดังนั้น เราจึงควรเริ่มต้นดูแลร่างกายของเรา เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้วก็จะส่งผลกระทบอีกหลายเรื่อง ที่สามารถมอบคุณค่าต่อไปได้ นอกจากนั้น ดูแลความคิดความอ่านของเรา ให้มีความหวัง มีพลังงาน ดูแลอารมณ์ความรู้สึกให้ดี แล้วก็จัดเวลาในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิต” นายนพกฤษฏิ์ ปิดท้าย

 

คุณบูม-เทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ มูมมาม

เจ้าของเพจดัง “มูมมาม”  เปิดเคล็ดลับทำเพจให้คนตามเป็นล้าน 

ด้านเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มสื่อด้านเอสเอ็มอีที่มีผู้ติดตามมากเป็นอันดับต้นๆ จัดเวิร์กช็อปสร้างอาชีพ “How To มูฟออน : เริ่มต้นอาชีพใหม่ กับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ฟรี! หลักสูตรละ 20 คน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม เวลา 13.00-15.00 น. ที่มติชนอคาเดมี โดยวันที่ 30 ตุลาคม จัดเวิร์กช็อป “How To ทำเพจให้ปังติดตลาด คนติดตามเป็นล้าน” โดยนายเทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ “มูมมาม” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน

เจ้าของเพจดัง แนะการทำเพจว่า เริ่มแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าจะทำเพจเกี่ยวกับอะไร เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุด เมื่อมีเป้าหมายแล้วตัวตนต้องชัดเจน อาจสะท้อนออกมาจากชื่อแบรนด์ ซึ่งต้องตั้งให้เข้าใจง่ายและชัดเจน ต้องสร้างประโยชน์ให้คนดู เช่นเพจมูมมาม คนดูจะได้เห็นภาพอาหารและร้านอาหารที่หลากหลายที่อาจไม่เคยไปมาก่อน เป็นต้น ควรนำเสนอคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“อย่างผมต้องการรีวิวอาหาร ก็ต้องนำเสนอว่าอาหารร้านนี้น่ากินอย่างไร ก็เสนอรูปภาพหรือวิดีโอที่ดูแล้วน่ากิน ดูแล้วหิว พอทำไปเรื่อยๆ สปอนเซอร์ก็จะเข้ามาหาเรา ซึ่งรายได้ของเพจมูมมามมาจาก 2 ทาง คือ ร้านอาหารที่ต้องการให้เพจไปถ่ายที่ร้าน และจากโฆษณาทางเฟซบุ๊ก ที่คนดูคลิปจบ เฟซบุ๊กก็จะคำนวณรายได้มาให้” เจ้าของเพจมูมมาม บอก

 

ทยอยชมไม้ด่างหายากไม่ขาดสาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” โซนที่ได้รับความสนใจและเรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าชมงานอย่างมากคือ “มหัศจรรย์พรรณไม้” ที่เครือมติชนคัดสรรไม้ด่างหายากมาให้ทุกคนได้ชื่นชมความงาม เรียกว่าครบจบในที่เดียว มีไฮไลต์เด่นคือ มอนสเตอร่าด่างมินต์ มูลค่า 4.9 ล้านบาท ของนายจิรวุฒิ พัฒนพงศ์พิบูล แห่ง Avatar Garden ที่นำต้นไม้อื่นๆ อาทิ จินนี่ด่างหรือมอนสเตอร่าด่างพันธุ์จิ๋ว มูลค่า 3 ล้านบาท ไม้เลื้อยใบฉลุ มูลค่า 1.7 ล้านบาท พลูฉลุด่างยักษ์ มูลค่า 300,000 บาท มาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิด

ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงานด้วยเช่นกันคือ ไม้หายากของนายนิรินาทย์ เธียรวรโชค เจ้าของ The Lord of the Garden สวนเดอะลอร์ด เช่น ไหมทอง มณีจันทร์ มูลค่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่เพียงต้นเดียวของประเทศไทย และนำมาออกสื่อเป็นครั้งแรก โดยมีผู้จองซื้อไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมีต้นด่างจักรพรรดิ มูลค่า 1.5 ล้านบาท ด่างลายพายุตุ๊กแก มูลค่า 1.2 ล้านบาท เป็นต้น

น.ส.ธีรพร เจาะสุนทร และ น.ส.วัลยา เจาะสุนทร ผู้เข้าชมงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุและน้องชายสนใจเรื่องการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว เมื่อทราบว่าเครือมติชนจัดงานนี้และมีไม้หายากมาจัดแสดงด้วย จึงมาดูเพื่อศึกษาการจัดแสดงพันธุ์ไม้และดูไม้ด่างที่มีราคาสูง เพราะนานๆ ทีจะมีกิจกรรมที่รวบรวมไม้หายากราคาแพงมาไว้ในที่เดียวกันแบบนี้

เลือกช็อปต้นไม้ที่ “GREEN MARKET”

อีกโซนที่ได้รับความสนใจในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” คือ “GREEN MARKET” ตลาดต้นไม้ ที่จัดเต็มร้านไม้ประดับและร้านสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ศิริวรรณฟาร์ม ที่มีต้นนางพญาคล้าทอง จุดเด่นคือด่างสีแดงที่หลังใบ ร้าน Cactus Primo นำแค็กตัสหลากหลายสายพันธุ์มาให้เลือกช็อป อย่างแมมมิลลาเรียแคนดิดา ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ร้าน Alinn’ Rose นำพันธุ์กุหลาบสวยๆ มาให้ได้ชมและซื้อกลับไปปลูก นวลทองการ์เด้น ที่นำกล้วยด่างฟลอริด้า ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สายพันธุ์กล้วยด่างที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้มาจำหน่าย บ้านสวนระลึก กับไม้ตระกูลบอน “อโลคาเซียหูช้างด่างเหลือง” นอกจากนี้ ยังมีขนุนพันธุ์ดี “T8” ลูกใหญ่ยักษ์เนื้อแน่น รสอร่อย หอม หวาน กรอบ จากซุ้มขนุนพันธุ์ดี ชมรมขนุน T8 ทวายปีเดียว (ประเทศไทย) มาให้เลือกซื้อกลับไปเป็นของฝากอีกด้วย

 

จัดเต็มสัมมนาออนไลน์สร้างรายได้ 31 ต.ค. 

สำหรับกิจกรรมในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี” วันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายนั้น มีสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้ หัวข้อ “นวัตกรรมทางการเกษตร จากทางเลือกสู่ทางรอด” ถ่ายทอดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กเทคโนโลยีชาวบ้าน เส้นทางเศรษฐี และข่าวสด

เวลา 13.10-13.55 น. หัวข้อ “ทุเรียน ราชาผลไม้ ปลูกยังไงให้ปัง” มีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผศ.ดร.ลำแพน ขวัญพูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต สาขาวิชาพืชสวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เวลา 14.05-14.35 น. หัวข้อ “มหัศจรรย์กล้วยด่างแดงอินโด พันธุ์ไม้สร้างเงินล้าน” โดย นายนิรินาทย์ เธียรวรโชค เจ้าของ The Lord of the Garden สวนเดอะลอร์ด

เวลา 14.45-15.15 น. หัวข้อ “ไขความลับ ไม้ด่างสร้างเงิน” โดย นายจิรวุฒิ พัฒนพงศ์พิบูล เจ้าของบริษัท วนจิรา จำกัด และเจ้าของ Avatar Garden

ชม “มหัศจรรย์พรรณไม้” จัดเต็มไม้ด่างหายากราคาแพง รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ช็อปต้นไม้ใน  “GREEN MARKET” ตลาดต้นไม้ และเลือกหนังสือเกี่ยวกับเกษตรจากร้าน “มติชนบุ๊คคลับ” ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00-18.00 น. ที่มติชนอคาเดมี