Move On ฝ่าวิกฤต เอสเอ็มอี ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ภาครัฐพร้อมสนับสนุน

Move On ฝ่าวิกฤต เอสเอ็มอี ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ภาครัฐพร้อมสนับสนุน
Move On ฝ่าวิกฤต เอสเอ็มอี ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ภาครัฐพร้อมสนับสนุน

Move On ฝ่าวิกฤต เอสเอ็มอี ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ภาครัฐพร้อมสนับสนุน   

ผ่านไปอย่างสำเร็จงดงาม ท่ามกลางหลายเสียงชื่นชม สำหรับงานสัมมนารูปแบบ Live Streaming จัดโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เครือมติชน ภายใต้หัวข้อ Move On ฝ่าวิกฤตโควิด เศรษฐกิจต้องเดินหน้า

สำหรับเนื้อหาที่มีสาระเป็นประโยชน์สำหรับชาวเอสเอ็มอี ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านงานสัมมนาครั้งนี้ เริ่มต้นจาก  ปาฐกถาหัวข้อ วิกฤตโควิด เอสเอ็มอี จะ Move On ได้อย่างไร โดย ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เช่น โครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” รองนายกฯ เผย

และว่า จากประสบการณ์ทำงาน 2 ปี เห็นว่าเอสเอ็มอีที่มีอนาคตนั้น ได้แก่ ภาคการผลิต เช่น เกษตร เกษตรแปรรูป แต่ต้องเดินหน้าจากเกษตรปกติเป็นเกษตรมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาเสริมมากขึ้น และมีตลาดรองรับอยู่ในโลกแล้ว เช่น มันสำปะหลัง ถ้ายังขายแค่ มันสับ มันดิบ แป้งมัน มันดี แต่ไม่พอแล้ว จะต้องใช้นวัตกรรมมาช่วย ปัจจุบัน มันสำปะหลัง สามารถนำไปทำเป็นแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ได้แล้ว เอสเอ็มอี ต้องเดินไปสู่จุดนั้น

“ภาคการผลิต กลุ่ม อาหารมังสวิรัติ อาหารแนวใหม่เพื่อสุขภาพ และ ผลไม้ อย่าง มังคุด ลองกอง เป็นธุรกิจมีแววสดใส ถ้าทำให้มีคุณภาพ รับรองมีตลาดแน่นอน แต่เอสเอ็มอี ต้องขวนขวายด้วย เพราะไม่มีอะไรง่าย ชั่วลัดฝ่ามือ ส่วนภาคท่องเที่ยวอย่าเพิ่งท้อถอย วันนึงต้องกลับมา ผมไม่คิดว่าจะนานนัก” รองนายกฯ กล่าวให้กำลังใจ อย่างนั้น

จากนั้น เข้าสู่ช่วงกูรูทอล์ก หัวข้อ ต่อลมหายใจ SMEs โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ร่วมบรรยาย

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM Bank ตั้งใจช่วยผู้ประกอบการ SMEs ไทย จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทยซึ่งมีประมาณ 3 ล้านราย ที่มีที่ยืนบนเวทีโลกเพียง 1% หรือไม่ถึง 3 หมื่นราย ให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด สิ่งแรกที่ทำ คือ เติมความรู้ หรือเรียกว่าการบ่มเพาะ จากนั้น คือ การต่อยอด ทำ Business Matching หากถ้าทำเกษตรแปรรูปจะหาประเทศเป้าหมายที่ชื่นชอบผลไม้อบแห้งให้ จัดอีเว้นต์กับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำ Business Matching เมื่อมีการเจราจาซื้อขายแล้วถึงขั้นตอน เติมทุน

“การส่งออก ต้องปรึกษากูรูหรือผู้รู้ สิ่งแรกที่อยากชักชวนผู้ประกอบการที่เดินเข้ามาหา EXIM Bank คือเดินมาหาความรู้ สามารถมาดูว่า ตลาดลาว ตลาดพม่า ตลาดเวียดนาม ซึ่งมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน เป็นวัยหนุ่มสาว 60-70% อยู่ในวัยกำลังกินกำลังใช้ ถือเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน ถ้าสามารถเข้าไปแทรกตลาดได้จะเป็นอะไรที่งดงาม” ดร.รักษ์ กล่าว

