หนี้ท่วม 20 ล้าน แต่ยังขอแบ่งปัน เปิดใจ สตีฟ คาเฟ่ ร้านดัง ฝรั่ง(เคย)ต้องมาเช็กอิน

หนี้ท่วม 20 ล้าน แต่ยังขอแบ่งปัน เปิดใจ สตีฟ คาเฟ่ ร้านดัง ฝรั่ง(เคย)ต้องมาเช็กอิน
หนี้ท่วม 20 ล้าน แต่ยังขอแบ่งปัน เปิดใจ สตีฟ คาเฟ่ ร้านดัง ฝรั่ง(เคย)ต้องมาเช็กอิน

หนี้ท่วม 20 ล้าน แต่ยังขอแบ่งปัน เปิดใจ สตีฟ คาเฟ่ ร้านดัง ฝรั่ง(เคย)ต้องมาเช็กอิน

สละเวลามาให้สัมภาษณ์ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง สำหรับ คุณสตีฟ-สรเทพ โรจน์พจนารัช เจ้าของร้านอาหารเครือสตีฟ คาเฟ่ ในวัย 50 ปี เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยการแนะนำตัวให้รู้จักกันมากขึ้น จบมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนเข้าศึกษาต่อคณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วงวัยรุ่นใช้ชีวิตแบบถูกสปอยล์ เที่ยวเธคดัง กลับบ้านเช้าแทบทุกวัน

“ใช้ชีวิตเที่ยวถึงเช้าอยู่อย่างนั้นจนถึงปี 3 เทอม 2 จนเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ! แม่เอาเงินที่ไหนมาแปะให้วันละร้อยที่ตู้เย็นทุกวัน เลยฉุกคิดและเริ่มหางานทำตอนอายุ 20 ช่วงขึ้นปี 4” คุณสตีฟ เล่ายิ้มๆ

ก่อนย้อนให้ฟังต่อ งานแรกที่สมัครทำตอนยังเรียนไม่จบปริญญาตรี คือ ตำแหน่งพนักงานต้อนรับในโรงแรมแห่งหนึ่งบนถนนสุขุมวิท ปรากฏได้การตอบรับให้มาทำในวันรุ่งขึ้น เลยแต่งตัวดี ใส่เชิ้ต ผูกเนกไท หวังไปเริ่มงาน ปรากฏคนที่สัมภาษณ์ บอกให้ไปล้างส้วม ปูเตียง ตอนนั้นโกรธมากเพราะเกิดมาไม่เคย แต่อดทนทำอยู่ 2 เดือน ถูกเปลี่ยนไปเป็นโอปอเรเตอร์ และแผนกอื่นๆ จนครบ ก่อนจะได้เป็นพนักงานต้อนรับ สมความตั้งใจ

คุณสตีฟ เจ้าของเรื่องราว

“พอเรียนจบมหาวิทยาลัย เดินไปลาคนพี่ที่บอกให้ผมไปล้างส้วมก่อน ว่าจะลาออกไปหางานทำ เธอถามรู้มั้ยว่าทำไมถึงให้ทำทุกอย่างตั้งแต่ต้น ผมบอกไม่ทราบครับ เธอบอกเพราะมองว่าวันหนึ่งผมต้องเป็นผู้บริหารโรงแรม ผู้หญิงท่านนั้น คือ คุณสุดา อัศวโภคิน ผู้บริหารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ท่านเป็นเจ้านายคนแรก ที่ให้วิชาความรู้ผมทุกอย่าง” คุณสตีฟ เล่าน้ำเสียงปลาบปลื้ม

 ร้านสุดรุ่ง ต้องจองล่วงหน้า 2 เดือน

โลดแล่นอยู่ในแวดวงคนทำงานโรงแรม ตำแหน่งสุดท้ายเป็นระดับผู้บริหาร เงินเดือนกว่า 3 แสน กระทั่งอายุเข้าสามสิบปลาย เริ่มอิ่มตัวงานประจำ จึงออกแบบโมเดลธุรกิจ เปิดบริษัทรับจ้างบริหารโรงแรม ใช้เวลาแค่ปีเดียว มีโรงแรมที่ดูแลทั้งหมด 12 แห่ง กลายเป็นที่ฮือฮาในวงการมาก กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ความขัดแย้งทางการเมือง รู้สึกเบื่อหน่ายธุรกิจท่องเที่ยว อยากหากิจการที่จับต้องได้ เลยคิดเปิดร้านอาหาร

