ร้านกาแฟใน “พม่า” บูม รับกระแสประเทศเนื้อหอม

วันก่อนมีโอกาสไปเจอเพื่อนสาว “คุณรัสริน จรัสพลธนภรณ์” เจ้าของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในนครย่างกุ้ง เลยสอบถามเรื่องร้านกาแฟในเมืองธุรกิจแห่งนี้ เพราะช่วงที่ไปพม่าจุดที่ไปไม่ค่อยได้เห็นร้านกาแฟทันสมัยเหมือนบ้านเรา จะเห็นเฉพาะร้านชาร้านกาแฟที่ยังเป็นแบบเดิมอยู่ แบบมีโต๊ะและเก้าอี้เตี้ยๆ

 ร้านกาแฟเทรนด์ใหม่ในพม่า

คุณรัสริน เล่าให้ฟังว่า ได้เห็นร้านกาแฟเปิดใหม่หลายร้าน ทว่าไม่ได้ตกแต่งเก๋ไก๋เหมือนบ้านเรา แต่ก็นับว่าเป็นการปฏิวัติร้านกาแฟในพม่าค่อนข้างมาก เพราะถ้าเทียบกับเมื่อ 5-6 ปีก่อนยังไม่เห็นเทรนด์ใหม่ๆ แบบนี้ผุดขึ้นมา ยกเว้นร้านแบล็คแคนยอนของนักธุรกิจไทยที่ไปเปิดสาขาในพม่าเป็นแห่งแรก ซึ่งเคยไปใช้บริการมาแล้ว และรู้สึกประทับใจมาก เนื่องจากสั่งกาแฟเย็นแต่ปรากฏว่าใส่น้ำแข็งมาให้ 2-3 ก้อนเท่านั้น ประเภทเอาแค่เย็นนิดหน่อยก็พอแล้ว อาจเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนพม่ายังไม่มีกำลังผลิตน้ำแข็งก้อนเท่าตอนนี้ สังเกตได้จากการขายน้ำหวานหรือน้ำเย็นข้างถนน ซึ่งใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่ใส่ถุงผ้าแบบถุงกาแฟแล้วใช้น้ำหวานหรือน้ำเทผ่านน้ำแข็งให้เย็นพอชื่นใจเท่านั้น

img_9663

ร้านกาแฟสมัยใหม่ในย่างกุ้งจะมีเค้กไว้บริการด้วย

เพื่อนสาวนักธุรกิจรายนี้ยังเล่าต่ออีกว่า มาวันนี้ร้านกาแฟในพม่าพัฒนาไปมาก มีทั้งเบเกอรี่ขายในร้านด้วย กาแฟก็มีหลายแบบ แต่ก็ยังไม่มากเท่าของไทยและรสชาติก็ออกจะไม่ถูกปากคนไทยที่เป็นคอกาแฟสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่าชาวพม่าไม่ค่อยนิยมดื่มกาแฟเท่ากับการดื่มชา เห็นได้จากร้านน้ำชาที่มีอยู่มากมายในถนนทุกสายของย่างกุ้ง รวมไปถึงร้านน้ำชาแบบข้างถนนด้วย

สำหรับราคาในร้านกาแฟสมัยใหม่ที่มีเบเกอรี่ด้วยนั้น ราคาค่อนข้างสูงทีเดียว อย่างร้าน Coffee Circle เขาขายกาแฟเย็นเอสเปรสโซ่แก้วละ 1,950 จ๊าด คิดเป็นเงินไทยตกประมาณแก้วละ 70 บาท แต่รสชาติเมื่อเทียบกับบ้านเราแล้วคุณภาพและรสชาติเท่ากับกาแฟที่ขายเป็นซุ้มๆ ข้างป้ายรถเมล์ ทั้งๆ ที่ถ้าเทียบกับการตกแต่งร้านแล้วผิดกันมาก ส่วนเค้กชิ้นหนึ่งตก 45-60 บาท ส่วนร้านน้ำชาก็ไม่น้อยหน้าร้านกาแฟมากนัก เมื่อลองเทียบดูแล้วเวลานี้ค่าครองชีพในพม่าค่อนข้างสูง ขณะที่สินค้าและบริการนั้นๆ ทั้งคุณภาพและบริการไม่สมราคาสักเท่าไหร่