และว่า หากอยากเช็กว่าธุรกิจตายหรือยัง ให้เริ่มจาก 1. เช็กหัวใจ คือสภาพคล่องและสถานะด้านการเงิน 2. เช็กสมอง หรือเช็กแผนธุรกิจ 3. เช็กออกซิเจน หรือสถานะคู่ค้าและสถานการณ์ของตลาด 4. เช็กกระดูกสันหลัง ว่าเทคโนโลยีที่ใช้ยังตอบโจทย์และทันสมัยอยู่หรือไม่ จากนั้นวิเคราะห์ว่าธุรกิจอยู่ในสเต็ปไหน และต้องปรับตัวอย่างไร

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ด้าน ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ SMEs ต้องตระหนักรู้แล้วว่า ธุรกิจของตัวเองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องสามารถจินตนาการได้ว่า ธุรกิจของตัวเองจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะการแข่งขันในอนาคตจะยิ่งเข้มข้นทวีคูณ เอสเอ็มอี จำเป็นต้องขวนขวายความรู้ในการปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อและอยู่ได้

“ในอดีตคงเคยได้ยิน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปัจจุบันอาจเป็นปลาตัวไหนช้าจะโดนกิน และในอนาคตอาจเป็นการทำอย่างไรให้ทั้งปลาใหญ่ ปลาเล็ก ปลาว่ายเร็ว ว่ายช้า สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพื่อให้เกิดความสมดุล จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่ SMEs ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี ต้องเปิดรับและเรียนรู้ให้มาก เพราะการทำธุรกิจในอนาคตจะเป็นการแข่งขันที่ไร้พรมแดนแล้ว” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว

และทิ้งท้ายว่า สำหรับ SMEs ที่ยังอยู่หรือเจ้าใหม่ๆ นับจากนี้ไป การเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้าต่างๆ ต้องศึกษาให้ดี เพราะโลกธุรกิจหลังจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม ต้องเรียนรู้ที่จะต้องแข่งขันและอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้

สำหรับช่วง Exclusive Talk หัวข้อ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ร้านค้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน กับ คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก ถูกดี มีมาตรฐาน โดยมี คุณสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของเพจหนุ่มเมืองจันท์ เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ และ คุณสรกล อดุลยานนท์
คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ และ คุณสรกล อดุลยานนท์

คุณเสถียร กล่าวตอนหนึ่งว่า ทำเครื่องดื่มคาราบาวแดง มาเกือบ 20 ปี ดิวกับโชห่วยซึ่งมากกว่า 4 แสนร้านค้า ภาพรวมๆ คือว่า ร้านเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เลยมีความคิดว่าถ้าปล่อยให้ร้านโชห่วยซึ่งเป็นธุรกิจฐานรากของประเทศเรา อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ธุรกิจคงมีปัญหาในภาพรวมทั้งประเทศ

เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ ร้านโชห่วย สามารถที่จะแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ให้ได้ สิ่งแรกเลย คือ ต้องเอาความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ไปให้กับร้านโชห่วยเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องจัดการบริหารร้าน ทำอย่างไรให้ร้านมีดี มีมาตรฐาน มีความสะอาด ความสว่าง ความสะดวก ต่อผู้ที่เข้าไปใช้บริการ รวมทั้งความรู้เรื่องการจัดการสินค้า เรียงอย่างไร อันดับก่อนหลังอย่างไร และคิดว่าถ้าโชห่วยได้เรียนรู้องค์ความรู้เหล่านี้ น่าจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์
คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์

“ปัญหาสำคัญของโชห่วย อย่างหนึ่ง คือว่าต้องมีข้อมูลในการปรับเปลี่ยน ให้ร้านมีสินค้าที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่มีระบบบริหารจัดการจะเกิดปัญหา และที่สำคัญคือว่า ในโลกยุคสมัยใหม่ การสร้างแบรนด์ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคจดจำว่าเข้ามาที่ร้านนี้ แล้วจะได้รับการบริการอะไร มีสินค้าอะไรให้เลือกหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น ร้านโชห่วย ถึงจะสามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้” คุณเสถียร กล่าว

สำหรับเป้าหมายเชิงปริมาณของร้านค้า ถูกดี มีมาตรฐาน นั้น คุณเสถียร เผย ภายในปีนี้ ตั้งเป้าเปิดให้ได้ 8 พันร้าน ปีหน้าเปิดให้ครบ 3 หมื่นร้าน และปีถัดไปครบ 5 หมื่นร้าน สำหรับคนอยากเข้าร่วมขอให้มีความตั้งใจทำธุรกิจโชห่วยเป็นอาชีพหลัก ไม่ใช่อาชีพเสริม เพราะกำไรร้านโชห่วยนั้น ไม่มาก ต้องอาศัยความขยัน เปิด-ปิดร้านเป็นเวลา และอัธยาศัยที่ดี เพื่อเป็นตัวเรียกลูกค้า

หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงเอสเอ็มอีทอล์ก หัวข้อ เอสเอ็มอี ตัวจริง เจ็บจริง ไม่มีสแตนด์อิน ซึ่งเป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงของเหล่าเอสเอ็มอี ประกอบด้วย คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช สาวเก่ง ผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่ต้องพลิกรูปการบริหารร้านแบบ 360 องศาเมื่อต้องเจอกับมาตรการห้ามนั่งทานที่ร้าน เชฟปิง-สุรกิจ เข็มแก้ว เชฟหนุ่มคนดังที่โดนพิษโควิดจนจำใจต้องแขวนกระทะ ก่อนหันมายึดอาชีพเพาะไม้ด่าง และ เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของกิจการดัง หมูทอดเจ๊จง ได้รับผลกระทบจากโควิดแบบเต็มๆ

คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช
คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช

คุณเฟิร์น กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากประคับประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้ ก็ถึงเวลาต้องเดินหน้าต่อ จึงมานั่งคิดจะทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามามากขึ้น อีกทั้งมีลูกค้าต่างจังหวัด ที่ต้องการจะทานสุกี้ของเธอ จึงเกิดเป็นไอเดียใช้รถ Food Truck บรรทุกสุกี้ไปขายแบบ Take Away โดยนำร่องในตลาดนัดเล็กๆ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี

“พยายามขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น จะมาเน้นขายแค่กรุงเทพฯ ไม่ได้ เลยมองแล้วว่าต้องขยายตลาดไปต่างจังหวัดบ้างได้แล้ว โดยเอา Food Truck นี่แหละออกไปขายตามตลาดเล็กๆ แบบ Take Away เฉพาะเสาร์-อาทิตย์” คุณเฟิร์น เผยอย่างนั้น

และบอกด้วยว่า วิกฤตครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ทำให้รู้ว่า แม้ว่าจะเป็นธุรกิจไซซ์ไหน ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ จะต้องมองย้อนไปว่า กิจการของเธอนั้น มั่นคงขนาดไหน การจัดการระบบหลังบ้านดีแล้วใช่หรือไม่

เชฟปิง-สุรกิจ เข็มแก้ว
เชฟปิง-สุรกิจ เข็มแก้ว

ส่วน เชฟปิง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงการไม้ด่างที่เขาผันตัวมาทำได้ราว 1 ปีแล้วว่า อาชีพนี้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานอะไร ขอแค่ใจรักและใส่ใจเป็นหลัก ทุกวันนี้ต้องบอกว่าการเพาะไม้ด่างของเขา ยังเป็นอาชีพเสริม แต่สามารถทำรายได้ดีกว่าก่อนโควิดอีก กำไรเดือนๆ นึง อยู่ที่ราวเจ็ดหลัก

“เทรนด์ไม้ใบ ไม้ด่าง เชื่อว่ายังยืนระยะได้อีกนาน ตอนนี้ขนาดยังไม่เปิดประเทศ แต่มีดีมานด์จากต่างประเทศ เข้ามาตลอด ซึ่งตลาดต่างประเทศที่แข็งแรง คือ เวียดนาม ช่างปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลูกค้าเวียดนามทำให้ราคาไม้บางตัว เพิ่มขึ้นจากใบละ 3 พันบาท เป็นใบละ 15,000  บาทได้” เชฟปิง เผยอย่างนั้น

ปิดท้ายงานสัมมนาฯ ที่ เจ๊จง แม่ค้าหมูทอดคนดัง ที่สนทนากับพิธีกร หนุ่มเมืองจันท์ อย่างออกรส บอกว่า ปิดร้านไปนาน 1 เดือนเพราะป่วยโควิด กลับมาเปิดอีกครั้งจึงทำอาหารจัดเต็ม แต่ปรากฏว่าไม่มีลูกค้า ซึ่งไม่เคยเจอแบบนี้ จำได้ว่าขายได้ 20% ตอนนั้นบอกลูกน้องว่าไม่เป็นไรให้เชื่อใจ จึงเริ่มใช้วิธีการไลฟ์คุยกับลูกค้า เพราะมีลูกค้ากลัวเนื่องจากเคยติดโควิดมา จึงอยากจะบอกว่าอย่ากลัวคนติดโควิดเลย กลัวได้แต่อย่ารังเกียจ อยากให้ใช้สติ อาศัยพูดทุกวันจนลูกค้าเริ่มมา และมีผู้ใหญ่ใจดีแนะนำให้ขายเอากำไรน้อยแค่บาทกว่าๆ ให้พอมีเงินมาเลี้ยงลูกน้องเพื่อให้มีคนมาสั่งไปบริจาค ก็เริ่มมีคนไปสั่งบริจาค ทำให้พออยู่ได้