“สตีฟ คาเฟ่ สาขาแรก อยู่ตรงเทเวศร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเมื่อปี 2555 ทำเป็นธุรกิจครอบครัว มีภรรยา ลูก แม่ยาย แม่ตัว พี่สะใภ้ เข้ามาช่วยดูแล งานแคชเชียร์ ล้างจาน ทำครัวกันเอง มีลูกน้อง 3-4 คน ผมบอกเลย ตบยุงไปนะ 6 เดือน ใครจะมากินร้านอาหารไทยชื่อฝรั่ง อยู่หลังวัดริมแม่น้ำ แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวหาเงินมาจ่ายเงินเดือนค่าเช่าเอง ตอนนั้นพอมีเงินเก็บอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ รายรับเดือนที่สองกราฟไม่ได้ขึ้นเฉียงนะ มันขึ้นตรงเลย” คุณสตีฟ เล่าสนุก เห็นภาพ

เมื่อธุรกิจร้านอาหารของครอบครัว ไปได้ดีกว่าที่คาด ย่างเข้าปีที่สอง จึงจัดตั้งเป็นรูปบริษัท แล้วเปิดร้านขยายสาขามาเรื่อยๆ ปัจจุบันเขามีธุรกิจในความดูแล คือ สตีฟ คาเฟ่ 3 สาขา ร้านแพท คาเฟ่ โบราณ 1 สาขา และ สตีฟ บูทิค โฮสเทล 1 แห่ง

“ร้านเรา มีลูกค้าเริ่มต้นจากคนต่างชาติ ซึ่งแปลกมาก สุดท้ายมาทราบทีหลัง เพราะฝรั่งทุกคนถือสมุดเข้ามา เราก็มองทำไมถือเล่มนี้เข้ามาทุกคนเลย ก็ถามเขา รู้จักร้านเราได้ยังไง มาก็ยาก อยู่หลังวัด พวกเขาบอกว่า ร้านเราไปอยู่ใน หนังสือ Lonely planet เป็น 1 ใน 12 ร้าน ในกรุงเทพฯ ที่ใครมา ต้องมาถึงร้านนี้ให้ได้ หลังจากนั้นจึงมีการบอกปากต่อปาก ไปหนังสือทั่วโลก อยู่ในไกด์บุ๊ก หนังสือบนเครื่องบินก็มี กลายเป็นว่าฝรั่งจะมากรุงเทพฯ ต้องอีเมลมาจองที่ร้านล่วงหน้า 2 เดือนก่อนบินมา หลังจากนั้นเริ่มมีคนไทยเข้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ” คุณสตีฟ ย้อนอดีต แววตาเป็นประกาย

 แทบล้มทั้งยืน ตั้งตัวไม่ทัน

 กิจการดำเนินมาด้วยดีต่อเนื่องเกือบ 10 ปี กระทั่งถึงจุดเปลี่ยน เหมือนกับใครหลายคน สถานการณ์โควิด-19

“โควิด มา ผมบอกทุกคนว่าเราตายแน่ เพราะฐานลูกค้าเป็นต่างชาติเกินครึ่ง บวกกับไม่เคยทำแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่เลย เพราะมีความเชื่อว่าร้านอาหารไทยที่เป็นกึ่งไฟน์ ไดนิ่ง ไม่สามารถขายดีลิเวอรี่ได้ ไม่สามารถขายแพลตฟอร์มได้ และก็ไม่อยากขายด้วย เพราะอาหารเราเป็นโฮมเมด ต้องมากินที่ร้าน ที่ทำสดๆ ใหม่ๆ” คุณสตีฟ เล่าอย่างนั้น

