สู้ไม่ท้อ! ไขกลยุทธ์ เอสเอ็มอีภูเก็ต ฝ่าพิษโควิด ปรับธุรกิจรอวันฟื้น

สู้ไม่ท้อ! ไขกลยุทธ์ เอสเอ็มอีภูเก็ต ฝ่าพิษโควิด ปรับธุรกิจรอวันฟื้น

ภูเก็ต หนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในเขตทะเลอันดามัน และได้ชื่อว่าเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดเกาะหนึ่งของไทย จึงมักมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือนกันไม่ขาดทั้งไทยและต่างชาติ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้น บรรดาผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการปรับตัว เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปให้ได้

คุณอมร อินทรเจริญ ประธานบริหาร บริษัท ภูเก็ต เพิร์ล อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไข่มุก
คุณอมร อินทรเจริญ ประธานบริหาร บริษัท ภูเก็ต เพิร์ล อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไข่มุก

คุณอมร อินทรเจริญ ประธานบริหาร บริษัท ภูเก็ต เพิร์ล อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไข่มุก เล่าว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไข่มุกมาตั้งแต่ปี 2519 โดยเป็นธุรกิจที่สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษคนภูเก็ต ที่ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่มุกเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว

ต่อมาจึงมีการพัฒนาปรับเปลี่ยน จากอุตสาหกรรมครัวเรือน มาเป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีไข่มุกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งวัตถุดิบโรงงานผลิตและแปรรูปไข่มุกอย่างครบวงจร ที่ได้รับมาตรฐานสากลของโลกมากมาย โดยล่าสุดคือระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015

คุณอมร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องตั้งหลักธุรกิจและใช้เวลากับการขับเคลื่อนกระบวนการผลิต โดยนำผลงานวิจัยมาพัฒนา ยกระดับคุณภาพสินค้า พร้อมขยายช่องทางการตลาด จากเดิมที่เราทำการตลาดต้องทุ่มงบประมาณกับการซื้อโฆษณา ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น กูเกิ้ล และ เฟซบุ๊ก ปรับเปลี่ยนนำงบดังกล่าวมาให้กับพนักงานทุกคนที่แชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊กของบริษัท หรือก็คือรูปแบบการบอกต่อแบบปากต่อปากในสื่อสังคมออนไลน์แทน

“ภาพรวมธุรกิจ ก่อนเกิดโควิด ยอดขายเฉลี่ยของเราอยู่ที่ประมาณปีละ 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน มียอดขายเข้ามาเพียง 30% เท่านั้น เป็นกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งสวนทางกับรายจ่ายประจำที่ยังมีเท่าเดิมอยู่ ก็ไม่ได้ย่อท้อนะครับ พนักงานกว่า 40 คน ก็ต้องดูแลกันไปไม่มีให้ใครออก มีการเติมสภาพคล่องเข้าไปเพิ่ม เพื่อประคองตัวรอวันธุรกิจฟื้นตัวอีกครั้ง” คุณอมร กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังช่วยเหลือพนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานส่วนหนึ่ง ปลูกผักและเลี้ยงไก่ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพราะจากวิกฤตที่เผชิญมา ทำให้รับรู้ได้เลยว่า วัตถุดิบเพื่อใช้ประกอบอาหาร เป็นส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกคน อีกทั้งบริษัทยังมีนโยบายแจกข้าวสารให้พนักงานทุกเดือน เพื่อช่วยลดภาระด้านค่าครองชีพในชีวิตประจำวันอีกด้วย

“ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวไทย เมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำหนดให้ฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจไทยก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่ภาครัฐต้องทำการประชาสัมพันธ์และต้องชี้แจงหากเกิดผลกระทบซ้ำอีก จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ ส่วนการทำธุรกิจของบริษัทคงจะไม่ประมาท เพราะบทเรียนและประสบการณ์จากเหตุการณ์สึนามิภูเก็ตที่ผ่านมา ทำให้เราเรียนรู้และต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับและมีเงินทุนที่เพียงพอรับแรงกระแทก หากอนาคตต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอีก” คุณอมร แสดงความเห็น เกี่ยวกับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว เข้ามาในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ซึ่งมีภูเก็ต เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่กำหนด

คุณรัตติกรณ์ อินทรเจริญ
คุณรัตติกรณ์ อินทรเจริญ ลูกสาวคุณอมร

ด้าน สัตวแพทย์ สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มหอยเป๋าฮื้อ รวมถึงผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหอยเป๋าฮื้อ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากหอยเป๋าฮื้อของบริษัท เกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันทดลองจนสามารถเพาะเลี้ยง และขยายสายพันธุ์หอยเป๋าฮื้อโอกินาว่ารายแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ พร้อมนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากมาย

ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายของบริษัท จึงได้มีการปรับตัวมุ่งทำตลาดเชิงรุก เน้นทำตลาดออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้านำสินค้าไปใช้บริการได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

“การเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีควัคซีนนั้น เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่คาดเดาไม่ได้ว่าจะช้าหรือเร็ว อย่างน้อยความเชื่อมั่นต้องเกิดขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ถือเป็นผลดีต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจะขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเพิ่มขึ้น” สัตวแพทย์ สิทธิศักดิ์ ว่าอย่างนั้น