“สถานการณ์ตอนนี้ ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง อย่างน้อยยังมีรายได้ให้ลูกน้องโดยที่ไม่ควักเนื้อ ขายของไม่จำเป็นต้องมีกำไร” เจ๊จง เล่า

ก่อนเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น ตนเองเป็นหนี้ และประกอบอาชีพขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ กว่าจะได้นอนราวสองทุ่ม จึงไม่อยากปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ด้วยความบังเอิญไปซื้อหมูทอดกล่องละ 10 บาทให้ลูกกิน ซึ่งให้หมูน้อยมาก จึงบอกกับลูกว่าจะขายให้ดู วันรุ่งขึ้นจึงลงมือทำทันที

เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง
เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง

วันแรกซื้อหมู 8 กิโล โดยไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ เพราะมีทุนแค่นี้ และบอกลูกค้าว่ามีเมนูข้าวหมูทอดขาย ตอนนั้นทำทุกอย่างคนเดียว ขายราคา 10 บาท ลองปรับสูตรเป็นหมูสามชั้น เพราะไม่อยากเหมือนร้านที่ซื้อให้ลูกกิน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 20 กิโล เป็น 30 กิโล

และเล่าต่อถึงกลยุทธ์กล้วยน้ำว้าของหวานประจำร้านว่า เกิดขึ้นเพราะเห็นแม่ค้าขายกล้วยเต็มแผง จึงอยากช่วย โดยซื้อมา 1 หวี คิดว่ากินไม่หมด เลยแบ่งให้ลูกค้า จนตอนหลังลูกค้าถามหากล้วย กลายเป็นวัฒนธรรมของร้าน ส่วนเรื่องให้ผักฟรี มีวันนึงไปเฝ้าแฟนที่โรงพยาบาลเอกชน คนเยอะจนไม่มีที่นั่ง เลยคิดเป็นห่วงสุขภาพลูกค้าเพราะมีแต่หมูไม่มีผัก เลยไปซื้อผักจากแม่ค้าให้ลูกค้ากินฟรี โดยซื้อมาถูกๆ หรือก็ได้มาฟรีๆ เพราะแม่ค้ารู้ว่าเอามาให้ลูกค้ากินฟรี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของบทสนทนา เจ๊จงอัพเดตการขายของในร้านให้ฟังว่า ตอนนี้มีไลฟ์ขายของ เพราะค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม มีเวลาเหลือก่อนนอนอีก 2 ชั่วโมง เห็นคนอื่นไลฟ์เลยคิดได้ว่าต้องทำ เพราะมีเพจอยู่แล้ว โทรคุยกับลูกทันทีให้ดูเรื่องการไลฟ์ แล้วหาของมาลง ขายดีซื้อกันสนุก เหมือนมีเพื่อนคุย กลายเป็นว่าการไลฟ์ขายของเรื่องเงินไม่สำคัญ เพราะมีความสุขที่ได้คุย บางทีขายได้ไม่กี่ตังค์แต่ก็อยากขาย เพราะอยากคุย จนลูกห้าม บอกให้ไลฟ์วันเว้นวัน

เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ เจ๊จง บอก

“ยังใช้คำว่าสำเร็จไม่ได้ แต่ที่มีทุกวันนี้เพราะขยัน ถ้าปวดขาก็เอาเก้าอี้มานั่ง เคยเดินขึ้นบ้านสาวราวบันไดเพราะหมดแรง แต่เช้ามาก็หาย และไม่ได้มีคาถาอะไร แค่ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ทำมันเข้าไป เห็นคนท้อเยอะมาก เจ๊เองก็ท้อ ท้อแล้วนอนก็ไม่ได้อะไร วันนี้ขายได้ 5 บาท พรุ่งนี้ได้ 10 บาท วันต่อไปต้องได้ 15 บาท ลุกขึ้นสู้ ยังไงก็รอด”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า งานสัมมนา Move On ฝ่าวิกฤตโควิด เศรษฐกิจต้องเดินหน้า ครั้งนี้ มีกิจกรรมลุ้นรับบัตรเติมน้ำมันบางจาก มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 20 รางวัล ด้วย ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจร่วมสนุกกันเป็นจำนวนมาก

รับชมคลิปบันทึกภาพสัมมนาแบบเต็มๆ ได้ที่นี่