ก่อนบอกต่อ

“ช่วงแรกแทบล้มทั้งยืน คิดว่าแล้วจะขายใคร จะทำยังไง เครียดไปหมด 2-3 วันแรกนั่งร้องไห้คนเดียว จนกระทั่งยอม เอาวะ ทำออนไลน์ก็ทำ แต่ทำไม่เป็น เลยไปปลุกลูกชาย-ลูกสาว มาช่วยป๊าหน่อย วันนี้ไปออฟฟิศ ทุกคนนั่งทำงาน ลูกหันมาบอก ร้านเราไม่อยู่ในฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน แกร็บ ไม่อยู่ในอะไรเลย ทำไมป๊าทำธุรกิจแบบนี้ ตอนนี้พวกหนูใช้แกร็บ ไลน์แมน กันตั้งไม่รู้กี่ปีแล้ว

แจกข้าวกล่อง หน้าร้านแพท คาเฟ่ ย่านบางลำภู

ผมบอก ก็ไม่คิดว่าจะขาย ไม่เคยคิดอยากขายด้วย ทีนี้ทำยังไงได้บ้าง ลูกสาวบอกไม่ทันแล้ว กว่าจะลงทะเบียนเขาคงไม่รับแล้ว เพราะตอนนั้นกระแสคนวิ่งเข้าหาฟู้ดดีลิเวอรี่เยอะมาก เขาคงไม่ทำให้หรอก เอาอย่างนี้ เดี๋ยวสร้างแพลตฟอร์มของร้าน ป๊ามีหน้าที่ไปซื้อไอแพดมาให้ทุกร้าน ก็ไปซื้อมา ตั้งแต่นั้นมาถึงเริ่มมีแพลตฟอร์มของร้านเราเอง” คุณสตีฟ ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังอย่างนั้น

ขออนุญาตถามถึงสถานะของกิจการ ณ วันนี้ คุณสตีฟ บอกตรงๆ สาหัสมาก เพราะเกิดภาวะขาดทุนสะสมมาตั้งแต่รอบแรก เพราะสายป่าน หรือ กระแสเงินสดในร้านอาหาร บอกเลยว่ามีไม่ถึง 3 เดือน ใช้หมดก็ต้องไปกู้มา กู้เสร็จประคองได้ระยะนึง เมื่อไหร่ที่คลายล็อกให้นั่งได้ ลูกค้าจะกลับมาประมาณ 70% ทุกสาขา รายได้กลับมาพอเลี้ยง พอจ่ายทุกอย่างหมด แต่พอล็อกดาวน์อีกที เงินสำรองต้องเอามาช่วยอีก หมดอีกต้องกู้อีกจนถึงรอบนี้ เบ็ดเสร็จเป็นหนี้เงินกู้ประมาณ 12 ล้าน ไม่รวมกับสินทรัพย์ต่างๆ ที่นำไปรีไฟแนนซ์กับขาย บวกลบแล้วเกือบ 20 ล้าน ภายในปีครึ่ง

“สินทรัพย์ตลอด 10 ปีที่ทำร้าน พอโควิดมา ทุกอย่างหายหมด พร้อมกับหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก เหตุผลที่ร้านอาหารไปไม่ได้ เพราะ การล็อกดาวน์แล้วขายดีลิเวอรี่ เต็มที่สร้างรายได้แค่ 10% จากยอดขายปกติ ยังไม่พอค่าแรงต้องเลี้ยงดูพนักงาน ค่าเช่าที่ ซึ่งแลนด์ลอร์ดไม่เคยคิดจะลดให้ ไม่เคยอ้าปากถามด้วยซ้ำ ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ เมื่อไหร่ที่ขายดีลิเวอรี่ ค่าไฟ อย่าคิดว่าถูก เพราะต้องเปิดตู้แช่ตลอด” คุณสตีฟ เผยตรงๆ

ดูแลตัวเอง ผิดหวัง หมดหวัง

 ถามถึงลูกน้องที่ต้องดูแล คุณสตีฟ บอก ก่อนโควิดมี 120 คน ตอนนี้เหลือ 58 คน หายไปครึ่งหนึ่ง โดยไม่ได้คิดจะไล่ออก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาคแรงงานในธุรกิจร้านอาหารไม่เหมือนธุรกิจอื่น ธุรกิจอื่นเมื่อเกิดภาวะวิกฤตสามารถจ้างออกได้เลย แต่ร้านอาหารลูกจ้างกับนายจ้างผูกพันกันสูงมาก เพราะสู้ด้วยกันมา เปิดร้านกันมาเหนื่อยด้วยกันมา นายจ้างร้อยละ 90 ไม่มีใครอยากจะปลดพนักงาน โดยเฉพาะครัว ฝึกกันมานานมาก เด็กเสิร์ฟก็อยู่กันมานาน ฉะนั้น นายจ้างต้องอุ้มไว้จนถึงที่สุด

