สุดยอดน้องอเล็ก จากเด็กแอลดี สู่นักเขียนในโลกออนไลน์

สุดยอดน้องอเล็ก จากเด็กแอลดี สู่นักเขียนในโลกออนไลน์
สุดยอดน้องอเล็ก จากเด็กแอลดี สู่นักเขียนในโลกออนไลน์

สุดยอด น้องอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ หนุ่มน้อยในวัย 15 ปี เด็กแอลดี ที่ค้นพบตัวเอง สู่นักเขียนในโลกออนไลน์ บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ ในแอพ อ่านนิยายแชตรูปแบบใหม่ กับผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ที่มีคนติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์
อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ หนุ่มน้อยวัย 15 ปี กับนิยายเรื่อง หัวใจกระดาษ

“เด็กทุกคนมีทางของตัวเอง หากเราเจอเขาได้เร็ว และรู้ชัดว่า เขาเป็นอะไร พ่อแม่หาทางช่วยอย่างถูกวิธี จากปัญหาที่คิดว่าหนัก มันก็จะเบา เบาก็จะเป็นดี แม้จะเป็นเด็กแอลดี แต่ใครจะเชื่อว่า อเล็ก จะกลายเป็นนักเขียน มีโลกอีกใบที่เป็นโลกแห่งจินตนาการ อยากบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรแบบที่เราไม่คาดคิดว่า เด็กแอลดีจะสื่อสารได้ขนาดนี้”

ปัจจุบัน Learning Disabilities (LD) ความบกพร่องในการเรียนรู้ เริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากขึ้นในสังคมไทย แต่ยังมีเด็กแอลดีจำนวนไม่มากนักที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างมีความสุข หนึ่งในนั้นคือ “อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” ที่วันนี้เติบโตเป็นหนุ่มน้อยวัย 15 ปี มีพัฒนาการด้านอื่นๆ แทบไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป จะมีก็เพียงเรื่องการสื่อสารที่เป็นปัญหา หลายคนไม่คาดคิดว่าเด็กแอลดีที่มีสมาธิสั้นร่วมด้วยจะสามารถค้นพบเส้นทางความสุขของตัวเอง จากการเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์

ครอบครัวของ อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์
ครอบครัวของ อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์

เปิดใจคุณแม่เมื่อค้นพบลูกเป็นเด็กแอลดี

คุณโสภี ฉวีวรรณ คุณแม่ของอเล็ก เล่าว่า เริ่มรู้ว่าอเล็กเป็นเด็กแอลดีตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบ หรือเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ซึ่งก่อนหน้านั้นลูกดูเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่จากการสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด เริ่มเห็นความแตกต่าง เช่น การพูดสลับคำ การเล่าเรื่องมีความสับสน ลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ และพูดคำบางคำไม่ชัด จึงพาไปพบคุณหมอให้ตรวจวินิจฉัย และได้บทสรุปว่า อเล็กเป็นเด็กแอลดี แถมมีสมาธิสั้นร่วมด้วย

“วินาทีแรกรู้สึกเสียใจ แต่ดีใจที่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ลูกอย่างตรงจุด คุณหมอแนะนำให้ลูกเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือโรงเรียนที่ตอบรับลูกของเรา เพราะหากอเล็กยิ่งโตขึ้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารจะชัดเจน และอาจจะเป็นอุปสรรคกับการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม”

คุณโสภี เผยว่า หลังจากได้ปรึกษาหารือกันเพื่อมองหาโรงเรียนที่เหมาะสม ซึ่งตัดสินใจให้อเล็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่ามีความเข้าใจเด็กแอลดีและบุคลากรมีความพร้อมในการดูแล จนถึงวันนี้ อเล็ก กำลังจะเรียนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นปีที่ 3 ต้องขอบคุณทางโรงเรียนในความใส่ใจและการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กแอลดี

น้องอเล็ก กำลังนั่งเขียนนิยาย
น้องอเล็ก กำลังนั่งเขียนนิยาย

“ครอบครัว” จุดเปลี่ยนสำคัญในการก้าวเดินสู่อนาคต

สำหรับอนาคตของ อเล็ก ต่อจากนี้ คุณโสภี มองเส้นทางไว้ว่า เมื่อเรียนจบระดับการศึกษาภาคบังคับคือ ม.3 แล้ว อยากให้ลูกเรียนต่อสายอาชีพตามความถนัด หรือหากโรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังเปิดกว้างสามารถให้เรียนต่อในระดับมัธยมปลายได้ ก็คงให้ลูกเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนแห่งนี้

นอกจากเรื่องเรียนแล้ว การเปิดโอกาสให้ลูกค้นหาสิ่งที่ชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณแม่ให้ อเล็กได้มีโอกาสลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ 5 ขวบ เริ่มต้นด้วยการพาไปเรียนยิมนาสติก เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะเด็กแอลดีมักมีปัญหาในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมือและขา

พาไปเรียนเปียโนด้วยคิดว่าดนตรีจะทำให้ลูกมีสมาธิ พาไปเรียนร้องเพลงเพื่อให้มีพัฒนาการด้านการพูดการฟังและการออกเสียงให้ชัดเจน สร้างความรู้สึกสนุก ไม่ใช่เฉพาะการฝึกพูดกับคุณหมอเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเรียนคุมองคณิตคิดเร็ว เพราะเชื่อว่าการฝึกฝนทำซ้ำจะช่วยให้ลูกมีการคำนวณที่ดีขึ้น

นอกจากความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่แล้ว คนอื่นๆ ในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ เป็นโชคดีของ อเล็ก อีกเช่นกันที่ทุกคนล้วนยอมรับและช่วยกันประคับประคอง โดยเฉพาะ เอิน-กรกานต์ พุกะทรัพย์ น้องสาววัยห่างกัน 3 ปี จะคอยช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงแบบบัดดี้เมื่อต้องไปโรงเรียน ทำหน้าที่คอยเตือนและตามงานกับเพื่อนๆ ที่เรียนห้องเดียวกับอเล็ก

ซึ่งคุณแม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้เลี้ยงลูกทั้งสองคนคู่กัน จึงทำให้ เอิน เป็นคนที่เข้าใจ อเล็ก มากที่สุด เป็นพี่น้องที่สนิทสนมกันจนเป็นเหมือนบัดดี้ ซึ่งความเป็นเด็กช่างซักช่างถามของ เอิน ถือเป็นตัวช่วยที่ดียิ่ง เพราะทำให้ อเล็ก ต้องคุยและพยายามสื่อสารให้น้องเข้าใจ จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้พูด ฝึกให้คิดอย่างถูกต้อง

อเล็ก กำลังนั่งทำงาน
อเล็ก กำลังนั่งทำงาน

ค้นพบความชอบ มีโอกาสลงมือทำ จุดประกายก้าวสู่โลกจินตนาการ

ที่สำคัญ เอิน ยังเป็นผู้จุดประกายให้อเล็กก้าวสู่โลกจินตนาการโดยไม่รู้ตัว จากการเป็นเด็กชอบฟังนิทาน มักรบเร้าให้คนในบ้าน รวมทั้ง อเล็ก เล่านิทานให้ฟังเสมอ และบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานกลับบ้านดึก หน้าที่เล่านิทานก็ตกเป็นของพี่ชาย

แม้การสื่อสารจะกระท่อนกระแท่น และสุดท้ายก็เป็นการแต่งนิทานขึ้นเอง ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของน้องสาวจึงต้องเล่านิทานที่แต่งขึ้นเองให้ฟังทุกคืน จากจุดนี้ทำให้ อเล็ก ฝึกคิด มีจินตนาการมากมายเกิดขึ้น จนอยากลองเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเอง นั่นคือ การเขียนนิยายบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น Joylada (จอยลดา) แอพ อ่านนิยายแชตรูปแบบใหม่ กับผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ที่มีคนติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเป็นผลงานจินตนาการของเด็กแอลดี

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์
อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์

“ตอนอยู่ ม.1 มีเพื่อนชื่อ โมชิ เป็นติ่งการ์ตูนญี่ปุ่น ผมเลยสนใจดูบ้าง ทำให้นึกถึงตอนเล่านิทานให้น้องเอินฟัง เลยปรึกษาว่าอยากเขียนนิยายจะทำได้มั้ย ก็ได้รับคำแนะนำให้เข้าไปเขียนที่แอพ จอยลดา ตอนเขียนครั้งแรกรู้สึกเหมือนเราก๊อบปี้คนอื่นมาเลยไม่ได้เผยแพร่ หลังจากนั้นด้วยความที่ชอบเล่นเกม ชอบดูการ์ตูนก็เอามาผสมผสานจินตนาการเป็นเรื่องใหม่คือ เปเปอร์ ฮาร์ท หรือหัวใจกระดาษ เขียนมาได้ 19 ตอนแล้ว คิดว่าคงมีต่อเนื่องอีกหลายตอนกว่าจะจบ ซึ่งการเป็นเด็กแอลดี ก็มีอุปสรรคพอสมควรในการเขียนหนังสือ เพราะบางคำก็เขียนผิด สะกดไม่ถูก ต้องให้น้องเอินมาช่วยดูให้” อเล็ก เล่าถึงที่มาของการเริ่มเขียนนิยายออนไลน์

พร้อมทั้งบอกว่า “แม้ผมจะพูดเล่าเรื่องไม่ได้ แต่การบอกเล่าผ่านตัวอักษรผมทำได้ เนื่องจากค่อยๆ คิดเก็บไว้ในสมองก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งง่ายกว่าการบอกเล่าผ่านคำพูด ตอนนี้ดีใจมากที่ค้นพบสิ่งที่ชอบและมีโอกาสลงมือทำ ตอนนี้ชีวิตมีความสุขกับการเล่นเกม ดูการ์ตูนและเขียนนิยายบอกเล่าจินตนาการของเรา ฝากถึงเพื่อนที่เป็นเด็กแอลดีว่า การจะมีความสุขได้ต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ค้นให้พบว่าความสุขของเราคืออะไร จริงๆ ผมอยากวาดการ์ตูนด้วย แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง การเขียนนิยาย น่าจะเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกว่า”

ขณะที่ คุณโสภี คุณแม่ของอเล็ก ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กแอลดี ก็คือ ต้องไม่อายใคร เพราะหากไม่ยอมรับก็เท่ากับเก็บลูกไว้ไม่ให้ได้รับการแก้ไข การที่ได้รู้เร็วและยอมรับ จะเป็นโอกาสทำให้เด็กแอลดีเติบโตมาเป็นเด็กปกติได้เร็ว แม้จะรักษาไม่หาย แต่การที่ครอบครัวยอมรับและเรียนรู้ เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี จะทำให้ปรับพฤติกรรมเด็กได้เร็ว มีความพร้อมในการใช้ชีวิตในสังคมได้ดีขึ้น