ช่างนินจา ช่างปูนปั้น ทำงานไม่ได้ค่าแรง เพราะค่าแรงของเขา คือ ความสุข

ช่างนินจา ช่างปูนปั้น ทำงานไม่ได้ค่าแรง เพราะค่าแรงของเขา คือ ความสุข

ถึงจะเป็นช่วงโควิดระบาดครั้งที่ 3 แต่ผมก็อดจะออกจากบ้านไปเที่ยวไม่ได้ เพียงแต่เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่เงียบๆ มีคนไปเที่ยวน้อย การได้ไปเที่ยวในช่วงที่ว่านี้ นอกจากได้ที่พักราคาถูกแล้ว ยังได้เห็นธรรมชาติที่สวยงามเบิกบานด้วย จะถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ก็เห็นวิวได้ชัดเจน ไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ มายืนบดบังสายตา

สถานที่ที่ผมเลือกไปท่องเที่ยวอยู่ที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่เลือกที่นี่ เพราะทราบมาก่อนว่าเป็นเมืองอยู่บนที่ราบของยอดเขา คล้ายๆ กับยอดภูกระดึง จึงทำให้อากาศดี ทั้งๆ ที่เป็นปลายฤดูร้อน แต่พอตื่นมาตอนเช้าก็จะพบกับอากาศหนาว จนต้องใส่เสื้อหนาว พอถึงเวลาเที่ยง อากาศพอดีเหมือนนั่งอยู่ในห้องแอร์ แต่ที่นี่ดีกว่าห้องแอร์ เพราะสายตาสามารถมองไปรอบๆ ได้ 360 องศา ไปยังท้องทุ่งที่ปลูกพืชไร่กว้างไกลสุดตา ทำให้ไม่อึดอัดเหมือนอยู่ในห้องแอร์

เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงไม่จำเป็นต้องนั่งรถไปเที่ยวที่ไหน แค่พักผ่อนอยู่ที่รีสอร์ตก็สบายแล้ว และไม่ต้องห่วงว่าจะติดโควิดจากใครด้วย เพราะมีคนมาพักที่รีสอร์ตเพียงไม่กี่หลังเท่านั้น

บังเอิญว่า ในวันเดินทางกลับผมได้พบเห็นอาคารคอนกรีตหลังหนึ่งตั้งเด่นอยู่ไม่ห่างจากถนนใหญ่มากนัก ผมกับเพื่อนร่วมเดินทางจึงแวะดู เพราะอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นการก่อสร้างอาคารอะไรที่มาตั้งอยู่กลางป่า ที่บริเวณทั่วไปมีแต่บ้านของชาวบ้านหลังเล็กๆ

เข้าไปดู พบกับชายคนหนึ่ง มารู้ตอนหลังว่าชื่อ อารยะศักดิ์ ทองอยู่ แต่ส่วนใหญ่คนที่นั่นเรียกแกว่า ช่างนินจา

ช่างนินจา ต้อนรับพวกเราอย่างดี ทั้งๆ ที่เป็นคนแปลกหน้า เพราะใครมาชมก็เหมือนเป็นการให้กำลังใจแก่คนทำงานนั่นเอง

ตึกสูงกลางป่าหลังนี้ไม่ได้เป็นอาคารพักอาศัย แต่เป็นมณฑป

เมื่ออยากรู้ความเป็นมาของตึกหลังนี้ ช่างนินจา ได้กรุณาเล่าว่า ตึกสูงกลางป่าหลังนี้ไม่ได้เป็นอาคารพักอาศัย แต่เป็นมณฑป (มณฑปเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบหนึ่ง ฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดหลังคาเป็นทรงจอมแห สร้างไว้สำหรับประดิษฐานสิ่งที่เคารพสักการะ เช่น พระพุทธรูป หรือพระไตรปิฎก)

ที่สร้างมณฑปที่นี่ เพราะหลวงพ่อแดง พระสงฆ์ชื่อดังของอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดมีนิมิตขึ้นมาว่า ถ้าขุดลงไปในดินตรงที่สร้างมณฑป จะพบหินที่เป็นพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้พบจริงๆ

เมื่อหลวงพ่อแดงได้มาพบเห็นด้วยตา จึงได้บอกบุญญาติโยมเพื่อนำเงินมาก่อสร้างเป็นมณฑปอย่างที่ได้เห็นนี้แหละ นับเป็นแห่งแรกของโลกที่ได้พบหินเป็นรูปพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า