img_0403

ร้านชา-กาแฟแบบชาวบ้านในย่างกุ้ง

ประสบการณ์และมุมมองแบบนี้ ถ้าใครไปพม่าและจะไปใช้บริการร้านกาแฟสมัยใหม่ก็ต้องเตรียมทำใจไว้ก่อน และอย่าไปคาดหวังอะไรมาก เพราะเขาเพิ่งเปิดประเทศ ยังต้องเรียนรู้อีกสักพัก

พูดถึงร้านกาแฟในย่างกุ้งไปแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่าเมืองชายแดนของพม่าที่ติดต่อกับบ้านเรา ร้านกาแฟร้านน้ำชาเขาเป็นอย่างไรบ้าง ที่เห็นชัดๆ ก็คือร้านที่เมียวดี ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่นี่เมื่อหลายปีก่อนเคยไปดื่มชาที่ร้านเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาแนะนำว่าอร่อย แต่ล่าสุดไปแล้วไม่เห็นเค้าโครงของร้านเดิม มีการปรับปรุงตกแต่งใหม่ ทั้งโต๊ะเก้าอี้ ดูร้านสะอาดสะอ้านขึ้น เป็นร้านน้ำชาแบบทันสมัย แต่ก็ยังมีจานขนมหลายอย่างให้ลูกค้าได้เลือกทาน

 

รสชาติไม่ถูกปากคนไทย

ข้ามมาที่เกาะสองของพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดระนองบ้านเรา ใครที่เคยไปเกาะสองหรือวิกตอเรียพอยต์จะนึกภาพออกทันทีว่าที่นี่ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันหยุดยาวและช่วงเทศกาลต่างๆ

ในเกาะสอง ร้านกาแฟบ้านเขาขายทั้งอาหารคาวและหวาน และเปิดมุมกาแฟไว้ด้านหน้า อย่างไรก็ตาม ร้านกาแฟแบบเดิมของพม่าที่นั่งเก้าอี้เตี้ยๆ ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ จะมีขนมนมเนย บางเจ้าก็มีซาลาเปาวางไว้ให้ลูกค้าได้เลือกทานตามใจชอบ

วันก่อนมีโอกาสได้สนทนากับเจ้าของร้านกาแฟชื่อ Love Coffee ซึ่งอยู่ในทำเลที่ดีมาก เพราะอีกฝั่งของถนนเป็นท่าเรือที่มีผู้คนพลุกพล่าน ฉะนั้น ลูกค้าของร้านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทยทั้งหลายที่ข้ามไปเที่ยวฝั่งพม่า เป็นร้านที่ขายดีทีเดียวเพราะเป็นร้านอเนกประสงค์จริงๆ ขายทั้งอาหารตามสั่ง วอฟเฟิล  เครื่องดื่มต่างๆ และกาแฟสด ฉะนั้น ถ้าไปตอนช่วงลูกค้าเยอะ อาจจะต้องใจเย็นนั่งรอนานหน่อย

p1560317

“สวน” คือชื่อของหนุ่มเจ้าของร้านที่พูดภาษาไทยได้ค่อนข้างดี เคยทำงานที่โรงแรมอันดามัน คลับ เกาะสน มาก่อน จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ในเมืองมะริด เขาเล่าให้ฟังว่าตั้งร้านนี้มานาน ประมาณ 5 ปีแล้ว ไม่ได้ไปร่ำเรียนวิธีการชงกาแฟมาจากไหน อาศัยเวลาไประนองก็ไปจดจำดูวิธีการแล้วมาทำเอง ส่วนวอฟเฟิลก็ซื้อแฟรนไชส์มาจากเมืองไทย ในราคา 80,000 บาท ลูกค้ามีทั้งคนพม่าและคนไทย ร้านกาแฟแห่งนี้ลงทุนไปประมาณ 500,000-600,000 บาท อุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ ซื้อมาจากฝั่งไทยหมด ตอนนี้ได้เงินทุนคืนหมดแล้ว

