บทเรียนล้ำค่า! แบร์เฮ้าส์ ร้านชานมไข่มุกดัง ขายชานมกระป๋อง ขาดทุนยับ 17 ล้าน!

บทเรียนล้ำค่า! แบร์เฮ้าส์ ร้านชานมไข่มุกดัง ขายชานมกระป๋อง ขาดทุนยับ 17 ล้าน! 

หลังประสบความสำเร็จ จากการเปิดช่องยูทูบ Bearhug มียอดผู้ติดตามสูงถึง 3.56 ล้านคน ต่อมา คุณซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และ คุณกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ ได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจ เปิดร้านชานมไข่มุก BearHouse (แบร์เฮ้าส์) ซึ่งโด่งดังมากในหมู่วัยรุ่น สาขาแรกตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์ ถึงวันนี้ เปิดให้บริการทั้งหมด 8 สาขา

จากการเติบโตของร้านชานมไข่มุก ทั้งสองได้ต่อยอดธุรกิจอีกขั้น แต่ยังคงชูจุดเด่นด้วยชานมไข่มุก คือ ผลิตชานมไข่มุกกระป๋องขายในร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN ในราคา 35 บาท ปรากฏว่า มียอดขายสูงถึงร้อยล้านบาท!!! แต่…ขาดทุนถึง 17 ล้านบาท เหล่านี้คือบทเรียนล้ำค่าที่สองยูทูบเบอร์ได้แชร์ประสบการณ์ไว้ในช่องยูทูบของตัวเอง ดังนี้ 

1. ไม่มีความรู้

คุณซารต์ และคุณกานต์ ให้เหตุผลว่า ไม่เคยทำโปรดักต์ขายใน 7-ELEVEN และไม่เคยค้าขายอะไรแบบนี้มาก่อน เมื่อต้องผลิตสินค้าส่ง 7-ELEVEN ทั้งหมด 12,000 สาขา รวมเงินค่าผลิตเป็นสิบๆ ล้านบาท จึงไม่รู้เลยว่าในอนาคต ต้องเจอกับการหมุนเงิน ภาษี ค่าจ้าง ต้นทุนแฝง ฯลฯ มารู้อีกทีคือขาดทุน

2. ซีเรียสเรื่องรสชาติเกินไป เลือกใช้สูตรที่มีต้นทุนสูง

แม้จะมีสูตรที่สามารถลดค่าภาษีความหวานได้ โดยใช้อย่างอื่นแทน และรู้ดีว่าทางรอดของโปรดักต์นี้คือการปรับสูตร แต่คุณซารต์เลือกไม่ปรับสูตร เพราะคิดว่าถ้าปรับแล้วตัวเองไม่มีความสุข ไม่ภูมิใจในสินค้า หากเป็นแบบนั้นขอเลือกไม่ผลิตดีกว่า

3. การบริหารเวลา

หลังผลิตสินค้าล็อตแรกออกจำหน่าย จำนวน 1,000 กระป๋อง ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 2,000 กระป๋อง จึงสั่งผลิตสินค้าเพิ่มทันที แต่เพราะการบริหารไม่สอดคล้องกับการผลิต ทำให้สินค้าล็อตสองออกมาจำหน่ายในช่วงที่กระแสเริ่มลดลง

คุณซารต์ ยังเสริมว่า อีกสิ่งสำคัญคือเรื่องอายุของสินค้า สมมติสินค้าอายุ 1 ปี การส่งสินค้าให้ 7-ELEVEN สินค้านั้นต้องมีอายุมากกว่า 10 เดือนเป็นต้นไป เพื่อให้ 7-ELEVEN สามารถกระจายสินค้าในอีก 12,000 สาขา และอีกส่วนคือบรรจุภัณฑ์ เพราะเลือกใช้กระป๋องสกรีน จึงไม่สามารถนำไปขายต่อได้ หากไม่ได้ใช้แล้วต้องใช้รถในการบดให้เป็นเศษอะลูมิเนียม เพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งได้ไม่กี่บาท

“การขาดทุนเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์โลก และอยากเตือนว่าอย่ากลัวการทำธุรกิจ และในการทำต้องศึกษาให้มากพอ อย่ามัวจมกับความล้มเหลว” เจ้าของแบร์เฮ้าส์ ทิ้งท้าย 

ที่มา : Bearhug