ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บั๋นหมี่สะใภ้เวียดนาม อร่อยแสงออกปาก เหมือนชาวเวียดนามทำให้ทาน
บั๋นหมี่ หรือ แซนด์วิชเวียดนาม เป็นขนมปังแบบบาแกตต์ขนาดเล็ก นิยมกินกับ ปาเต้ (Pate) หรือ ตับบด ทากับขนมปัง และใส่แฮมชนิดต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม ถือว่าเป็นอาหารสตรีตฟู้ดที่มีขายทั่วไปในเวียดนามชนิดหนึ่ง

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้พูดคุยกับ คุณแก้ว-สุทธิกา สายะสิต วัย 33 ปี เจ้าของ บั๋นหมี่สะใภ้เวียดนาม ร้านดังย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ใครได้มาทานต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อยได้รสชาติแบบเวียดนามแท้ๆ
คุณแก้ว เล่าว่า เรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยรังสิต เอกภาษาจีน และจบปริญญาตรี Guangxi Normal University Guilin China โดยระหว่างที่เรียนอยู่ที่จีน ก็ได้พบรักกับสามีชาวเวียดนาม หลังจากเรียนจบ และแต่งงาน สามีย้ายมาอยู่กับคุณแก้วที่ไทย

เมื่อจากบ้านเกิดเมืองนอนมาสร้างครอบครัวในอีกประเทศ อยู่ไปนานๆ สามีของคุณแก้วก็เริ่มคิดถึงอาหารเวียดนาม อีกทั้งโดยส่วนตัว คุณแก้วเป็นคนชอบทานและได้ทานอาหารเวียดนามบ่อยครั้งก็พบว่า อาหารเวียดนามแบบออริจินอลนั้นหาทานค่อนข้างยากในประเทศไทย โดยเฉพาะ บั๋นหมี่ ซึ่งร้านที่ขายทั่วไปคุณแก้วรู้สึกว่า ขนมปังและรสชาติที่เหมือนต้นตำรับเลยหาไม่ค่อยได้ จึงลองหาซื้อขนมปังมาทำเองดู

“ตอนนั้นยังซื้อขนมปังในไทย แต่ยังไงก็ไม่เหมือนต้นตำรับ อารมณ์แบบซื้อมาทำเพื่อทานแก้ขัดไปก่อน ตอนนั้นก็ทำให้สามีและคนในบ้านชิมก่อน และสามีบอก ลองทำขายเลยไหม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไปศึกษาวิธีทำขนมปังบาแกตต์แบบเวียดนามจริงๆ กับบินไปเวียดนามเพื่อไปเรียนวิธีทำอาหารกับคุณแม่สามี ไปลองชิมบั๋นหมี่กับอาหารเวียดนามแบบอื่นๆ ที่เมืองไทยไม่มี แล้วเอามาลองทำ ตามหาซื้อวัตถุดิบทั้งหมดแล้วบินกลับมาทำ ตอนแรกขนมปัง หาได้แบบขนมปังญวนที่มีขายทั่วๆ ไป แต่เอามาลองทำแล้ว ยังไงๆ ก็ไม่ใช่ จนได้ไปเรียนทำขนมปัง แล้วก็ปรับสูตรจนมีเอกลักษณ์ของขนมปังเป็นของเราเองที่ทำขายในปัจจุบันค่ะ” คุณแก้ว เล่า

โดยบั๋นหมี่ของที่ร้านคุณแก้ว ใช้วัตถุดิบที่มีความเหมือนที่เวียดนามใช้ทำขายทั้งหมด อีกทั้งเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี ลูกค้าคนไทย คนเวียดนามที่อยู่เมืองไทยได้ทานแล้ว รู้สึกเหมือนไปทานของต้นตำรับที่เวียดนามเลย