อย่างที่บอก เป็นร้านกาแฟทันสมัย ฉะนั้น ราคาไม่ต้องพูดถึง เท่ากับซื้อที่เมืองไทย หรืออาจจะแพงกว่าบางเจ้าในบ้านเราเสียด้วยซ้ำ โดยขายกาแฟเย็นแก้วละ 50 บาท ส่วนกาแฟร้อน 25 บาท

p1560314

บรรยากาศในร้านกาแฟ Love Coffee ที่เกาะสอง

“คนพม่าชอบดื่มกาแฟคาปูชิโน่ เอสเปรสโซ่ ลูกค้าพม่าก็มีเงินซื้อ ลูกค้าฝรั่งก็มาดื่ม เป็นร้านสไตล์ใหม่ ขายทุกอย่าง ขายกาแฟ ขายเบียร์ด้วย ขายรวมๆ กันหมดเลย ส่วนฝั่งตรงข้ามมีร้านกาแฟแบบพม่า เป็นกาแฟสมัยก่อน ราคาแก้วละ 10 บาท คนพม่าชอบดื่มชามากกว่า”

วันที่คุยกับคุณสวน คณะคนไทยหลายคนสั่งกาแฟเย็นและชาเย็นดื่มกันคนละแก้ว ซึ่งก็ต้องรอนาน เพราะหนุ่มสวนชงอยู่คนเดียว แต่จากการสอบถามว่ารสชาติเป็นอย่างไร สู้บ้านเราได้หรือไม่ พรรคพวกต่างส่ายหน้าบอกว่า “รสชาติไม่ได้เรื่อง จืดชืด ไม่อร่อยเลย เสียดายตังค์”

p1560302

ร้านกาแฟสไตล์พม่าที่เกาะสองจะมีโต๊ะเก้าอี้เตี้ยๆ ให้ลูกค้านั่ง

สินค้าไทยติดอันดับยอดนิยม

อย่างที่ทราบกันดีว่า เวลานี้พม่าเป็นประเทศเนื้อหอมใครๆ ก็อยากเข้าไปลงทุน ในเดือนหนึ่งๆ มีคณะผู้ประกอบการไทยไปศึกษาดูงานดูลู่ทางกันหลายคณะ แต่มีไม่กี่รายที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจได้อย่างจริงจัง เพราะจะว่าไปแล้วแม้ทางรัฐบาลพม่าจะเปิดช่องเขียนกฎหมายให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้สะดวกและง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ราคาค่าเช่าอาคารและที่ดินแพงมาก โดยเฉพาะในย่านธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานยังไม่ดีพอ ไฟฟ้ายังติดๆ ดับๆ ประจำ ฉะนั้น อย่าได้แปลกใจที่บ้านและอาคารจะมีเครื่องปั่นไฟสำรองของตัวเองไว้ใช้ในยามที่ไฟฟ้าดับ

เพื่อให้เห็นภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในนครย่างกุ้งชัดเจนขึ้น ต้องลองฟังคำบอกเล่าจาก “คุณตู” วัย 30 กว่า ไกด์พม่าที่แต่งงานกับสาวไทย และตั้งบริษัททัวร์พาคนไทยไปเที่ยวและไปศึกษาดูงานที่พม่า

img_0729

“เงินจ๊าดของพม่า 1,000 จ๊าด คิดง่ายๆ เท่ากับเงินไทย 40 บาท โค้กกระป๋องที่เมืองไทย 15-20 บาท ที่นี่ 1,000 จ๊าด ถ้าในร้านอาหารก็ 1,500 จ๊าด ถ้าเป็นต่างจังหวัด 2,000 จ๊าด ข้าวผัดจานละ 2,000 จ๊าด ถ้ามีไข่ดาวด้วย ก็ 2,500 จ๊าด เงินเดือน 50,000 จ๊าด ได้ข้าวผัดแค่ 20 จาน ซึ่งเงินเดือนก็ไม่พอใช้ ดังนั้น จึงเกิดการคอร์รัปชั่นต่างๆ ที่ย่างกุ้งให้สังเกตดูร้านอาหารตามสั่งขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ไม่มีใครไปซื้อทานเพราะมันแพง เราเห็นชาวพม่าส่วนใหญ่ไปทำงานจะหิ้วปิ่นโต ถือตะกร้าใส่กับข้าวที่บ้านไปทาน เอามาคนละอย่างทานร่วมกัน นี่แหละเป็นการใช้ชีวิตของชาวพม่า”

