แฟรนไชส์หลักหมื่น กุยช่ายสะพานหัน หวังไม่มาก แค่อยากส่งขายทั่วโลก

แฟรนไชส์หลักหมื่น กุยช่ายสะพานหัน หวังไม่มาก แค่อยากส่งขายทั่วโลก
แฟรนไชส์หลักหมื่น กุยช่ายสะพานหัน หวังไม่มาก แค่อยากส่งขายทั่วโลก

แฟรนไชส์หลักหมื่น กุยช่ายสะพานหัน หวังไม่มาก แค่อยากส่งขายทั่วโลก 

เป็นทายาทรุ่น 4 อายุยี่สิบเศษ ที่ตั้งใจแน่วแน่จะสานต่อกิจการเล็กๆ ของครอบครัว ก่อนทุ่มเทความรู้ความสามารถทุกด้าน จนสามารถนำพา กุยช่ายสะพานหัน ดั้นด้นมาถึงจุดล่าสุด มีถึง 8 สาขา แบ่งเป็นของตัวเอง 5 สาขา และแฟรนไชส์ 3 สาขา

“มาเช่าร้านทำสาขา 2 ตอนโควิดระลอกแรก เป็นสาขาตลาดพลู ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลตอบรับดี อาจเป็นเพราะใส่เมนูกุยช่ายตอกไข่เข้าไป ทำให้ร้านมีชื่อเสียงขึ้นมา” คุณท็อป-กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง เจ้าของกิจการ กุยช่ายสะพานหัน ให้ข้อมูล เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง

ก่อนเผยถึงเหตุผล เหตุใดตัดสินใจ พากุยช่ายสะพานหัน ไปเปิดสาขา 2 แถวตลาดพลู ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าย่านดังกล่าว มีร้านขายกุยช่าย รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 40 เจ้า ว่า เมื่อเอ่ยถึงกุยช่าย ผู้คนมักนึกถึงตลาดพลู แต่ไม่ใช่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง หากพากุยช่ายของตัวเองไปอยู่ย่านนั้น น่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งยังมั่นใจสินค้าของเขาดีพอ จึงอยากทำให้ชื่อของกุยช่ายสะพานหัน เป็นที่รู้จักมากขึ้น

คุณท็อป เจ้าของกิจการ กุยช่ายสะพานหัน

ทำไมเสี่ยงลงทุนขยายสาขา 2 ตอนโควิดระลอกแรก คุณท็อป บอก ตอนเซ็นสัญญาเซ้งร้าน โควิดยังไม่ระบาดหนักขนาดนั้น แต่สถานการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เลยเกณฑ์ลูกน้องที่เคยขายกุยช่ายแบรนด์ฮ่องเต้ อยู่ในห้างซึ่งปิดไปแล้ว มาช่วยงานร้านกุยช่ายสะพานหันสาขา 2 เพราะไม่อยากให้พวกเขาขาดรายได้

“เปิดสาขา 2 ได้ไม่นาน สถานการณ์แย่ลง ต้องปรับแผนใหม่ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง เบอร์เกอร์กุยช่าย เน้นการดีลิเวอรี่ควบคู่ไปกับทำการตลาดออนไลน์” คุณท็อป บอกอย่างนั้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เบอร์เกอร์กุยช่าย ขายดีจนงง แป้งในแป้ง เน้นจุก ไม่เน้นสุขภาพ

ถามถึงการขยายธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ คุณท็อป อธิบายว่า คิดไว้ตั้งแต่แรก อยากให้กิจการของเขาเป็น Top of Mind ของผู้คน หากพูดถึงกุยช่าย ต้องนึกถึงกุยช่ายสะพานหัน และอยากให้มีสาขาเยอะมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และการจะทำได้แบบนั้น ก็คือขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์

“เริ่มขายแฟรนไชส์ เมื่อต้นปี 64 ที่ผ่านมา ล่าสุดมี 3 สาขาแล้ว เป็นแพ็กเกจ 9.9 หมื่นบาท เตรียมความพร้อมร้านให้พร้อมเปิดขาย และส่งกุยช่ายให้ในราคาชิ้นละ 8 บาท สามารถนำไปขายต่อชิ้นละ 15 บาทได้” คุณท็อป แจงให้ฟัง

ถามถึงกำลังการผลิต ทายาทรุ่น 4 กิจการกุยช่ายสะพานหัน บอก มีโรงงานผลิตอยู่ย่านจรัญสนิทวงศ์ ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์โควิด เคยผลิตกุยช่ายแบบโออีเอ็ม ส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา แต่มาเกิดปัญหาโรคระบาด ทุกวันนี้โรงงานจึงผลิตขนมกุยช่าย ทั้ง 7 ไส้ ป้อนให้กับร้าน 8 สาขา วันธรรมดาราว 6-7 พันลูกต่อวัน หากเป็นวันเสาร์/อาทิตย์ ผลิต 9 พันลูกต่อวัน

ปั้นใหม่สดทุกวัน

เกี่ยวกับแผนธุรกิจ คุณท็อป บอก ตั้งใจมีให้ครบ 10 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นอยากขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ ต้องมีการพัฒนาเรื่องอายุการจัดเก็บให้ยาวขึ้น เพื่อส่งไปต่างจังหวัดไกลๆ ได้ ทั้งนี้เชื่อว่า กุยช่าย ยังเป็นอาหารอยู่ในความนิยม ขายง่าย มีทั้งซื้อทานเอง และซื้อฝาก ซึ่งเขาพยายามทำให้ภาพลักษณ์กุยช่ายเปลี่ยนไป คือ มี แบรนดิ้ง มีการตลาด มีบริการหลังการขาย มีแพ็กเกจจิ้งดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก

สนทนามาถึงอุปสรรคกว่าจะมาถึงวันนี้ เจ้าของกิจการท่านเดิม บอก ช่วงแรกที่มารับช่วงต่อจากอาม่า ลูกค้าเก่าๆ อาจมีการเปรียบเทียบ คิดว่าของไม่อร่อยเหมือนก่อน ทั้งที่คนปั้นคนเดิม สูตรการทำก็ดั้งเดิม ตัวเขาแค่เข้ามาดูแลระบบก่อนเปลี่ยนถ่ายรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น แต่พอทำไปต่อเนื่องลูกค้าเริ่มไว้ใจ ไม่มีความกังวลเรื่องคุณภาพสินค้าแล้ว

หากใครอยากร่วมลงทุนแฟรนไชส์กุยช่ายสะพานหัน คุณท็อป บอก ตอนนี้มีคนสนใจติดต่อเข้ามาเยอะ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แผนบางอย่างที่วางไว้อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากมีคนสนใจอยากลงทุน สิ่งแรกต้องขอดูความเหมาะสมของทำเลก่อน เพื่อจะได้ไม่แย่งลูกค้ากันเอง

ขอให้ส่งท้ายถึงความตั้งใจในธุรกิจนี้ คุณท็อป บอกจริงจัง

“ต้องการกระจายสาขาแฟรนไชส์ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายแหล่งผลิตกระจายตามภูมิภาค จึงพยายามสร้างแพ็กเกจจิ้งที่ถูกต้อง มี อย. มีจีเอ็มพี อยากส่งขายได้ทั่วโลก โดยติดแบรนด์กุยช่ายสะพานหันของเราเอง”