แบ่งปัน

แบกหนี้ แบกภาระ ขนาดนี้ สตีฟ คาเฟ่ ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในหลายเรื่อง ทั้ง รับซื้อวัตถุดิบจากร้านอาหารเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์แบบไม่ทันตั้งตัว และ ยังทำข้าวกล่องแจกคนขับแท็กซี่ ขับตุ๊กตุ๊ก ไรเดอร์ อีก วันละนับร้อยกล่อง เรื่องนี้ คุณสตีฟ บอกว่า ภาวะหนี้สินของเขา แทบจะล้มอยู่แล้ว แต่คิดว่ายังมีคนเดือดร้อนกว่าอีกเป็นจำนวนมาก

“ถามว่าศักยภาพผม เพิ่มการแจกให้มากกว่านี้ไหวมั้ย บอกตรงๆ เพิ่มไม่ไหว เพราะของสดที่รับซื้อจากร้านชาบูปิ้งย่าง นั้น หมดแล้ว ตอนนี้เริ่มควักเนื้อตัวเองทำแจกเอง แต่มีกลุ่มลูกค้าที่เห็นว่าเราทำมาตลอด เขาบอกว่าไม่เป็นไรคุณสตีฟ เดี๋ยวพี่สั่งอาหารกล่องแจกเพิ่ม อย่าให้แท็กซี่เข้ามาตอนรอบบ่ายแล้วไม่มีอาหารกลับไป สงสารเขา ก็ต้องทำเพิ่มเป็นวันละ 200 ชุด โดยได้งบจากลูกค้าเพิ่มขึ้นมา

พร้อมแจก ข้าว ขนม น้ำดื่ม แมสก์

และตอนนี้ไม่ใช่แท็กซี่อย่างเดียวที่เข้ามาขอ กลายเป็นไรเดอร์ที่เข้ามาขอ เขาบอกเมื่อก่อนออร์เดอร์วันนึง 15-16 เจ้า อยู่ได้ แต่ทุกวันนี้ได้ 5-6 เจ้าเอง เพราะคนสั่งน้อยลง คนหันมาขี่แกร็บกันมากขึ้น ไรเดอร์เพิ่มเท่าตัวแย่งออร์เดอร์กันเอง ได้ข้าวกล่องไปมื้อนึงอยู่ได้ แม้กระทั่งชาวบ้านที่อยู่ละแวกร้าน เดินเข้ามาขอ คนงานในแคมป์มาขอ ถามว่าไม่ให้ได้มั้ย คนเราถ้าไม่จำเป็นเขาจะไม่เดินมาขออาหารหรอก การที่เขาเดินเข้ามาขอ แล้วไม่ให้ บอกว่าไม่ได้ ให้เฉพาะแท็กซี่ ผมว่ามันโหดร้ายไป” คุณสตีฟ เล่าเสียงสั่น

เมื่อถามถึงแผนในอนาคตสำหรับธุรกิจในเครือ คุณสตีฟ นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนเผยความรู้สึกส่งท้าย

“ณ วันนี้ ลังเลว่ากำลังรู้สึกผิดหวัง หรือ หมดหวัง ตอนประชุมกับลูกน้อง จึงบอกให้ทุกคนดูแลตัวเอง โควิด ตอนนี้แทบจะทุกอณูของถนนแล้ว ต้องดูแลตัวเองมากกว่าเดิม อย่าให้เกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้ว ระบบสาธารณสุขดูแลไม่ได้แน่นอน บริษัทก็ช่วยไม่ได้ ไม่รู้จะหันไปทางไหน ล่าสุดเพิ่งสั่ง Rapid Antigen เอาไว้ให้พนักงานตรวจ คนไหนสุ่มเสี่ยงตรวจเลย เพราะถ้ารอส่งตรวจ ประกันสังคมติดต่อไปก็ไม่รับตรวจ ต้องให้ทำ Rapid Antigen มาก่อน กลายเป็นว่าคนไทยต้องดูแลตัวเอง”