ปัจจุบัน แม้ว่าสินค้าจากจีนจะเข้ามาในพม่าทุกหัวระแหง แต่ในความเป็นจริง คนพม่าก็นิยมใช้สินค้าไทย

“ที่นี่สินค้ามี 2 ประเภท คุณภาพดีก็ต้องเป็นของไทย แต่ถ้าต้องการของถูก ก็ของจีน แต่หลักๆ เลยจะเป็นของจีนกับไทย สมัยก่อนปิ่นโตขายดี ชาวพม่าจะหิ้วปิ่นโตกัน ถ้าใครถือปิ่นโตสเตนเลสตราหัวม้าลายจะไฮโซ ถึงแม้ว่าค่าครองชีพในพม่าจะสูงมาก แต่หัวม้าลายทุกวันนี้ก็ยังขายดี ถ้าเราจะทำธุรกิจในพม่า เราต้องดูสไตล์ด้วย ถ้าเราจับทางถูก อนาคตสบาย ตอนนี้คนไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่นมากันเยอะ”

คุณตู เล่าถึงสภาพไฟฟ้าในนครย่างกุ้งให้ฟังอีกว่า “ปัจจุบัน เรื่องพลังงานในพม่ายังไม่เพียงพอ บางครั้งที่โรงแรมอาบน้ำ สระผม อยู่ดีๆ ไฟดับ อย่าตกใจ 1-2 นาทีจะกลับมาติดเหมือนเดิม เพราะว่าไฟฟ้าไม่พอ ดังนั้น บ้านทุกหลังต้องมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ อย่างร้านค้าใหญ่ๆ บริเวณหน้าร้านจะมีกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ นั่นคือ เครื่องปั่นไฟ ส่วนบ้านหรือที่เป็นอพาร์ตเมนต์จะเป็นลักษณะเล็กๆ จีนเอาเครื่องปั่นไฟมาขาย ยอดขายดีมาก

ฝั่งไทยก็ผลิตเอามาขาย อย่างพวกที่ใช้โซลาร์เซลล์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงาน ไทยกับจีนสู้กันตลอด ในเรื่องคุณภาพของไทยจะขายดีกว่าจีน แต่ถ้าเน้นราคาถูก สินค้าไทยสู้ของจีนไม่ได้ เครื่องสำอางพม่าก็ทำได้เยอะ แต่ส่วนใหญ่คุณภาพยังไม่ถึง คนรวยในพม่าเวลาที่ช็อปปิ้งจะไปช็อปปิ้งที่เมืองไทย ไม่ว่าจะทำศัลยกรรม หรือไปโรงพยาบาล เพราะว่าเน้นคุณภาพ”

 แนะลู่ทางทำธุรกิจในพม่า

ว่าไปแล้วประสบการณ์ของคุณตูนั้น อาจจะแตกต่างจากไกด์คนอื่น เพราะก่อนที่เขาจะเข้าสู่อาชีพนี้ก็เคยทำธุรกิจมาหลายอย่าง อาทิ เปิดร้านคอมพิวเตอร์ และผลิตแชมพูขาย แต่ก็ไม่ดีเพราะการตลาดสู้เจ้าใหญ่ไม่ได้ เขาให้คำแนะนำกว้างๆ สำหรับผู้ที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจในพม่า ซึ่งแม้จะมีปัญหาหลากหลาย แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสรออยู่