ช่างนินจา เล่าต่อว่า เดิมทีที่ดินตรงนี้เป็นรีสอร์ต แต่เมื่อได้พบหินพระหัตถ์พระพุทธเจ้า เจ้าของรีสอร์ตจึงได้ถวายที่ดินให้หลวงพ่อแดง มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้างมณฑปอยู่ 3 ปี แล้วทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงได้งานตามที่เห็น เมื่อทำโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ หลวงพ่อแดง ได้มอบหมายให้ช่างนินจามีหน้าที่ตกแต่งด้วยการทำปูนปั้น แกะภาพนูนเป็นดอกบัว ใบบัว และหล่อปูนทรงพุ่ม เพื่อตกแต่งทั้งภายในและภายนอก

การทำงานเริ่มตั้งแต่เอาดินมาทำแบบ ทำบล็อก แล้วหล่อเป็นปูนปั้น โดยมีอาจารย์สิทธิชัย กวินทร์ เป็นผู้ออกแบบ

ปัจจุบันได้งานตกแต่งไปเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

หินรูปพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า

ผมถามว่า งานตกแต่งทั้งภายในภายนอกจะเสร็จเมื่อไร ได้รับคำตอบว่า ไม่มีกำหนด เพราะหลวงพ่อแดงไม่ได้รีบร้อนอะไร ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด ดีทั้งฝีมือและถูกต้องตามสถาปัตยกรรมไทย

เพื่อให้งานก่อสร้างมณฑปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลวงพ่อแดง ได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่นี่ มีชื่อว่า สำนักสงฆ์พุทธคีรีหัตถ์ เพื่อดูแลการก่อสร้างทั้งหมด นานๆ หลวงพ่อแดงจะมาสักครั้ง

สำหรับการตกแต่งด้วยปูนปั้นทั้งตัวอาคารได้มอบหมายให้ช่างนินจาเป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งหมด

เนื่องจากมีงานต้องทำมาก ช่างนินจาจึงได้ว่าจ้างให้มีช่างมาช่วยทำงานหลายคน แต่ส่วนใหญ่จะมีชาวบ้านสมัครใจมาช่วยงานโดยไม่ต้องการเงิน ช่วยด้วยใจ เพราะถือว่าเป็นงานบุญ

“บางครั้งก็มีนักเรียน นักศึกษามาขอฝึกงาน” ช่างนินจา บอก แล้วอธิบายต่อว่า

“หากผู้ใดมาช่วยทำงานหรือฝึกงาน สำนักสงฆ์ที่นี่จะมีที่พักและอาหารให้ด้วย”

งานฝีมือ

ถึงตรงนี้ ทำให้ผมอยากเชิญชวนให้หนุ่มสาวที่ชอบงานศิลปะให้มาฝึกงานที่นี่ก็น่าจะดี เพราะช่างฝีมือเกี่ยวกับปูนปั้นในเมืองไทยมีน้อยลงเรื่อยๆ

หากคนใดฝึกจนทำเป็นจะไม่ตกงานอย่างแน่นอน จะมีงานให้ทำตลอด

(ผู้สนใจต้องการฝึกงาน โทรศัพท์ไปที่ช่างนินจาที่ โทร. 093-027-0229 ได้เลย)

ขอวกกลับมาเล่าเรื่องก่อสร้างมณฑปกันต่อ

สำหรับช่างนินจาเอง ได้พักอาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มมาทำงาน ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่เพียง 2 รูป มีโยมเพียงคนเดียวคือช่างนินจา ปัจจุบันช่างนินจาอายุ 62 ปีแล้ว ทำงานเป็นช่างปูนปั้นมานานตั้งแต่หนุ่มจนแก่ เดิมช่างนินจาอยู่ที่บุรีรัมย์ มีภรรยา 2 คน มีบุตร 4 คน ทุกคนมีการมีงานทำ จึงทำให้ช่างนินจามาอยู่ที่นี่โดยไม่ต้องห่วงอะไร

ช่างนินจา อยู่กินกับสำนักสงฆ์มาตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างมณฑป มีผู้ศรัทธามาทำบุญและบริจาคเงินให้สำนักสงฆ์เพื่อก่อสร้างมณฑปไม่เคยขาด ก็เท่ากับทำให้ช่างนินจา มีชีวิตอยู่กับสำนักสงฆ์ได้แบบสบายๆ ไม่เดือดร้อน

เมื่อผมถามถึงค่าแรงที่ช่างนินจาได้ เขาตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า

“ผมไม่ได้ค่าแรงครับ ค่าแรงของผมคือความสุข”