เผยแพร่ |
---|
เปิดความอร่อย ‘เป็ดอบชานอ้อย จากฮับซัว’ สุดยอดเมนู ร้านดังคู่เยาวราช 80 ปี
สิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยว ถนนเยาวราช คือร้านอาหารแสนอร่อยที่ล้วนเป็นตำนานเก่าแก่มาหลายสิบปี หนึ่งในนั้น คือ “ร้านลิ้มจิงเฮียง (เจ้าเก่า)” ร้านชื่อดัง อยู่คู่กับถนนเยาวราชมานานกว่า 80 ปี ปัจจุบันสืบทอดตำนานกันมาถึงรุ่นที่ 2 โดย “เฮียสุพล หรือ คุณสุพล เลิศปัญญาโรจน์”
ร้านนี้มีสินค้าของฝากให้เลือกซื้อมากกว่า 100 รายการ ถูกใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ที่พิเศษสุดคือ “เป็ดอบชานอ้อย ฮับซัว” เมนูดังเลื่องลือกันปากต่อปาก หนังเป็ดสีน้ำตาล ไม่เหนียว เนื้อสีชมพูนุ่มฉ่ำทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นอกหรือสะโพก ความหวานของเนื้อเป็ดและกลิ่นหอมจากการอบชานอ้อย ทำให้เมนูนี้ได้รับความนิยมมากๆ
เฮียสุพล เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อเป็นคนคิดค้นสูตรเป็ดของร้าน โดยปรับให้เข้ากับรสชาติของคนไทย เหตุที่เลือกเป็ดเป็นวัตถุดิบ เพราะสามารถทานได้หลากหลาย เหมาะกับทุกวัย เคล็ดลับความอร่อย คือใช้อ้อยสดในการอบ และใช้เวลาตากประมาณ 7-8 ชั่วโมง เมื่อเนื้อเริ่มแห้ง จะนำมาอบต่ออีก 2 ชั่วโมง ทำให้เนื้อเป็ดนุ่มและฉ่ำหวาน
“วิธีการเลือกวัตถุดิบของทางร้าน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เดิมเราต้องไปเลือกที่ตลาด ได้ของหลากหลาย แต่เมื่อเปลี่ยนมาซื้อกับซีพี ทำให้เรามั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบ ด้วยเรื่องมาตรฐาน การการันตีความสดและความสะอาด มารวมกับสูตรอบแบบดั้งเดิม เป็นการเพิ่มมูลค่าให้วัถตุดิบ ที่สำคัญลูกค้าของเราก็จะได้ทานอาหารที่ปลอดภัยและรสชาติดี” เฮียสุพล กล่าว
และว่า การจำหน่าย แบ่งขายเป็นส่วนต่างๆ ให้เลือกซื้อ เช่น อกเป็ด น่องเป็ด ถ้าอยากได้เป็นตัวทานร่วมกันทั้งครอบครัว ราคาอยู่ที่ตัวละ 400 บาท หากเป็นช่วงเทศกาล อาจจะต้องรีบสั่งจองล่วงหน้า เพราะทางร้านจำกัดจำนวนในการทำต่อวัน แต่ต้องบอกก่อนว่า ที่ร้านไม่มีโต๊ะให้นั่งทาน ลูกค้าต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น โดยลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล เพื่อป้องกันโควิด-19
“สิ่งสำคัญในการทำเป็ดอบชานอ้อย ฮับซัว จนเป็นที่นิยม คือต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า การเลือกวัตถุดิบที่ดี สด สะอาด ถือเป็นการตอบแทนความไว้วางใจให้กับลูกค้าที่มีต่อเรา”
สำหรับใครที่อยากลิ้มลองความอร่อยนุ่มฉ่ำของเนื้อเป็ดอบชานอ้อย สูตรจากฮับซัว สังเกตที่ป้าย “ร้านลิ้มจิงเฮียง (เจ้าเก่า)” ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับถนนนามแปลง ส่วนการเดินทางตอนนี้สะดวกมากขึ้น เพียงแค่นั่งรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีวัดมังกร ทางออก 1 เดินตามถนนแปลงนาม จากนั้นเลี้ยวขวา ข้ามถนน ก็จะเห็นป้ายชื่อของร้าน
เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564