“ผมมองว่ากฎหมายต่างๆ ของพม่ายังไม่มั่นคง ไม่ชัดเจน ถ้าจะให้ชัดเจนต้องรอปี 2015 ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงกฎหมายต่างๆ พม่าเปิดประเทศแต่ยังไม่มีอะไรมารองรับทางธุรกิจเลย เช่น 7-ELEVEN เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่ที่พม่า ร้านค้าพอถึงเที่ยงคืนต้องปิดหมด ส่วนที่ยกเว้นจะมี ผับ เธค ที่เปิดได้ถึงตี 2 ถามว่าแล้วจะเปิด 7-ELEVEN ได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่หากไปขอผู้นำ ถ้าท่านอนุญาตต้องกลับมาคิดอีกว่า ไฟฟ้ายังมีใช้ไม่เต็มที่ จะเปิด 24 ชั่วโมง ก็ไม่ได้ ถ้าจะเปิดต้องมีเครื่องปั่นไฟสำรองตัวใหญ่ พอยิ่งใหญ่ยิ่งกินน้ำมัน กำไรที่ขายอาจจะไม่พอกับค่าน้ำมันก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดีเราต้องรอเรื่องพลังงาน ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมไม่เกิด สินค้าต่างๆ ที่จะผลิตออกมาก็เป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงหลายทิศหลายทางที่ยังไม่สะดวก กลายเป็นโอกาสของไทย มีหลายทางที่จะนำสินค้าเข้ามา เช่น ไฟฉุกเฉิน แต่ก็ต้องแข่งขันกับจีนด้วย ส่วนใหญ่ใช้ที่บาร์และโรงแรม แต่ถ้าบ้านคนทั่วไปจะใช้แบตเตอรี่อันใหญ่ ใช้ได้ทั้งบ้าน

เรื่องความสวย ความงามก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเรื่องอาหารเสริมอาจจะต้องเจาะลึกหน่อย ตอนนี้อาหารเสริมออกมาเยอะมาก แต่ที่ประเทศพม่าคนยังไม่มีความรู้มากพอว่าจะต้องทานอะไร ทานยังไง ร้านในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีชาลดความอ้วนหลายยี่ห้อ แต่ถ้าจะเล่นตลาดนี้ต้องศึกษาก่อนว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น โฆษณาต้องมี

ตอนนี้มีร้านฟูจิเข้ามาเปิด ร้านอาหารญี่ปุ่นที่พม่ายังไม่เคยมี ขายดีมาก คนพม่าแต่งตัวไม่หรูหรา แต่มีเงินทั้งนั้น

ถ้าใครคิดจะเอาแฟรนไชส์โจ๊กบางกอกมาขาย ถ้าขายในเมืองไทยธุรกิจไปได้ แต่ถ้าจะขายที่นี่ต้องดูว่า คนพม่านิยมทานโจ๊กไหม ถ้าอาหารตอนเช้าของพม่าจะเป็นน้ำยาปลา แล้วคนพม่าก็ทานข้าวต้มตอนป่วยเท่านั้นเอง หรือจะขายตามย่านไชน่าทาวน์เท่านั้น ซึ่งคนพม่าไม่นิยมทาน แล้วถ้าต้องมาโฆษณาด้วยก็เหนื่อยเปล่า

อย่างช็อกโกแลต ที่อื่นจะหวานๆ มีความรัก แต่ว่าถ้าจะให้เติบโตในพม่าได้ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะคนพม่าไม่ชอบทานหวานๆ ให้ขายช็อกโกแลต ขายหมากข้างถนนยังกำไรดีกว่าอีก เพราะคนพม่าชอบทานหมาก เชื่อไหมว่า โต๊ะที่ตั้งขายหมากข้างทาง กำไร 3,000 บาท ต่อวัน แค่ขายคำละ 100 จ๊าดเอง แต่พม่า 1 คนเคี้ยวๆ แป๊บเดียวก็บ้วนทิ้งแล้ว อย่างน้อยจะซื้อกันวันละ 1,000 จ๊าด เดือนหนึ่งได้เป็นแสนเลย”

นี่เป็นภาพกว้างๆ เพื่อให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นพม่าในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่คิดและอยากจะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้