สุกี้ตี๋น้อย ปรับขายชุดสุกี้ คิดราคาเป็นน้ำหนัก อิ่มคุ้มถูกใจลูกค้ายุคโควิด

สุกี้ตี๋น้อย ปรับขายชุดสุกี้ คิดราคาเป็นน้ำหนัก อิ่มคุ้มถูกใจลูกค้ายุคโควิด
สุกี้ตี๋น้อย ปรับขายชุดสุกี้ คิดราคาเป็นน้ำหนัก อิ่มคุ้มถูกใจลูกค้ายุคโควิด

ไม่คุ้ม แต่ต้องเดินหน้า สุกี้ตี๋น้อย ปรับขายชุดสุกี้ คิดราคาเป็นน้ำหนัก อิ่มคุ้มถูกใจลูกค้ายุคโควิด

หากนึกถึง สุกี้ ที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีสวนทางกับราคาที่แสนถูก ที่สำคัญ อยากกินเมื่อไหร่ก็กินได้ สุกี้ตี๋น้อย คงเป็นชื่อต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช วัย 29 ปี สาวเก่งผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อย ให้มีรายได้หลักร้อยล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

คุณเฟิร์น เล่าที่มาที่ไปของร้านให้ฟังว่า เดิมทีเธอทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง อีกทั้งที่บ้านของเธอทำธุรกิจสวนอาหารมาได้หลายปี ชื่อ เรือนปั้นหยา ซึ่งเป็นร้านขนาดใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 2 สาขา ซึ่งมักประสบปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพรสชาติไม่ค่อยได้

คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช วัย 29 ปี สาวเก่งผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อย

“ที่บ้านมีธุรกิจสวนอาหารอยู่แล้ว เฟิร์นก็เห็นว่าปัญหาในการขยายธุรกิจหลักๆ เลยคือ การคุมเรื่องรสชาติ ที่มันทำให้เหมือนกันเป๊ะๆ ในทุกสาขา มันยาก ตอนนั้นก็ยังเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ ตอนนั้น อายุ 25 แล้ว ก็รู้สึกว่า อีก 5 ปีก็จะ 30 แล้ว เราน่าจะทำธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นของตัวเองนะ ด้วยความที่โตมากับร้านอาหารของที่บ้าน เลยตัดสินใจตั้งต้นจากสิ่งนั้น มีปรึกษาที่บ้านแต่ไม่ทำแบบที่เดิมนะ ต้องทำอะไรที่ควบคุมคุณภาพ รสชาติได้ง่าย และขยายสาขาไม่ยาก ก็มองเป็น สุกี้ ที่คิดว่าตอบโจทย์” คุณเฟิร์น ว่าอย่างนั้น

เจ้าของร้านสุกี้ดังขยายความต่อว่า ที่เลือกทำร้านสุกี้ เพราะสามารถตั้งครัวกลาง ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพได้จากที่เดียว ตั้งแต่ของสด น้ำจิ้ม ไปจนถึงน้ำซุป ก่อนกระจายต่อไปให้แต่ละสาขาได้ โดยที่สาขาปลายทางที่รับวัตถุดิบ ไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่ม ทำเพียงจัดเรียงเตรียมเสิร์ฟให้ลูกค้าเท่านั้น นอกจากนั้น คุณเฟิร์นยังมีการจ้างบริษัทเอาต์ซอร์ส เข้าไปตรวจสอบคุณภาพแต่ละสาขาในทุกๆ เดือนอีกด้วย

“นอกจากคุณภาพกับรสชาติที่เฟิร์นใส่ใจเป็นพิเศษแล้ว จุดที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ คือเรื่องของราคา เราคิดเหมาจ่าย 199 บาท ราคาเดียวทุกสาขา แต่มีเมนูให้เลือกกว่า 50 อย่าง คัดแต่ของคุณภาพดี นั่งทานในร้านติดแอร์ มีซัพพลายเออร์มาเสนอขายแต่ละเจ้า เฟิร์นขอให้เขาส่งตัวอย่างของมาให้เฟิร์นดูก่อน เรื่องราคามาคุยกันทีหลัง เพราะอย่างที่บอกว่าเฟิร์นเอาคุณภาพมาก่อน ต่อให้ราคาถูกได้กำไรขนาดไหน แต่ถ้าเฟิร์นยังทานเองไม่ได้ เฟิร์นก็ไม่เอา”

รูปก่อนมีการสั่งปิดไม่ให้นั่งทานที่ร้าน

อีกทั้ง การเลือกทำเลสาขาที่มีที่จอดรถกว้างขวางที่มาพร้อมกับป้ายโลโก้ใหญ่เตะตา บริการเสิร์ฟอาหารถึงโต๊ะ และเวลาเปิดทำการที่ เปิดตั้งแต่เที่ยงวันยันตี 5 เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มครอบครัว มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานเลิกดึก ทำให้อยากทานสุกี้เมื่อไหร่ก็สามารถมาทานที่ร้านได้ ถือเป็นจุดเด่นของสุกี้ตี๋น้อย ที่ทำให้ครองใจลูกค้าได้มากมายเลยทีเดียว