“เราทานแบบไหนลูกค้าต้องทานแบบนั้น ผักที่ร้านเป็นออร์แกนิก วัตถุดิบเครื่องปรุง เครื่องเทศหลายๆ อย่าง เรานำเข้าจากเวียดนามทั้งหมด รสชาติที่เป็นออริจินอลแท้ๆ ต้นตำรับเวียดนาม โดยสูตรจากบ้านสามีและมาปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทย ทุกเมนูที่ออกไปจะผ่านการคอมเมนต์จากคุณสามีที่เป็นคนเวียดนามและคนในบ้าน ก่อนจะนำเมนูนี้เตรียมขาย ปัจจุบันก็เปิดร้านขายมาได้ 4 ปี แล้วค่ะ”

แต่เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด กิจการเล็กๆ นี้ ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยคุณแก้ว เล่าว่า ในการระบาดรอบแรกนั้น บั๋นหมี่ร้านเธอค่อนข้างจะขายดี อาจเพราะเธอไหวตัวทันตั้งแต่ทราบข่าวว่าโควิดมันรุนแรงในจีนจากเพื่อนคนจีน

“คือเราได้ข่าวมาตั้งแต่ธันวาคมแล้วว่า การระบาดมันรุนแรง พอช่วงมกราคม มีโอกาสบินกลับเวียดนามก็รีบตุนวัตถุดิบกลับมาเลย หลังจากนั้นก็มาปรับกลยุทธ์ ขายดีลิเวอรี่แบบเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 หลังจากนั้นก็ยาวเลยค่ะ มีปัญหาที่วัตถุดิบบางอย่างหมดบ้าง ก็ต้องหาของมาทดแทน แต่โชคดีที่หาซื้อมาทำบั๋นหมี่ได้ พอรอบ 2 เรายังมีประสบการณ์จากรอบแรก และรู้แล้วว่าควรคิดเมนูยังไง ปรับลดสต๊อกลง จากที่ตุนเยอะก็ทยอยซื้อ ปรับบางเมนูลง เมนูไหนขายได้น้อยก็ลดการสั่งของลง หรือปิดบางเมนูที่ดึงต้นทุนไปค่ะ”

“พอรอบ 3 ก็ต้องบอกว่าเจ็บค่ะ ต้องเซฟต้นทุนสุดๆ เซฟกว่ารอบ 2 อีก ก็ไม่ถึงกับทรุดค่ะ แก้วคิดว่ามันคงเป็นแทบทุกร้านนะในช่วงนี้ แต่โชคดีที่ร้านไม่มีค่าเช่าที่ ไม่มีค่าพนักงาน เพราะแก้วทำคนเดียวเป็นหลัก ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเยอะ มีปรับปริมาณการสั่งซื้อลงแต่คุณภาพวัตถุดิบอาหารให้เท่าเดิมมาโดยตลอด ส่วนเมนูก็ปรับให้สั่งพรีออร์เดอร์ เปิดสั่งเป็นรอบในเมนูพิเศษต่างๆ ปรับกลยุทธ์การขายออนไลน์ให้มากขึ้น และเน้นดีลิเวอรี่ ที่มีการส่งเองจากร้าน และมีโปรโมชั่นต่างๆ ในการส่งอาหารให้ลูกค้า เราก็ทำโปรส่งฟรีอะไรแบบนี้ ยอดขายไม่ดีเท่าเดิมแน่นอนค่ะ แต่เราก็ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้ร้านที่เราทำมากับมืออยู่ต่อไป” เจ้าของร้านบั๋นหมี่สะใภ้เวียดนาม กล่าว

นอกจากนั้น เจ้าของร้านสาว ยังบอกว่า ในอนาคตจะมีการปรับร้านใหม่ จากปัจจุบันที่ใช้พื้นที่โรงรถที่บ้านทำร้าน ก็ซื้อตึกและปรับทำร้านใหม่ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่เก่า เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องสับสนว่าร้านย้ายไปไหน อีกทั้งมีแผนจะทำพื้นที่ให้ลูกค้าได้นั่งเพิ่มจากปัจจุบัน และมุ่งเน้นขายทางดีลิเวอรี่ให้เข้าถึงและสะดวกต่อลูกค้ามากขึ้น พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ อาจจะมีการทำสาขาเพิ่มด้วย
สอบถามหรือสั่งซื้ออาหารเวียดนาม ได้ที่ เพจ บั๋นหมี่สะใภ้เวียดนาม

เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564