กูรูผักหวานป่า คำมี บุ้งโพธิ์ เกษตรกรตัวอย่าง ปลดหนี้ หนีความยากจน

กูรูผักหวานป่า คำมี บุ้งโพธิ์ เกษตรกรตัวอย่าง ปลดหนี้ หนีความยากจน

คุณคำมี บุ้งโพธิ์ วัย 60 ปีเศษ ปัจจุบันได้การยอมรับ ให้เป็น กูรูผักหวานป่า และเกษตรกรตัวอย่าง ที่สามารถปลดหนี้ หนีความยากจน สร้างรายได้จากเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปรับพื้นที่ แหล่งกักเก็บน้ำในแปลง ทำให้เกิดความมั่นคงอาหาร อาชีพ และรายได้ ถิ่นฐานบ้านเกิดของเขาอยู่ที่บ้านโนนศิลา ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ซึ่งว่ากันว่าเคยแล้งที่สุดในภาคอีสาน

“ครอบครัวมีที่ดินอยู่ 21 ไร่  สมัยรุ่นพ่อแม่ ปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง แต่ได้ราคานิดเดียว ปอกิโลละ8 บาท มันกิโลละ 50 สตางค์ รถอีแต๋นบรรทุกได้ 1 ตัน เขาเอาค่ารถไปแล้วกิโลละ 8 สตางค์” คุณคำมี ย้อนความทรงจำ แววตาหม่น

คุณคำมี บุ้งโพธิ์

ก่อนเล่าต่อ  หลังจากเรียนจบชั้นประถมฯ เขาหนีความแห้งแล้งและยากจนที่บ้านเกิด ไปหางานทำที่เมืองหลวง แรกเริ่มเป็นคนงานในโรงงานหมี่ย่านบางแค ทำหน้าที่แบกหมี่ตากใส่ราว ได้ค่าแรงวันละ 7 บาท ทำอยู่ปีหนึ่งออกไปทำโรงงานไอศกรีม ที่อยู่ไม่ห่างจากโรงงานหมี่ ทำได้สามเดือนคล่องแคล่วขึ้น เลยชวนคนบ้านเดียวไปทำงานด้วยกัน ปรากฏเพื่อนขี้เกียจทำงาน เทน้ำหวานทิ้ง ไม่ยอมกรอกใส่แม่พิมพ์ เถ้าแก่เลยตำหนิเหมารวมกันทั้งหมด

“ไปทำงานกรุงเทพฯ หลายรอบอยู่เหมือนกัน แต่คิดถึงบ้าน นอนร้องไห้ทุกวัน” คุณคำมี บอกเบาๆ

เมื่อชีวิตในเมืองกรุง เจ็บปวดเกินไป คุณคำมี จึงตัดสินใจกลับบ้าน ตั้งใจจะกลับมาทำการเกษตร บนที่ดินของตัวเอง แต่ด้วยความแห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่งามพอ ที่หารายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ กระทั่งต่อมา ชุมชนมีโครงการ คลองฟ้าประทานชล อนุรักษ์ป่า ช่วยเหลือเกษตรกรตามหมู่บ้านต่างๆ เกิดมีน้ำในแปลงนา เลยคิดปลูกผักหวานป่า คิดว่าปลูกให้ลูกให้หลานได้กิน ไม่คิดว่าจะขายได้

ปลูกพืชผสมผสาน

ทำไปทำมา กินไม่หมด เลยเก็บขาย และหาพืชอื่น เช่น  บุกป่า กระชาย ดอกกระเจียว มาปลูกเพิ่ม ปรากฏ ขึ้นเต็มไปหมด  แต่ทำตอนนั้นยังไม่สมบูรณ์ กระทั่งมีข่าวสาร จากทางการลงมา โครงการสำคัญสุด คือ โครงการพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 บอกว่าให้ทำ เกษตรพอเพียง

“อยากทำเกษตรพอเพียง ตามรอยพระองค์ท่าน จึงศึกษาทำยังไงถึงจะพอเพียง เลยทำมาเรื่อยๆ จนมีผลผลิตเหลือกินเก็บขายได้ โดยเฉพาะผักหวาน ขายได้ราคาดี  จนถึงทุกวันนี้” คุณคำมี เล่าสีหน้าปลาบปลื้ม

ต้นผักหวานป่า

ก่อนแจงให้ฟัง ราคาผักหวานป่า ล่าสุด อยู่ที่กิโลละ 400 บาท แต่ถ้าวันไหนไม่มีคนสั่งล่วงหน้า จะแยกบรรจุ ขายถุงละ 50 บาท ทยอยออกขาย แต่วิธีทำให้ผักหวาน ดูสดน่ารับประทาน ต้องแช่ในถังน้ำแข็ง ให้ไอเย็นช่วยด้วย

ยอดผักหวานป่า
ไม่หวงวิชา

“ผักหวานป่า มีให้เก็บขายทุกวัน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่มีเก็บขายได้เกือบทั้งปี ยิ่ง ช่วงสงกรานต์ ขายดี คนมาจากกรุงเทพฯ อยากซื้อกลับ รายได้ตรงนี้ ช่วยปลดหนี้ ช่วยส่งเสียลูกให้เรียนจบทั้งสองคน ทุกวันนี้กลับจากขายผักหวานที่ตลาด ก็เอากระเป๋าตังค์ให้ยายเป็นคนนับ จะน้อยจะมากก็ให้เป็นคนนับ” คุณคำมี บอกก่อนยิ้มกว้าง ภูมิใจ

 

เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ.2564