ด้วยจุดแข็งดังกล่าว จึงทำให้คุณเฟิร์นสามารถขยายสาขาไปได้กว่า 13 สาขา ในเวลาเพียง 3 ปีกว่า ภายใต้การจดทะเบียนเป็นธุรกิจ ภายใต้ชื่อ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป ที่มียอดขายในปี 2562 ระดับ 500 ล้านบาท และทำการขยายสาขาเรื่อยมา จนปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 29 สาขา ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง

แต่ธุรกิจต้องมาสะดุดเพราะโควิด-19 คุณเฟิร์น กล่าวว่า ในการระบาดรอบแรก เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ทำให้เธอไม่สามารถเปิดร้านตอนกลางคืนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะหากไม่ทำ ก็ไม่มีรายได้

“ตอนโควิดรอบแรก เฟิร์นก็มานั่งคิดว่า อาหารแบบเรา อะไรที่มันทำขายกลับบ้านได้บ้าง เพราะการขายแบบเรา คือ การมานั่งกินกันพร้อมหน้าพร้อมตา พูดคุยแชร์สารทุกข์สุกดิบกัน ซึ่งการทำดีลิเวอรี่ เราไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ถ้าไม่ปรับตัวทำ รายได้เราก็จะเท่ากับศูนย์ ก็ต้องหาทางปรับชั่วคราวให้มันผ่านไปให้ได้ เลยปิ๊งไอเดียเป็นขายอาหารกล่อง ราคา 39 บาท ก็ขายได้ไม่เยอะแค่พออยู่ได้”

“รายได้ที่เข้ามา มันช่วยพนักงานของเราไว้ไม่ได้ทุกคน 29 สาขา เฟิร์นมีพนักงาน 2,200 คน ก็เลยมานั่งคิดใหม่ ว่าจะทำยังไงให้พวกเราไปกันรอด จะเรียกว่าเป็นโจทย์ที่ทำให้เฟิร์นและทีมคิดกันหนักมากจริงๆ หลังจากหาข้อสรุปได้ ก็ปรับมาขายสุกี้แบบ Take away แต่ขายเป็นน้ำหนัก ราคาไม่แพง เราทุนไม่จม ลูกค้าก็ได้กินสุกี้ในราคาถูก ก็พอให้ผ่านพ้นไปได้ค่ะ” สาวเจ้าของร้าน เล่า

มรสุมผ่านไป แต่ก็ไม่ใช่ลูกเดียวที่ต้องเจอ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน การระบาดระลอก 2 ก็เกิดขึ้น แต่ในครั้งนี้ คุณเฟิร์น บอกว่า ไม่ได้กระทบกับร้านหนักถึงขนาดต้องปิดร้านเช่นรอบแรก อีกทั้งมีบทเรียนจากรอบที่แล้ว จึงนำมาปรับใช้

รูปก่อนมีการสั่งปิดไม่ให้นั่งทานที่ร้าน

“รอบ 2 กระทบเหมือนกัน แต่ไม่หนักเท่ารอบแรก เพราะร้านยังเปิดให้นั่งทานได้อยู่ สุกี้ตี๋น้อยสาขาที่เปิดในห้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นห้างคอมมูนิตี้มอลล์ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เมื่อมีประกาศให้เปิดนั่งได้ 25% 50% ถามว่ามันคุ้มไหมที่เปิด จริงๆ มันก็ไม่คุ้มหรอกค่ะ แต่มันต้องเดินหน้าต่อ ทางห้างก็มีการช่วยเรื่องค่าเช่าที่อะไรพวกนี้ มันก็ไม่ถึงกับขาดทุนหรือมีกำไรอะไร ยอมเปิดแล้วเสียเล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าปิดแล้วไม่ได้อะไรเลย”

รูปก่อนมีการสั่งปิดไม่ให้นั่งทานที่ร้าน

“ก็ถือเป็นอะไรที่ต้องปรับตัวรับมือกันเป็นชั่วคราวค่ะ ในสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้ ก็ยังโชคดีค่ะ ที่มีสิ่งที่เราทำได้ดีจากเหตุการณ์เหล่านี้คือ เรื่องความสะอาดที่มีการควบคุมเคร่งครัด และการคุมสต๊อกของที่บริหารได้ดีขึ้น” คุณเฟิร์น ว่าอย่างนั้น

รูปก่อนมีการสั่งปิดไม่ให้นั่งทานที่ร้าน

ถามถึงอนาคตของสุกี้ตี๋น้อย เจ้าของสาว เผยว่า มีแผนขยายสาขาไปเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะเธอเชื่อว่า ตลาดของกิน เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ทุกคนยังต้องกินต้องทานกัน แต่ไม่มีแผนจะทำแฟรนไชส์ เพราะยังกังวลเรื่องการคุมคุณภาพ เพราะสุกี้ราคาถูก แต่ใช้วัตถุดิบอย่างดี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสุกี้ของเธอมีความมั่นคง

สอบถามเกี่ยวกับบริการของร้านเพิ่มเติมได้ที่ เพจ สุกี้ตี๋น้อย